นิ้วล็อค (trigger finger) เป็นภาวะที่มีการสะดุดหรือล็อคของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้ว มักมีอาการเจ็บร่วมด้วย ภาวะที่มีการสะดุดของนิ้วเกิดจากการหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเอ็น และ/หรือ การเกิดเป็นปมของเอ็นบริเวณฝ่ามือใกล้โคนนิ้ว
สาเหตุของการเกิดนิ้วล็อค
มักเกิดจากการเสียดสีจากการใช้งานมาก หรือมีการกดบริเวณดังกล่าว เช่น การกำไม้กอล์ฟหรือไม้กวาด ชอบเกิดในผู้สูงอายุโดยเฉพาะถ้ามีเบาหวานร่วมด้วย
วิธีการรักษานิ้วล็อค
ขึ้นอยู่กับระยะหรือความรุนแรง
- หากเป็นไม่มาก มีการสะดุดของนิ้วเป็นบางครั้ง เป็นเฉพาะตอนเช้า ให้ลดการใช้งานหรือใช้อุปกรณ์ดามนิ้วประมาณ 3-4 สัปดาห์
- หากเป็นมาก มีการสะดุดของนิ้วทุกครั้งที่งอ-เหยียดนิ้ว หรือไม่สามารถกำนิ้วได้สุด ดังรูป
กรณีเป็นมาก สะดุดทุกครั้งหรือกำไม่สุด การรักษามี 2 ทาง
- 2.1 ฉีดยาสเตียรอยด์ ฉีดเข้าใต้ผิวเข้าไปในปลอกเอ็น แต่ควรฉีดโดยแพทย์เฉพาะทางด้านมือ เพราะต้องระวังไม่ให้ฉีดยาเข้าไปในเอ็น จะทำให้เนื้อเอ็นยุ่ย การฉีดยาสเตียรอยด์นี้อาจดีขึ้น แต่ก็อาจเป็นซ้ำได้
- 2.2 การรักษาโดยการผ่าตัดแบบเปิด ตัดปลอกที่รัดเอ็นให้ขาดออกจากกัน วิธีนี้ปลอดภัยเพราะมองเห็นปลอกด้วยตา แต่มีข้อเสียคือต้องทำในห้องผ่าตัด ใช้เวลาผ่าประมาณ 30-45 นาที มือโดนน้ำไม่ได้ประมาณ 12-14 วัน และต้องตัดไหม
ในปัจจุบันเรามีวิธีตัดปลอกเอ็นโดยไม่ต้องเปิดผ่าตัดที่เรียกว่า การใช้เข็มสะกิดโดยการมองภาพผ่านเครื่องอัลตราซาวนด์ แพทย์จะใช้แค่เข็มฉีดยา หลังจากฉีดยาชาแล้ว แพทย์จะใช้เข็มสอดเข้าใต้ผิวหนังเข้าไปสะกิดตัดปลอกเอ็นโดยการมองภาพผ่านเครื่องอัลตราซาวนด์
ข้อดีของการรักษานิ้วล็อค โดยการอัลตร้าซาวนด์
- เป็นการตรวจและปฏิบัติการในห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD)
- ให้ยาชาเฉพาะที่
- ปลอดภัยกับเอ็นและเส้นประสาท เพราะมองเห็นเข็มและเอ็นตลอดเวลาผ่านหน้าจอของเครื่องอัลตราซาวนด์
- ใช้เวลาทำการสะกิดประมาณ 5 นาทีก็เสร็จ
- หลังการสะกิดเสร็จเห็นผลทันที การสะดุดของนิ้วขณะงอ-เหยียดจะหายทันที
- ไม่มีแผลผ่าตัด มีเพียงรอยรูเข็ม
- มือโดนน้ำได้หลังการสะกิดตัดปลอกภายใน 24-48 ชั่วโมง
การเตรียมตัวก่อนการรักษานิ้วล็อก
คนไข้ควรจดรายการยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทานอยู่เป็นประจำ และจดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น
- สาเหตุของโรคคืออะไร
- อาการนิ้วล็อกเป็นอาการชั่วคราวหรือถาวร
- ควรรักษาอาการด้วยวิธีใด
- มีภาวะแทรกซ้อนของโรคหรือไม่ เช่นอะไร
แพทย์อาจ ซักประวัติคนไข้ จากคำถามดังต่อไปนี้
- คนไข้มีอาการอะไรบ้าง
- มีอาการมานานเท่าไร
- อาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นตลอดเวลา
- อะไรที่ช่วยบรรเทาอาการ
- อะไรที่ทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
- อาการมักแย่ลงในช่วงเวลาใด เช่น ในตอนเช้าใช่หรือไม่
- ทำงานหรือมีงานอดิเรกที่ใช้มือซ้ำ ๆ บ่อย ๆ บ้างหรือไม่
- ก่อนหน้านี้ได้รับบาดเจ็บที่มือหรือไม่
- มีการทานยาที่ห้ามเลือดแข็งตัว เช่น แอสไพริน หรือไม่