ผศ.พญ.นภิสวดี ว่องชวณิชย์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคไต - Asst.Prof.Dr Napisvadee Wongchavanich - A Nephrologist

คนไข้ไม่ได้มาด้วยโรคไตอย่างเดียว อาจโยงไปถึง หัวใจ สมอง

หมอจึงควรใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม ดูแลคนไข้แบบองค์รวม ใช้หลักการแพทย์ยุคใหม่ผสมผสานธรรมชาติบำบัด

แชร์

คนไข้ไม่ได้มาด้วยโรคไตอย่างเดียว
อาจโยงไปถึง หัวใจ สมอง

“หมอจึงควรใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม ดูแลคนไข้แบบองค์รวม
ใช้หลักการแพทย์ยุคใหม่ผสมผสานธรรมชาติบำบัด”

Dr Napisvadee Wongchavanich Banner 2

พูดถึง การฟอกไต ฟอกเลือด หลายคนนึกภาพผู้ป่วยนอนบนเตียงเรียงรายอยู่รวมกัน แต่วันนี้เราอยู่ที่ ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่มีการแยกคนไข้อยู่กันคนละห้อง เราเชื่อว่าการสร้าง ‘ห้องฟอกไตแบบส่วนตัว’ ไม่เพียงอำนวยความสะดวกแก่คนไข้และญาติ แต่ต้องมีเหตุผลสำคัญมากกว่านั้น...

แขกรับเชิญของ MedPark Stories นาทีนี้คงไม่มีใครเหมาะสมเท่า ผศ.พญ.นภิสวดี ว่องชวณิชย์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคไต และผู้อำนวยการศูนย์ไตเทียม เราถือโอกาสให้คุณหมอพาสำรวจศูนย์ฯ และชวนคุยเรื่องการรับมือกับสถานการณ์คนไข้โรคไต ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

Dr Napisvadee Wongchavanich Banner 8

หมอโรคไต ต้องไม่หยุดเรียนรู้

คุณหมอเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจที่มาเป็น หมอโรคไต ว่าหลังจากศึกษาจบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงใช้ทุนได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคไต ที่ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคล  

“อาจารย์จะมาสอนเพียงปีละครั้ง เป็นเวลาแค่ 5 วันเท่านั้น สอนวิชา Renal Physiology ซึ่งเป็นวิชาที่ยากมาก แต่อาจารย์ทำให้เข้าใจง่าย และน่าสนใจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากเรียนเฉพาะทางที่ University of Texas Southwestern Medical Center สหรัฐอเมริกา ที่นั่นหมอได้เรียนกับอาจารย์แพทย์ ที่เรียกได้ว่าเป็นระดับจีเนียสเลยค่ะ”

พญ. นภิสวดี ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เฉพาะทางของ อเมริกันบอร์ด (American board certified) โดยระหว่างที่อยู่สหรัฐอเมริกา ยังได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ ที่ University of Arizona Health Sciences Center จากประสบการณ์ทั้งรักษาและสอน คุณหมอมีมุมมองว่า หมอโรคไตต้องมีความรู้รอบด้านไม่ใช่เฉพาะสาขาที่ตนเองเรียนมา

“เนื่องจากคนไข้ไม่ได้มาด้วยโรคไตอย่างเดียวค่ะ มันโยงไปถึง หัวใจ สมอง หมอจึงควรใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม เช่น โภชนาการ ยา สมุนไพร และต้องมีทัศนคติของ Integrative Medicine คือ ดูแลคนไข้แบบองค์รวม ใช้หลักการแพทย์ยุคใหม่ผสมผสานธรรมชาติบำบัด” 

“และคนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนไข้โรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย เขาจะเครียด กังวล ซึมเศร้า เราจึงต้องใส่ใจเรื่อง Mind and Spirit อย่างเรื่องจิตบำบัด หมอเริ่มศึกษาตั้งแต่กลับมาเมืองไทยเลย คือไม่ใช่รักษาเฉพาะร่างกาย แต่ต้องดูแลจิตใจคนไข้ด้วย จิตใจคุมร่างกาย ถ้าจิตใจไม่ดี ร่างกายก็ป่วย”

นอกจากนี้คุณหมอยังอยากให้คิดนอกกรอบ ไม่จำเป็นต้องทำตามไกด์ไลน์ทุกอย่าง คนเป็นหมอโรคไตควรศึกษา Valid Study ใน Scientific Data ให้มาก ต้องแม่นในเรื่องวิทยาการใหม่ ๆ และพิจารณาการรักษา โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้เป็นหลัก

Dr Napisvadee Wongchavanich Banner 7

ตรวจสุขภาพทุกปี ช่วยลดโอกาสฟอกไต

เมื่อถามถึงสถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบัน คุณหมอให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่าในคนไข้เบาหวาน 25 คน จะมี 1 คนที่ต้องฟอกเลือด ซึ่งมีคนอีกมากที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวาน หรือรู้ตัวแต่ไม่กินยา ไม่คุมอาหาร 

“โรคไตวายเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่ะ เพราะรัฐฯ ต้องนำงบประมาณมาสนับสนุนด้านการฟอกเลือด รู้ไหมปี 2021 มีคนไข้ลงทะเบียนในระบบราว 70,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 10,000-15,000 คน ถ้าเราลดปริมาณคนไข้ใหม่ได้ รัฐฯ ก็จะประหยัดเงินไปได้เยอะ”  

เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังระยะ 1-3 จะไม่แสดงอาการให้ทราบ จึงมีโอกาสที่คนไข้จะมาหาหมอในระยะ 4-5 ด้วยอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซีด บวม ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายไปแล้ว แต่แม้บางคนยังไม่ได้เป็นโรคไต คุณหมอก็เน้นย้ำให้แนะนำแนวทางป้องกันให้คนไข้ไว้ก่อนเสมอ

“ไตคนเราจะเสื่อมตามอายุค่ะ ถ้าอายุเกิน 50 ปีแล้วอย่าชะล่าใจ ควรตรวจสุขภาพทุกปีถ้าเป็นไปได้นะ เพราะเคยมีคนไข้ที่เว้นไปปีครึ่ง มาตรวจอีกทีต้องล้างไตเลย แล้วบางคนป่วยหลายโรค เบาหวาน ความดัน โรคเครียด ไขมันสูง พวกนี้ก็ต้องตรวจไตด้วย ถ้าถึงระยะ 4-5 จะชะลอได้ยาก ไตที่มันเสื่อมไปแล้ว มันฟื้นไม่ได้ เหลือเท่าที่เหลือ”

Dr Napisvadee Wongchavanich Banner 3

น้ำบริสุทธิ์ คือหัวใจสำคัญของ ศูนย์ไตเทียม

เนื่องจาก พญ.นภิสวดี เคยมีประสบการณ์เป็น ผู้อํานวยการศูนย์ไตเทียม ที่ Southern Arizona VA Health Care system ช่วงปี 2543-2546 เมื่อมารับตำแหน่งที่ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงมีบทบาทสำคัญในการออกแบบ วางแผน กำหนดแนวทางบริหารจัดการ ให้ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมโรคไต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ โดยคุณหมอให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการป้องกันการติดเชื้อ

“คนไข้ฟอกเลือดจะมีภูมิต้านทานน้อยมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากระบบน้ำที่ไม่ดีพอ หากสังเกตคนไข้ฟอกเลือดที่ผิวหมอง คล้ำ ไม่แข็งแรง ป่วยเรื้อรัง นั่นเป็นผลมาจากการฟอกเลือดด้วยระบบน้ำที่ไม่สะอาด มีของเสียสะสมในร่างกาย จนทำให้ร่างกายอักเสบแล้วก็ป่วย เพราะฉะนั้น น้ำบริสุทธิ์จึงเปรียบเสมือนหัวใจของศูนย์ไตเทียม”

การฟอกเลือดด้วยระบบน้ำบริสุทธิ์ จะส่งผลดีต่อความปลอดภัยและสุขภาพของคนไข้ ระบบน้ำที่ใช้ในศูนย์ฯ เป็นน้ำบริสุทธิ์ระดับ Ultra Pure ให้บริการฟอกเลือดแบบ Online-Hemodiafiltration (OL-HDF) เป็นการฟอกเลือดระดับ High Intensity Dialysis ซึ่งทางโรงพยาบาลออกแบบระบบน้ำบริสุทธิ์ไว้สำหรับใช้ที่ศูนย์ไตเทียมระบบหนึ่ง และใช้ที่ไอซียูอีกระบบหนึ่ง รวมเป็น 2 ระบบด้วยกัน และมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกเดือน

“คนไข้ไอซียูถ้าต้องฟอกเลือดส่วนมากที่อื่นจะใช้ Portable Reverse Osmosis คือนำน้ำประปามาผ่านเครื่องให้ได้คุณสมบัติเหมาะสม แต่ความจริงคนไข้เขาอาจต้องนอน รพ. นาน 3-4 เดือน การได้รับน้ำที่ไม่สะอาดเพียงพอเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ค่ะ ที่โรงพยาบาลเมดพาร์คเราติดตั้งระบบน้ำบริสุทธิ์ไว้แล้ว คนไข้สามารถฟอกเลือดได้เลย ไม่ต้องลงมาที่ศูนย์ฯ ซึ่งคงมีไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่ติดตั้งระบบน้ำบริสุทธิ์ไว้ในห้องไอซียูแบบนี้”

ที่ศูนย์ฯ ยังเลือกใช้ตัวกรอง (Dialyzer) ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบ Super High Flux และ High Flux ที่สามารถกรองของเสียออกได้ดีกว่าแบบธรรมดาทั่วไป จึงช่วยตัดปัญหาทั้งเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อโรค และปัญหาความผิดพลาดจากการหยิบตัวกรองของคนไข้คนอื่นมาใช้ แน่นอนว่าราคาอุปกรณ์ค่อนข้างสูง แต่ค่าบริการฟอกเลือดไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนคิด เพราะทางโรงพยาบาลตั้งใจให้คนไทยได้เข้าถึงการฟอกเลือดที่มีคุณภาพนั่นเอง

และนอกจากฟอกเลือดตามปกติแล้ว ที่ศูนย์ไตเทียมยังรักษาแบบ Extracorporeal ชนิดอื่น ๆ คือนำเลือดออกมาผ่านเครื่องมือสำหรับฟอกเพื่อกำจัดสารพิษ, Auto antibodies, ยาที่เกินขนาด เป็นต้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้เพื่อดูแลคนไข้ที่ไม่ได้มาด้วยโรคไตวาย

Dr Napisvadee Wongchavanich Banner 4

ป้องกันเชื้อโรคให้ได้มากที่สุด

ความปลอดภัยจากการติดเชื้อ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ หากใครเคยมาที่ศูนย์ไตเทียมจะเห็นว่า นอกจากห้องฟอกเลือดที่เป็นห้องส่วนตัวทุกห้องแล้ว ก็ยังมีบริการจอดรถที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับศูนย์ฯ ทำให้คนไข้ฟอกไตไม่ต้องปะปนกับคนไข้แผนกอื่น ๆ จึงช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี

“โรงพยาบาลไม่ได้ออกแบบให้สวยหรูอย่างเดียว แต่สร้างมาเพื่อคนไข้ และสร้างตามที่แพทย์อยากให้เป็นจริง ๆ  ค่ะ ที่นี่ปลอดภัยสูงในเรื่องการป้องกันเชื้อ เรามี EIDARIC คลินิก ตรวจเฉพาะคนไข้ Acute Respiratory Infection Fever จึงช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปได้มาก เขาทำเพราะใส่ใจคนไข้ หมอ บุคลากรทุกคน” 

“เรื่องความปลอดภัยในการรักษานั้น มีสิ่งหนึ่งที่หมออยากขอความร่วมมือก็คือ คนไข้และญาติควรงดกินอาหารขณะฟอกเลือดค่ะ เพราะการถอดแมสออกมา กินไป คุยไป เสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย และคนไข้เสี่ยงสำลักจนอาจทำให้อาการแย่ลงด้วย”

Dr Napisvadee Wongchavanich Banner 6

กระบวนการรักษาที่ต้องอาศัยทีมเวิร์ค

ข้อดีอีกอย่างที่คุณหมอภูมิใจ สำหรับการมาฟอกไตที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค ก็คือความพร้อมของทีมแพทย์

