นาทีฉุกเฉินแม่วัย 58 ปี ลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ขาอ่อนแรงพูดไม่ชัด เกือบโคม่า - The moment her mother suffered a brain blood clot.

ลูกเล่านาทีฉุกเฉินแม่วัย 58 ปี ลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แขนขาอ่อนแรงพูดไม่ชัด เกือบโคม่า

ถ้ามีอาการผิดปกติ อยากให้มาหาคุณหมอให้เร็วที่สุดไม่เกิน 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ สุขภาพของผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตให้ดี เพราะอาการบางอย่างเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองและหลอดเลือด หากไม่รีบนำส่งโรงพยาบาลอาจส่งผลให้สมองตาย

แชร์

ลูกเล่านาทีฉุกเฉินแม่วัย 58 ปี ลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แขนขาอ่อนแรงพูดไม่ชัด เกือบโคม่า

“ถ้ามีอาการผิดปกติ อยากให้มาหาคุณหมอให้เร็วที่สุดไม่เกิน 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้”

Kunlathep Thanasiriyothin 1

สุขภาพของผู้สูงวัย เป็นสิ่งที่คนในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตให้ดี เพราะอาการบางอย่าง เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองและหลอดเลือด หากไม่รีบนำส่งโรงพยาบาล อาจส่งผลให้สมองตาย ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือนอนติดเตียงได้

พบกับเรื่องราวนาทีบีบหัวใจของครอบครัว คุณกุลทรัพย์ ธนสิทธิ์โยธิน คนไข้ที่มีภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เนื้อสมองจะได้รับความเสียหาย ขอขอบคุณ คุณปัณนรัตน์ ลูกสาวของคนไข้ ที่แบ่งปันเรื่องราวร่วมกับเราใน... Patient Story

ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง

คุณปัณนรัตน์เล่าว่า สมัยก่อนคุณแม่ทำงานค่อนข้างหนัก แม้ปัจจุบันทางครอบครัวจะทำธุรกิจส่วนตัว มีลูกมาช่วยดูแลให้ จึงทำให้งานเบาลงไปพอสมควร แต่ถ้าถามถึงสุขภาพร่างกายก็ถือว่าไม่ค่อยแข็งแรงนัก

“คุณแม่อายุเกือบจะ 58 ปีแล้วค่ะ เป็นหลายโรคเลยทั้ง โรครูมาตอยด์ เบาหวาน ไฮเปอร์ไทรอยด์ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจนี่ถือว่าร้ายแรงที่สุด คุณแม่ก็รักษาอย่างต่อเนื่อง รักษามาเรื่อย ๆ ประมาณสามปีแล้ว ปัจจุบันไม่ได้ทำงานหนักอะไร แต่อาจจะมีภาวะเครียดบ้างช่วงก่อนหน้าที่จะมาเกิดเหตุ”

ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 คุณปัณนรัตน์เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ คุณแม่มีอาการพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ลิ้นแข็ง และอาการคล้ายมึน

“พอเห็นอาการผิดปกติ ตอนแรกก็คิดว่า น้ำในหูไม่เท่ากัน หรืออาจจะเป็นผลมาจากการผ่าตัดกระดูก เพราะคุณแม่เคยผ่าตัดกระดูกมา หลังจากผ่าตัดก็มีอาการเวียนศีรษะบ่อย แบบเป็น ๆ หาย ๆ ค่ะ แล้วอีกอย่างคือ เขาก็เคยเดินชนประตูจนมีอาการปากเบี้ยว น่าจะเกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ก็เป็นมานาน 10 ปีได้แล้ว”

อาการที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลใจไม่น้อย แต่แล้วไม่ทันไร ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ขณะที่คุณกุลทรัพย์ กำลังนอนเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้าน และแม่บ้านกำลังเดินไปหยิบของ เพียงเสี้ยวนาทีที่ละสายตา...

“คุณแม่ค่อย ๆ ร่วงลงมาจากที่นอนเลยค่ะ โชคดีที่คุณพ่ออยู่ด้วย ก็เลยรีบพามาส่งที่ โรงพยาบาลมหาชัย อย่างเร็วที่สุด ตอนนั้นคุณแม่กึ่งหมดสติ สะลึมสะลือ ลิ้นพัน ลิ้นแข็ง แขนข้างซ้าย ขาข้างซ้ายอ่อนแรง ไม่สามารถยกได้ ส่วนข้างขวาก็กระตุก สั่นตลอด เราก็คอยบอกคุณแม่ว่า “ลูกอยู่ตรงนี้นะแม่” เขามองหน้าเรา เขารับรู้ค่ะ”

“พอคุณแม่ไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอได้รีบทำการเอกซเรย์ แล้วประเมินได้ว่า เส้นเลือดในสมองน่าจะมีการอุดตันหรือตีบ ก็เลยขอทํา MRI เพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น คุณหมอบอกว่าถ้ามีอาการ หรือสงสัยว่ามีอาการสโตรกมา เกิดขึ้นไม่ถึง 3 เดือน จะไม่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ เพราะถ้าให้ยาไปแล้วจะมีเลือดออก ส่งผลกระทบต่อแกนสมอง และมีโอกาสที่จะเสียชีวิต”

