รศ.นายแพทย์สุวัจชัย พรรัตนรังสี แพทย์โรคหัวใจ เฉพาะด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด - Assoc.Prof.Dr Suwatchai Pornratanarangsi, A Cardiologist Specializing in Interventional Cardiology

หมอหัวใจคือผู้หยิบยื่นโอกาส เพราะ 1 หัวใจ คือ 1 ชีวิต

“เราไม่ใช่แค่ช่วยชีวิตคนคนหนึ่ง แต่เรายังรักษารอยยิ้มของคนในครอบครัวเขาไว้ด้วย” หมอหัวใจ หนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากอาชีพหนึ่ง เพราะหัวใจ = ชีวิต หากหัวใจเจ็บป่วย นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิต

แชร์

หมอหัวใจคือผู้หยิบยื่นโอกาส เพราะ 1 หัวใจ คือ 1 ชีวิต

“เราไม่ใช่แค่ช่วยชีวิตคนคนหนึ่ง แต่เรายังรักษารอยยิ้มของคนในครอบครัวเขาไว้ด้วย”

Dr Suwatchai Pornratanarangsi Banner  2

หมอหัวใจ หนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากอาชีพหนึ่ง เพราะหัวใจ = ชีวิต หากหัวใจเจ็บป่วย นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิต งานด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในงานที่ช่วยชีวิตผู้คน และกุมชะตาชีวิตของผู้ป่วยก็ไม่ผิด 

MedPark Story วันนี้พามารู้จักกับบทบาทของการเป็นแพทย์โรคหัวใจ ผ่านเรื่องราว และประสบการณ์ของ นายแพทย์สุวัจชัย พรรัตนรังสี อายุรแพทย์โรคหัวใจผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค

อยากเป็นแพทย์โรคหัวใจ เพราะอยากดูแลคุณย่า

คุณหมอสุวัจชัยเล่าเรื่องราวสมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ว่าตอนนั้น คุณย่ามีอาการหัวใจวาย ซึ่งคุณหมอเป็นผู้พาคุณย่าไปโรงพยาบาลที่ตัวเองศึกษาอยู่ แต่ด้วยเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ที่นั่นมีคนไข้อีกจำนวนมากมายที่กำลังรอรับการรักษา

“ผมเห็นว่าคนป่วยทุกคน ได้รับความลำบาก จากการเข้าถึงการรักษาที่ล่าช้า แม้เราจะเรียนอยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้คุณย่าได้รับการรักษารวดเร็วขึ้น ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนทางด้านนี้ จบมาแล้วสามารถดูแลรักษาคุณย่าได้ และยังเป็นสาขาที่มีโอกาสช่วยชีวิตคนไข้ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการทำหัตถการ ใส่บอลลูนขยายหลอดเลือด น่าจะช่วยคนไข้ได้เยอะ”

คุณหมอสุวัจชัยชอบวิชาที่ต้องใช้ทักษะการคำนวณ ในขณะที่วิชาแพทย์ส่วนใหญ่เน้นชีววิทยาเป็นหลัก แต่สาขาด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด จะมีเรื่องของคณิตศาสตร์ การคำนวณ และนำหลักฟิสิกส์เข้ามาช่วย จึงมั่นใจว่า หมอหัวใจ นี่ล่ะเหมาะกับตนเอง

Dr Suwatchai Pornratanarangsi Banner  6

การรักษาโรค ที่หลายครั้งคือการต่อชีวิต 

“เพราะหลายครั้ง คนไข้ที่หมอหัวใจต้องเจอ อาจเป็นคนไข้ที่เหมือนกับเสียชีวิตไปแล้ว หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว พอเรารักษา ในที่สุดเขากลับมามีชีวิตและเดินออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งพิเศษและมหัศจรรย์ ที่ทำให้เกิดความประทับใจในฐานะของหมอหัวใจที่ทำบอลลูนรักษาคนไข้ทุกคนเลยครับ”

โรคหัวใจ บางครั้งก็คาดเดาไม่ได้ เนื่องจากช่วงที่ยังเป็นไม่มาก อาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ เมื่อไรที่มีอาการก็เป็นเยอะจนต้องรับการรักษาจริงจัง ซึ่งนายแพทย์สุวัจชัย ได้ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่น่าสนใจ

