อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาภาวะอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

ภาวะอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

ภาวะอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย (หรือสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย) ไวรัส หรือเชื้อปรสิต

แชร์

ภาวะอาหารเป็นพิษ

ภาวะอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย (หรือสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย) ไวรัส หรือ เชื้อปรสิต หรือในบางครั้งอาจรวมถึงพิษจากโลหะหนักต่าง ๆ ด้วย ทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไปจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยอาการที่มักพบบ่อยได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว มีไข้ เป็นต้น

สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และสภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อโรค

สาเหตุของการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ นั้นเกิดจากเชื้อโรคที่มีการปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำที่บริโภค โดยเชื้อสามารถผ่านมาทางผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้เป็นผู้ปรุงอาหารโดยไม่ได้ล้างมือทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร หรือเชื้อที่มีอยู่ในอาหารหรือน้ำที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดหรือความร้อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้เชื้อยังสามารถส่งผ่านจากอาหารชนิดหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่งผ่านทางอุปกรณ์ที่ใช้เช่น เขียงหรือมีด ที่ใช้ร่วมกันในการเตรียมอาหารก็ได้ รวมถึงการวางอาหารไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อ เป็นต้น

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดหรือไม่เกิดการติดเชื้อ หรือความรุนแรงของผู้ป่วยในแต่ละรายไม่เท่ากัน เช่น

  • อายุ และโรคประจำตัว เชื้อบางชนิด เช่น Rotavirus ชอบก่อโรคในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเยื่อเมือกในลำไส้เล็ก สำหรับโรคประจำตัวบางโรคซึ่งมีผลต่อภาวะภูมิต้านทานของร่างกายก็ทำให้เกิดความรุนแรงที่ไม่เท่ากันได้
  • สุขอนามัยส่วนบุคคล เนื่องจากการมีสุขอนามัยที่ดีสามารถจำกัดปริมาณเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายไม่ให้ถึงระดับเชื้อที่สามารถก่อโรคได้
  • ภาวะกรดในกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร โดยทั่วไปกรดในกระเพาะอาหารจะทำลายเชื้อโรคที่รับประทานเข้าไป รวมถึงการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่เป็นปกติจะทำให้กระบวนการกระจายของเชื้อประจำถิ่นในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ รวมถึงส่งผลต่อการทำลายเชื้อโรคอีกด้วย

อาการอาหารเป็นพิษ และภาวะแทรกซ้อน

อาการสามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นหลักวันหลังจากสัมผัสอาหารที่มีการปนเปื้อน โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวโดยอาจจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปนก็ได้ ปวดท้อง รวมถึงมีไข้ โดยอาการที่เกิดขึ้นในบางครั้งบ่งบอกถึงเชื้อโรคที่จำเพาะเจาะจงบางชนิดได้ เช่น หากมีอาการอาเจียนเด่นอาจทำให้นึกถึงเชื้อชนิด Staphylococcus aureus, B cereus หรือ Norovirus หรือหากมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมากและเป็นลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าวจะนึกถึงเชื้ออหิวาห์ตกโรค เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาการบางอย่างที่บ่งบอกถึงสภาวะสารน้ำในร่างกายซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการอาหารเป็นพิษ ได้แก่ ภาวะปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น มีอาการหน้ามืดคล้ายเป็นลมเวลาลุกนั่งหรือเปลี่ยนท่า หรือในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นตาลาย หรือหมดสติได้

ภาวะอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

ควรพบแพทย์เมื่อใด

หากมีอาการของอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรงเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษา ได้แก่

  • ถ่ายบ่อยปริมาณมากเกิน 6 ครั้งต่อวัน
  • ถ่ายหรืออาเจียนมีเลือดปน
  • มีไข้สูงลอยมากกว่า 38.5 oC (101.3 oF) หลังผ่านไปหนึ่งวัน
  • มีอาการปวดท้องรุนแรงมาก
  • ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
  • มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง เช่น อายุมากกว่า 70 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • มีสัญญาณของร่างกายขาดน้ำ เช่น อ่อนเพลียมาก หน้ามืด เวียนศีรษะเวลาลุกเปลี่ยนท่า สับสน หมดสติ ปัสสาวะสีเข้มมากหรือปัสสาวะไม่ออกเป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง

การป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ

การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลมีส่วนสำคัญในการป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ ได้แก่ การล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่าง ๆ เช่น เข้าห้องน้ำ สั่งน้ำมูก สัมผัสสัตว์ ทิ้งขยะ หรือ เปลี่ยนผ้าอ้อม นอกจากนี้หากท่านยังมีอาการเจ็บป่วยอยู่อาจมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นในขณะที่ยังมีอาการเจ็บป่วย

สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ หลีกเลี่ยงการดื่มนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรส์ ล้างผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทานหรือประกอบอาหาร รักษาอุณภูมิของตู้เย็นให้ต่ำกว่า 4.4 oC (40oF) และช่องแช่แข็งให้ต่ำกว่าระดับ -18oC (0oF) บริโภคอาหารที่ปรุงสุกในอุณหภูมิที่เหมาะสม ล้างมือรวมถึงอุปกรณ์ทำครัวต่าง ๆ หลังสัมผัสกับวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก

การวินิจฉัยภาวะอาหารเป็นพิษ และการตรวจเพิ่มเติม

ภาวะอาหารเป็นพิษ แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก ร่วมกับประเมินสภาวะของระดับสารน้ำในร่างกายจากการตรวจร่างกาย โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากอาจต้องทำการตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไต รวมถึงภาวะสมดุลของเกลือแร่ การตรวจเพาะเชื้อในเลือดอาจจำเป็นในรายที่มีไข้สูงและมีอาการของการติดเชื้อรุนแรง

สำหรับการตรวจอุจจาระนั้นโดยทั่วไปทำเพื่อตรวจหาการเซลล์อักเสบ ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อบริเวณลำไส้ใหญ่และแสดงถึงว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุกราน ส่วนการตรวจหาเชื้อจากอุจจาระนั้นพิจารณาในผู้ป่วยเป็นราย ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ ผู้ป่วยที่มีอาการมานานเกินสองสัปดาห์ หรือในผู้ป่วยที่ประวัติว่าอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มของการระบาด

การตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร ไม่มีความจำเป็นในการช่วยวินิจฉัยภาวะอาหารเป็นพิษที่เป็นมาอย่างเฉียบพลัน อย่างไรก็ดีหากผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวเกินสองสัปดาห์โดยไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ แพทย์อาจพิจารณาทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน และส่วนล่างเพื่อหาสาเหตุต่อไป

การรักษาอาการอาหารเป็นพิษ

ผู้ป่วยส่วนมากที่มีภาวะอาหารเป็นพิษสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาแบบจำเพาะเจาะจง โดยหลักการของการรักษามุ่งเน้นที่การรักษาสมดุลของสภาวะสารน้ำในร่างกายเป็นสำคัญ เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกไปทั้งทางการถ่ายอุจจาระและอาเจียน ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำผงเกลือแร่เพื่อทดแทนสารน้ำที่ร่างกายสูญเสียออกไปได้อย่างสมดุลอาการมักค่อย ๆ ดีขึ้น และหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่หากผู้ป่วยมีสัญญาณอันตรายที่จำเป็นต้องพบแพทย์ดังกล่าวไว้ข้างต้น เมื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป และไม่อาจทดแทนได้อย่างทันท่วงทีด้วยการรับประทานเพียงอย่างเดียว

สำหรับการให้ยาปฏิชีวนะนั้น มีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีลักษณะของอาการท้องเสียแบบมีการอักเสบ หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อชนิดรุกราน ได้แก่ มีอาการไข้สูง ถ่ายมีมูกเลือด อาจร่วมกับการตรวจพบเม็ดเลือดขาวในอุจจาระ

นอกจากนี้ยาต่าง ๆ ที่ใช้ในการบรรเทาอาการ เช่น ยาหยุดถ่าย ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน สามารถรับประทานได้เพื่อใช้บรรเทาอาการ อย่างไรก็ดีการใช้ยาหยุดถ่ายควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียแบบมีการอักเสบและในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 24 มิ.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

    พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ. สุรีย์พร  แจ้งศิริกุล

    พญ. สุรีย์พร แจ้งศิริกุล

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, โรคกรดไหลย้อน, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, การฝึกเบ่งขับถ่าย, ภาวะหลอดอาหารเคลื่อนไหวหรือบีบตัวผิดปกติ, ตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร, ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร, การวัดเวลาการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร, ตรวจการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่, ตรวจการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร
  • Link to doctor
    รศ.นพ. สถาพร มานัสสถิตย์

    รศ.นพ. สถาพร มานัสสถิตย์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, การติดเชื้อทางเดินอาหาร, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคท้องผูกเรื้อรัง, โรคท้องร่วงเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคท้องร่วง, โรคไวรัสตับอักเสบ, ภาวะลําไส้ดูดซึมผิดปกติ, เนื้องอกและก้อนเนื้อในตับ, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, โรคริดสีดวงทวาร, โรคลำไส้อักเสบ, โรคลำไส้แปรปรวน, ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน
  • Link to doctor
    พญ.  ปณิดา  ปิยะจตุรวัฒน์

    พญ. ปณิดา ปิยะจตุรวัฒน์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคท้องผูกเรื้อรัง, โรคท้องร่วงเรื้อรังและเฉียบพลัน, ส่องกล้องรักษาระบบท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน, โรคลำไส้อักเสบ, โรคลำไส้แปรปรวน, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, ส่องกล้องตรวจอัลตราซาวด์ในลำไส้, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, โรคไวรัสตับอักเสบ, ภาวะไขมันเกาะตับ, ส่องกล้องลำไส้เล็ก, ตรวจไขมันพอกตับด้วยไฟโบรสแกน
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. สยาม ศิรินธรปัญญา

    ผศ.นพ. สยาม ศิรินธรปัญญา

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
  • Link to doctor
    ศ.นพ.  สิน  อนุราษฎร์

    ศ.นพ. สิน อนุราษฎร์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. สันติ  กุลพัชรพงศ์

    นพ. สันติ กุลพัชรพงศ์

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, ภาวะไขมันเกาะตับ, โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์, โรคไวรัสตับอักเสบ, ส่องกล้องรักษาระบบท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ตรวจไขมันพอกตับด้วยไฟโบรสแกน, รักษาก้อนและซีสต์และมะเร็งในตับ, โรคกรดไหลย้อน, ภาวะตับวาย, ภาวะตับแข็ง
  • Link to doctor
    นพ. จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา

    นพ. จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ภาวะตรวจการทำงานของตับผิดปกติ, ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร, โรคท้องร่วงเรื้อรังและเฉียบพลัน, โรคกรดไหลย้อน, ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก