อาการ สาเหตุ การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ - Meningitis: Symptoms, Causes, and Treatment

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ โดยเยื่อหุ้มสมอง คือเนื้อเยื่อชั้นนอกที่ห่อหุ้มรอบสมองและไขสันหลัง ส่วนมากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ โดยเยื่อหุ้มสมอง คือเนื้อเยื่อชั้นนอกที่ห่อหุ้มรอบสมองและไขสันหลัง ส่วนมากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบประกอบไปด้วย ไข้ ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน และแพ้แสง หากสงสัยว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรรับการรักษาในทันที

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คืออะไร?

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังเกิดการติดเชื้อ โดยเยื่อหุ้มสมองมีหน้าที่รองรับและปกป้องสมองและไขสันหลังจากอาการบาดเจ็บ ในเยื่อหุ้มสมองจะประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท และน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF)

สาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบคืออะไร?

  • โรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสและแบคทีเรียซึ่งแพร่จากคนสู่คนได้
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ ได้แก่ มะเร็งหรืออาการบาดเจ็บศีรษะ

ทั้งนี้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบยังอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงและเจ็บปวด จึงแนะนำให้รีบพบแพทย์หากมีอาการ อย่าปล่อยจนอาการแย่ลง

ประเภทของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอะไรบ้าง? - Types of meningitis

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีกี่ประเภท?

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละชนิดจะตั้งชื่อตามสาเหตุหรือระยะเวลาที่อาการปรากฏ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละชนิด ได้แก่

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส (Viral Meningitis) โรคเยื่อหุ้มสมองประเภทนี้มักจะไม่รุนแรงและหายได้เอง
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis)
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา (Fungal Meningitis)
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากปรสิต (Parasitic Meningitis) 
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา หรือ อะมีบากินสมอง (Primary Amebic Meningoencephalitis หรือ PAM) เป็นโรคที่พบไม่บ่อย เกิดจากเชื้ออะมีบาที่กินสมองชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri)
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบไร้เชื้อที่เกิดจากยา (Drug-induced Aseptic Meningitis หรือ DIAM) ยาบางประเภททำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบประเภทนี้ โดยมียาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) และยาปฏิชีวนะเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง (Chronic Meningitis) เมื่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดขึ้นนาน 1 เดือนหรือนานกว่านั้น จะเรียกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน (Acute Meningitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบประเภทนี้มาพร้อมอาการที่รุนแรงและเกิดขึ้นในฉับพลัน

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีทั้งโรคติดเชื้อและอาการที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โรคติดเชื้อส่วนมากเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต และอะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ส่วนสาเหตุของโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ โรคที่เกิดจากภาวะการอักเสบทั่วร่างกาย ยาหรือมะเร็งบางชนิด และปฏิกิริยาเคมี ซึ่งเยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละประเภทจะมีสาเหตุแตกต่างกันไป โดยแบ่งออกได้ดังนี้

สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย

  • เชื้ออีโคไล (E. coli)
  • เชื้อสเตร็พโตค็อคคัส กลุ่มบี (Group B Streptococcus)
  • เชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis)
  • เชื้อสเตร็พโตค็อคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae)
  • เชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes)
  • เชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus Influenzae)
  • เชื้อไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส (Neisseria meningitides)

สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส

  • คางทูม
  • เชื้อไวรัสลิมโฟไซติก คอริโอเมนิงไจติส (Lymphocytic Choriomeningitis Virus)
  • ไวรัสกลุ่มเอนเตอโรที่ไม่ใช่โปลิโอ (Non-polio Enteroviruses)
  • ไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpesviruses)
  • หัดเยอรมัน (Measles)
  • อาร์โบไวรัส (Arboviruses) เช่น เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus)
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา

  • เชื้อราคอคซิเดีย (Coccidioides)

สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากปรสิต

  • พยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylus Cantonensis)
  • พยาธิแรคคูน (Baylisascaris Procyonis)
  • พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma Spinigerum)

สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา

  • อะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri)

สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ ลูปัส (Systemic lupus erythematosus, Lupus)
  • ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ และ ยาปฏิชีวนะ
  • อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การผ่าตัดสมอง
  • มะเร็งบางชนิด
  • ปฏิกิริยาเคมี

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากสาเหตุอะไร? Meningitis

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการอย่างไร?

อาการแรกเริ่มของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะคล้ายกับไข้หวัด โดยจะมีอาการในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน และจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อาการในเด็กเล็กจะแตกต่างจากในเด็กและผู้ใหญ่

อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก ได้แก่

  • กระหม่อมนูนโป่งออกมา
  • เฉื่อยชาเพราะไม่มีแรง
  • ง่วงนอนหรือปลุกแล้วไม่ค่อยตื่น
  • ไม่ยอมกินอาหารหรือดูดนม
  • ร้องไห้ไม่หยุด
  • อาเจียน

อาการในเด็กหรือผู้ใหญ่ ได้แก่

  • มีไข้สูงฉับพลัน
  • คอแข็ง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ชัก 
  • สับสนมึนงง ไม่มีสมาธิ
  • ง่วงนอนหรือตื่นยาก
  • แพ้แสง
  • ไม่อยากอาหาร
  • ในบางประเภทจะมีผื่นขึ้น เช่น ในเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนมีอาการอย่างไร?

อาการแทรกซ้อนของเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

  • ความดันตก
  • มีปัญหาเรื่องการเดิน
  • การเรียนรู้บกพร่อง
  • สูญเสียการได้ยิน
  • มีปัญหาด้านความจำ
  • ชัก
  • ไตวาย
  • สมองบาดเจ็บ
  • เสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงโรคเยื่อหุ่มสมองอักเสบ มีอะไรบ้าง?

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

  • อายุ: เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียพบได้บ่อยในคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และเกือบร้อยละ 70 เกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
  • ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แออัด: แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นในพื้นที่ที่มีคนเยอะ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ครบ: ผู้ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดที่ควรได้รับทั้งตอนเป็นเด็กและผู้ใหญ่ อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากกว่า
  • การตั้งครรภ์: การตั้งครรภ์ช่วยเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: โรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง และยากดภูมิคุ้มกันทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลงได้ ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

การตรวจวินิจฉัยโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ Meningitis

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?

ในการวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ โดยในระหว่างการตรวจ แพทย์อาจตรวจหาการติดเชื้อที่หู ศีรษะ ลำคอ และผิวหนังตามแนวสันหลัง

วิธีตรวจที่แพทย์มักใช้เพื่อวินิจฉัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

  • การตรวจเลือดและเพาะเชื้อจากเลือด การตรวจเลือดใช้ตรวจหาการติดเชื้อได้ ขณะที่การเพาะเชื้อจากเลือดนั้น จะเจาะเอาตัวอย่างเลือดไปเพาะในจานเพาะเชื้อเพื่อดูว่าแบคทีเรียจะเติบโตหรือไม่ และอาจศึกษาตัวอย่างเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาแบคทีเรียอีกด้วย
  • เทคนิครังสีวิทยาทางการแพทย์ แพทย์ใช้การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography หรือ CT) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) เพื่อดูอาการบวมหรืออาการอักเสบในศีรษะ นอกจากนี้ การสแกนช่องอกหรือโพรงไซนัสอาจช่วยให้เห็นการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง วิธีนี้เป็นการเจาะเข็มเข้าไปที่ช่องไขสันหลัง ซึ่งอยู่บริเวณหลังส่วนล่าง แล้วดูดเอาตัวอย่างน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังไปตรวจหาว่าติดเชื้อหรือมีแบคทีเรียหรือไม่ โดยน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังคือของเหลวที่อยู่ในบริเวณสมองและไขสันหลัง

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส อาจใช้เทคนิคการตรวจที่ชื่อ PCR (Polymerase Chain Reaction Amplification) ซึ่งเป็นวิธีทดสอบดีเอ็นเอ อีกทางเลือกหนึ่งคือการตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสบางชนิด ซึ่งช่วยให้แพทย์ระบุสาเหตุของโรคและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมได้

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีวิธีการรักษาอย่างไร?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่ละประเภทจะรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกัน การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบฟื้นตัวได้ดี แม้อาการจะหนัก

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย

วิธีรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียคือให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน เพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันอาจจำเป็นต้องได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอย่างเร่งด่วน วิธีนี้จะช่วยเรื่องการพักฟื้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส

ส่วนมาก โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะดีขึ้นเองในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจปฏิบัติดังนี้เพื่อให้อาการหายเร็วขึ้น

  • พักผ่อนเยอะ ๆ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ
  • รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดตัวหรือลดไข้

อย่าลืมว่ายาปฏิชีวนะใช้รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสไม่ได้ ทั้งนี้ แพทย์อาจจ่ายยาคอติโคสเตียรอยด์ให้เพื่อลดอาการบวมในสมอง และจ่ายยาเพื่อควบคุมอาการชัก สำหรับผู้ที่เป็นเยื่อหุ้มสมองจากไวรัสเฮอร์ปีส์หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจได้ยาต้านไวรัสมารับประทาน

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบประเภทอื่น ๆ

สำหรับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง วิธีรักษาจะพิจารณาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค ขณะที่ยาต้านไวรัสช่วยรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราได้ ในบางเคสอาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะอาการจะหายไปเอง สำหรับเยื่อหุ้มสมองที่สัมพันธ์กับมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษามะเร็งชนิดนั้น ๆ และสำหรับเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากอาการแพ้หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาคอติโคสเตียรอยด์หรือยากดภูมิอื่น ๆ

ประเภทของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอะไรบ้าง?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีวิธีป้องกันอย่างไร?

ปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

  • ล้างมือให้สะอาด การล้างมือช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกับใคร และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม แปรงสีฟัน หรือลิปมัน
  • รักษาสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ทานผักผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ด วิธีเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • ปิดปาก เมื่อจามหรือไอ ควรปิดปากและจมูกเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรค
  • เลี่ยงรับประทานอาหารบางประเภทตามคำแนะนำของแพทย์โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ ปรุงอาหารหรือแช่แข็งอาหารในอุณหภูมิที่ปลอดภัย เลี่ยงรับประทานนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือชีสที่ทำจากนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์

การฉีควัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว การฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียบางชนิดได้ ตัวอย่างวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Haemophilus Influenzae Type B หรือ Hib): องค์การอนามัยโรค (World Health Organization หรือ WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) แนะนำว่าเด็กควรรับวัคซีนประเภทนี้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน รวมถึงผู้ใหญ่ที่เป็นโรคโลหิตจางที่มีเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) เอดส์ หรือผู้ที่ไม่มีม้าม
  • วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal Conjugate Vaccine) หรือวัคซีน PCV13 และ PCV15: CDC กำหนดให้วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบปีควรได้รับ โดยเด็กอายุระหว่าง 2 – 5 ปี ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนิวโมคอคคัสสูง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคหัวปอดและหัวใจเรื้อรัง และเป็นมะเร็ง ควรได้รับวัคซีนเพิ่ม รวมถึงผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีควรได้รับวัคซีนเช่นกัน
  • วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine) หรือวัคซีน PPSV23: วัคซีนประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตที่ต้องการวัคซีนป้องกันแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดย CDC แนะนำว่าผู้ที่ควรได้รับวัคซีนประเภทนี้ ได้แก่ ผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป วัยรุ่นและเด็กอายุ 2 ขวบปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว รวมถึงผู้ที่ไม่มีม้าม
  • วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นชนิดคอนจูเกต (Meningococcal Conjugate Vaccine) หรือวัคซีน MenACWY: CDC แนะนำให้เด็กอายุ 11 – 12 ปี รับวัคซีนประเภทนี้ 1 เข็ม และรีบเข็มกระตุ้นเมื่อมีอายุ 16 ปี หากเข็มแรกได้รับในช่วง 13 -15 ปี ควรรับเข็มกระตุ้นช่วง 16 – 18 ปี หากได้รับเข็มแรกตอนอายุ 16 ปี หรือมากกว่า ไม่จำเป็นต้องรับเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ เด็กอายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 10 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย หรือใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนั้น รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคเอดส์ อยู่ในที่แอดอัด เช่น หอพัก หรือสายทหาร
  • วัคซีน Serogroup B Meningococcal หรือวัคซีน MenB: CDC แนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นรับวัคซีนประเภทนี้ รวมถึงผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคโลหิตจางที่มีเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โดนตัดม้ามออกไป หรือผู้ที่ไม่มีม้าม

เตรียมตัวก่อนเข้าพบแพทย์

เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาเมื่อเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จึงควรพบแพทย์ทันทีหากสงสัยว่าเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม หากไม่มั่นใจว่าอาการที่มีเป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไม่ ลองทำตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้เพื่อเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

  • สอบถามถึงสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำทั้งก่อนและหลังจากที่พบแพทย์ 
  • จดอาการที่ตัวเองมี
  • เขียนรายละเอียดส่วนตัวที่สำคัญ เช่น กิจกรรมที่ทำไม่นานมานี้ วันหยุดที่ผ่านมาไปที่ไหนมาบ้าง หรือเล่นกับสัตว์มาหรือเปล่า
  • จดรายชื่อยาที่รับประทาน
  • พาคนในครอบครัวหรือเพื่อนไปโรงพยาบาลด้วย เพื่อช่วยจำรายละเอียดสำคัญและอยู่เป็นเพื่อนคุณเมื่อถึงยามจำเป็น
  • จดคำถามที่อยากจะถามแพทย์

คำถามที่พบได้บ่อย

  • สามารถตรวจโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่บ้านได้ไหม?
    ณ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ตรวจโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่บ้านได้ จึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากมีข้อสงสัยเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคนี้อย่างทันท่วงทีและมีความแม่นยำ

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

แม้โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะเป็นโรคที่ไม่พบได้บ่อย แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยแนะนำให้เข้ารักษาตัวทันทีหากมีอาการ

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 18 ธ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การจัดการโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีและการปฏิบัติตัว, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน
  • Link to doctor
    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

    พญ. ศิรญา ไชยะกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ. รพีพรรณ  รัตนวงศ์นรา มอร์ด

    พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, การติดเชื้อทางเดินอาหาร, โรคติดเชื้อทั่วไป และการให้วัคซีน, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การติดเชื้อในระบบประสาท , โรคหนอนพยาธิ, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง , โรคติดเชื้อที่เนื้อเยื่อ, โรคติดเชื้อที่กระดูก, โรคติดเชื้อที่ข้อ, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน, การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต, โรคติดเชื้อหลังปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามหรือไวรัส