หมอศัลย์ฯ แชร์ประสบการณ์ทำ บอลลูนหัวใจ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ - A surgeon’s experience with coronary balloon angioplasty

หมอศัลย์ฯ แชร์ประสบการณ์ ทำบอลลูนหัวใจ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ

ผมเองก็ค่อนข้างจะเรียกว่าประมาท ไม่มีอาการก็เลยไม่คิดว่ามีโรคหัวใจ แต่ที่แท้คือมันซ่อนอยู่ อาการวูบ หน้ามืด เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

แชร์

หมอศัลย์ฯ แชร์ประสบการณ์ทำ บอลลูนหัวใจ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ

“ผมเองก็ค่อนข้างจะเรียกว่าประมาท ไม่มีอาการก็เลยไม่คิดว่ามีโรคหัวใจ แต่ที่แท้คือมันซ่อนอยู่”

นายแพทย์มัยธัช สามเสน ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบประสาท หมอศัลย์ฯ แชร์ประสบการณ์ทำ บอลลูนหัวใจ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบนพ.มัยธัช สามเสน

เมื่อพูดถึงการทำบอลลูนหัวใจ หลายคนหวาดกลัวเพราะเป็นการทำหัตถการที่แพทย์จะนำอุปกรณ์คล้ายบอลลูน ใส่เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจโดยที่คนไข้ยังรู้สึกตัว ดังนั้น MedPark Story จึงอยากแชร์เรื่องราว การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ของ นายแพทย์มัยธัช สามเสน ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบประสาท ที่ต้องบอกว่าโชคดีที่รู้ตัวเร็วและไม่นิ่งนอนใจ

มาติดตามกันว่า การทำบอลลูนนั้นน่ากลัวจริงหรือไม่ คุณหมอที่มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษาคนไข้มามากมาย เมื่อวันหนึ่งต้องกลายมาเป็นคนไข้ สวนหัวใจ ทำบอลลูน และใส่ขดลวด จะเป็นอย่างไรบ้าง

วูบ หน้ามืด เหมือนมีคนมาปิดไฟ

ย้อนไปก่อนหน้าที่จะมาทำการรักษา สุขภาพร่างกายของคุณหมอมัยธัชค่อนข้างปกติ ไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องกังวล ไม่มียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ อีกทั้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็มักจะไปเล่นเทนนิสหรือกอล์ฟกับเพื่อนอยู่เสมอ จนกระทั่งวันเกิดเหตุ...

“ขณะที่กำลังเล่นเทนนิส จู่ ๆ ผมก็มองไม่เห็นลูก มันเหมือนมีคนมาปิดไฟ ตอนนั้นไม่มีอาการแน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอก ไม่ได้ล้ม ไม่ได้เซ แต่พอรู้สึกหน้ามืดก็เลยยืนเกาะเน็ตสักพักแล้วอาการก็หายไป เป็นอยู่พักเดียวครับ ในใจคิดแล้วว่า เป็นเราหรอ...เราจะล้มลง เราจะวูบหมดสติ จะตายคาสนามหรือเปล่า ? ก็เลยหยุดเล่น ไม่เสี่ยง เพราะว่าอายุ 70 กว่าแล้วมันก็มีโอกาส และคิดว่าคงจะต้องไปตรวจแล้ว”

อาการวูบ หน้ามืด เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ หลังจากวันนั้น คุณหมอมัยธัชได้เข้ามาปรึกษากับ พญ.ปิยนาฏ ปรียานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด และนัดหมายตรวจหัวใจในวันรุ่งขึ้น โดยกระบวนการตรวจหลัก ๆ แล้ว เริ่มจาก เจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินบนสายพาน (Exercise Stress Test) และการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

Dr Maiyadhaj Samsen. a Neurosurgeon. a Surgeon’s Experience With Coronary Balloon Angioplasty 7

หลอดเลือดหัวใจเสื่อม ต้องสวนหัวใจ ขยายหลอดเลือด

“ผลตรวจหัวใจหลัก ๆ ก็ออกมาปกติดีครับ พอมาถึงขั้นตอน ตรวจวัดปริมาณหินปูนสะสมที่หลอดเลือดหัวใจ ปรากฎว่า Calcium Score ของผมอยู่ที่ 558 ซึ่งค่าปกติจะต้องไม่เกิน 300-400 ในคนวัยเดียวกัน แต่ของผมสูงถึง 558 แปลว่า มันมีความเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจ เสื่อมมานานจนเกิดแคลเซียมมาพอก แสดงว่าเป็นมาสักพักนึงแล้ว แต่ไม่รู้ตัว”

