Plantar Fasciitis - MedPark Hospital

โรครองช้ำ

โรครองช้ำ หรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของพังผืดใต้ฝ่าเท้า พังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างปกติของเท้า

แชร์

โรครองช้ำ

โรครองช้ำ หรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของพังผืดใต้ฝ่าเท้า พังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างปกติของเท้าโดยเกาะจากกระดูกส้นเท้า แผ่ไปทั่วบริเวณฝ่าเท้า จากนั้นไปเกาะที่กระดูกนิ้วเท้า พังผืดดังกล่าวทำหน้าที่ช่วยกระจายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้าอย่างเหมาะสมในขณะยืนหรือเดิน โรครองช้ำมักพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน กลุ่มนักวิ่ง หรือกลุ่มวัยกลางคน

อาการของโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้า หรือรองช้ำ

โดยทั่วไป โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าจะทำให้เกิดความรู้สึกปวด ตึง หรือเจ็บคล้ายกับมีของแหลมมาทิ่มบริเวณส้นเท้า ส่วนใหญ่อาการปวดเกิดขึ้นกับเท้าข้างใดข้างหนึ่งแต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้กับเท้าทั้ง 2 ข้าง อาการเจ็บจะเป็นมากช่วงเช้าหลังตื่นนอนแล้วลุกเดิน 2-3 ก้าวแรก จากนั้นอาการปวดจะทุเลาลงหากเดินไปสักพัก จากนั้นอาการปวดอาจเกิดขึ้นได้อีกหากมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน หรือปวดเมื่อลุกขึ้นยืนหลังจากนั่งเป็นระยะเวลานาน

สาเหตุของการเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้า หรือรองช้ำ

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรครองช้ำได้ หนึ่งในสมมติฐานที่เป็นไปได้ คือ ในขณะที่เท้ารับน้ำหนักของร่างกาย เช่น ขณะยืน เดิน หรือวิ่ง เกิดการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าที่ต่อเนื่องหรือมากเกินไป ส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกอย่างฉับพลัน กลไกดังกล่าวหากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จะส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจสัมพันธ์กับการเกิดโรครองช้ำ มีหลายประการ ได้แก่

  • อายุ: โรครองช้ำพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ถึง 60 ปี
  • ลักษณะกิจกรรหรือการออกกำลังกาย: กิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ต้องลงน้ำหนักที่ส้นเท้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การวิ่ง หรือ การเต้น เป็นต้น
  • ภาวะเท้าแบน ผู้ที่มีภาวะเท้าแบนอาจส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกมากกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมื่อมีการยืนหริอเดินเป็นระยะเวลานาน พังผืดใต้ฝ่าเท้าได้รับบาดเจ็บและอักเสบเรื้อรังได้
  • น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ น้ำหนักตัวส่งผลให้เกิดแรงกดต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าเพิ่มขึ้น


ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษาโรครองช้ำ อาจส่งผลให้เกิดการปวดฝ่าเท้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการปวดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานได้

การวินิจฉัยโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้า

โรครองช้ำสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับ ตำแหน่งที่ปวด ลักษณะของการปวด กิจกรรมที่ทำให้ปวดมากขึ้น และกิจกรรมที่ทำให้ปวดน้อยลง จากนั้นตรวจร่างกายโดยดูลักษณะเท้า ขยับเท้า และคลำเพื่อหาตำแหน่งจุดกดเจ็บ

การส่งตรวจเพิ่มเติม

โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรครองช้ำไม่จำเป็นต้องทำการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์เท้า หรือการทำ MRI ที่บริเวณเท้า ยกเว้นในรายที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นโรคอื่น

การรักษาพังผืดใต้ฝ้าเท้า หรือรองช้ำ

โดยส่วนใหญ่แล้ว โรครองช้ำสามารถรักษาได้โดยการไม่ผ่าตัด ประกอบด้วย ยา การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การกายภาพบำบัด การรักษาด้วยคลื่นช็อคเวฟ และการฉีดยา

  • ยา
    ยารับประทาน เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDs (ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน มีล็อกซิแคม (โมบิก) เซเลโคซิบ (เซเลเบร็กซ์) เอทอริคอกสิบ(อาร์คอกเซีย) สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรครองช้ำได้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้ ยาทาเฉพาะที่ (ครีมหรือเจล) เช่น ไดโคลฟีแน็ก เจล (ไดฟีลีน เจล) มีความปลอดภัยมากกว่ายารับประทานและสามารถบรรเทาอาการปวดได้เช่นเดียวกัน
    ยารับประทานอาจมีผลข้างเคียงต่อไต ตับ กระเพาะอาหาร หรือหัวใจ และอาจทำให้เกิดการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย นอกจากนี้ยาทาเฉพาะที่อาจทำให้เกิดระคายเคืองหรือเกิดผื่นภูมิแพ้ต่อผิวหนังในผู้ป่วยบางราย ดังนั้นก่อนการใช้ยา ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • การออกกำลังกาย
    การออกกำลังกายหลักเพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรครองช้ำ คือ การยืดบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่อง


ท่ายืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า



  • วิธีปฏิบัติ
    1. นั่งไขว่ห้าง ฝ่าเท้าข้างที่จะยืดอยู่ด้านบน
    2. ใช้มือหนึ่งค่อยๆดึงนิ้วเท้าให้กระดกขึ้นอย่างนุ่มนวล ไม่ออกแรงดึงเร็วหรือมากเกินไป
    3. ระหว่างยืด จะรู้สึกฝ่าเท้าถูกยืดออกเล็กน้อย แต่ไม่เจ็บ
    4. ค้างไว้ในท่าดังกล่าว นาน 20 วินาที (นับ 1 - 20)


ท่ายืดเอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่อง



  • วิธีปฏิบัติ
    1. ใช้ผ้าคล้องหน้าเท้า
    2. มือ 2 ข้างจับที่ปลายผ้าแต่ละข้าง
    3. ดึงผ้าเข้าหาตัว มือ 2 ข้างออกแรงเท่ากัน ให้ข้อเท้ากระดกขึ้น
    4. ระหว่างยืด จะรู้สึกฝ่าเท้าถูกยืดออกเล็กน้อย แต่ไม่เจ็บ
    5. ค้างไว้ในท่าดังกล่าว นาน 20 วินาที (นับ 1 - 20)


ข้อควรระวังในขณะยืดทั้ง 2 ท่า

  • ทำแต่ละท่าอย่างนุ่มนวล ช้า ๆ ไม่เร็วหรือกระชาก
  • ไม่ออกแรงยืดมากเกินไป เพราะทำให้เจ็บได้ ควรรู้สึกว่าฝ่าเท้าหรือกล้ามเนื้อถูกยืดออกเพียงเล็กน้อย ไม่ปวดแปล๊บ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการปวดจากโรครองช้ำ ประกอบด้วย

  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่สึกหรอ พื้นรองเท้าบางหรือแข็ง ให้เปลี่ยนรองเท้าเป็นขนาดพอดีกับความยาวและความกว้างของเท้า วัสดุสวมใส่สบาย มีส่วนโค้งรองรับพอดีกับอุ้งเท้า และพื้นรองเท้ารองรับแรงกระแทกของฝ่าเท้าขณะเดินหรือออกกำลังกายได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า หากมีอาการปวดจากโรครองช้ำเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าทั้งในบ้านและนอกบ้าน
  • ควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม น้ำหนักของร่างกายที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการเพิ่มแรงกดต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้า อันนำไปสู่โรครองข้ำ ควรควบคุมน้ำหนักโดยการคุมอาหารและออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ไม่กระแทกต่อฝ่าเท้า เช่น การเดิน การออกกำลังกายโดยใช้เครื่องเดินวงรี (elliptical training), การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน เป็นต้น
  • ปรับลักษณะการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ออกแรงกดต่อฝ่าเท้าสูง เช่น วิ่งเร็ว การเต้นที่มีการขยับเท้าเร็ว เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล ฟุตบอล เป็นต้น

อุปกรณ์เสริม

อุปกรณ์เสริมดังต่อไปนี้บรรเทาอาการปวดเท้าได้ ทั้งนี้การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์  อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วย

  • แผ่นรองส้น วัตถุประสงค์เพื่อลดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้าและเพิ่มความนุ่มสบายในขณะยืนหรือเดิน อาจพิจารณาใช้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่ยังมีอาการปวดเท้า
  • อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้าด้านใน วัตถุประสงค์เพื่อหย่อนพังผืดใต้ฝ่าเท้าไม่ให้ตึงจนเกินไป ส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม พร้อมสำหรับการรองรับแรงกระแทกในขณะยืนหรือเดิน
  • แผ่นรองเท้า แพทย์อาจแนะนำให้ใช้แผ่นรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้าเพื่อบรรเทาอาการปวด อาจพิจารณาแผ่นรองเท้าชนิดสำเร็จรูปที่วางขายโดยทั่วไป ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์เห็นสมควร อาจพิจารณาแผ่นรองเท้าแบบสั่งตัดเฉพาะราย เพื่อให้แผ่นรองเท้าที่ตัดมาเหมาะสมและมีรูปร่างที่พอดีกับรูปร่างเท้าของผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดการกระจายน้ำหนักที่เหมาะสมไปยังฝ่าเท้า ทำให้ลดอาการปวดฝ่าเท้าได้ในขณะยืนหรือเดิน

อุปกรณ์พยุงเท้าสำหรับใส่ตอนกลางคืน

ในขณะหลับ ร่างกายจะผ่อนคลายส่งผลให้ข้อเท้าตกซึ่งจะส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าหดตัว เมื่อตื่นนอนและลุกเดิน พังผืดใต้ฝ่าเท้าจะถูกยืดออกอย่างเฉียบพลันส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ อุปกรณ์พยุงเท้าสำหรับใส่ตอนกลางคืนจะช่วยให้ข้อเท้าไม่ตก ส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกอย่างเหมาะสมอยู่ตลอด ส่งผลให้ป้องกันอาการปวดในตอนเช้าได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดและไม่ตอบสนองการรักษาอื่น

กายภาพบำบัด

นักกายภาพบำบัดสามารถลดอาการปวดจากโรครองช้ำได้โดยใช้เครื่องมือ เช่น การประคบอุ่น การใช้เครื่องมือคลื่นอัลตราซาวน์เพื่อการรักษา เป็นต้น เมื่อบำบัดอาการปวดเสร็จ นักกายภาพบำบัดสามารถแนะนำการออกกำลังกายโดยการยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่องด้วยท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เมื่อหายปวดจากโรครองช้ำแล้ว นักกายภาพบำบัดสามารถแนะนำท่าออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาเพื่อป้องกันไม่ให้โรครองช้ำกลับมาเป็นซ้ำ

การรักษาด้วยเครื่องมือช็อคเวฟ หรือคลื่นกระแทก (Extracorporeal shock wave therapy)

เครื่องมือช็อคเวฟ หรือคลื่นกระแทก เป็นคลื่นเสียงพลังงานสูง ไม่ได้ใช้รังสี หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า กลไกของการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว คือ คลื่นช็อคเวฟจะส่งพลังงานลึกลงไปที่ชั้นพังผืดใต้ฝ่าเท้า พลังงานดังกล่าวจะกระตุ้นเนื้อเยื่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ลดความตึงของพังผืดที่เกิดจากการอักเสบเรื้องรังได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดจากโรครองช้ำได้ในท้ายที่สุด ในปัจจุบัน การรักษาโรครองช้ำด้วยคลื่นช็อคเวฟจัดเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นเรื้อรังหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

การฉีดยา

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณส้นเท้าสามารรถบรรเทาอาการปวดได้ เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ลดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาสเตียรอยด์หากฉีดไม่ถูกวิธี อาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้ ตัวอย่างเช่น เสี่ยงต่อชั้นไขมันที่บริเวณฝ่าเท้าบางลง การติดเชื้อที่กระดูกส้นเท้า หรือพังผืดฝาเท้าอ่อนแรงลงหรือฉีกขาด เป็นต้น ดังนั้น การฉีดยาจัดเป็นการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดที่ควรพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย และควรทำเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรครองช้ำที่มีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น จากผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ การฉีดยาจึงควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องมืออัลตราซาวน์เพื่อช่วยให้การฉีดทำได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

การผ่าตัด

ในปัจจุบัน การรักษาโรครองช้ำส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดรักษาให้หายได้โดยการไม่ผ่าตัด การผ่าตัดจะพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อผู้ป่วยเป็นโรครองช้ำที่มีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นจริง ๆแล้ว เท่านั้น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. ศิรประภา ลิ้มประเสริฐ

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • Link to doctor
    พญ. พิม ตีระจินดา

    พญ. พิม ตีระจินดา

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การประเมินภาวะกลืนลำบาก
  • Link to doctor
    พญ. ไพรินทร์ เลาหสิณณรงค์

    พญ. ไพรินทร์ เลาหสิณณรงค์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • Link to doctor
    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. สุทัศน์ ภัทรวรธรรม

    ผศ.นพ. สุทัศน์ ภัทรวรธรรม

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    ผศ.พญ. สุมาลี ซื่อธนาพรกุล

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • Link to doctor
    นพ. ธรรมสรณ์ เจษฎาเชษฐ์

    นพ. ธรรมสรณ์ เจษฎาเชษฐ์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • Link to doctor
    นพ. สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี

    นพ. สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • Link to doctor
    พญ. เนตรยา นิ่มพิทักษ์พงศ์

    พญ. เนตรยา นิ่มพิทักษ์พงศ์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, กายอุปกรณ์
  • Link to doctor
    นพ. ชนศักดิ์ หทัยอารีย์รักษ์

    นพ. ชนศักดิ์ หทัยอารีย์รักษ์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยและความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