อาการ สาเหตุ การตรวจวินิฉัย และการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia)

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นหรือใจเต้นรัว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่เป็นอันตราย แต่บางประเภทอาจก็เป็นอันตรายถึงชีวิต

แชร์

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจของคนเราจะเต้นเร็วขึ้นเวลาเราทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกาย และเต้นช้าลงเวลานอนหลับ หากหัวใจเต้นผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นหรือใจเต้นรัว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่เป็นอันตราย แต่บางประเภทอาจก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจให้รับประทานยา ใส่สายสวน หรือฝังอุปกรณ์ อย่างไรก็ตามการดำเนินชีวิตแบบรักษาสุขภาพสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ประเภทของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) เกิดขึ้นเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจในเวลาปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) เกิดขึ้นเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจในเวลาปกติน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที

ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ

สามารถจําแนกออกได้ดังนี้

  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) เนื่องจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจกระจัดกระจายไม่เป็นจังหวะ ทำให้การเต้นของหัวใจเร็ว ไม่พร้อมเพรียงกัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีอาการต่อเนื่องเป็นระลอก ภาวะหัวใจห้องบนสั้นพลิ้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่สําคัญ เช่น โรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันโดยลิ่มเลือดที่หลุดออกจากห้องหัวใจ
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Atrial flutter) เกิดขึ้นจากการที่หัวใจห้องบนเต้นเร็วเกินไป แต่เป็นจังหวะมากกว่าภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular tachycardia) เนื่องจากการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจห้องบน อาจทำให้รู้สึกใจสั่น
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง (Ventricular tachycardia) เป็นการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะเนื่องจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจห้องล่างผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วมากจนไม่สามารถกักเก็บเลือดในหัวใจห้องล่างได้เพียงพอก่อนที่จะสูบฉีดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ในรายที่หัวใจแข็งแรงดีอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ในรายที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วภาวะดังกล่าวถือว่าเป็นอันตราย
  • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (Ventricular fibrillation) เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ร้ายแรงไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจไม่มีการสูบฉีดเลือด ไม่มีการไหลเวียน ไม่มีชีพจร ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการกู้ชีพ (CPR) และการช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillation) ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาที

ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

  • โรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม (Sick sinus syndrome) เป็นความผิดปกติเนื่องจากของการเต้นของหัวใจซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ รอยแผลบริเวณ Sinus node หรือกลุ่มเซลล์ที่อยู่บนผนังหัวใจห้องบนขวารบกวนกระแสไฟฟ้า ทําให้หัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นชั่วคราวเป็นระยะเวลานานหลายวินาที ทำให้เกิดอาการเหนื่อยหรือหน้ามืดหมดสติ บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วสลับช้าด้วย
  • การอุดกั้นของการนำไฟฟ้า (Conduction block) เกิดจากการที่เส้นทางการเดินของกระแสไฟฟ้าถูกปิดกั้น สัญญานไฟฟ้าจากห้องบนไม่สามารถส่งต่อไปห้องล่าง ทำให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้น

ภาวะหัวใจเต้นสะดุด

ภาวะหัวใจเต้นสะดุดคืออาการที่หัวใจมีจังหวะเต้นเพิ่มเกินขึ้นมาจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง ทำให้รู้สึกว่าหัวใจ เต้นไม่เป็นจังหวะ โดยปกติแล้วภาวะดังกล่าวไม่น่าเป็นห่วง แต่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในรายที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว โดยอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจอ่อนแอในรายที่ภาวะหัวใจเต้นสะดุดบ่อยและยาวนาน ภาวะหัวใจเต้นสะดุดเกิดขึ้นได้ระหว่างพักผ่อน ออกกําลังกายอย่างหนัก หรือได้รับสารกระตุ้น เช่น นิโคตินหรือคาเฟอีน

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การเต้นของหัวใจที่ผิดปกตินั้นอาจไม่แสดงอาการใด ๆ และมักบังเอิญตรวจพบระหว่างการตรวจอาการอื่น ๆ สัญญาณและอาการบางอย่างของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งอาจพบได้ ได้แก่

  • อาการเจ็บหน้าอก
  • หายใจไม่ทัน
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • หัวใจเต้นรัว
  • วิงเวียน
  • เหงื่อออก
  • เป็นลม หมดสติ
  • อ่อนเพลีย
  • เกิดความกังวล

ควรพบแพทย์เมื่อไร

ควรพบแพทย์หากมีอาการหายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เจ็บหน้าอก และรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่เป็นจังหวะ

ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวทําให้ความดันโลหิตลดลงอย่างมาก อาจทำให้หมดสติเฉียบพลัน ชีพจรและการหายใจจะหยุดลงในที่สุด หากเกิดภาวะดังกล่าว ควรโทรเรียกรถพยาบาลทันที หากมีผู้รู้วิธีกู้ชีพ CPR ควรช่วยกู้ชีพ CPR กดหน้าอกให้แรงและเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที หากมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าหรือเครื่อง AED และเคยฝึก ใช้เป็น ควรรีบใช้เครื่อง AED เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต

สัญญาณไฟฟ้าหัวใจของเราทํางานอย่างไร

หัวใจของเราประกอบด้วย 4 ห้อง - ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง

Sinus node หรือกลุ่มเซลล์ที่อยู่บนผนังหัวใจห้องบนขวา ทำหน้าที่เป็นตัวคุมจังหวะการเต้นของหัวใจตามธรรมชาติ โดยเป็นจุดเริ่มของการสร้างสัญญานไฟฟ้าหัวใจและสัญญานไฟฟ้าจะถูกส่งไปกระตุ้นหัวใจห้องบนทั้ง 2 ด้านก่อน จากนั้นสัญญานจะส่งผ่านไปจุดเชื่อมต่อระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง เรียกว่า AV node ซึ่งทำหน้าที่ชะลอสัญญาณเล็กน้อยเพื่อให้จังหวะการบีบสูบฉีดเลือดห้องบนลงมาห้องล่าง เติมเลือดเต็มห้องล่าง ก่อนสัญญาณกระตุ้นห้องล่างให้บีบตัวจะมาถึง การควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจระหว่างห้องบนห้องล่างอย่างเหมาะสม ทำให้มีประสิทธิภาพสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีที่สุด ในขณะพักอัตราการเต้นหัวใจส่วนใหญ่ประมาณ 50-90 ครั้งต่อนาที  

การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม
  • ความเครียด
  • การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไทรอยด์เป็นพิษ
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • การหยุดหายใจขณะหลับ
  • การติดเชื้อไวรัส โควิด 19
  • หัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจพิการแต่กําเนิด
  • โรคทางต่อมไทรอยด์
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
  • โรคหัวใจ
  • ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  • ยาและอาหารเสริมบางชนิด
  • บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • คาเฟอีน นิโคติน หรือการใช้ยาที่ผิดกฎหมาย

ภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • เหนื่อยง่าย
  • หัวใจล้มเหลว
  • หน้ามืด หมดสติ เป็นลม
  • หัวใจวาย
  • เกิดลิ่มเลือดในหัวใจและหลุดไปตามกระแสเลือดไปอุดตันอวัยวะต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดสมองทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดขาดเลือดที่ขาจะทำให้เท้าและขาขาดเลือด อาจถึงขั้น นิ้วเท้า ปลายเท้าตาย (gangrene)

การป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อหัวใจ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่เกณฑ์
  • เลิกสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
  • หากมีโรคหัวใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียดหรืออารมณ์โกรธ เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย สอบถามโรคประจำตัวของผู้ป่วย แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ชนิดใด บ่อยและรุนแรงแค่ไหน และตรวจหาสาเหตุอาการ เช่น โรคต่อมไทรอยด์หรือโรคหัวใจ

วิธีการตรวจสอบวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG or EKG)
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Holter monitor
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Event recorder
  • เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable loop recorder)
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจ เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย
  • การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติด้วยเตียงปรับระดับ
    ผู้ป่วยจะนอนราบลงบนเตียงปรับระดับขณะที่แพทย์จะตรวจสอบความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เตียงจะยกขึ้นจนผู้ป่วยอยู่ในท่าเกือบยืน แพทย์จะประเมิน ติดตาม เพื่อดูการตอบสนองต่อการเปลี่ยนท่า มักทดสอบในรายที่สงสัยว่าอาการหมดสติเป็นลมเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดเพี้ยน (neurocardiogenic syncope)
  • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac Electrophysiologic Testing)
    แพทย์จะใส่สายสวนพร้อมขั้วไฟฟ้าผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังบริเวณหัวใจ ขั้วไฟฟ้าจะจับสัญญาณกระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านหัวใจ แพทย์จะทำการวัดค่าไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในหัวใจ กระตุ้นหัวใจที่ตำแหน่งต่าง ๆ ด้วยไฟฟ้าด้วยจังหวะต่าง ๆ (ตามมาตรฐานการทดสอบ) เพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจผิดจังหวะ ตรวจหาตำแหน่งของความผิดปกติ ในผู้ป่วยจำนวนมากมักทำเพื่อจะดำเนินการรักษาต่อเนื่องด้วยการจี้ทำลายตำแหน่งที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อให้หายจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจร่างกายเป็นประจําอาจเพียงพอในบางราย แต่ถ้าอาการไปเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่รุนแรงหรือรบกวนชีวิตประจําวัน แพทย์อาจแนะนําให้รับประทานยา เข้ารับการบำบัดรักษา รับการใส่สายสวนหรือผ่าตัดหัวใจ

ยา

ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วบางรายอาจจำเป็นต้องทานยากันเลือดแข็งตัวเพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน

การบำบัดรักษา

  • การทำ Vagal Maneuvers
    เป็นวิธีชะลออัตราการเต้นของหัวใจด้วยการกระตุ้นประสาทเวกัสซึ่งควบคุมการเต้นของหัวใจ โดยหยุดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยการไอ จุ่มหน้าลงในน้ำเย็น และการกลั้นลมหายใจแล้วเบ่งลม แพทย์อาจแนะนำวิธีนี้ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติบางชนิด (supraventricular tachycardia)
  • การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Cardioversion)
    เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงผ่านขั้วไฟฟ้าวางที่หน้าอกไปกระตุกหัวใจให้กลับเป็นจังหวะปกติโดยเร็ว มักใช้กับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล โดยเฉพาะที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ความดันโลหิตต่ำ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ซึ่งเป็นการฟื้นฟูการเต้นของหัวใจด้วยด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านหน้าอก

    การผ่าตัด หรือ การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

    • การรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน
      แพทย์จะใส่สายสวนติดขั้วไฟฟ้าผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังหัวใจ โดยแพทย์จะจี้ทำลายตำแหน่งที่ผิดปกติในหัวใจโดยไฟฟ้าจะเปลี่ยนเป็นความร้อนทำลายเนื้อเยื่อหัวใจบริเวณเล็กที่เป็นปัญหา
    • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังถาวร (Pacemaker)
      แพทย์จะฝังตัวคุมจังหวะหัวใจบริเวณหน้าอกใกล้กระดูกไหปลาร้าและติดสายพร้อมขั้วไฟฟ้าจากตัวคุมจังหวะหัวใจผ่านเส้นเลือดไปยังด้านในของหัวใจ หากเครื่องตรวจพบการเต้นหัวใจที่ช้า เครื่องจะส่งกระแสฟ้าเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจ แพทย์มักแนะนำตัวคุมจังหวะหัวใจให้ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติที่อาการไม่ดีขึ้นที่ไม่มีสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้
    • การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (implantable cardiac defibrillator)
      แพทย์จะทำการฝังเครื่องกระตุกหัวใจบริเวณหน้าอกใกล้กระดูกไหปลาร้า หากเครื่องตรวจพบการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติรุนแรง เครื่องจะส่งพลังงานสูงหรือต่ำไปกระตุ้นหรือกระตุกการเต้นของหัวใจให้จังหวะกลับเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้นจากหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (Ventricular fibrillation)
    • การผ่าตัดเปลี่ยนจังหวะหัวใจ Maze procedure
      ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น Atrial fibrillation ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจด้วยเหตุอื่นอยู่แล้ว แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มการรักษาวิธีดังกล่าวเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไปในคราวเดียวกัน

    การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

    • เลิกสูบบุหรี่
    • ออกกําลังกายเป็นประจํา พยายามออกกําลังกาย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ที่ระดับปานกลางถึงมาก (moderate to high intensity)
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดเกลือและไขมันอิ่มตัว รับประทานผลไม้ ผัก และธัญพืชมากขึ้น
    • รักษาน้ำหนักตัวตามเกณฑ์
    • จัดการควบคุมความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล
    • งดดื่มแอลกอฮอล์
    • ติดตามการรักษากับแพทย์สม่ำเสมอ

    การรักษาทางเลือกโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ความเครียดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหัวใจ ผู้ป่วยสามารถนั่งสมาธิ ฝึกโยคะหรือเทคนิคการผ่อนคลายเพื่อบรรเทาความเครียดและป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จากการวิจัยบางอันพบว่าการฝังเข็มสามารถช่วยลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจําเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม

    การเตรียมตัว

    ควรเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจหากคิดว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยิ่งตรวจพบโรคเร็วขึ้นเท่าใดการรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

    หากมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนานกว่า 2-3 นาที เจ็บหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือจะเป็นลม รีบเรียกรถพยาบาลหรือให้คนในครอบครัวขับรถพาไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

    สิ่งที่คุณสามารถทําได้

    • เมื่อทำการนัดพบแพทย์ ควรถามว่าจำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น งดอาหาร หรือไม่
    • จดบันทึกอาการที่มี ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • จดบันทึกโรคประตัว ยา เหตุการณ์สําคัญในชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
    • พาเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาด้วยเพื่อช่วยจําข้อมูล
    • ขณะมีอาการ หากมีอุปกรณ์ให้ตรวจและบันทึก ความดัน ชีพจร ระดับออกซิเจน และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ปัจจุบันมีอุปกรณ์สวมใส่หลายแบบที่สามารถใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ เช่น Smart watch บางยี่ห้อ

    บทความโดย

    • นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย
      นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

    เผยแพร่เมื่อ: 23 ม.ค. 2023

    แชร์

    แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ศนิศรา จันทรจำนง

    พญ. ศนิศรา จันทรจำนง

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นพ. วิพัชร พันธวิมล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์

    นพ. วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย

    นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    อายุรกรรมโรคหัวใจ, การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. อนุรุธ ฮั่นตระกูล

    นพ. อนุรุธ ฮั่นตระกูล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