เมื่อผลตรวจ Coronary Calcium Score ได้คะแนนสูง แพทย์จึงต้องทำการตรวจสวนเส้นเลือดหัวใจ โดยฉีดสารทึบรังสี เพื่อให้เห็นลักษณะการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจว่าตีบมากน้อยเพียงใด โดยต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมใจ

“คุณหมอปิยนาฏแนะนำว่า ถ้าจะให้ชัวร์ก็ต้อง สวนหัวใจ ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงครับ สิ่งที่ต้องเตรียมก็คือ งดอาหาร เผื่อว่าเกิดอะไรขึ้นถึงขนาดผ่าตัดเปิดใหญ่ ต้องดมยาสลบก็จะได้ทำต่อเลย แล้วก็ต้องให้น้ำเกลือในช่วงที่งดอาหาร เพื่อให้มีน้ำในร่างกายเพียงพอ ต้องทำความสะอาดบริเวณข้อมือที่จะเจาะเข็ม เพื่อสอดสายเล็ก ๆ ลงไป ต้องรับประทานยาสงบประสาท เพราะถ้าตื่นเต้นเกินไป หัวใจก็เต้นเร็ว ความดันก็ขึ้น แล้วที่สำคัญก็คือ ต้องทำใจกับวิถีชีวิตที่อาจจะเปลี่ยนไป”

หากมีเส้นเลือดหัวใจตีบมากก็จำเป็นต้องใส่ขดลวด หรือ สเต็นท์ เพื่อขยายเส้นเลือด นั่นหมายความว่า คนไข้จะต้องดูแลขดลวดให้อยู่ในสภาพดี ด้วยการรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ระมัดระวังอย่าให้มีแผลหรือได้รับบาดเจ็บ เพราะจะทำให้เลือดหยุดยาก เรียกได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำไปตลอดชีวิต

Pci Banner 1ขณะสวนหัวใจทำบอลลูนและใส่ขดลวดเพื่อขยายเส้นเลือด

ทำบอลลูน ใส่ขดลวด ขยายเส้นเลือดหัวใจ

“ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้อยู่ในมือของหมอ จะทำอะไรก็ทำไปแล้วกัน” ความคิดนี้ผุดขึ้นมาเมื่อการทำหัตถการสวนหัวใจเริ่มต้นขึ้น คุณหมอมัยธัชพยายามทำจิตให้นิ่งเพื่อลดความตื่นเต้น นอนฟังแพทย์และพยาบาลพูดคุยกันในห้องสวนหัวใจอย่างมีสติ และรู้สึกได้ถึงความเย็นขณะที่สารทึบรังสีกำลังเคลื่อนผ่านเส้นเลือดไป แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

“ตอนฉีดสารทึบรังสี ผมรู้สึกแน่นหน้าอกมาก ถ้าให้คะแนนความเจ็บความแน่นเต็ม 10 น่าจะ 6-7 ก็เลยบอกอาการไป อาจารย์ก็คงเห็นคลื่นไฟฟ้าผิดปกติด้วยก็เลยบอกว่า เดี๋ยวให้ยา ผ่านไป 2-3 นาทีอาการแน่นก็ค่อย ๆ คลายลง ผมมาทราบทีหลังว่า ช่วงนั้นเส้นเลือดหัวใจมันหดเกร็ง ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ ก็เลยเกิดอาการหัวใจขาดเลือดชั่วคราว”

หลังจากตรวจเส้นเลือดครบทุกเส้นแล้ว ได้ข้อสรุปว่า มีเส้นเลือดตีบ 80% หนึ่งเส้น และอีกเส้นหนึ่งตีบ 70% จะต้องทำการใส่ สเต็นท์ ซึ่งเป็นไปตามที่คุณหมอคาดการณ์เอาไว้

