ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก แพร่เชื้อสู่คนโดยมีพาหะเป็นยุงลายเพศเมีย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูงและผื่นแดงตามร่างกาย อาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือรู้สึกแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
ในแต่ละปี ไข้เด็งกี่ หรือ ไข้เลือดออก (Dengue fever) คร่าชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลก แม้ว่าโรคนี้พบบ่อยที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก แต่ก็มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังประเทศแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน
ไข้เด็งกี่ หรือ ไข้เลือดออก แพร่เชื้อสู่คนโดยมีพาหะเป็นยุงลายเพศเมีย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูงและผื่นแดงตามร่างกาย และในกรณีที่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจมีเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อและตามข้อต่อโดยไม่พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยนอกจากไข้ บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร ไม่สบายตัว หรือรู้สึกแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา ส่วนผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีความดันโลหิตลดลงเฉียบพลันหรือบางรายถึงกับเสียชีวิตได้ โดยไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงนี้เรียกว่า ไข้เลือดออกเด็งกี (Dengue hemorrhagic fever)
ไข้เด็งกี่ หรือ ไข้เลือดออก เกิดจากไวรัสเด็งกี่ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายและถึงแก่ชีวิตทั้งหมด ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับรักษาไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยก็กําลังค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง แต่วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกคือการลดจํานวนประชากรยุงที่เป็นพาหะ
สถานการณ์ในประเทศไทย
ประเทศไทย มีรายงานการติดเชื้อไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกมานานกว่า 50 ปี ปัจจุบัน การติดเชื้อไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ภายในปี 2563 จะมีผู้ป่วยไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกประมาณ 140,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับการระบาดของไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกในปี 2558 ซึ่งสายพันธุ์ที่พบบ่อยคือ DENV-1 และ DENV-2 และมีแนวโน้มที่จะระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกยังคงเป็นกลุ่มเด็กในวัยเรียน (5-14 ปี) แต่กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อป่วยแล้วสามารถเป็นอันตรายได้ถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังอื่นอยู่แล้ว
อาการของผู้ป่วยไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกเป็นอย่างไร
กรณีที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นจะไม่แสดงอาการมากนัก แต่หลังจากถูกยุงที่เป็นพาหะกัดไปแล้ว 4 ถึง 7 วัน อุณหภูมิร่างกายจะเพิ่มขึ้นถึง 104 องศาฟาเรนไฮด์ (40 องศาเซลเซียส) ซึ่งเข้าขั้นรุนแรงและอาจเป็นอันตราย และปรึกษาแพทย์ทันที นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดังต่อไปนี้:
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีต่อมน้ำเหลืองบวม (พบได้ไม่บ่อย)
- ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
- ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ
- ปวดหลังดวงตา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากอาการเจ็บป่วยได้ภายในหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านั้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามบางรายอาจมีอาการแย่ลงจนถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อรุนแรงจะส่งผลให้เกิดการรั่วของของเหลวภายในหลอดเลือดทั่วร่างกายและตามมาด้วยความดันโลหิตต่ำลง ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะพบมีการจับตัวของเซลล์ลิ่มเลือดหรือเกล็ดเลือดในกระแสเลือดลดลงและส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติหรือเลือดออกแล้วหยุดยากหรือพบมีจ้ำเลือดบนผิวหนังหรือเยื่อบุช่องปากหรือเปลือกตา อาการดังกล่าวนี้เรียกว่าไข้เลือดออกเด็งกี่ หรือ โรคไข้เลือดออกเดงกี่ช็อค ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกี่ที่รุนแรงอาจมีเพิ่มเติมดังนี้
- รู้สึกเมื่อยล้า
- อาเจียนถี่และบ่อย
- ปวดท้องรุนแรง
- มีเลือดออกตามเหงือกและทางจมูก
- หายใจติดขัด และหายใจลำบาก
- อยู่ในภาวะช็อค มีผิวเย็นและชื้น
- มีเลือดออกมาพร้อมกับอุจจาระ อาเจียนหรือปัสสาวะ
- มีรอยฟกช้ำที่อาจเกิดจากการมีเลือดออกใต้ผิวหนัง
- รู้สึกไม่สบายตัวและหงุดหงิดง่าย
เมื่อใดควรไปพบแพทย์
หากเคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เลือดออก และมีอาการ เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนมาก หายใจลําบาก หรือมีเลือดออกตามเหงือกหรือจมูก ควรไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุของไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกมีอะไรบ้าง
เมื่อยุงลายที่เป็นพาหะกัดคนที่มีเชื้อไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออก ยุงตัวนั้นก็จะรับเชื้อไว้ และเมื่อไปกัดคนอื่น คนอื่นก็จะติดเชื้อไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกจากยุงตัวนี้อีก
ทั้งนี้ มนุษย์สามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของโรคไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกได้โดยในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนหลังการติดเชื้อ ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ แต่ภายหลังจากนั้นภูมิต้านทานรวมดังกล่าวจะลดลงจนเหลือเพียงภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อครั้งก่อนหน้าเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วยังคงมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้อีกหากมีการติดเชื้อจากเชื้อต่างสายพันธุ์ในครั้งต่อมา
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกมีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยง 2 ประการที่ทําให้เกิดโรคไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกจนอาจนำไปสู่รูปแบบที่รุนแรงมากขึ้น ได้แก่:
- ใช้ชีวิตหรือเดินทางในพื้นที่เสี่ยงที่พบการระบาดของโรคไข้เด็งกี่หรือไข้เลือด เช่น ประเทศในเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อไวรัสไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกได้
- มีแนวโน้มที่อาการจะรุนแรงมากขึ้นหากกลับมาติดเชื้อไวรัสไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกอีกรอบ
แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างไร
การวินิจฉัยโรคไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกอาจไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ เพราะสัญญาณและอาการแสดงจะคล้ายกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่นการติดเชื้อไวรัสทั่ว ๆ ไป ไข้มาลาเรีย โรคไข้ฉี่หนู ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
หากมีสัญญาณและอาการแสดงของโรคที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มอีกเล็กน้อย เช่น สอบถามประวัติทางด้านสุขภาพและการเดินทางของผู้ป่วย ทั้งนี้ ควรแจ้งประวัติการเดินทางในต่างประเทศแบบละเอียดให้แพทย์ทราบ เช่น เดินทางไปยังประเทศไหนบ้าง รวมถึงวันและเวลา และสถานที่ที่เดินทางไป เพื่อดูว่ามีโอกาสที่จะติดเชื้อได้หรือไม่
เนื่องจากสัญญาณและอาการแสดงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอาจทําให้การวินิจฉัยผิดไปได้ ดังนั้น แพทย์อาจแนะนําให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าติดไวรัสไข้เลือดออกจริง
ไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกรักษาได้อย่างไรบ้าง
ปัจจุบัน ไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับผู้ป่วยไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากการอาเจียนตลอดเวลาและมีไข้สูง
แม้อาการไข้จะดีขึ้น แพทย์อาจยังต้องแนะนำให้ผู้ป่วยเฝ้าดูอาการขาดน้ำอย่างใกล้ชิด หากมีสัญญาณหรืออาการแสดงดังต่อไปนี้ ให้พบแพทย์ทันที:
- ปัสสาวะน้อย
- น้ำตาแทบไม่ไหลหรือไม่มีน้ำตา
- ปากหรือริมฝีปากแห้ง
- ง่วงหรือมึนงง
- ตัวเย็นและระดับความรู้สึกตัวลดลง
แพทย์อาจให้ยาพาราเซตามอล หรืออะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เช่น ไทลินอล และอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ ทั้งนี้ ไม่แนะนําให้บรรเทาอาการปวดด้วย แอสไพริน ไอบูโปรเฟน และนาพรอกเซน (naproxen) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกมากได้ หากเป็นไข้เลือดออกรุนแรง ผู้ป่วยควร:
- เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
- รับน้ำเกลือและสารอิเล็กโทรไลต์เข้าเส้นเลือด
- วัดความดันโลหิตตามแพทย์แนะนํา
- เข้ารับการถ่ายเลือดเพื่อทดแทนการสูญเสียเลือด
วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออก
มาตรการป้องกันและควบคุมไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกควรมุ่งเน้นไปที่การป้องกันโรคเป็นหลัก เช่น การควบคุมพื้นที่เพาะพันธุ์ยุง ทั้งภายในบ้าน ชุมชน และสถานที่สําคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงเรียน และโรงพยาบาล ทั้งนี้ ดัชนีประชากรตัวอ่อนยุงลายที่เป็นพาหะควรจะเท่ากับศูนย์หรือไม่มีเลย และช่วงเวลาที่ควรเตรียมการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากที่สุดคือตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคน้อยที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ช่วงระบาดใหญ่ในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-สิงหาคม)
ปัจจุบัน วัคซีนไข้เลือดออกกว่า 65% ที่ขึ้นทะเบียนไว้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกได้ทุกสายพันธุ์ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ใช้วัคซีนที่มีอยู่ในทะเบียนนี้มาตั้งแต่ปี 2560 ข้อมูลจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนพบผลข้างเคียงในผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียง 0.22 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงทั้งหมด องค์การอนามัยโลกแนะนําให้ใช้วัคซีนเหล่านี้ในผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี และผู้ที่เคยได้รับเชื้อไข้เด็งกี่หรือไข้เลือดออกมาก่อน อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้วัคซีนโดยดูสภาพของผู้ใช้เป็นรายบุคคลไป