สารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) สารสุข สร้างประโยชน์ให้ร่างกาย - Endorphins, The “feel good” chemicals for well-being.

สารเอ็นดอร์ฟินส์ สารสุข สร้างประโยชน์ให้ร่างกาย

สารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) เป็นสารส่งผ่านเส้นประสาทที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง (pituitary gland ) และต่อมใต้สมองส่วนล่าง (hypothalamus) เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดความเครียด ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น

แชร์

สารเอ็นดอร์ฟินส์ สารสุข สร้างประโยชน์ให้ร่างกาย

คำว่า เอ็นดอร์ฟิน "Endorphin" มาจากรากศัพท์ 2 คำ อันได้แก่ "Endogenous" หมายถึงภายในร่างกายและ "Morphine" หมายถึงยาที่ช่วยลดความเจ็บปวด 
สารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) เป็นสารส่งผ่านเส้นประสาทที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง (pituitary gland ) และต่อมใต้สมองส่วนล่าง (hypothalamus) เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดความเครียด ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น เสริมสร้างสุขภาวะ โดยร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ขณะที่เราทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสุข เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

สารเอ็นดอร์ฟินส์ชนิดต่าง ๆ

ในร่างกายของคนเรานั้นจะมีการผลิตสารเอ็นดอร์ฟินส์มากกว่า 20 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป แต่สารเบต้าเอ็นดอร์ฟินส์จะโดดเด่นในเรื่องการบรรเทาความเครียดและความเจ็บปวด ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ามอร์ฟีน

การทำงานของสารเอ็นดอร์ฟินส์

เมื่อร่างกายของเรารู้สึกเครียดหรือเจ็บปวด ระบบประสาทจะส่งสัญญาณความเจ็บปวด (pain signals) ไปยังสมองและร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์เพื่อปิดกั้นการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังเซลล์ประสาท กลไกดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสวิตช์ปิดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้เราสามารถทำกิจกรรมต่อไปได้แม้ว่าสถานการณ์จะท้าทายและกดดัน เพราะธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการที่หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและทำสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกดีมากกว่า

ประโยชน์ของสารเอ็นดอร์ฟินส์

  • บรรเทาอาการซึมเศร้า สารเอ็นดอร์ฟินส์ที่หลั่งออกมาหลังออกกำลังกายมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้
  • บรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลใจ ระดับสารเอ็นดอร์ฟินส์ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีส่วนทำให้ความเครียดและวิตกกังวลลดลง
  • ส่งเสริมการรักตัวเอง จากการศึกษาสารเอ็นดอร์ฟินส์สามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจและความเคารพตัวเอง
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก สารเอ็นดอร์ฟินส์ช่วยควบคุมความอยากอาหาร
  • บรรเทาความเจ็บปวดจากการคลอดบุตร ระดับสารเอ็นดอร์ฟินส์ที่สูงขึ้นจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างการคลอดบุตรได้

กิจกรรมที่ช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์

  • การออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ เดินป่า และเต้นรำ
  • การรับประทานอาหาร
  • การนวด
  • การฝังเข็ม
  • การมีเพศสัมพันธ์

การกระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์และคงระดับสารเอ็นดอร์ฟินส์ให้สูงอยู่เสมอนั้นทำได้หลายวิธี โดยอาจรับประทานดาร์กช็อกโกแลต ฟังเพลงที่ชอบ เล่นเครื่องดนตรี ดูภาพยนตร์สนุก ๆ ทำงานศิลปะ หัวเราะกับเพื่อน ๆ กลิ่นบำบัด การเป็นอาสาสมัคร หรือนั่งสมาธิ

โรคต่าง ๆ

หากร่างกายไม่สามารถผลิตหรือหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ได้เพียงพอ จะทำให้รู้สึกวิตกกังวล ปวดเมื่อยตามตัว ซึมเศร้า หุนหันพลันแล่น มีปัญหาเรื่องการนอน หรือแม้กระทั่งการติดสารเสพติด เอ็นดอร์ฟินส์เป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งโดพามีน เมื่อเกิดภาวะขาดสารเอ็นดอร์ฟินส์จะทำให้โดพามีนซึ่งเป็นสารส่งผ่านประสาทที่ควบคุมอารมณ์ลดลง นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพ เช่น

  • รคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) อาการปวดตามตัวเรื้อรัง
  • ทำร้ายตัวเอง คนบางคนอาจจงใจทำร้ายตัวเอง เพราะการทำร้ายตัวเองกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ได้
  • ติดการออกกำลังกาย คนบางคนอาจติดการออกกำลังกายมากจนเกินไปเพราะติดใจความรู้สึก “ฟินหลังวิ่ง” (runner’s high) ซึ่งมักรู้สึกได้หลังออกกำลังกายเข้มข้นเป็นเวลานาน

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  • สารเอ็นดอร์ฟินส์ต่างจากสารโดพามีนอย่างไร?
    สารเอ็นดอร์ฟินส์และสารโดพามีนเป็นสารเคมีในร่างกาย ที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความรู้สึกสุขใจ เอ็นดอร์ฟินส์ทำหน้าที่เป็นสารบรรเทาปวดตามธรรมชาติ เมื่อเอ็นดอร์ฟินส์ไปเกาะที่ตัวรับโอปิออยด์ (opiate receptors) ในสมอง ร่างกายจะหลั่งสารโดพามีนตามมา 
    ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่กำลังวิ่ง ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ตามด้วยสารโดพามีน ทำให้เกิดภาวะ “ฟินหลังวิ่ง” (runner’s high) จึงทำให้อยากวิ่งอีกเพื่อจะได้รู้สึกสุขเช่นนั้นอีก
  • สารเอ็นดอร์ฟินส์ต่างจากสารเซโรโทนินอย่างไร?
    ทั้งเอ็นดอร์ฟินส์และเซโรโทนินเป็นสาร “สุข” ที่ทำหน้าที่และมีกลไกการทำงานต่างกัน เซโรโทนินทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ให้คงที่ ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ ทำให้สุขภาวะดีแข็งแรง ส่วนเอ็นดอร์ฟินเป็นสารลดอาการเจ็บปวดและความเครียด
  • ควรพบแพทย์เมื่อไร?
    ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
    • ปวดตามตัวเรื้อรัง
    • เสพติดการออกกำลังกาย
    • ซึมเศร้า
    • ทำร้ายตนเอง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 31 ก.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