“ตอนแรกเขาใส่บอลลูนก่อน บอลลูนก็เหมือนลูกโป่ง ใส่บอลลูนเข้าไปตรงจุดที่มันตีบ แล้วก็ขยายบอลลูนเพื่อให้เส้นเลือดมันขยายตาม แต่ว่าถ้าเอาบอลลูนออกปุ๊บ เส้นเลือดมันจะค่อยๆ ยุบ ดังนั้น วิธีที่จะไม่ให้มันยุบก็คือเอาขดลวดมาใส่เข้าไปแล้วให้มันบานออก มันก็จะตรึงขยายหลอดเลือดหัวใจให้อยู่คงที่ แล้วขดลวดเนี่ยเขาจะมียาบางอย่างเคลือบอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้มันตีบซ้ำ ก็ทำแบบนี้ทั้งสองเส้นนะครับ”

เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง คุณหมอมัยธัชก็ถูกส่งไปนอนพักรอดูอาการที่ห้อง CCU อีกสองวัน หลังจากนั้นจึงเริ่มทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูหัวใจ ที่เรียกว่า Cardiac Rehabilitation พร้อมแนวทางปฏิบัติตัวหลัก ๆ คือ ห้ามหยุดยา ห้ามขาดน้ำ ห้ามเครียด ห้ามทำกิจกรรมกีฬาที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจ แม้กระทั่งการขึ้นบันได แพทย์ก็แนะนำให้ค่อย ๆ ขึ้น ทีละก้าว ทีละก้าว แล้วพักทุก 5 ขั้น

Dr Maiyadhaj Samsen. a Neurosurgeon. a Surgeon’s Experience With Coronary Balloon Angioplasty 3

โรคหัวใจ แม้ไม่มีอาการเตือน ก็อย่าประมาท

“หลังจากมีสัญญาณเตือนว่าเป็นโรคหัวใจ อาจตายได้เมื่อไรก็ได้เนี่ย คงต้องมาเปลี่ยนวิถีชีวิตในเรื่องของการออกกำลังกายให้ดีกว่าเดิม เพื่อที่ว่าจะได้มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น คุณภาพชีวิตก็น่าจะดีขึ้น ไม่ว่าอายุจะยาวหรือสั้นก็ตาม”

นพ.มัยธัช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการ และเลขานุการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ให้มุมมอง และข้อคิด เกี่ยวกับการรักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองมีส่วนร่วมในการบริหาร พร้อมทั้งฝากถึงทุกคนว่าอย่าประมาท

“เหตุผลที่เลือกมาที่นี่ก็คือความมั่นใจ ผมอยู่กับโรงพยาบาลนี้ตั้งแต่เริ่มสร้าง มีส่วนร่วมในขั้นตอนการวางแผน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่สำคัญคือ ทีมแพทย์ ทำให้ผมอุ่นใจ ผมเองเป็นข้าราชการ มีสิทธิ์รักษาโรงพยาบาลรัฐได้ รักษาฟรี แต่ไหนๆ ชีวิตเราหลังเกษียณก็อยู่ที่นี่มาตลอด ก็เป็นที่ที่เราจะฝากผีฝากไข้ได้ครับ”

“อยากฝากถึงคนที่ยังไม่มีอาการ หรือเป็นแล้วแต่ไม่มีอาการ เส้นเลือดหัวใจมันค่อย ๆ ตีบทีละน้อย ถ้าเราปล่อยไปเรื่อย ๆ จนมันตีบเยอะ มันอาจจะป๊อกไปทีเดียว เสียชีวิตไปเลย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะให้มาตรวจ มาเช็กล่วงหน้านะครับ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ว่าตอนนี้หลอดเลือดเราแย่ไหม เป็นยังไงจะได้เริ่มการรักษาได้ถูก ผมเองก็ค่อนข้างจะเรียกว่าประมาท ไม่มีอาการก็เลยไม่คิดว่ามีโรคหัวใจ แต่ที่แท้คือมันซ่อนอยู่”


หลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน อันตรายอย่างไร?

หัวใจของคนเรานั้น มีหลอดเลือดจำนวน 3 เส้นโอบรอบเอาไว้ โดยมีเส้นเลือดเล็ก ๆ แตกแขนงไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจจะทำหน้าที่บีบสลับคลายตัว ทำให้เลือดสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงสมอง และอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หากผนังของหลอดเลือดหัวใจ มีคราบไขมันหรือแคลเซียมมาเกาะเอาไว้จนหนา เกิดการตีบแคบหรืออุดตันของโพรงหลอดเลือด ย่อมส่งผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตได้

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข รายงานไว้ว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 4 ของประชากรคนไทย โดยผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือหากมีคนในครอบครัวที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับโรคนี้

