โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

โรคมะเร็งสมอง

โรคมะเร็งสมองเกิดจากเซลล์ในสมองเกิดการกลายพันธุ์อาจทำให้เกิดเนื้องอกแบบที่เป็นและไม่เป็นมะเร็งได้ โดยการที่เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งนั้นจะเติบโตช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคมะเร็งสมอง

เมื่อเซลล์ในสมองเกิดการกลายพันธุ์อาจทำให้เกิดเนื้องอกแบบที่เป็นและไม่เป็นมะเร็งได้ โดยการที่เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งนั้นจะเติบโตช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก เนื้องอกที่เป็นมะเร็งอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ชัก สูญเสียความทรงจํา หรือแขนและขาอ่อนแรง ในการรักษาเนื้องอกในสมองหรือมะเร็งสมองส่วนใหญ่ต้องผ่าตัดนำเนื้องอกออกจากสมอง แต่บางกรณีก้อนเนื้องอกเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญของสมองจึงทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมีจำนวนมากจนไม่สามารถผ่าตัดได้หมด จึงต้องให้การรักษาอื่นเสริมแทน เช่น การฉายแสง หรือการให้ยา

ประเภทของมะเร็งสมอง

  • มะเร็งสมองแบบปฐมภูมิ (Primary Brain Cancer) คือ ภาวะที่มีเนื้องอกหรือเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยต้นกำเนิดมาจากในเนื้อสมองเอง โดยเนื้องอกชนิดนี้มักไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อยู่แต่ภายในสมองหรือไขสันหลัง พบได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่มีความรุนแรงมาก พยากรณ์โรคไม่ดี
  • มะเร็งสมองทุติยภูมิ (Secondary Brain Cancer) หรือมะเร็งแพร่กระจาย (Metastasized Brain Cancer) เกิดจากการที่มะเร็งในส่วนอื่นของร่างกายแพร่กระจายไปยังสมอง ซึ่งพบได้บ่อยกว่ามะเร็งสมองแบบปฐมภูมิ เช่น มะเร็งเต้านมกระจายมาที่สมอง หรือมะเร็งปอดกระจายมาที่สมอง ความรุนแรงและพยากรณ์โรคจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งต้นกำเนิด


อาการของโรคมะเร็งสมอง

อาการหลาย ๆ อาการของโรคมะเร็งสมองนั้นคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า  หากมีอาการของโรคนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

  • อาการชัก เป็นสัญญาณแรกของโรคเนื้องอกในสมอง ซึ่งทำให้เกิดอาการงุนงง พูดไม่รู้เรื่อง
  • ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน
  • การมองเห็นเปลี่ยนไป มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็น
  • คิดอะไรไม่ค่อยออก
  • สูญเสียความทรงจํา
  • แขนขาอ่อนแรง
  • นิสัยใจคอเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสมองปฐมภูมิ  (Primary brain cancer)

โรคมะเร็งสมองปฐมภูมิอาจมีความเกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับรังสีในปริมาณที่สูง เช่น การเคยได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาในวัยเด็ก มีประวัติอาศัยในเขตพื้นที่มีเคยมีระเบิดนิวเคลียร์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งก็จัดเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ รวมทั้งอายุที่มากขึ้นก็สามารถทำให้พบมะเร็งสมองได้มากขึ้น

อาหาร การได้รับการกระแทกทางศีรษะ ยาฆ่าแมลง สัญญาณอินเทอร์เน็ต ไวไฟ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ สิ่งเหล่านี้ล้วนยังไม่สามรถสรุปได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งสมอง

โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งสมอง

  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น CT สแกน MRI หรือ PET สแกนเพื่อระบุตำแหน่งของเนื้องอกในสมอง
  • การตรวจระบบประสาทเพื่อตรวจสอบว่าสมองได้รับผลกระทบจากมะเร็งหรือเนื้องอกหรือไม่
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง
  • การตรวจชิ้นเนื้อสมอง


การรักษาโรคมะเร็งสมอง

การรักษาโรคมะเร็งสมองปฐมภูมินั้นจะแตกต่างจากโรคมะเร็งสมองทุติยภูมิ แพทย์จะพิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยดูจากชนิด ขนาด และตําแหน่งของมะเร็งสมอง ตลอดจนอายุและสุขภาพของผู้เข้ารับการรักษา แพทย์จะพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาแต่ละประเภทกับผู้ป่วยก่อนทำการรักษา

  • การผ่าตัดสมอง สามารถผ่าเนื้องอกในสมองออกไปทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน โดยขึ้นอยู่กับตําแหน่งของเนื้องอกหรือมะเร็ง การผ่าตัดสมองเป็นวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยมมากที่สุด
  • เคมีบําบัด ทำให้เนื้องอกในสมองมีขนาดเล็กลงและฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • รังสีรักษา จะทําลายเซลล์มะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดนำออกมาได้
  • การบําบัดแบบผสมผสาน เป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยเคมีบําบัดและรังสีรักษาไปพร้อมกัน
  • ยามุ่งเป้าและยาภูมิคุ้มกันบำบัด ช่วยฟื้นฟูภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับมะเร็งสมอง
  • ยาประเภทอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการหรือผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งสมอง เช่น ยากันชัก ยาในโครงการวิจัย
  • เวชศาสตร์การฟื้นฟู เช่น กิจกรรมบําบัดและกายภาพบําบัดช่วยฟื้นฟูความสามารถในการพูดคุย เดิน และประกอบกิจกรรมประจําวันที่สูญเสียไปเพราะมะเร็งสมอง
  • การรักษาทางเลือก เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างการและเพิ่มสารอาหารที่ร่างกายสูญเสียไปจากการรักษาโรคมะเร็ง
  • การตรวจติดตามผล เช่น การตรวจวิจฉัยด้วยภาพถ่ายเพื่อตรวจดูว่ากลับมาเป็นโรคมะเร็งสมองอีกหรือไม่


การป้องกัน

โรคมะเร็งสมองไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสีโดยไม่มีเหตุจําเป็น
  • ออกกำลังกาย
  • เลิกสูบบุหรี่


บทความโดย
นพ.สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
ประวัติแพทย์

 

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  1. คำถาม: โรคมะเร็งสมอง เกิดจากอะไร?
    คำตอบ: โรคมะเร็งสมองเกิดจากเซลล์ในสมองเกิดการกลายพันธุ์อาจทำให้เกิดเนื้องอกแบบที่เป็นและไม่เป็นมะเร็งได้ โดยการที่เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งนั้นจะเติบโตช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก เนื้องอกที่เป็นมะเร็งอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ชัก สูญเสียความทรงจํา หรือแขนและขาอ่อนแรง 

  2. คำถาม: โรคมะเร็งสมอง มีอาการอย่างไร?
    คำตอบ: อาการหลาย ๆ อาการของโรคมะเร็งสมองนั้นคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า หากมีอาการของโรคนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาทันที เช่น อาการชักที่เป็นสัญญาณแรกของโรคเนื้องอกในสมอง ซึ่งทำให้เกิดอาการงุนงง พูดไม่รู้เรื่อง ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน การมองเห็นเปลี่ยนไป มองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

  3. คำถาม: การตรวจหามะเร็งสมอง ต้องตรวจอะไรบ้าง?
    คำตอบ: การตรวจด้วยภาพ เช่น CT สแกน MRI หรือ PET สแกนเพื่อระบุตำแหน่งของเนื้องอกในสมอง dkiตรวจระบบประสาทเพื่อตรวจสอบว่าสมองได้รับผลกระทบจากมะเร็งหรือเนื้องอกหรือไม่ การเจาะน้ำไขสันหลัง และการตรวจชิ้นเนื้อสมอง

เผยแพร่เมื่อ: 20 ก.พ. 2023

แชร์