บุหรี่ ภัยร้ายที่ไม่ได้ทำลายแค่ปอด - นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด

บุหรี่ ภัยร้ายที่ไม่ได้ทำลายแค่ปอด

บุหรี่ หนึ่งในสิ่งเสพติดถูกกฎหมายที่กลายมาเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยของผู้คนทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปี มีคนเสียชีวิตเพราะสูบบุหรี่มากถึง 8 ล้านคน และมีผู้ที่เสียชีวิต

แชร์

บุหรี่ ภัยร้ายที่ไม่ได้ทำลายแค่ปอด

บุหรี่ หนึ่งในสิ่งเสพติดถูกกฎหมายที่กลายมาเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยของผู้คนทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปี มีคนเสียชีวิตเพราะสูบบุหรี่มากถึง 8 ล้านคน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากการรับควันบุหรี่มือสองมากถึงปีละ 1.2 ล้านคน จากข้อเท็จจริงนี้จึงแสดงให้เห็นว่าเราอาจประเมินความร้ายกาจของบุหรี่ต่ำไป

หลายคนเข้าใจว่าบุหรี่ส่งผลเสียต่อร่างกายเพียงแค่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว บุหรี่ยังส่งผลเสียร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญมาก ๆ ของร่างกายด้วย นั่นก็คือ หัวใจและหลอดเลือดหัวใจ

นายแพทย์ไพศาล บุญศิริคำชัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้เผยมุมมองต่อประเด็นปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ว่า

“นอกจากปอดแล้ว มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นอันตรายที่บุหรี่มีต่อหัวใจเยอะมาก ในระยะเฉียบพลันอาจกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ใจเต้นเร็วขึ้น ความดันสูงขึ้น ที่สำคัญคือมันค่อย ๆ ทำให้หลอดเลือดของเราเสื่อม จนกลายเป็นโรคหัวใจ หัวใจวาย และมีอันตรายถึงชีวิตในที่สุด”

ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มาหาหมอหลายราย มีประวัติสูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ชิดคนสูบบุหรี่ แม้บางรายจะไม่สามารถสืบสวนที่มาที่ไปของโรคแล้วระบุว่าเป็นเพราะสูบบุหรี่ได้อย่างแน่ชัด แต่จากงานวิจัยและข้อมูลทางการแพทย์ต่างออกมาสนับสนุนเป็นเสียงเดียวกันว่าการไม่สูบบุหรี่นั้นดีที่สุด

บุหรี่ ทำลายสุขภาพแบบไม่เลือก

เพราะในบุหรี่อัดเต็มไปด้วยสารพิษหลายพันชนิด และมีหลายสิบชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง การสูบบุหรี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งกว่า 20 ชนิด ซึ่งทุกโรคที่กล่าวมา เป็นโรคร้ายแรงและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก

“สารพิษในบุหรี่ กระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ระดับน้ำตาลสูง ไขมันสูง เร่งให้ไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดเร็วขึ้น ทำให้เลือดข้นขึ้น กระตุ้นโปรตีนให้เกิดการแข็งตัว และอุดตันหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น ผลต่อหลอดเลือดนี้ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น และนำไปสู่ความผิดปกติของหัวใจและโรคหัวใจร้ายแรงได้ในที่สุด”

“นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ และอื่น ๆ อีกมาก”

ข้อเท็จจริงที่คนมองข้าม หัวใจถูกบุหรี่ทำร้ายได้โดยตรง

หัวใจและหลอดเลือด เป็นส่วนที่ต้องรับมือกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่โดยตรง และต่อเนื่อง ตามที่กล่าวไปแล้วว่าบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ และทำให้หัวใจทำงานหนักโดยไม่จำเป็น บุหรี่จึงกลายเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

“จากที่บอกไปว่า บุหรี่ไปกระตุ้นให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากเกิดการอุดตันกะทันหัน จะทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว หรือที่เราเรียกอาการนี้ว่า อาการหัวใจวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

“จากประสบการณ์ มีคนไข้บางคนสูบบุหรี่แค่มวนเดียวก็เกิดอาการเจ็บหน้าอก หัวใจวายขึ้นมาได้เลย บางคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่แล้ว ได้รับการทำบอลลูนขยายเส้นเลือดไปแล้ว แต่เนื่องจากไม่ยอมเลิกสูบบุหรี่ เส้นเลือดของเขาก็กลับมาตีบอีกอย่างรวดเร็ว ทำให้การดูแลรักษาตัวโรคทำได้อย่างยากลำบากมากขึ้นไปอีก”

อันตรายขนาดนี้ ทำไมคนยังสูบ?

ทำไมบุหรี่ที่เต็มไปด้วยสารพิษและให้โทษแก่ร่างกายในหลาย ๆ มิติ ถึงกลับถูกละเลยอันตรายที่มากับมัน ทั้ง ๆ ที่มีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ในระดับสากลมาโดยตลอด จากความเห็นของแพทย์เฉพาะทางที่พบเจอกับคนไข้มามากมาย นายแพทย์ไพศาลได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจขึ้นมา

“เพราะมันไม่ได้ทำร้ายเราทันทีทันใดครับ”

เหตุผลสั้น ๆ ที่ฟังดูน่าสนใจ และอาจกลายเป็นคำอธิบายว่า ทำไมบุหรี่ที่สื่อนำเสนอพิษภัยออกโครม ๆ รวมไปถึงมีรูปภาพผลกระทบน่ากลัวบนซองบุหรี่ ไม่ได้ทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลงเลย

“บุหรี่ไม่ได้ทำให้เราเจ็บป่วยในทันทีทันใด คนไข้หรือคนรอบตัวของผมจำนวนหนึ่งเลยที่ทราบผลเสียของการสูบบุหรี่ แต่ละเลยไม่ใส่ใจ เพราะบุหรี่ เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ก็เหมือนกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่โดยทั่วไปจะไม่ได้ทำให้เกิดอาการผิดปกติ หรือส่งผลเสียให้เห็นเดี๋ยวนั้น”

“ลองนึกภาพความดันโลหิตสูง ที่ส่วนมากก็ไม่แสดงอาการ ระดับไขมันสูงก็ไม่แสดงอาการ และระหว่างที่เราชะล่าใจ มันค่อย ๆ ก่อผลเสียและทำให้การดำเนินโรคของโรคหัวใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุดเมื่อปรากฏโรคออกมาแล้ว มันก็จะสายเกินไป ต้องรักษาด้วยวิธีการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลานานเสียแล้ว”

นอกจากนี้ ในกรณีการรับควันบุหรี่มือสอง ก็มีความเสี่ยงไม่แพ้สูบเองเลยทีเดียว จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่สูดควันบุหรี่จากคนรอบข้าง ทำให้เสี่ยงโรคหัวใจ โรคปอด และโรคมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบหรือไม่ได้อยู่ใกล้ชิดคนที่สูบ ดังนั้น บุหรี่จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ไม่แน่ว่า บุหรี่ไฟฟ้า อาจร้ายกว่า

หนึ่งในความเข้าใจผิดของคนทั่วไป คือคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย จึงใช้สูบแทนบุหรี่โดยปราศจากความกังวลหรือระมัดระวัง 

“จากงานวิจัยในปัจจุบัน พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีผลเสียเหมือนสูบบุหรี่ธรรมดา แม้ว่าปริมาณสารพิษอื่น ๆ จะน้อยกว่า คนจึงคิดเอาว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วตัวเองจะปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารนิโคตินที่ทำให้ติดได้เหมือนกัน และยังเป็นสารพิษด้วย จึงทำให้เกิดโรคหัวใจได้ไม่ต่างกัน”

“ที่น่ากังวลคือจากงานวิจัยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนเลิก หรือหยุดสูบบุหรี่ยากขึ้น รวมถึงในคนที่ไม่เคยสูบแล้วมาลองสูบ ก็มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่จริงเยอะขึ้น คำแนะนำที่ดีที่สุด คือแนะนำว่าไม่ควรเริ่มสูบเลย ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะถ้าหากติดแล้ว จะเลิกได้ยาก”

ในฐานะหมอโรคหัวใจ จะรับมือและช่วยเหลืออย่างไร ในวันที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

จากมุมมองของอายุรแพทย์ด้านหัวใจและหลอดเลือด นายแพทย์ไพศาลให้ความเห็นว่า การตรวจคัดกรอง เป็นหนึ่งในการช่วยประเมินความเสี่ยง วางแผนป้องกัน หรือวางแผนรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงมีบริการและเครื่องไม้เครื่องมือที่พรั่งพร้อมเพียงพอ เพื่อที่จะให้บริการคนไข้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

“เริ่มแรกเราต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงของคนไข้ แน่นอนว่าบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก ซึ่งเราจะดูปัจจัยอื่น ๆ ให้รอบด้าน เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างไร เป็นโรคเบาหวานอยู่ไหม ความดันโลหิตสูงไหม ไขมันในเลือดสูงไหม หากมีปัจจัยเหล่านี้ โอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจก็จะสูงมาก”

“นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางพันธุกรรม รวมไปถึงอายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือด ซึ่งสองอย่างหลังนี้จะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้”

ถัดมาคือการตรวจประเมินว่าคนไข้เริ่มมีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจหรือยัง ด้วยการให้ทดสอบเดินสายพาน ตามระยะเวลา ความเร็ว หรือความชันที่กำหนด แล้วประเมินว่าหลังจากเดิน เกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การทำอัลตราซาวนด์ ถ้าเห็นกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวแย่ลง แสดงว่าเกิดความผิดปกติ ในกรณีที่สงสัยว่าหลอดเลือดตีบมาก อาจต้องตรวจเพิ่มเติมโดยการฉีดสี ดูหลอดเลือดหัวใจ แล้วจึงทำการแก้ไข เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

“ในบางราย แม้ไม่มีความเสี่ยง แต่อยากประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียด ก็สามารถตรวจหลอดเลือดโดยตรง เช่น มาทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำ Coronary Calcium Score วิธีนี้จะทำให้เห็นผลได้ละเอียด ตรวจเจอจุดผิดปกติได้ง่ายและชัดเจน ทั้งยังขยายผลเพื่อวางแผนการรักษาต่อได้ด้วย หากคนไข้มีหินปูนเกาะเส้นเลือดหัวใจเยอะ ก็จะบ่งบอกได้ว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ เสี่ยงอาการเจ็บแน่นหน้าอก หัวใจวาย ซึ่งการวางแผนการรักษาของเราก็จะเข้มข้นมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดำเนินโรครวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจวาย”

นอกจากนี้ ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ยังให้บริการการรักษาที่ครบวงจร รักษาโรคหัวใจได้ทุกระยะ ด้วยยา หรือวิธีการรักษาพิเศษ เช่น ทำบอลลูน ใส่ขดลวด หรือแม้กระทั่งผ่าตัด ถ้ามีโรคลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ ก็มีบริการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเช่นกัน

ไลฟ์สไตล์นิ่งเนือย ทำให้คนรู้ตัวว่าป่วยช้าลง

ในบางกรณี พบว่าคนไข้มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจค่อนข้างมากแล้ว แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ไม่ค่อยออกกำลังกายกาย แม้หลอดเลือดจะตีบไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังพอให้เลือดไหลเวียนและใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์แบบนี้ได้ เหตุนี้ทำให้คนไข้พบความผิดปกติ หรือเจออาการแสดงของภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจได้ช้ากว่าคนที่ออกกำลังกาย หรือมีกิจวัตรที่ต้องเคลื่อนไหวเป็นประจำ เพราะคนประเภทหลัง กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนมากกว่า เส้นเลือดต้องขยายตัวเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้มากขึ้น ถ้าเส้นเลือดตีบ เป็นเหตุให้ส่งออกซิเจนมาเพิ่มไม่ได้ ก็จะเกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นหัวใจผิดปกติ คนเหล่านี้ก็จะรับรู้ถึงความผิดปกติได้ก่อนนั่นเอง

ความจริงแล้ว โรคหัวใจ ป้องกันง่าย

ตามความเห็นของนายแพทย์ไพศาล โรคเส้นเลือดหัวใจ สามารถป้องกันได้อย่างง่ายดายมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการป้องกันจะเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้คนไม่รอให้เกิดโรคหรือคิดชะล่าใจว่าตนไม่มีอาการโรคหัวใจ

“โรคนี้ เมื่อไรที่มีอาการ อาจหมายถึงเส้นเลือดของคุณตีบไปเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว เส้นเลือดเสื่อมไปเยอะแล้ว จะกลับมาเป็นเส้นเลือดสุขภาพดีเหมือนเดิมก็ไม่ได้ ควรดูแลสุขภาพ ตรวจเช็กและควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเลิกสูบบุหรี่ คุมน้ำหนัก คุมอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อทำให้ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิตไม่สูง แค่นี้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจจะลดลงอย่างมาก”

สำหรับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจในแต่ละบุคคล จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น หากมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ อาจจะต้องตรวจเช็กตั้งแต่ยังอายุน้อย ประมาณ 20-30 ปีขึ้นไป แต่ถ้าไม่มีปัจจัยเรื่องพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ สามารถตรวจสุขภาพหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 30-40 ปีขึ้นไป

“หากใครที่สูบบุหรี่ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องของสุขภาพของคุณคนเดียว เพราะคุณกำลังพาคนรอบข้าง คนในครอบครัวของคุณ มาเสี่ยงกับโรคร้ายที่กำลังบั่นทอนสุขภาพของพวกเขาไปทีละน้อย ๆ และถ้าหากคุณเริ่มป่วยแล้ว ยิ่งไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่เลิกสูบบุหรี่ครับ”





บทความโดย

นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
เฉพาะทางด้านการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 30 พ.ค. 2023

แชร์