Dr Suwatchai Pornratanarangsi Banner  3

“มีเคสผู้ชายอายุยังไม่มากเข้ามาที่โรงพยาบาล เขาเล่นฟุตบอลอยู่ แล้วหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มาถึงคนไข้ไม่รู้สึกตัวแล้ว ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเขาตื่นขึ้นมาได้อีกไหม แต่เราอยากให้โอกาสเขาฟื้น เลยรีบตรวจดูเส้นเลือด แก้เส้นเลือดให้ก่อน ซึ่งสภาพเส้นเลือดเขาแย่มาก เส้นเลือดตันหลายเส้น สามารถบอกได้ว่าเป็น หลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน”

“เราก็เลือกแก้ไขเส้นที่ซ่อมได้ง่ายก่อนเป็นเส้นแรก พอเปิดเส้นแรกได้แล้วก็มาลุ้นว่าเขาจะฟื้นไหม จากนั้นอีกประมาณ 3 วันเขาก็ฟื้น แล้วหลังจากนั้น เราจึงไปไล่ซ่อมเส้นที่ยาก เช่น เส้นที่ตัน 100 เปอร์เซ็นต์”

“และมีหลายเคสที่หลังรักษาช่วยชีวิตสำเร็จ ก็อาจไม่ได้เจอกันอีก วนมาเจอกันแค่ครั้งเดียว แต่เป็นครั้งที่สำคัญต่อชีวิตคนไข้ คือเคสรักษาชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย แล้วมีปัญหาโรคหัวใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เขาไม่มีโอกาสกลับบ้านไปหาครอบครัวได้”

“พอผมรักษาเขาจนรอดชีวิต และกลับบ้านได้อย่างสวัสดิภาพ พอถึงช่วงคริสต์มาส ก็ได้รับโปสต์การ์ดภาพถ่าย เป็นรูปครอบครัวของคนไข้ ส่งมาจากลูกชายของเขา เพื่อกล่าวขอบคุณที่ผมช่วยชีวิตพ่อของเขาเอาไว้ ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้เห็นภาพถ่ายใบนี้ และคงไม่ได้ฉลองคริสต์มาสกันพร้อมหน้าพร้อมตา ทำให้อดตื้นตันไปกับคนไข้และญาติ ๆ ไม่ได้ครับ เราไม่ใช่แค่ช่วยชีวิตคนคนหนึ่ง แต่เรายังรักษารอยยิ้มของคนในครอบครัวเขาไว้ด้วย”

Dr Suwatchai Pornratanarangsi Banner  4

หนึ่งในความภูมิใจ คือ… ทีมผู้บุกเบิก TAVI

“สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือ ผมเป็นหนึ่งในทีมผู้บุกเบิกการทำหัตถการ TAVI ทีมแรกในประเทศไทยครับ”

TAVI หรือ transcatheter aortic valve implantation คือ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก ซึ่งเป็นหัตถการที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในการรักษาโรคหัวใจในปัจจุบัน 

คุณหมอสุวัจชัยเล่าให้ฟังว่า เป็นการทำ TAVI เคสแรกในประเทศไทย โดยคุณหมอในฐานะแพทย์โรคหัวใจ ทำงานคู่กับศัลยแพทย์ และทีมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จนประสบความสำเร็จ

“สมัยนั้น เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่ได้ดีและมีประสิทธิภาพเท่าปัจจุบัน การทำหัตถการนี้ในตอนนั้นจึงยากกว่าปัจจุบันมาก พอมานึกว่าเราทำได้สำเร็จ และเป็นทีมแรกของประเทศด้วย จึงยิ่งภูมิใจกับตัวเองครับ”

Dr Suwatchai Pornratanarangsi Banner  5

หมอหัวใจ ที่ต้องสื่อสารด้วยหัวใจ

โรคหัวใจอาจมีอาการแสดงได้หลากหลาย บ้างก็มีเชื่อมโยงกับหัวใจอย่างชัดเจน บ้างก็เป็นอาการที่หลายคนคิดไม่ถึง หลายครั้งคนไข้ประมาทอาการผิดปกติของตนเอง 

