สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และวิธีป้องกันโรคมะเร็งปอด - Lung Cancer – Causes, Symptoms, Treatments, and Preventions

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดเกิดจากการแบ่งตัวแบบผิดปกติของเซลล์ภายในปอดอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์ที่เสียหายเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) พัฒนาเป็นมวลหรือก้อนเนื้อร้ายที่ไปขัดขวางกระบวนการการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยและผู้คนทั่วโลก มะเร็งปอดได้กลายเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง เนื่องจากมะเร็งปอดสามารถพัฒนาและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แสดงอาการใด ๆ จนกระทั่งเซลล์มะเร็งได้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงจะสังเกตอาการได้อย่างชัดเจน แม้ว่าเราทุกคนจะพอทราบถึงสาเหตุ และปัจจัยของโรคมะเร็งปอด แต่มีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยมาก ที่สามารถตรวจพบมะเร็งปอดได้ในระยะแรกเริ่ม

สาเหตุของมะเร็งปอด เกิดจากอะไร?

สาเหตุของมะเร็งปอด เกิดจากการแบ่งตัวแบบผิดปกติของเซลล์ภายในปอดอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์ที่เสียหายเกิดจากการกลายพันธุ์ (Mutation) พัฒนาเป็นมวลหรือก้อนเนื้อร้ายที่ไปขัดขวางกระบวนการการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดจะเริ่มเกิดขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถุงลมขนาดเล็กภายในปอด แล้วจึงลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ โดยรอบ

มะเร็งปอดมีกี่ประเภท?

มะเร็งปอดสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทตามชนิดขนาดของเซลล์มะเร็ง

  1. มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer)
    มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก เป็นมะเร็งปอดชนิดที่สามารถเติบโตได้อย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็กมักพบได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการสูบบุหรี่อย่างหนักและต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน หรือเป็นผู้ที่สูดดมควันบุหรี่มือสอง เขม่าควัน ฝุ่นละออง PM2.5
  2. มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer)
    มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อยที่สุด (กว่า 85-90% ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง) โดยทั่วไป มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็กเป็นมะเร็งที่เติบโตและแพร่กระจายได้ช้ากว่ามะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยกรรมวิธีการรักษาทางการแพทย์ หากได้รับการวินิจฉัยตรวจพบและรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม


    มะเร็งปอดมีกี่ระยะ
    ?

    ระยะของมะเร็งปอดอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็ง หลักเกณฑ์ในการประเมินระยะของมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยระยะการลุกลามของเซลล์มะเร็ง เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุดให้กับผู้ป่วยได้มากที่สุด

    มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ

    • ระยะจำกัด (Limited stage) พบเซลล์มะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวกัน 1 ข้าง
    • ระยะลุกลาม (Extensive stage) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วปอดและออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น ไปสู่ของเหลวรอบๆปอด และหรือกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง

    มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ

    • ระยะที่ 1 มะเร็งเริ่มมีการก่อตัวที่ปอดส่วนบนหรือบริเวณหลอดลม ในระยะนี้เซลล์มะเร็งจะยังไม่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของปอดหรือลุกลามออกนอกปอด ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะไม่แสดงออกซึ่งอาการใด ๆ ของโรคมะเร็ง
    • ระยะที่ 2 มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองภายในปอด มะเร็งอาจจับตัวเป็นก้อนที่กลีบปอด 1 ก้อนหรือมากกว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก
    • ระยะที่ 3 มะเร็งขยายตัวและมีขนาดใหญ่กว่าในระยะที่ 2 ในระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามไปยังกลีบปอดอื่น มะเร็งอย่างน้อยหนึ่งก้อนก่อตัวขึ้นที่บริเวณกลีบปอดข้างเดียวกัน บริเวณต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ที่อยู่ระหว่างปอดทั้งสองด้าน
    • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอดอีกข้าง ของเหลวที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงหัวใจ หรือต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไต และสมอง

    มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ

    มะเร็งปอดมีอาการอย่างไร?

    มะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงออกซึ่งอาการใด ๆ อาการบางอย่าง เช่น ไอ เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า อาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจำนวนมากจึงชะลอการตรวจคัดกรองเบื้องต้น จนกระทั่งมะเร็งได้พัฒนาเข้าสู่ระยะลุกลาม

    สัญญาณและอาการของโรคมะเร็งปอด ได้แก่

    • ไอเรื้อรัง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ยาวนาน
    • ไอเป็นเลือด
    • หายใจหอบถี่
    • เสียงแหบ
    • หายใจเสียงหวีด
    • ปวดศีรษะ
    • เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า
    • มีอาการเจ็บที่บริเวณหน้าอก หรือเจ็บบริเวณหน้าอกส่วนบน
    • รู้สึกเบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ปวดบริเวณไหล่
    • ปวดกระดูก
    • มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ลำคอ และแขน


    ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด

    ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด สามารถจำแนกเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น การสูบบุหรี่ และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น พันธุกรรม การตระหนัก ตื่นตัวต่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

    การสูบบุหรี่

    บุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ากว่า 80% ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่จึงมีแนวโน้มที่จะตรวจพบมะเร็งปอดหรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แม้แต่การสูบบุหรี่เพียงไม่กี่มวนต่อวัน หรือสูบเป็นบางโอกาสก็ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ การสูบบุหรี่สามารถทำให้เกิดมะเร็งในทุกส่วนของร่างกาย การเลิกสูบบุหรี่จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

    บุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็งปอด มากที่สุด - Lung Cancer

    ควันบุหรี่มือสอง

    ควันบุหรี่มือสอง ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ควันบุหรี่มือสองคือควันบุหรี่ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้หายใจ สูดดมเอาควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่เข้าไป การสูดดมควันบุหรี่มือสองแม้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องอยู่รายล้อมผู้ที่สูบบุหรี่ เช่น เด็กเล็ก ทารก และผู้ที่ใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัวของผู้ที่สูบบุหรี่ ควันบุหรี่มือสองจะเข้าไปรบกวนกระบวนการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอื่น ๆ

    มีประวัติเคยผ่านการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งมาก่อน

    บุคคลที่เคยมีประวัติการรักษาด้วยการฉายรังสี เช่น ที่บริเวณส่วนหน้าอก เต้านม หรือเคยฉายรังษีเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้อีกครั้ง

    การสัมผัสกับก๊าซเรดอน แร่ใยหิน และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ

    ก๊าซเรดอน (Radon) แร่ใยหิน (Asbestos) และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ เช่น ยูเรเนียม (Uranium) ไอเสียจากดีเซล หรือผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน เป็นสารอันตรายที่สามารถฟุ้งกระจาย เป็นมลพิษในอากาศ การหายใจเอาสารพิษดังกล่าวเข้าไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ มักติดอยู่ตามโครงสร้างอาคาร สถานที่ทำงาน หรือที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามสารเหล่านี้สามารถควบคุมได้โดยการเพิ่มระบบระบายอากาศภายในอาคารสถานที่เพื่อช่วยฟอกอากาศ

    มะเร็งที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หรือ Family Cancer Syndromes

    กลุ่มบุคคลที่มีประวัติ Family Cancer Syndromes หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันป่วยด้วยโรคมะเร็ง ย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งมากกว่ากลุ่มบุคคลที่ไม่มีประวัติ มะเร็งที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์นี้เกิดจากการถ่ายทอดของยีนพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซลล์มะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า กว่า 80% ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในบุคคลกลุ่มนี้มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่

    การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด

    • การตรวจสอบมะเร็งปอด: แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังสูบบุหรี่เป็นประจำหรือ ผู้ใหญ่ที่เคยสูบบุหรี่จัดมาหลายปีทำการสแกน CT ปีละหน แพทย์อาจทำการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี
    • การเอกซเรย์ปอด: การทำ computed tomography (CT) scan หรือ ซีทีแสกน จะทำให้เห็นตำแหน่งของเนื้อเยื้อที่ต้องการตรวจสอบอย่างแม่นยำ กว่าการทำเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดา
    • การตรวจเสมหะ: การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ บางครั้งสามารถพบเซลล์ผิดปกติที่เป็นมะเร็งภายในปอดได้
    • การตัดชื้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (Biopsy): การเจาะเข็มขนาดเล็กเข้าไปในปอดและเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อส่งตรวจ มักทำคู่กับ ซีทีแสกนเพื่อชี้ตำแหน่งของเนื้อเยื้อที่ผิดปกติ
    • การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (Bronchoscopy): สอดกล้องขนาดเล็กที่มีไฟส่องสว่างที่ปลายผ่านลำคอลงไปที่ปอด เพื่อตรวจดูบริเวณของปอดที่อาจมีเนื้อเยื้อผิดปกติ
    • การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Mediastinoscopy): ทำการผ่าตัดบริเวณส่วนบนของกระดูกอกและนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองออกมาตรวจ
      อาจมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากบริเวณอื่น ที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง เช่น ตับ การวินิจฉัยชนิดของมะเร็งปอดนั้นมีความสำคัญต่อการรักษาเพราะจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

    การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด - Lung Cancer

    วิธีการรักษามะเร็งปอด

    การรักษามะเร็งปอด จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ประเภทและระยะของโรค และความต้องการส่วนบุคคล

    • การผ่าตัด (Surgery): เพื่อขจัดเนื้องอกมะเร็งภายในปอดออก นอกจากนี้อาจมีการนำต่อมน้ำเหลืองที่หน้าอกออกมาทำการวินิจฉัยเพึ่มเติม การผ่าตัดเป็นทางเลือกหลักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเพราะสามารถหายขาดได้ ในบางกรณี อาจใช้การฉายแสงหรือใช้เคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด
    • การบำบัดด้วยรังสี (radiotherapy): ใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อลดขนาดเนื้องอกโดยการฆ่าทำลายเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในช่วงก่อนและหรือหลังการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีอาจเป็นทางเลือกหลักในการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม
    • การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy): ใช้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านการกินหรือฉีดเข้าเส้นเลือดนอกจากนี้เคมีบำบัดยังสามารถใช้บรรเทาอาการปวดที่เกิดจากมะเร็ง
    • การรักษามะเร็งด้วยยาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy): การรักษาด้วยยาแบบกำหนดเป้าหมายจะเน้นการทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยการหยุดยั้งการเจริญเติบโตผิดปกติภายในเซลล์โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ โดยส่วนใหญ่จะตรวจชนิดการกลายพันธุ์ของยีนก่อน
    • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): อาศัยหลักการใช้ภูมิคุ้มกันเพื่อจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกายผ่านการได้รับยาเพื่อรบกวนกระบวนการผลิตโปรตีนที่เซลล์มะเร็งใช้ในการป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์มะเร็ง
    • การรักษาแบบผสมผสานและการจัดการกับความเจ็บปวด (Palliative care and pain management): เป็นรูปแบบการดูแลประคับประคองให้ผู้ป่วย มีสุขภาพจิตที่แข็งแรงหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและรับเข้าการรักษา มีวิจัยเสนอว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยมะเร็งสามารถมีอายุยืนกว่าถึง 3 เดือนหากได้รับกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้าง


    การดูแลตัวเองที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด

    • การควบคุมการหายใจ ความรู้สึกหายใจไม่ออก เป็นความรู้สึกที่ทนทุกข์ทรมานทำให้มีความวิตกกังวล คนที่มีภาวะหายใจลำบากจะเหนื่อยเร็ว  การฝึกสมาธิด้วยวิธีเพ่งลมหายใจ จะช่วยให้ผ่อนคลายโดยกำหนดจิตที่กล้ามเนื้อของระบบการหายใจ นอกจากนี้ การโน้มตัวไปข้างหน้าจะช่วยให้หายใจคล่องขึ้น


    เราจะป้องกันมะเร็งปอดได้อย่างไร

    เราสามารถลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปอดลงได้ ถ้าเราใช้มาตรการเหล่านี้ในการลดหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

    • หยุดสูบบุหรี่
      ไม่สูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดสําหรับตัวเองและบุคคลรอบข้าง ทันทีที่หยุดสูบ เนื้อเยื่อปอดที่เสียหายจะเริ่มซ่อมแซมตัวเองและช่วยเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น การเลิกบุหรี่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาหรือใช้เครื่องมือช่วยเพื่อให้เลิกบุหรี่ เช่น ผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคติน ยาช่วยให้เลิก หรือรับคำแนะนำอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์
    • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
      หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ควันบุหรี่มือสองคือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดแม้กระทั่งกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อกรองสารพิษ การอยู่ให้ห่างจากพื้นที่สูบบุหรี่ซึ่งมีควันบุหรี่หนาแน่นสามารถลดความเสี่ยงจากการรับสารก่อมะเร็งได้
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
      อาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของโรคมะเร็ง
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
      การออกกำลังกายคือยาที่ดีที่สุด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกลไกการทำงานของร่างกายโดยรวม ช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังและทุพพลภาพ ทั้งยังช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการทำกิจกรรมและป้องกันการหกล้ม และยังช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาว


    PM2.5 เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอดหรือไม่?

    เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากThe Francis Crick Institute and University College London นำเสนอผลการวิจันที่ ESMO congress 2022 พบว่ามลพิษ PM2.5 กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในเซลล์ของระบบทางเดินหายใจอย่างมีนัยสำคัญ คนปกติส่วนหนึ่งอาจมีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR อยู่แล้วตัวหนื่ง การกลายพันธุ์ของยีน EGFR ตัวที่สองที่ยังปกติอยู่จากมลพิษ PM2.5 เป็นกลไกนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในเวลาสั้น

    PM2.5 กระตุ้นให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่เป็นประจำ การศึกษายังพบว่าอีกว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมากระหว่างผู้ที่ได้รับ PM2.5 กับการป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด แม้แต่ในผู้ที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่มาก่อน

    การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี

    จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (ประเทศไทย) มะเร็งปอดอยู่ในรายชื่อมะเร็ง 5 อันดับแรกที่พบในประเทศไทยและทั่วโลก จำนวนของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นทุกปี การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งปอดให้หายได้ ผู้ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ผู้ที่มีปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือมากกว่า ดังนี้

    • ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานหลายปี
    • ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่มือสอง
    • ผู้ที่สัมผัสกับมลพิษในอากาศ สารเคมี ก๊าซเรดอน หรือฝุ่นละออง PM2.5
    • ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-80 ปี
    • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง

    เกี่ยวข้อง

    มะเร็งปอด Lung cancer - infographic

    บทความโดย

    เผยแพร่เมื่อ: 30 ม.ค. 2023

    แชร์

    แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  1. Link to doctor
    นพ. วิกรม เจนเนติสิน

    นพ. วิกรม เจนเนติสิน

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด
  2. Link to doctor
    รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

    รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  3. Link to doctor
    นพ. ปราโมทย์ ปรปักษ์ขาม

    นพ. ปราโมทย์ ปรปักษ์ขาม

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
  4. Link to doctor
    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
    มะเร็งทางโลหิตวิทยา, การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
  5. Link to doctor
    นพ. ชูศักดิ์ หนูแดง

    นพ. ชูศักดิ์ หนูแดง

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    Cardiothoracic Surgery
  6. Link to doctor
    พญ. สุรีรัตน์ จารุหทัย

    พญ. สุรีรัตน์ จารุหทัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  7. Link to doctor
    นพ. สุพิชฌาย์ วงศ์มณี

    นพ. สุพิชฌาย์ วงศ์มณี

    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    • กุมารศัลยศาสตร์หัวใจและโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
    Cardiothoracic Surgery, Coronary Artery Bypass Grafting, การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO), การผ่าตัดหัวใจ, ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ, การผ่าตัดโรคหัวใจในเด็ก, ผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่, ผ่าตัดปอดแบบแผลเล็ก, โรคมะเร็งปอด, ผ่าตัดเนื้องอกในปอด, มะเร็งปอดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น, ภาวะปอดรั่ว, ภาวะหนองขังในปอด, Mediastinal Tumor, เนื้องอกต่อมไทมัสและเนื้องอกผนังทรวงอก, ผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องแบบใส่หลอดเลือดเทียมผ่าเส้นเลือด, ผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องอกแบบใส่หลอดเลือดเทียมผ่าเส้นเลือด, ภาวะเหงื่อออกมือ
  8. Link to doctor
    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  9. Link to doctor
    นพ. ชัยวุฒิ ยศถาสุโรดม

    นพ. ชัยวุฒิ ยศถาสุโรดม

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    Cardiothoracic Surgery
  10. Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    รศ.พญ. นภา ปริญญานิติกูล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
  11. Link to doctor
    นพ. ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์

    นพ. ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    Cardiothoracic Surgery
  12. Link to doctor
    พญ. ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์

    พญ. ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  13. Link to doctor
    รศ.นพ.   ปรัญญา   สากิยลักษณ์

    รศ.นพ. ปรัญญา สากิยลักษณ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    Cardiothoracic Surgery, Coronary Artery Bypass Grafting, การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)