เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง รักษาอะไร
- ข้อบ่งชี้การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- ขั้นตอนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง พักฟื้นกี่วัน
- ภาวะแทรกซ้อนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- ข้อดีของการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง (ACL reconstruction)
ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง (ACL reconstruction) คือ การรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด ด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก (MIS) และนำเส้นเอ็นจากส่วนอื่นของร่างกายมาทดแทนเพื่อขจัดอาการปวดข้อเข่า เข่าบวม เข่าหลวม มีเสียงลั่นในข้อเข่า ไม่สามารถเหยียดและงอข้อเข่าได้ตามปกติ ที่เกิดจากอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬา อุบัติเหตุจราจร หรือการพลัด ตก หกล้มผิดท่า ที่ทำให้ข้อเข่าบิดหมุนรุนแรงจนทำให้เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง สร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่ทดแทนเอ็นไขว้เข่าฉีกขาด หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรือข้อเข่าหลวม ช่วยฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ เพิ่มความแข็งแรงมั่นคงให้ข้อเข่า ช่วยให้เหยียดและงอข้อเข่าได้สุด และช่วยให้เดิน วิ่ง เล่นกีฬาได้ดีในระดับเดิม
ทำไมต้องผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
เอ็นไขว้หน้าขาด จากการปะทะขณะเล่นกีฬา การวิ่งแล้วหยุดฉับพลัน การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน การกระโดดขึ้นลงแรง ๆ หรืออุบัติเหตุพลัด ตก หกล้มที่ทำให้ข้อเข่าบิดหมุนเข้าด้านในจนเกิดการอักเสบของข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ และเยื่อบุรอบข้อ ส่งผลให้มีอาการปวดข้อเข่ารุนแรง มีเลือดออกในข้อเข่า มีเสียงลั่นในข้อเข่า ข้อเข่าบวม ข้อเข่าหลวม ข้อเข่าทรุด ไม่สามารถเล่นกีฬาได้เช่นเคย เดิน วิ่ง ลงน้ำหนักได้ไม่เต็มเท้า ส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย และเสี่ยงทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเรื้อรัง
การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง ใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ด้วยการสอดกล้อง Arthroscope พร้อมเลนส์กำลังขยายสูงและใยแก้วนำแสงที่แสดงรายละเอียดภายในข้อเข่าแบบ Real-time ออกสู่หน้าจอ Monitor ภายนอก เพื่อให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าจากภายใน ช่วยให้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย เนื้อเยื่อเสียหายน้อย ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ระยะเวลาพักฟื้นสั้น ช่วยต่อเอ็นไขว้หน้าให้เหยียดงอได้เต็มพิสัย ช่วยให้เดินและวิ่งลงน้ำหนักได้เต็มเท้า และช่วยคืนฟอร์มการเล่นกีฬาได้เต็มที่
ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง รักษาอะไร
- เอ็นไขว้หน้าขาด (Anterior cruciate ligament (ACL) tears) ที่เกิดจากแรงปะทะทั้งทางตรงหรืออ้อม การเปลี่ยนทิศทางการบิดหมุน การเร่งหรือหยุดกะทันหัน ที่ทำให้เกิดแรงตึงที่เอ็นไขว้หน้าสูงกว่าปกติจนเกิดการฉีกขาด ส่งผลให้มีอาการปวดข้อเข่ารุนแรงเฉียบพลัน มีเสียงลั่นในข้อ เลือดออกในข้อ ไม่สามารถเล่นกีฬาต่อได้ เข่าบวม เดินกะเผลก เดินลงน้ำหนักได้ไม่เต็มเท้า
- หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด (Meniscus tears) เกิดจากการบิดหมุนข้อเข่ารุนแรงหรือผิดท่า ทำให้กระดูกข้อเข่าเข้าไปเบียดกับหมอนรองกระดูกจนฉีกขาด หมอนรองข้อเข่าเข้าไปขัดระหว่างข้อ ทำให้มีอาการปวดข้อ มีเสียงลั่นในข้อ เหยียดงอข้อเข่าไม่สุด ข้อเข่าติดล็อค ข้อเข่าไม่มั่นคง เดินลงน้ำหนักได้ไม่เต็มเท้า ส่งผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อสึกกร่อน และเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- ข้อเข่าหลวม (Loose knee joint) เกิดจากการบาดเจ็บฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าขณะลงน้ำหนักที่ขาและเข่า หรือการบิดหมุนรุนแรง ทำให้มีอาการปวดข้อเข่า เข่าบวม ข้อเข่าหลวม กระดูกหน้าแข้งเคลื่อนหลุดไปข้างหน้า รู้สึกได้ว่าข้อเข่าเคลื่อนออกจากกันเวลาบิดขา เดินกะแผลก วิ่งซิกแซกไม่ได้ วิ่งแล้วหยุดกะทันหันไม่ได้ และไม่สามารถเล่นกีฬาได้ดีในระดับเดิม
ข้อบ่งชี้การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- ปวดเข่ารุนแรง เข่าบวมช้ำภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
- มีเสียงลั่นในข้อเข่า มีเสียงในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว
- ข้อเข่าเคลื่อนหลุดไปข้างหน้า ข้อเข่าเคลื่อนเวลาบิดขา
- เข่าและขาอ่อนแรงเวลาก้าวเดิน วิ่ง หรือเล่นกีฬา
- วิ่งแล้วเจ็บเข่า เดินกะเผลก เดินลงน้ำหนักที่เท้าไม่ได้
- ข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าหลวม ข้อเข่าสูญเสียความมั่นคง
- เหยียดเข่าลำบาก งอเข่าได้ยาก เจ็บเข่ามากเวลานั่งยอง ๆ
- รักษาด้วยการทานยา หรือทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น
- นักกีฬาที่ต้องการคืนฟอร์มการเล่นกีฬาให้ดีในระดับเดิม
การวินิจฉัยก่อนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
แพทย์จะวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาดโดยการซักประวัติหากมีอาการปวดข้อเข่ารุนแรง เข่าบวม ข้อเข่าหลวม สังเกตการเดินกะเผลก ระยะการก้าวเดิน การลงน้ำหนักที่เท้า พิสัยการเหยียดงอข้อเข่าเทียบกับขาอีกข้าง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น และทำการตรวจทางรังสีวิทยาภาพถ่ายบริเวณข้อเข่าทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ดังนี้
- ตรวจเอกซเรย์ (X-rays) ตรวจดูโครงสร้างกระดูกข้อเข่าส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง ส่วนปลายของกระดูกต้นขา กระดูกสะบ้า และกระดูกอ่อนระหว่างข้อเข่า
- การทำ CT-scan ตรวจโครงสร้างกระดูกข้อเข่า หมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ เยื่อบุรอบข้อ เนื้อเยื่อ เส้นเอ็น ตรวจหาเอ็นไขว้หน้าขาด กระดูกเคลื่อน กระดูกทรุด หรือการติดเชื้อ
- การทำ MRI ตรวจโครงสร้างกระดูกข้อเข่าและกระดูกอ่อนผิวข้อแบบ 3 มิติ ตรวจหาเอ็นไขว้หน้าขาด หมอนรองข้อเข่าฉีก กระดูกหักในข้อเข่า กระดูกเคลื่อน กระดูกงอก หรือกระดูกผิดรูป
ขั้นตอนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง รพ. เมดพาร์ค ใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการผ่าตัด โดยยึดความปลอดภัยและผลสำเร็จในการรักษาเป็นสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การต่อเอ็นไขว้หน้าขาดได้สำเร็จ ช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงมั่นคงให้ข้อเข่า ขจัดอาการปวดเข่า ช่วยให้กลับมาเดิน วิ่ง และเล่นกีฬาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามเดิม
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- แพทย์จะแนะนำให้บริหารร่างกายก่อนการผ่าตัดร่วมกับนักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้เหยียดและงอข้อเข่าได้เต็มที่ เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าขาด ส่งผลให้ข้อเข่าบวมช้ำ ตึง และเคลื่อนไหวร่างกายได้จำกัด การฝึกกล้ามเนื้อจะช่วยให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดีที่สุด
- งดยาละลายลิ่มเลือด เช่น ยา Aspirin ยา Naproxen ยา Plavix หรือ กลุ่มยา NSAIDS อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด ผู้ที่มีโรคประจำ มีประวัติแพ้ยา *ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชม. ก่อนการผ่าตัด และงดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชม. ก่อนการผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- วิสัญญีแพทย์ให้ยาสลบเพื่อระงับความรู้สึก ศัลยแพทย์ผ่าตัดเจาะรูที่เข่าขนาดเล็ก 1-1.5 ซม. 2 ตำแหน่ง ซ้าย-ขวา สำหรับใส่กล้อง Arthroscope กำลังขยายสูง 1 ตำแหน่ง ที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดภายในข้อเข่า เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง หมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ และเนื้อเยื่อรอบข้อ และอีก 1 ตำแหน่ง สำหรับใส่เครื่องมือแพทย์เพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย
- ศัลยแพทย์ใส่น้ำเกลือเข้าไปในข้อเข่าเพื่อขยายพื้นที่การผ่าตัด จากนั้นจะใส่กล้อง Arthroscope และเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปซ่อมแซมหมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ หรือเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดเสียหายให้เป็นปกติ และทำการคัดเลือกเส้นเอ็นจากส่วนอื่นของร่างกายมาทดแทน เช่น เอ็นสะบ้า หรือเอ็นหลังต้นขา
- ศัลยแพทย์ผ่าตัดแผลที่หน้าเข่า 1 ตำแหน่ง ขนาด 3 ซม. ตรงจุดเกาะเอ็นไขว้หน้า เพื่อนำเอ็นไขว้หน้าเข่าที่ฉีกขาดออก และเจาะโพรงขนาดเล็กที่ส่วนปลายกระดูกต้นขาและส่วนต้นกระดูกหน้าแข้งในตำแหน่งจุดเกาะที่เหมาะสม จากนั้นจะร้อยเส้นเอ็นที่เตรียมไว้ไปตามโพรงที่ถูกเจาะ และใส่สกรูยึดตรึงส่วนปลายทั้ง 2 ด้านของเอ็นไขว้หน้าใหม่ให้ได้พิสัยเหยียดงอที่พอดี
- ศัลยแพทย์ตรวจสอบตำแหน่งจุดเกาะ ความตึง และความหย่อนของเส้นเอ็น รวมถึงหมอนรองข้อเข่า และเนื้อเยื่อรอบข้อให้พอเหมาะ และพอดีกับค่ามุมในท่าเหยียดและงอ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการใช้งานข้อเข่าที่ดีที่สุด ก่อนทำความสะอาด และเย็บปิดแผลให้สนิท โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม.
หลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- แพทย์จะย้ายผู้เข้ารับการผ่าตัดไปยังห้องพักฟื้นเพื่อติดตามอาการ และให้นอนยกขาสูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดบวม
- แพทย์พันผ้าพันแผลรอบข้อเข่าเพื่อเป็นการกดแผลผ่าตัด ช่วยลดการขยายตัวของหลอดเลือด และลดบวม
- หลังการผ่าตัด 24-48 ชม. นักกายภาพบำบัด หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะช่วยสอนเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันช่วย
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- ทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง หากมีปวดแผล เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือเลือดออก ให้มาพบแพทย์ที่ รพ.
- ปฏิบัติตามหลักการ R-I-C-E คือ การพักในท่าสบาย การประคบด้วยความเย็น การกดแผลด้วยผ้า และการยกขาสูง
- แพทย์จะทำนัดกับนักกายภาพบำบัดเพื่อฝึกเดิน 2-3 วัน หลังการผ่าตัด เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่า
- งดการทำกิจกรรมหนัก งดออกกำลังกายหนัก และงดการยกของหนัก 4-6 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงร่างกายของแต่ละบุคคล
ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง พักฟื้นกี่วัน
โดยทั่วไป ผู้เข้ารับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้องจะค่อย ๆ ฟื้นตัวใน 6-9 เดือน สามารถเดินเร็วได้ใน 3-6 เดือน สามารถยืนบิดหมุนสะโพกได้ใน 6-8 เดือน สามารถลงเล่นหรือแข่งขันฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล แบดมินตัน บาสเกตบอล หรือวอลเลย์บอลได้ใน 9-12 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงร่างกายของแต่ละบุคคล และการฝึกทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
ภาวะแทรกซ้อนทั่วไปจากการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง ได้แก่ ปวดบวมแผลผ่าตัด เอ็นทดแทนฉีกขาด ข้อติดแข็ง การติดเชื้อ หรืออาการชาจากเส้นประสาทเสียหาย อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มีอัตราการเกิดต่ำ โดยภาพรวม การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง ถือเป็นวิธีการรักษาเอ็นไขว้หน้าขาดที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
อัตราความสำเร็จการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง มีอัตราความสำเร็จหลังการผ่าตัดสูง 80-97% แพทย์สามารถสร้างเอ็นไขว้หน้าใหม่ได้สำเร็จ อาการปวดข้อเข่าค่อย ๆ ลดลงจนหายดี สามารถเหยียดและงอข้อเข่าได้เต็มพิสัย สามารถเดินและวิ่งลงน้ำหนักได้เป็นปกติ และสามารถกลับไปเล่นกีฬาที่เคยเล่นได้อย่างเต็มที่ โดยผู้เข้ารับการผ่าตัด 90-95% สามารถคืนฟอร์มการเล่นกีฬาได้ดีในระดับเดิม
ข้อดีของการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง
- สามารถกลับไปเล่นกีฬาและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในระดับเดียวกับก่อนเกิดเหตุการณ์บาดเจ็บ
- ป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดเอ็นข้อเข่าส่วนอื่น ๆ ฉีกขาด ข้อเข่าหลวม ข้อเข่าทรุด หรือโรคข้อเข่าเสื่อม
- เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว สามารถสร้างไขว้หน้าใหม่ได้อย่างแม่นยำ
- เสียเลือดน้อย เนื้อเยื่อเสียหายน้อย โอกาสติดเชื้อน้อย ข้อยึดติดหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
- พักฟื้นที่ รพ. สั้นเพียง 1-2 วัน สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้เร็ว เอ็นไขว้หน้าและกล้ามเนื้อฟื้นฟูเร็ว
ผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง รพ. เมดพาร์ค
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ระดับอาจารย์แพทย์ที่มีประสบการณ์การรักษาทั้งในและต่างประเทศ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรือข้อเข่าหลวมที่มีความยากซับซ้อนด้วยการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าแบบส่องกล้อง โดยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ผสานเทคนิคการผ่าตัดขั้นสูงที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้การดูแลติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ระบบกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อฟื้นตัวได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้รับการรักษาสามารถกลับไปเล่นกีฬา ทำกิจกรรม และใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด