สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อกระดูกหัก - Precautions to take when dealing with bone fracture

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อกระดูกหัก เพราะจะทำให้แย่ลง กระดูกต่อช้า

กระดูกหัก หนึ่งในความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจมีอาการบาดเจ็บตั้งแต่ระบมไม่มาก ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจส่งผลต่อชีวิตได้หากไม่รีบปฐมพยาบาลและพบแพทย์ บทความนี้แนะนำสิ่งที่ควรและไม่ควรทำเมื่อกระดูกหัก

แชร์

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อ กระดูกหัก เพราะจะทำให้แย่ลง กระดูกต่อช้า

กระดูกหัก หนึ่งในความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจมีอาการบาดเจ็บตั้งแต่ระบมไม่มาก ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจส่งผลต่อชีวิตได้หากไม่รีบปฐมพยาบาลและพบแพทย์อย่างทันท่วงที บทความนี้จะมาแนะนำสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ เมื่อกระดูกหัก เพราะอุบัติเหตุ เกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกเมื่อ

กระดูกหัก เกิดจากอะไรได้บ้าง?

กระดูกหัก สามารถเกิดได้จากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่

  • แรงกระทำกับกระดูก ที่มีความรุนแรงมาก มักเกิดขึ้นในคนอายุน้อย หรือในคนที่มีกระดูกแข็งแรงดี โดยปกติแล้ว กระดูกมนุษย์มีความแข็งแรงมาก แรงที่มากระทำจึงต้องรุนแรงมากพอที่จะทำให้กระดูกหัก อาทิเช่น อุบัติเหตุทางการจราจร การตกจากที่สูง หรือการถูกบิดหมุนอย่างแรง
  • ภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีกระดูกเปราะบางมากกว่าปกติ หากล้ม หรือมีแรงมากระทำเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้กระดูกหักหรือร้าวได้

กระดูกหัก ต้องกังวลอะไรบ้าง?

เมื่อพูดถึงกระดูกหัก หลายคนอาจกังวลเพียงว่า กระดูกจะต่อกันติดไหม หรือกระดูกหักแล้วก็แค่ไปใส่เฝือกได้ใช่ไหม แต่ความจริงแล้ว กระดูกหักอาจอันตรายกว่าที่คิดมาก เพราะสิ่งที่น่ากลัวเมื่อกระดูกหัก คือปลายกระดูกที่หัก แยกออกจากกัน อาจมีความแหลมคม และไปทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือเส้นเลือดที่อยู่โดยรอบ ทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น เช่น ซี่โครงหักไปทิ่มปอด เกิดลมรั่วที่ปอด หากไปโดนเส้นเลือดจนได้รับความเสียหาย เลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย ก็อาจนำมาซึ่งการสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นได้หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

สิ่งที่น่ากังวลต่อมา คือการรักษา หากกระดูกหักแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี กระดูกอาจไม่เชื่อมติดกันได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกระดูกคอข้อสะโพกหัก

สุดท้าย เมื่อได้รับการรักษากระดูกหักด้วยการใส่เฝือกที่ต้องดามกระดูกข้ามข้อ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ขยับข้อต่อบริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน อาจมีภาวะข้อต่อติดแข็ง หรือผู้ป่วยอาจขยับข้อต่อรอบกระดูกที่หักได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องมีการคำนวณระยะเวลาการใส่เฝือกให้เหมาะสม นานพอที่กระดูกจะติดกัน แต่ก็ต้องไม่นานเกินไปจนทำให้ข้อติด ซึ่งแพทย์ผู้ชำนาญการจะเป็นผู้ประเมิน

เรื่องน่ารู้: หากมีปัญหา ข้อติดหลังการใส่เฝือกเป็นระยะเวลานาน แพทย์จะใช้เทคนิคทางกายภาพบำบัดช่วยฟื้นฟู ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้งานข้อต่อ และเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

เมื่อกระดูกหัก ไม่ควรทำสิ่งใด?

ก่อนอื่นต้องสังเกตให้ได้เมื่อมีกระดูกหัก เช่น มีอาการปวด บวม แขนขาเบี้ยวผิดรูป หากสงสัยว่าคือกระดูกหัก ควรจะระมัดระวัง และใส่ใจสิ่งเหล่านี้

เมื่อกระดูกหักออกจากกัน มีโอกาสที่ส่วนปลายของกระดูกที่หักจะมีความแหลมคม หากมีการขยับ เคลื่อนไหว ทั้งด้วยตัวผู้ป่วยเอง หรือผู้ช่วยเหลือที่ไม่มีความชำนาญ อาจทำให้ปลายแหลมของกระดูกไปโดนอวัยวะ เส้นเลือด หรือเส้นประสาทจนเกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมและมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
ผู้ช่วยเหลือไม่ควรเคลื่อนย้ายโดยขาดความชำนาญ

สิ่งที่ควรทำเมื่อกระดูกหัก คือหากพบผู้ป่วยกระดูกหัก หรือสงสัยว่ามีกระดูกหัก ควรให้ผู้ป่วยอยู่กับที่นิ่ง ๆ แล้วรีบเรียกรถพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ควรจับขาหรือแขนของผู้ป่วยให้ขยับโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อยู่ด้วย เพราะอาจทำให้เกิดบาดเจ็บเพิ่มเติมได้

และที่สำคัญ คือควรรับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ทำอย่างไร ให้กระดูกหักหายเร็ว?

การดูแลตัวเองเพื่อช่วยให้กระดูกหักหายเร็วนั้นเริ่มจากการทำสิ่งเหล่านี้

การกินอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนสูง เพราะแคลเซียมสำคัญต่อกระบวนการซ่อมแซมกระดูกและช่วยให้กระดูกสมานได้ไว ส่วนโปรตีนจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บฟื้นตัวได้ไว นอกจากนี้

ควรออกไปรับแสงแดดในช่วงเวลา 6.00-9.00 น. และ 16.00-18.00 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตวิตามินดี ซึ่งเป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียม หากไม่ค่อยมีโอกาสได้รับแสงแดด หรือร่างกายมีวิตามินดีไม่เพียงพอ

ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานวิตามินดีเป็นอาหารเสริม

สิ่งสำคัญถัดมา คือ ได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นการใส่เฝือกหรือการผ่าตัด รวมไปถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้กระดูกติดได้ดีและลดโอกาสเกิดภาวะกระดูกไม่ติด หรือกระดูกติดช้า ซึ่งโดยปกติ กระดูกจะใช้เวลา 3 - 6 เดือน ในการสมานและกลับมาติดกัน

การทำกายภาพหลังผ่าตัดกระดูกก็มีส่วนสำคัญ การฝึกเหยียบลงน้ำหนัก หรือท่าทางการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง ก็จะช่วยให้กระดูกติดได้ดี ลดโอกาสการชำรุดหรือหลุดออกจากกันของอุปกรณ์ยึดกระดูกก่อนที่กระดูกจะติดได้

ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ที่มีปัญหากระดูกพรุน กระดูกบาง แล้วกระดูกหัก ควรคำนึงถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ที่จะใช้ยึดกระดูก ต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีความแข็งแรง เพื่อลดโอกาสการพัง ชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมายืน เดินลงน้ำหนัก หรือใช้งานส่วนนั้น ๆ ได้อย่างมั่นคงและรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงการรักษาโรคกระดูกพรุนของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย เช่น การตรวจมวลกระดูก การให้ยาเพิ่มมวลกระดูก การป้องกันการล้มที่จะนำไปสู่กระดูกหักซ้ำ

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กระดูกติดช้าหรือกระดูกไม่ติด คือ ควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่เอง หรือการที่มีคนใกล้ชิดภายในบ้านสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ จะไปยับยั้งการสร้างมวลกระดูก มีส่วนทำให้กระดูกติดช้า ในผู้ป่วยที่มีกระดูกหัก กระดูกพรุน จึงแนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่

เพราะกระดูกหัก อาจส่งผลร้ายแรงมากกว่าที่คิด การรับมือที่ถูกต้อง การรับการรักษาและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม จะช่วยให้กระดูกกลับเป็นปกติได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยก็จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างสมบูรณ์

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 05 ต.ค. 2023

แชร์