“ผมเจอบ่อย ที่ในคนไข้โรคหัวใจมาด้วยอาการปวดท้องครับ หลายคนก็คิดว่าตัวเองเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน แต่จริง ๆ แล้วมันคือโรคหัวใจ เพราะเมื่อหัวใจมีความผิดปกติ บางครั้งอาการจุก แน่น เจ็บ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กลางหน้าอกอย่างที่เข้าใจ สามารถร้าวลงไปถึงลิ้นปี่ หรือร้าวขึ้นมาถึงกรามก็ได้”

“พอหมอทางเดินอาหารสงสัยว่าอาจเป็นอาการโรคหัวใจ แล้วส่งตัวมา คนไข้ก็จะตกใจ ไม่เข้าใจ เขาแค่ปวดท้องเอง ทำไมถึงเป็นโรคหัวใจได้ ตรงนี้หมอหัวใจก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจ เพื่อที่จะไม่เสียโอกาสทางการรักษาครับ ซึ่งบางครั้ง อาการปวดท้องของโรคระบบทางเดินอาหาร กับโรคหัวใจก็ใกล้เคียงกันมาก การมาตรวจ EKG จะช่วยบอกได้ชัดเจนครับ”

เพราะเหตุนี้ เราจึงควรสังเกตอาการ ความผิดปกติต่าง ๆ อย่าละเลยอาการผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะหากสิ่งที่เป็นอยู่คือภัยเงียบ ปล่อยไว้อาจบานปลาย การดำเนินโรคไปไกล สุขภาพของคนไข้ก็จะยิ่งแย่ลง และพลาดโอกาสการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

“ต้องบอกว่า คนทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ต่อให้อายุยังน้อย หรือมีอาการเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตราย หากรู้สึกถึงความผิดปกติ ผมอยากให้มาตรวจ จริงอยู่มันก็อาจมีผลตรวจเป็นบวกลวง (False Positive) แต่มันทำให้เราระมัดระวังตัวแล้วได้ไปตรวจหาต่อว่าใช่หรือไม่ ถ้าป่วยจริง ๆ เท่ากับว่าเราตรวจเจอได้ไว ถ้าไม่ได้เป็นอะไร อย่างน้อยก็ได้ตรวจให้แน่ใจและวางแผนดูแลสุขภาพได้เหมาะสมครับ”

Dr Suwatchai 3

อีกแง่มุมหนึ่งคือการศึกษาและลิ้มรสไวน์

หนึ่งในความสนใจของคุณหมอสุวัจชัย คือ การดื่มด่ำรสชาติของไวน์ พร้อมทั้งศึกษา เรียนรู้เรื่องราวของไวน์แต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ ทั้งกรรมวิธีการทำ รวมไปถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ผ่านไวน์รสเลิศ

“การได้ชิมได้ศึกษาไวน์ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องราวของไวน์นั้น ๆ ยังทำให้เราสนใจเรื่องการจับคู่ไวน์กับอาหารต่าง ๆ ไวน์ชนิดไหนควรดื่มกับอาหารอะไร เลยได้มีโอกาสตระเวนชิมครับ ศิลปะการดื่มไวน์ ผู้ดื่มไม่ได้เสพแค่รสชาติ แต่รวมถึงประสบการณ์ ซึ่งหากนั่งดื่มอยู่บ้านในอุณหภูมิแบบประเทศไทย มันก็จะคนละฟีลกับการไปนั่งอยู่ในถิ่นปลูกไวน์นั้น ๆ ที่ชาโตวและไร่องุ่นสักแห่ง สัมผัสศิลปะ วัฒนธรรม และบรรยากาศที่เหมาะเจาะ ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินกับรสชาติไวน์มากขึ้น”

Dr Suwatchai 2

ก่อนจบการพูดคุย คุณหมอฝากคำแนะนำไว้ว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถดื่มไวน์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ควรอยู่ในปริมาณที่จำกัด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์โรคหัวใจ หรือแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม

Dr Suwatchai 4

เผยแพร่เมื่อ: 21 มี.ค. 2024

แชร์