เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ลมพิษ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- ลมพิษ มีอาการอย่างไร?
- ลมพิษ วินิจฉัยอย่างไร?
- การรักษาลมพิษ มีวิธีการอย่างไร?
- การป้องกันลมพิษ มีวิธีการอย่างไร?
- ลมพิษกลางคืน มีอาการอย่างไร?
ลมพิษ (Urticaria, hives)
ลมพิษ (Urticaria, hives) หรือ ผื่นลมพิษ คือ ผื่นผิวหนังที่มีอาการคัน บวม เป็นผื่น ปื้นนูนแดง เป็นแนวยาว มีขอบชัดเจนที่บริเวณส่วนหนึ่งส่วนใดของผิวหนัง หรือกระจายตัวทั่วร่างกายคล้ายแมลงสัตว์กัดต่อย ลมพิษ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ไปสัมผัสโดน ผื่นลมพิษ มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันตั้งแต่มิลลิเมตรจนถึงฝ่ามือ ลมพิษ บรรเทาได้ด้วยยาแก้แพ้และสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง ลมพิษชนิดเฉียบพลันอาจทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หอบหืด หายใจไม่สะดวก จนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรรีบนำส่ง รพ. เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ลมพิษ มีกี่ชนิด?
ลมพิษ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามระยะเวลาในการดำเนินโรค ได้แก่
- ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) เป็นลมพิษชนิดที่มีอาการต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่สามารถหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ และมีเพียงร้อยละ 40 ที่จะกลายเป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) เป็นลมพิษชนิดที่มีอาการมากกว่า 6 สัปดาห์ โดยจะมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 1 ปี ลมพิษชนิดเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นได้เองหรือเกิดจากปัจจัยกระตุ้น
ลมพิษ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- ลมพิษที่เกิดจากการทำงานที่แปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น ลมพิษเรื้อรัง ซึ่งเกิดการหลั่งของภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดลมพิษ โดยไม่ได้มีสาเหตุจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) จากภายนอก
- ลมพิษที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ หรือจากสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำจากเคมีภัณฑ์ โดยร่างกายจะหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในเนื้อเยื่อ เส้นเลือดฝอย และปลายประสาทใต้ชั้นผิวหนังเพื่อแสดงอาการแพ้ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ ได้แก่
- แพ้อาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว ถั่วเหลือง ข้าสาลี ไข่ นม สีผสมอาหาร สารกันบูด
- แพ้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาแอสไพริน (Aspirin) อินซูลิน (Insulin) มอร์ฟิน (Morphine) ยาควบคุมความดันโลหิตสูง (ACE inhibitor) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แพ้สารเคมีบางชนิดในวัตถุต่าง ๆ เช่น แพ้วัสดุที่ทำจากยางพารา
- แพ้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แพ้เหล็กในสัตว์มีพิษ แพ้ไรฝุ่น แพ้ขนสัตว์ แพ้พืชบางชนิด แพ้พันธุ์ไม้เลื้อยที่มีพิษ แพ้ละอองเกสรดอกไม้ แพ้พันธุ์ไม้ที่มีขนคัน เช่น ตำแย หญ้า
- แพ้ยางของพืช ยางผลไม้ เช่น ยางพารา ยางกล้วย ยางมะม่วง
- แพ้กีวี่ แพ้เกาลัด
- แพ้เครื่องสำอางบางชนิด
- โรคบางโรค เช่น ภูมิแพ้ โรคต่อมไทรอยด์ โรคลูปัส โรคหลอดเลือดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ มะเร็งบางชนิด โรคโควิด 19
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือพยาธิ
- แพ้อากาศ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การสัมผัสกับอากาศร้อนหรือเย็น แสงแดด รังสี UV เหงื่อ
- การใส่เสื้อผ้ารัดแน่น เข็มเข็ดรัดแน่น ที่ทำให้เกิดการเสียดสีที่ผิวหนัง
- แพ้สารสารทึบแสง (Contrast Media) ที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น CT Scan หรือ MRI
- ความเครียด ความวิตกกังวล
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
ลมพิษ มีอาการอย่างไร?
อาการลมพิษมีลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกันตามสาเหตุของอาการแพ้ และการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล โดยมีอาการดังนี้
- ผื่นขึ้นเป็นปื้น บวมนูน มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันตั้งแต่ 0.5-10 ซม. มีขอบชัดเจน ไม่มีขุย
- ผื่นสีแดง หรือสีชมพูที่กดลงตรงกลางแล้วซีด กระจายตัวทั่วทั้งร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
- ผื่นที่มีอาการคันอย่างมาก มีอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน
- ผื่นคันที่เกิดขึ้นแล้วหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
- ผื่นคันที่เป็น ๆ หาย ๆ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องยาวนานร่วมเดือน
- ผื่นคันที่มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับอากาศร้อนหรือเย็น แสงแดด เหงื่อ เมื่อออกกำลังกาย หรือมีความเครียด
ลมพิษชนิดแพ้รุนแรง มีอาการดังนี้
- ผื่นลมพิษกระจายตัวทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วทั้งแขน ขา ใบหน้า รอบดวงตา รอบปาก
- อาการหน้าบวม ปากบวม ตาบวม คล้ายอาการแองจีโออีดีมา (Angioedema)
- อาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น ทางเดินหายใจตีบตัน หอบหืด แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น มีอาการแน่นหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ
- อาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
- วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม มีไข้ ปวดข้อต่าง ๆ ตามร่างกาย
ลมพิษ วินิจฉัยอย่างไร?
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยลมพิษเบื้องต้นโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการ ตรวจผื่นผิวหนัง ความรุนแรงของอาการแพ้ และซักถามประวัติการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ยา การถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย การสัมผัสกับน้ำยางหรือละอองเกสรพืช และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดลมพิษ ทั้งนี้ แพทย์อาจขอให้มีการตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติมเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุ ด้วยวิธีการดังนี้
- ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นการทดสอบภูมิแพ้ โดยการหยดน้ำยาสารสกัดจากโปรตีนสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง และใช้เข็มสะกิดลงตรงกลางหยดน้ำยาเพื่อสังเกตอาการแพ้ โดยหากมีอาการแพ้ จะเกิดตุ่มบวมนูนขึ้นบนผิวหนัง การทดสอบสามารถทราบผลได้ภายใน 20 นาที โดยมีความเสี่ยงในการเกิดผื่นภูมิแพ้ทั่วร่างกายน้อยมาก
- ตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Allergy Blood Test) เป็นการเจาะเลือดตรวจวัดปริมาณภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ (IgE) ที่ร่างกายจะผลิตออกมาเพื่อต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย โดยหากผลการตรวจพบภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณมาก ก็จะยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุของผื่นลมพิษ โดยการตรวจสามารถทราบผลได้ภายใน 2-3 วัน
การรักษาลมพิษ มีวิธีการอย่างไร?
โดยปกติ ลมพิษสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโดยแพทย์เพื่อตรวจอาการและรับยาแก้แพ้เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่จะช่วยบรรเทาอาการคัน และช่วยให้ผื่นลมพิษยุบตัวลงได้เร็วขึ้น โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้
- ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ช่วยลดความรุนแรงของอาการคัน บวม แดง และลดอาการภูมิแพ้อื่น ๆ
- วัคซีนภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) ในผู้ที่มีอาการลมพิษชนิดเรื้อรัง แพทย์จะพิจารณาการฉีดวัคซีนภูมิแพ้เพื่อยับยั้งการหลั่งของภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ (IgE) ที่มากเกินจำเป็น เพื่อบรรเทาอาการผื่นลมพิษ และลดอาการคัน
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ในผู้ที่อาการไม่ดีขึ้น หรือลมพิษเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามิน แพทย์จะพิจารณาให้ยากลุ่มออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยให้ผื่นคันสงบลงเร็วขึ้น
- ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory medications) สำหรับผู้ที่อาการลมพิษชนิดรุนแรง หรือแองจิโออีดีมา แพทย์อาจพิจารณาให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids drug) ชนิดรับประทานเพื่อลดอาการบวม อักเสบ และคัน
- ยากลุ่มชีวโมเลกุล (Biologics) ช่วยลดการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติแต่จะไม่กดภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยแพทย์จะใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะผู้ที่มีอาการลมพิษเรื้อรังเท่านั้น
- ยารักษาอาการบวมใต้ผิวหนังและเยื่อเมือกจากพันธุกรรม (Hereditary angioedema drugs) ในผู้ที่มีอาการแองจิโออีดีมา (Angioedema) หรืออาการบวมใต้ผิวหนังและเยื่อเมือกทางเดินหายใจส่วนบน และทางเดินทางอาหาร แพทย์จะพิจารณาให้ยาที่จำเพาะเจาะจงเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการ เนื่องจากยาแก้แพ้บางชนิด เช่น ยาต้านฮีสตามีน เอพิเนฟริน และสเตียรอยด์ ช่วยบรรเทาอาการได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การปฐมพยาบาลลมพิษเบื้องต้น มีวิธีการอย่างไร?
ลมพิษที่มีอาการเล็กน้อย สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
- ทานยาแก้แพ้ชนิดรับประทานที่สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เช่น กลุ่มยาต้านฮีสตามีนชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง (None-sedation antihistamines)
- ยาทาภายนอก เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก (Topical steroids)
- การอาบน้ำเย็น หรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการคัน
ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ เป็นอย่างไร?
ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ ได้แก่อาการดังต่อไปนี้
- ภาวะแองจิโออีดีมา (Angioedema) หรืออาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังขั้นรุนแรงที่ทำให้มีอาการบวมที่ใบหน้า และอาจก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เป็นภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่ถูกกระตุ้นโดยการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้เหล็กในสัตว์มีพิษที่ทำให้หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ชีพจรลดต่ำ หัวใจเต้นเร็วที่จำเป็นต้องรีบนำส่งแพทย์เพื่อฉีดยาแก้แพ้ อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ อีพิเพ็น (EpiPen) โดยเร็วที่สุด
การป้องกันลมพิษ มีวิธีการอย่างไร?
- สังเกตและหลีกเลี่ยง และออกห่างจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ยา เกสรดอกไม้ ความร้อน ความเครียด หรือวัสดุบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดแน่น ผ้าเนื้อหยาบที่ทำให้เกิดการเสียดสี หรือเนื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็น การอยู่ท่ามกลางแสงแดด ทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกกลางแดดจ้า
- ไม่เกาบริเวณผื่นคันเพราะอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ และอาจกระตุ้นการกระจายตัวของผื่นคันมากยิ่งขึ้น
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือ การตรวจภูมิแพ้ด้วยการเลือด
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล
ลมพิษกลางคืน มีอาการอย่างไร?
ลมพิษกลางคืน คือ ลมพิษที่เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ใกล้กับช่วงเวลาเข้านอนตอนกลางคืน เช่น การสัมผัสกับยาบางชนิด เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในห้อง นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานบ่งชี้ว่า มาสต์เซลล์ (Mast cells) ซึ่งเป็นเป็นเซลล์เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดการหลั่งสารต้านฮีสตามีนตามรอบวัน (Circadian rhythm) เป็นสาเหตุให้เกิดลมพิษที่มีอาการอักเสบ บวม คันในเวลากลางคืน
ลมพิษกี่วันหาย?
โดยปกติ ลมพิษชนิดเฉียบพลันมักหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ลมพิษชนิดเรื้อรังที่มีอาการเกิน 6 สัปดาห์ อาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี อาการลมพิษจึงจะหายไป
ลมพิษ อาการแพ้ ผื่นคัน รักษาได้ที่ต้นเหตุ
ลมพิษ เป็นผื่นคันที่กระทบต่อการใช้ชีวิต แม้ลมพิษชนิดเฉียบพลันอาจหายได้ด้วยยาต้านฮีสตามีน แต่การหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดลมพิษจะนำไปสู่การรักษาโรคให้หายขาด ลมพิษที่รักษาไม่หายจะพัฒนาไปสู่ลมพิษชนิดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว ผู้ที่มีอาการแพ้ชนิดเฉียบพลันรุนแรง มีอาการแน่นหน้าอก หอบหืด หายใจติดขัด ควรรีบนำตัวส่ง รพ.เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิต ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นลมพิษไม่ว่าชนิดใด ควรเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ปัจจัยกระตุ้น และรับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เพื่อป้องกันการเป็นลมพิษซ้ำ