“หากคนไข้โรคไตที่จู่ ๆ แน่นหน้าอกขึ้นมา เป็นโรคหัวใจ โรคสมอง ติดเชื้อ หรืออื่น ๆ แล้วต้องการความช่วยเหลือด่วน เรามีทีมแพทย์ดูแลทันที ไม่ต้องส่งต่อไปที่อื่น แล้วทุกครั้งที่คนไข้มาฟอกไต เขาจะได้พบกับแพทย์เสมอ เราติดตามอาการคนไข้อย่างใกล้ชิด รีวิวยากันทุกเดือน ว่าตอนนี้คนไข้กินยาตัวไหนอยู่บ้าง เพราะมันอาจส่งผลต่อการรักษา” 

จะเห็นได้ว่า การดูแลคนไข้ฟอกไตนั้น ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของหมอโรคไตเพียงฝ่ายเดียว แต่ประกอบไปด้วยแพทย์เฉพาะทางหลายสาขาด้วยกัน คุณหมอได้ยกตัวอย่างเคสคนไข้ไตวายระยะที่ 4 ที่มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงให้เราฟัง

“หมอตรวจเจอถุงน้ำดีอักเสบ หัวใจไม่แข็งแรง ก็ได้อาจารย์หมอศัลยแพทย์ มาทำการผ่าตัดช่วยชีวิตท่านไว้ได้ ถือเป็นเคสที่ยากเลยนะเพราะคนไข้อายุเกือบร้อยปีแล้ว หลังจากผ่าตัดหมอก็ได้รักษาแบบประคับประคอง ไม่ฟอกเลือด เพราะถ้าฟอก คนไข้ต้องมาอาทิตย์ละ 3 วัน แล้วท่านเป็นโรคสมองเสื่อมก็จะดึงสายออก ไม่ให้ความร่วมมือ เราก็ดูแลจนท่านอายุได้ 101 ปี ก็จากไปอย่างสงบ”

“อีกเคสหนึ่งเป็นคนไข้ฟอกเลือด อายุประมาณ 85 ปี ป่วยหลายโรคมาก มาฟอกเลือดที่นี่ แล้ววันหนึ่งเขาสำลัก หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น โชคดีมากที่เขายังอยู่ในศูนย์ฯ ของเรา จึงช่วยชีวิตได้ทันเวลา ถ้าตอนนั้นอยู่ระหว่างทาง โอกาสรอดแทบไม่มีเลย ตอนนั้นเขาก็กลับบ้านไปโดยมีการเจาะคอ ใส่เครื่องช่วยหายใจ”

การเป็นหมอที่ตรวจรักษา และบริหารจัดการศูนย์ฯ ไปพร้อมกันนั้น น่าจะเหน็ดเหนื่อยอยู่ไม่น้อย แต่เราก็ยังเห็นคุณหมอคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง ดูมีพลังงานเหลือเฟือ ไม่ใช่แค่มีความสุขกับการทำงานเท่านั้น แต่คุณหมอยังมีความสุขกับการได้เรียนรู้เพิ่มเติมในศาสตร์ต่าง ๆ ที่นำมาปรับใช้กับการรักษาด้วย

คุณหมอใช้เวลาว่างศึกษาเกี่ยวกับเวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging) ศาสตร์ราชโยคะ โหราศาสตร์การแพทย์ ที่ใช้ตำแหน่งของดวงดาวในการทำนายโรค ช่วยให้คนไข้ตระหนักรู้อาการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึง Bach Flower ที่ใช้น้ำสกัดจากดอกไม้ มาช่วยบำบัดจิตใจ ซึ่งทุกอย่างที่เรียนรู้ ก็เพราะเป็นความตั้งใจที่ต้องการดูแลคนไข้แบบองค์รวมนั่นเอง...

เผยแพร่เมื่อ: 19 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    ผศ.พญ. นภิสวดี  ว่องชวณิชย์

    ผศ.พญ. นภิสวดี ว่องชวณิชย์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคไต
    ไตวายเฉียบพลัน, การป้องกันและรักษาโรคไตด้วยโภชนบำบัด, ความผิดปกติ แปรปรวนของสภาวะสารน้ำและเกลือแร่, โรคไตอักเสบ, การบําบัดทดแทนหน้าที่ไตโดยการฟอกเลือด, โรคความดันโลหิตสูง, นิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ, การปลูกถ่ายไต, การกรองพลาสมา, การดูแลป้องกันไตเสื่อม, การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ, โรคกระดูกต่าง ๆ ที่เกิดจากไตทำงานผิดปกติ รวมทั้งกระดูกพรุน