ทำบอลลูนหัวใจ Pci Banner 4

การทำบอลลูน ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน

พญ.ปิยนาฏ ปรียานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลได้ทำการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจของ นพ.มัยธัช ภายในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cath Lab)

“เราได้ใส่สายพลาสติกเล็ก ๆ ผ่านหลอดเลือดแดงจากข้อมือ แล้วฉีดสีหรือสารทึบรังสี พร้อมกับเอกซเรย์ ก็จะเห็นภาพหลอดเลือดหัวใจของ นพ.มัยธัช ซึ่งหลอดเลือดเส้นแรกที่เราได้ทำการตรวจสอบ พบว่ามีการคอดอย่างชัดเจน เป็นสาเหตุทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” 

ส่วนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านข้าง พบว่ามีรอยขรุขระะนิดหน่อยแต่ไม่มีตำแหน่งที่ตีบรุนแรง ส่วนอีกเส้นที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจฝั่งขวาเห็นรอยตีบชัดเจนที่ส่วนต้น สรุปแล้วมีหลอดเลือดหัวใจตีบสองเส้นจากทั้งหมดสามเส้น หลังจากนั้นก็ได้ทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวด” พญ.ปิยนาฏ กล่าว

พญ.ปิยนาฏ ปรียานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด - Dr Piyanart Preeyanont. an Interventional Cardiologist 2พญ.ปิยนาฏ ปรียานนท์

ทีมแพทย์ได้ทำการใส่ลวดเล็ก ๆ ผ่านเข้าไปในหลอดเลือด แล้วนำสายพลาสติกที่มีบอลลูนสวมด้วยสเต็นท์ที่ปลายท่อ สอดตามสายลวดนำทาง ไปจนถึงตำแหน่งที่ตีบแคบ จากนั้นเป่าบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด แล้วกาง สเต็นท์ที่หุ้มบนบอลลูนให้ขยายแนบติดไปกับผนังหลอดเลือด ช่วยเปิดหลอดเลือดที่ตีบอยู่ให้ขยายออก ทำให้หลอดเลือดไม่หดตัวกลับเข้ามา และไม่ตีบซ้ำ พญ.ปิยนาฏ สรุปให้ฟังถึงวิธีการรักษา

“โดยทั่วไปแล้วเราจะมีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงไปสำหรับคนไข้แต่ละราย หนึ่งคือ ทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจและใส่ขดลวด สองคือ ถ้ากรณีตีบมาก ตีบหลายเส้น ก็ต้องทำผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน หลังรักษาแล้วคนไข้ก็ยังต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง นพ.มัยธัช ก็ทำตามคำแนะนำของหมอเป็นอย่างดีค่ะ ทานยา ควบคุมอาหาร ดูแลตัวเองมากขึ้น จึงฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เริ่มออกกำลังกายได้ดีมากขึ้น ตีกอล์ฟได้ เล่นเทนนิสได้แล้ว ไม่มีอาการเหนื่อยง่าย หรือวูบจะเป็นลมอีก” พญ.ปิยนาฏ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับใครที่กังวลเกี่ยวกับการฉีดสีสวนหัวใจและทำบอลลูน ความจริงแล้วไม่น่ากังวลอะไร เพียงแต่คนไข้อาจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้นิดหน่อย เป็นจังหวะสั้น ๆ ที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอขณะทำบอลลูนขยายหลอดเลือด แต่หลังจากเปิดหลอดเลือดแล้วก็จะไม่เป็นซ้ำอีก ซึ่งกรณีการรักษา นพ.มัยธัช พบว่าคนไข้ฟื้นตัวอย่างดี เพราะได้รับความร่วมมือจากทีมแพทย์หัวใจ และทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ (Cardiac Rehabilitation) โดยการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหัวใจหลังทำหัตถการต้องไม่ใจร้อน อย่าคิดว่าหลอดเลือดโล่งแล้วลงไปแข่งขันกีฬาหนัก ๆ ได้ หัวใจต้องการปรับตัวให้เข้ากับการไหลเวียนเลือดที่แก้ไขใหม่สักระยะ จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จตามแผนการรักษาที่วางไว้

เผยแพร่เมื่อ: 19 ม.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคความดันโลหิตสูง, โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง , การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคหลอดเลือดส่วนปลายบริเวณแขนขาตีบ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