Kunlathep Thanasiriyothin 2

หลอดเลือดอุดตันในสมอง ส่งผลให้สมองตาย

คุณปัณนรัตน์สอบถามถึงวิธีการรักษา ซึ่งแพทย์ได้แนะนําว่า ต้องทำการดูดลิ่มเลือดที่อุดตันในสมองออกมา แต่ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องมือเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ

“โรงพยาบาลรัฐอาจต้องใช้เวลา แต่เราไม่รอค่ะ ต้องให้คุณแม่ได้รับการรักษาภายในสองชั่วโมงหรืออย่างช้าไม่เกิน 6 ชั่วโมงเพื่อที่จะให้สมองกลับมาแล้วสามารถใช้งานได้ปกติ คุณหมอแนะนําโรงพยาบาลเมดพาร์ค เรารีบเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ต รู้สึกมั่นใจในทีมแพทย์ แล้วก็เครื่องมือต่าง ๆ ก็เลยตัดสินใจพามาที่นี่ทันที”

ทีมแพทย์พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉินจากโรงพยาบาลมหาชัย 2 รีบนำส่งคนไข้อย่างเร่งด่วน โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ท่ามกลางสภาพการจราจรติดขัด แต่ก็ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เพราะระหว่างที่นำส่งคนไข้ ได้มีการประสานงานกับแพทย์ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่ง ณ เวลานั้นก็คือ น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น. ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือดสมอง

“โรงพยาบาลเขาประสานงานกันตลอด คุณหมอก็โทร.คุย บอกกับเราว่า ทางนี้ได้เตรียมพร้อมไว้แล้วนะครับ มาถึงปุ๊บคนไข้จะได้เข้าห้องผ่าตัดไฮบริด*เลย โดยขั้นตอนการรักษา หมอจะทําแบบนี้ ๆ นะ อธิบายจนเราเข้าใจ เพื่อไม่ให้เสียเวลา พอไปถึงหน้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเมดพาร์ต ทีมแพทย์ พยาบาลก็รีบมารับคุณแม่ เปลี่ยนเสื้อผ้า พาเข้าห้องผ่าตัดไฮบริด เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว เราใช้เวลานั่งรอประมาณสองชั่วโมงเท่านั้นค่ะ”

Kunlathep Thanasiriyothin 3

พ้นขีดอันตราย ร่างกายฟื้นตัวได้ดี

จากตอนแรกที่คุณปัณนรัตน์คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง แต่ด้วยประสบการณ์ของทีมแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงความพร้อมของอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงสามารถรักษาอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้รู้สึกสบายใจ และมีกำลังใจมากขึ้น

“คุณหมอเก่งมากเลยค่ะ เรียกไปอธิบายถึงอาการของคุณแม่ เปิดให้ดูภาพจากคอมพิวเตอร์ ว่าก่อนและหลังการรักษาเป็นอย่างไรบ้าง ก็รู้สึกอึ้งที่ได้เห็นนวัตกรรมทางการแพทย์แบบนี้ และที่ดีใจยิ่งกว่านั้นก็คือ คุณแม่ปลอดภัยแล้ว วันต่อมาคุณแม่สามารถขยับแขนขา ตอบสนองได้ พูดชัด ประทับใจมาก ๆ เลย แฮปปี้ทุกคนเลยค่ะ”

“สิ่งที่ทำให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็ว คิดว่าเป็นประสบการณ์ ความชำนาญของคุณหมอและทีมงาน อีกอย่างหนึ่งก็คือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้การรักษาด้วยวิธีสวนหลอดเลือดในห้องผ่าตัดไฮบริด มีเพียงรูแผลในตำแหน่งสอดสายสวน มีการสูญเสียเลือดน้อยค่ะ”

หลังจากการรักษาโดยการสวนหลอดเลือดสมองแล้ว คุณหมอได้ทำการเอกซ์เรย์สมอง เพื่อประเมินสภาพความเสียหาย แล้วย้ายคนไข้ออกจากห้องไอซียู ไปยังห้องพิเศษ แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดต่อไป

“อยากให้ทุกคนสังเกตคนใกล้ชิด ถ้ามีอาการผิดปกติ มีเวียนศีรษะ เริ่มลิ้นแข็ง หรือว่าการทรงตัวผิดปกติ อยากให้มาหาคุณหมอภายใน 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ เพราะว่ายิ่งมาเร็วก็ยิ่งช่วยเรื่องความปลอดภัย แล้วก็ช่วยให้สมองคืนสู่สภาพปกติได้มากเท่านั้น”


โรคหลอดเลือดสมอง ถ้ามีอาการต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

สโตรก หรือ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่หลายคนหวาดกลัว เพราะมักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ถ้าหลอดเลือดสมองมีการตีบ อุดตัน หรือแตก และปล่อยทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง จะส่งผลทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง และสมองถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติหลังจากรักษาได้

ดังนั้น ถ้าสังเกตว่าคนใกล้ชิด เริ่มมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ใบหน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา ให้ทันภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ

Kunlathep Thanasiriyothin 4
น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

คุณกุลทรัพย์ ได้รับการดูแลโดย น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น. อายุรแพทย์ โรคหลอดเลือดสมอง และรังสีร่วมรักษาระบบประสาท คุณหมอเล่าว่าเป็นเคสฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลมหาชัย 2 ได้ประสานงานส่งฟิล์ม และผลตรวจ MRI มาให้ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเลยว่า หลอดเลือดข้างขวาอุดตัน ทำให้คนไข้เป็นอัมพาตข้างซ้าย

Kunlathep Thanasiriyothin 5
MRI แสดงสมองข้างขวาขาดเลือด และหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ข้างขวาอุดตัน

“คนไข้มีภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน ทางเราจึงเตรียมห้องผ่าตัดไฮบริด อุปกรณ์ เครื่องมือทุกอย่าง ให้พร้อมรักษาทันที เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงบ่าย กว่าจะส่งตัวมาก็เย็นแล้ว ยิ่งรักษาไวยิ่งดีครับ ตอนที่คนไข้มาถึง เขายังรู้สึกตัว แต่แขนข้างซ้ายอ่อนแรง ไม่สามารถยก หรือกระดิกได้เลย ทางการแพทย์จะแบ่งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็น 0-100 ซึ่งคนไข้รายนี้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็น 0 ครับ”

ในห้องผ่าตัดไฮบริด หลังจากคนไข้ได้รับยาระงับการรู้สึกแล้ว คุณหมอได้ทำการใส่สายสวนเข้าไปตามแนวเส้นเลือดแดงใหญ่ จนถึงตำแหน่งที่มีการอุดตันในหลอดเลือดสมอง แล้วทำการดูดลิ่มเลือดเจ้าปัญหานั้นออกมา

“พอเราฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด ก็พบว่าจุดที่ลิ่มเลือดไปอุดตันนั้น ขยับเคลื่อนจากที่เห็นใน MRI ไปอีกเล็กน้อย จากนั้นเราก็ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นสายสวนหลอดเลือด ดูดลิ่มเลือดออกมา ขนาดของลิ่มเลือดที่ดูดออกมานั้นยาวประมาณ 1 ซม. พอเอาออกมา เลือดก็ไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือดได้ ทำให้สมองกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง”

Kunlathep Thanasiriyothin 6
Angiogram แสดงหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ข้างขวาอุดตัน และภาพหลอดเลือดหลังจากนำเอาลิ่มเลือดออกมาแล้ว เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ปกติ

Kunlathep Thanasiriyothin 7
ภาพลิ่มเลือดที่นำออกมาจากหลอดเลือดสมอง

“หลังจากรักษาโดยการสวนหลอดเลือดสำเร็จก็ย้ายคนไข้มาที่ห้อง ICU คนไข้เริ่มรู้สึกตัวดีขึ้น ยกแขนข้างซ้ายได้ดีขึ้นมาก พูดชัดขึ้น วันต่อมาหมอไปตรวจติดตามอาการ พบว่าคนไข้มีแรงปกติ เสียงพูดชัดปกติ จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดี ก็ให้ย้ายไปห้องพิเศษ แล้วทำกายภาพอีก 2-3 วัน”

คุณหมอทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่ทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วก็คือ เวลา เมื่อรู้ตัวแล้วอย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน

“รีบมาให้ไวที่สุด ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ถ้าเกินกว่านั้น ก็ไม่ค่อยดีแล้วนะครับ จะต้องมาตรวจพิเศษอีกที ว่าควรจะรักษาด้วยวิธีไหน สำหรับคนไข้รายนี้ สาเหตุที่ลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง น่าจะมาจากโรคลิ้นหัวใจ และหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ ก่อนคนไข้กลับบ้านจึงได้ให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และนัดมาตรวจต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกครับ”

Kunlathep Thanasiriyothin 8
ผศ.นพ.มังกร อภิรักษ์กานต์ น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น. และ พว.อิศร์สรัล ไพบูลย์ พยาบาลห้องผ่าตัด

*ห้องผ่าตัดพิเศษ ที่ผสมผสานห้องผ่าตัด เข้ากับระบบเอกซเรย์พิเศษชนิด biplane ใช้กับผู้ป่วยที่สามารถให้การรักษาผ่านการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือด เช่นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยใช้สายสวน [Tran Arterial Valvular Implantation (TAVI)] โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหัวใจ  และสามารถทำผ่าตัดร่วมหรือเพื่อแก้ไขปัญหาแทรกซ้อนได้ในคราวเดียวกันหากจำเป็น โดยไม่ต้องย้ายห้องผ่าตัด

เผยแพร่เมื่อ: 19 ก.พ. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    น.อ.นพ. อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

    น.อ.นพ. อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

    • ประสาทวิทยา
    • โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต)
    • รังสีร่วมรักษาระบบประสาท
    โรคทางสมองและระบบประสาท, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคความผิดปกติของหลอดเลือดสมองและคอ, โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง , ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง คอและไขสันหลังจากโรคหรืออุบัติเหตุ