สาเหตุ อาการ การติดเชื้อ การรักษาเริม (Herpes simplex) - Herpes simplex - Causes, Symptoms, Infections and Treatments

เริม (Herpes simplex)

เริม (Herpes simplex) คือ โรคติดต่อทางผิวหนังหรือทางเพศสัมพันธ์ผ่านการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 ที่ทำให้เกิดเริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ สาเหตุของอาการคันยุบยิบ ตุ่มน้ำใส แผลพุพอง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


เริม (Herpes simplex)

เริม (Herpes simplex) คือ โรคติดต่อทางผิวหนังหรือทางเพศสัมพันธ์ผ่านการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 ที่ทำให้เกิดเริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ สาเหตุของอาการคันยุบยิบ ตุ่มน้ำใส แผลพุพอง ปวดแสบปวดร้อน และมีไข้ ในขณะที่บางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เริมเป็นโรคติดเชื้อที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด ผู้ที่เคยเป็นเริมแล้วสามารถกลับมาเป็นโรคซ้ำเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ

เริมเกิดจากอะไร?

เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus: HSV-1, HSV-2) ที่แพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อไวรัสทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะที่บริเวณปากและที่อวัยวะเพศ เช่น การจูบผู้ติดเชื้อ การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การทาลิปสติกแท่งเดียวกัน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย หรือการทำออรัลเซ็กส์ ทำให้เกิดเริมที่ปาก เริมที่อวัยวะเพศ และเริมบนผิวหนังบนร่างกาย พ่อแม่ที่เป็นเริมสามารถแพร่กระจายโรคสู่ลูกผ่านการจูบ การสัมผัสผิวหนัง หรือการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำลายร่วมกัน

เริมมีกี่ชนิด?

ในทางการแพทย์ สามารถแบ่งเริม ออกได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะของการติดเชื้อโรคเริมบนร่างกาย โดยเริมทั้ง 2 ชนิดสามารถติดต่อ และแสดงอาการที่บริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ เริมทั้ง 2 ชนิด ได้แก่

  1. Herpes simplex virus type I: HSV-1 ที่ทำให้เกิดแผลหรือตุ่มน้ำพองที่บริเวณปาก ใบหน้า โพรงจมูก หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของผิวหนังเหนือสะดือ เริมที่ปาก เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HSV-1 เช่น น้ำลาย ที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำใส แผลพุพอง ผื่นบวมแดง และบาดแผลแสบร้อน
  2. Herpes simplex virus type II: HSV-2 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HSV-2 ที่ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง แผลพุพอง และอาการเจ็บปวดที่บริเวณอวัยวะเพศชาย หรือที่บริเวณอวัยวะเพศหญิง

สาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิดเริม?

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส HSV-1

  • การจูบ การหอมแก้ม
  • การสัมผัสกับผิวหนังใกล้กับบริเวณปากของผู้ที่เป็นโรคเริม
  • การใช้ภาชนะ หรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ลิปสติก มีดโกน
  • การได้รับการทำรักด้วยปาก หรือออรัลเซ็กส์ (Oral sex) จากผู้ที่มีเชื้อไวรัสโรคเริม โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะเพศได้

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส HSV-2

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยผ่านการสอดใส่ระหว่างอวัยวะเพศชาย-หญิง การมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลังหรือทางทวารหนัก หรือการสัมผัสถูไถระหว่างอวัยวะเพศหญิง-หญิง
  • การทำออรัลเซ็กส์ หรือได้รับการทำออรัลเซ็กส์จากผู้ที่ติดเชื้อโรคเริม
  • การสัมผัสแบบแนบชิด เนื้อแนบเนื้อ แม้ปราศจากการหลั่ง
  • การสัมผัสกับแผลติดเชื้อ หรือตุ่มน้ำพอง รวมถึงคุณแม่ติดเชื้อที่ให้นมบุตร
  • การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดบุตร โดยคุณแม่ที่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
  • การติดเชื้อจากการใช้เซ็กส์ทอย (Sex toy) ร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อ

เริมแสดงอาการเริ่มต้นด้วยอาการคันยุบยิบบริเวณที่ติดเชื้อไวรัส HSVเริม มีอาการอย่างไร?

เริมแสดงอาการเริ่มต้นด้วยอาการคันยุบยิบบริเวณที่ติดเชื้อไวรัส HSV จากนั้นจะเกิดตุ่มน้ำพองใส อักเสบ และเจ็บแสบบนฐานของผื่นบวมแดงที่รวมกลุ่มกันบนผิวหนัง โดยมีอาการประมาณ 2-3 วันจนถึง 1-2 สัปดาห์ และสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัส จากนั้นตุ่มน้ำพองใสจะแตกออก มีเลือดไหลซึม แล้วจึงตกสะเก็ดเมื่อแผลสมานตัว เริมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยหลังจากที่อาการของโรคหายไปแล้ว เชื้อไวรัส HSV จะยังคงฝังตัว หลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาท (Ganglion) ของร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาตราบจนภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำ อาการของโรคเริมจึงจะเริ่มปรากฎให้เห็นขึ้นอีกครั้ง โดยอาการของโรคเริม มีดังนี้

  • กลุ่มของตุ่มน้ำพองใส หรือแผลพุพองเล็ก ๆ ที่ขึ้นบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า หรืออวัยวะเพศ
  • อาการคันระคายเคือง เจ็บแสบที่อวัยวะเพศ หรือรอบ ๆ ทวารหนัก
  • อาการเจ็บแสบที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia)
  • อาการเหมือนมีหนามแหลมเล็ก ๆ ทิ่มตำ อาการแสบคับหรือแสบร้อน
  • มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรืออาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ
  • มีอาการตกขาว (ในเพศหญิง) มีกลิ่นคาว
  • อวัยวะเพศบวมแดง

โรคเริม กลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?

โรคเริม สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ภายใน 7 วัน หลังจากการเป็นครั้งแรก โดยหากเชื้อไวรัส HSV ที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณปมประสาทได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซ้ำ เชื้อไวรัสจะเคลื่อนตัวไปตามแนวเส้นประสาทจนถึงปลายประสาทและแสดงอาการออกมา โดยความรุนแรงของอาการจะน้อยกว่าและหายเร็วกว่าครั้งแรกทั้งจำนวนของตุ่มน้ำพองใส อาการคัน หรืออาการแสบร้อน

ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เป็นโรคเริมซ้ำ ได้แก่

  • ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ซ้ำ หรือมีไข้สูง
  • การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระหว่างมีประจำเดือน
  • การผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาท
  • อากาศร้อน การอยู่ท่ามกลางแสงแดด
  • การขาดสารอาหาร
  • ความเครียด

การวินิจฉัยโรคเริม มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคเริม โดยการซักประวัติ ตรวจอาการ และตรวจดูลักษณะของตุ่มน้ำใสหรือแผลพุพอง จากนั้นแพทย์จะทำการทดสอบทางแล็บปฏิบัติการ เช่น การทดสอบ PCR Test (Polymerase chain reaction) โดยการตรวจตัวอย่างเลือดหรือเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลผ่านการส่องกล้อง การเพาะเชื้อ และตรวจแอนติบอดี้ในร่างกายเพื่อวัดระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส HSV ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม โดยวิธีการทดสอบ PCR Test เป็นวิธีการตรวจสอบหาเชื้อไวรัส HSV ที่มีความแม่นยำ และสามารถระบุชนิดของเชื้อไวรัส HSV ได้อย่างชัดเจน

การรักษาโรคเริม มีวิธีการอย่างไร?

ทันทีที่แพทย์ระบุผลการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเริม แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส HSV ร่วมกับยาระงับความเจ็บปวด ทั้งนี้การพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับยาต้านไวรัสตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการคันที่ปาก หรือที่อวัยวะเพศจะช่วยลดการอักเสบจากการติดเชื้อ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และช่วยไม่ให้แผลลุกลามได้ ยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคเริม ได้แก่

  • ยาต้านไวรัส HSV ได้แก่ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)
  • ยาระงับความเจ็บปวดชนิดรับประทาน เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  • ยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
  • ยาแก้ปวดชนิดที่ทาลงบนแผลเริมชนิดที่เป็นเนื้อครีม หรือขี้ผึ้ง เช่น ยาเบนโซเคน (Benzocaine) ยาไลซีน (L-lysine) ยาโดโคซานอล (Docosanal)

การรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส HSV ร่วมกับยาระงับความเจ็บปวด
การป้องกันโรคเริม มีวิธีการอย่างไร
?

วิธีการป้องกันโรคเริมที่ดีที่สุดคือ การลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการเป็นพาหะนำโรคสู่บุคคลอื่น เช่น การไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน ไม่สัมผัสกับคนหรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ หมั่นทำความสะอาดร่างกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงคงที่ และช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเริม

อาการแทรกซ้อนของโรคเริม

อาการแทรกซ้อนของโรคเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศ คือการแพร่เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น

  • การติดเชื้อที่ดวงตาที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น
  • การติดเชื้อที่สมองที่อาจทำให้สมองอักเสบ
  • การติดเชื้อของมารดาขณะตั้งครรภ์ ที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ทารกในครรภ์

เริมที่อวัยวะเพศหญิง มีอาการอย่างไร?

เริมที่อวัยวะเพศหญิง มีอาการคัน มีแผลพุพอง อาการปวดแสบปวดร้อน และเจ็บแปลบเหมือนมีหนามทิ่มตำที่บริเวณอวัยวะเพศ จากนั้นจึงเกิดแผลพุพอง ตุ่มน้ำใส ผื่นบวมแดง หรือแผลแสบร้อนที่บริเวณปากมดลูก รอบ ๆ อวัยวะเพศ ขาหนีบ บริเวณก้น รอบ ๆ ทวารหนัก และอาจมีอาการตกขาว และกลิ่นคาวร่วม รวมถึงรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ และมีไข้

เริมที่อวัยวะเพศชาย มีอาการอย่างไร?

เริมที่อวัยวะเพศชาย มีอาการคัน แผลพุพอง แผลบวมแดง และตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่อวัยวะเพศชาย โดยบริเวณที่พบมาก คือ ส่วนหัวขององคชาต ผิวหนังรอบ ๆ องคชาต ทวารหนัก บริเวณถุงอัณฑะ ก้น หรือขาหนีบ มีอาการเจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนคล้ายหนามทิ่มตำ รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการปัสสาวะแสบขัดลำกล้อง เจ็บอวัยวะเพศขณะสอดใส่ หรือมีเพศสัมพันธ์ และมีไข้

เมื่อสงสัยว่าเป็นเริม ควรทำอย่างไร?

ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการของโรคเริมควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ การตรวจเจอเร็วและรับการรักษาเร็วจะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสลุกลาม และช่วยบรรเทาอาการคัน เจ็บแสบ ผู้ที่เคยเป็นโรคเริม ควรเข้ารับการตรวจร่างกายซ้ำเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ

เริม เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดในปัจจุบัน เชื้อไวรัสเริมสามารถอยู่ในร่างกายได้โดยไม่แสดงอาการใด ๆ และยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ การไม่สัมผัสกับน้ำลายผู้อื่น และการตรวจเลือดเป็นประจำทุกปีเพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันร่างกายจะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโรคเริมได้

บทความโดย

  • พญ. รพีพรรณ  รัตนวงศ์นรา มอร์ด
    พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ
  • พญ. มัทนา ภาติยะศิขัณฑ์
    พญ. มัทนา ภาติยะศิขัณฑ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านตจวิทยา (โรคผิวหนัง)

เผยแพร่เมื่อ: 18 พ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต, โรคติดเชื้อหลังปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามหรือไวรัส
  • Link to doctor
    รศ.พญ. มาเรีย นิน่า จิตะสมบัติ

    รศ.พญ. มาเรีย นิน่า จิตะสมบัติ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน, โรคติดเชื้อแทรกซ้อนหลังปลูกถ่ายอวัยวะ, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยโรคมะเร็ง/ มะเร็งโรคเลือด
  • Link to doctor
    พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

    พญ. ศิรญา ไชยะกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การจัดการโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีและการปฏิบัติตัว, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต