รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ - Dr Suphakde Julavijitphong, Reproductive Endocrinologist

ทุกคนที่มารักษาภาวะมีบุตรยาก ล้วนต้องการอุ้มลูกที่แข็งแรง

การจะสร้างศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่สมบูรณ์ในประเทศไทย ทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยการคิดให้ครบ บุคลากรที่มีศักยภาพ เทคโนโลยีที่อัปเดต มีมาตรฐาน และการออกแบบประสบการณ์ที่ครบทุกความต้องการ

แชร์

“ทุกคนที่มารักษาภาวะมีบุตรยาก ล้วนต้องการอุ้มลูกที่แข็งแรง”

“การจะสร้างศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่สมบูรณ์ในประเทศไทย ทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยการคิดให้ครบ บุคลากรที่มีศักยภาพ เทคโนโลยีที่อัปเดต มีมาตรฐาน และการออกแบบประสบการณ์ที่ครบทุกความต้องการ”

Dr Suphakde รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

งานเวชศาสตร์เจริญพันธุ์ วิชาชีพที่เป็นเหมือนแสงแห่งความหวัง หยิบยื่นโอกาสที่จะได้ให้กำเนิดชีวิตใหม่ สมความตั้งใจแก่คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูก รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ให้เกียรติมาบอกเล่าเรื่องราว กว่าจะมาเป็นแพทย์รักษาผู้มีบุตรยาก และบุกเบิกงานเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในประเทศไทย ว่าอะไรที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญ หรือความน่าสนใจในการช่วยให้คนมีลูก

อยากช่วยเหลือผู้มีลูกยาก และได้รับรอยยิ้ม

นายแพทย์สุภักดีเริ่มจากการเป็นแพทย์ด้านอายุรกรรม แล้วพบว่าการรักษาโรคทั่ว ๆ ไปนั้น ล้วนมีปลายทางที่คาดเดาได้ยาก การรักษาโรคทางอายุรกรรมนั้น บางโรคก็ใช่ว่ามาหาหมอหนึ่งครั้งจะรักษาแล้วหายเลย บางรายเป็นเรื้อรัง ก็ต้องมาโรงพยาบาลซ้ำ ๆ เผชิญกับโรคในระยะยาว จึงเกิดความเครียด ทำให้ตัดสินใจเบนเข็มไปเป็นแพทย์ด้านสูตินรีเวชศาสตร์ 

“การเป็นหมอสูติฯ ได้ทำคลอด จะต่างกับหมอรักษาโรคตรงที่ เมื่อเราทำคลอด คุณพ่อคุณแม่ได้อุ้มลูก ได้รอยยิ้มกลับบ้าน เราเองก็มีความสุข”

“หลังจากเป็นหมอสูติฯได้ระยะหนึ่ง เริ่มเห็นว่า การทำคลอดเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่อยากมีลูกแต่มีไม่ได้ ถ้าเราสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ได้ ทำให้พวกเขายิ้มได้ เราก็จะยิ่งมีความสุข ยิ่งปลื้มใจมากขึ้นไปอีก จึงทำให้สนใจเรียนต่อทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก”

นายแพทย์สุภักดีมีโอกาสได้ไปศึกษาเฉพาะทางที่ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งในสมัยนั้น ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดของประชากร คุณหมอเล่าว่า มีหลายคนถามว่า ประเทศไทยมีประชากรเยอะอยู่แล้ว ทำไมถึงมาศึกษาเรื่องนี้ สิ่งที่คุณหมอตอบกลับไป คือ ปัญหาภาวะมีบุตรยากเกิดทุกที่ทั่วโลก ไม่ว่าในประเทศไหน ก็จะมีคนที่ต้องการมีลูกแต่มีไม่ได้อยู่ ต่อให้ในประเทศนั้นจะมีประชากรเยอะ แต่ก็มีคนที่เป็นทุกข์อยู่ดี จึงตั้งใจว่าจะนำความรู้และเทคโนโลยีมารักษาผู้มีบุตรยากในประเทศไทย นอกจากนี้คุณหมอยังเป็นหนึ่งในแพทย์กลุ่มแรก ๆ ที่ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการ ICSI ในประเทศไทยอีกด้วย

Dr Suphakde หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค

สู่หน้าที่หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค

เมื่อพูดถึงสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน นายแพทย์สุภักดีมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์หลายสิบปีมาช่วยวางโครงสร้างการให้บริการภายในศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งในทุก ๆ ขั้นตอนการบริการ ผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ ใส่ใจ เพื่อให้ผู้มาใช้บริการได้รับประสบการณ์การรักษาที่ดี และได้รับผลลัพธ์ที่พึงพอใจ

“เราวางแผนการดูแลตั้งแต่ช่วยให้ตั้งครรภ์ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่เรามี ไปจนกระทั่งคลอด และดูแลต่อเนื่องให้มั่นใจได้ว่า เด็กจะเติบโตแข็งแรง ซึ่งสามารถทำได้ทุกอย่าง ทุกขั้นตอนภายในศูนย์ไอวีเอฟของเราครับ”

ภายในศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก ได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา เพิ่มโอกาสสำเร็จอย่างครบครัน ทั้งแล็บเพาะเลี้ยงตัวอ่อนมาตรฐานสากล มีระบบป้องกันการติดเชื้อ ควบคุมระดับฝุ่น ระดับความชื้นในอากาศ และระบบการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยี time-lapse embryoscope ใหม่ล่าสุด ทั้งยังมีระบบเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ที่ช่วยคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุด หรือที่เรียกว่า iDA Score อีกด้วย 

“ผมมุ่งหวังให้ที่นี่เป็นเหมือนดรีมทีมของแพทย์เฉพาะทาง ที่คัดสรรมาแล้วมาร่วมงาน ด้วยพื้นฐานความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และจริยธรรม ทุกการบริการจะยึดมาตรฐานความถูกต้อง ลดโอกาสความผิดพลาดทางการรักษาให้มากที่สุดด้วยระบบเอไอจดจำใบหน้า อัตลักษณ์ และลายนิ้วมือของผู้ป่วยตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในศูนย์ฯ ทุกขั้นตอนมีการยืนยันตัวตน ช่วยอุดช่องว่างในการทำงานของมนุษย์ที่มีโอกาสผิดพลาดได้ครับ”

Dr Suphakde ภาวะมีบุตรยาก ช่วยได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

ภาวะมีบุตรยาก ช่วยได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

เมื่อขอให้นายแพทย์สุภักดีช่วยอัปเดตวิทยาการการรักษาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค ว่าก้าวหน้าไปแค่ไหนแล้ว คาดหวังผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด คุณหมอก็อธิบายว่า

“ในการทำเด็กหลอดแก้วสมัยก่อน จะใช้วิธีการนำไข่และอสุจิมาเลี้ยงรวมกันในจานเลี้ยงตัวอ่อน แล้วปล่อยให้ปฏิสนธิกันเอง วิธีนี้มีโอกาสที่จะไม่เกิดการปฏิสนธิได้ ส่วนในปัจจุบัน การทำ ICSI จะใช้เข็มเล็ก ๆ ฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ อสุจิไม่ต้องเจาะเข้าไปเอง จึงเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการปฏิสนธิได้”

“และมีเทคโนโลยีการแช่แข็งตัวอ่อนแบบผลึกแก้ว เป็นการลดอุณหภูมิขณะแช่แข็งตัวอ่อนอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเสี้ยววินาที ป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งภายในเซลล์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในเซลล์ตัวอ่อนได้ วิธีนี้ช่วยรักษาตัวอ่อนที่ปฏิสนธิสำเร็จและยังไม่ได้นำมาใช้เก็บเอาไว้ก่อน เพื่อที่ว่าในอนาคต เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยากมีลูกคนที่สอง หรือคนถัด ๆ ไป ก็สามารถนำมาใช้ได้เลย ลดทั้งเวลา ลดทั้งค่าใช้จ่ายครับ”

นอกจากนี้ ที่ศูนย์ฯ ยังมีบริการนำตัวอ่อนจากการทำเด็กหลอดแก้ว นำไปตรวจเช็กพันธุกรรมก่อนจะใส่เข้าสู่โพรงมดลูก ในกรณีที่พ่อหรือแม่มีโรคทางพันธุกรรมที่อาจถ่ายทอดไปสู่เด็ก เช่น ธาลัสซีเมีย โดยจะคัดเลือกตัวอ่อนที่ปลอดจากยีนส์ผิดปกติ จากนั้นค่อยนำตัวอ่อนนั้นมาใช้นั่นเอง 

“ในหญิงที่อายุมาก ย่อมมีความเสี่ยงที่คลอดลูกออกมาจะมีโครโมโซมผิดปกติ เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม โดยความเสี่ยงภาวะดาวน์ซินโดรมในเด็กจะเพิ่มขึ้นตามอายุของแม่ โดยส่วนใหญ่ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในคุณแม่ตั้งท้องที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งช่วงวัยนี้ เป็นวัยที่พบได้บ่อยในผู้ที่มารักษาภาวะมีบุตรยาก เพราะฉะนั้นการคัดกรอง เลือกตัวอ่อนที่ไม่มีโครโมโซมผิดปกติก่อนใส่เข้าสู่โพรงมดลูก ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวที่อาจเกิดกับลูกได้”

โดยระหว่างตั้งครรภ์ ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการจะวางแผนตรวจความผิดปกติของเด็กในครรภ์ด้วยเช่นกัน

Dr Suphakde ธรรมะ และการเดินทาง คือสิ่งที่สนใจ

ธรรมะ และการเดินทาง คือสิ่งที่สนใจ

เพราะการทำงานอาชีพแพทย์ ต้องใช้เวลากับผู้ป่วยค่อนข้างมาก มีเวลาส่วนตัวน้อย นายแพทย์สุภักดีคาดหวังว่าวันหนึ่ง เมื่อทำงานน้อยลง หรือเกษียณแล้ว ก็อยากจะออกไปท่องเที่ยว ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ อยากลองไปอยู่ตามชนบท มีวิถีสโลว์ไลฟ์ สงบ ๆ ทั้งยังชอบศึกษาธรรมะอีกด้วย

“พอผมผ่านโลกมาเยอะ ได้เห็นชีวิตตั้งแต่ก่อนเกิด ตั้งครรภ์ เกิด จนกระทั่งวัยชรา และเสียชีวิต จึงได้มองเห็นสัจธรรมว่าทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ ปัจจุบันจึงเริ่มสนใจธรรมะ ว่าแท้จริงแล้วไม่ว่าคนเราจะเป็นอะไร ร่ำรวยแค่ไหน มียศถาบรรดาศักดิ์ ประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนก็ต้องผ่านวัฏจักรเดียวกันทั้งสิ้น”

“ผมจึงให้เวลากับการศึกษาธรรมะมากขึ้น พอมีเวลาว่าง ๆ จะเลือกฟังคำสอนจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ที่เคารพ เพื่อช่วยเตือนสติให้เราระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตคนเรามีอะไรแน่ที่เป็นแก่นสาร อะไรเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป หากเราทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จะพบว่าสิ่งนี้เป็นอีกสิ่งที่สำคัญกับชีวิตคนเราทุกคน ช่วยให้สงบ สุข และพอ”

เผยแพร่เมื่อ: 03 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    รศ.นพ. สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์

    รศ.นพ. สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
    Obstetrics and Gynecology, Reproductive Endocrinology