เลือกหัวข้อที่อ่าน
จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD)
โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นโรคทางจักษุวิทยาที่พบได้บ่อย โดยเป็นสาเหตุที่สำคัญของการสูญเสียการมองเห็น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ แบบแห้งและแบบเปียก
โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบแห้ง (dry age-Related Macular Degeneration)
เกิดจากกระบวนการเสื่อมตามอายุ มีลักษณะ ได้แก่ มีการเสื่อมและบางตัวลงของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา (Macular) อันเนื่องมาจากของเสียที่เกิดจากการสลายของเซลล์จอตา (drusen) อาการเริ่มต้นของโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง คือ การมองเห็นภาพเบลอทำให้มองเห็นหน้าคนไม่ชัดเจน เป็นผลให้จำหน้าบุคคลไม่ได้ หรือต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆ หรือผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเริ่มจากตามัวเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลงและเป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะการมองเห็นตรงกลางของภาพ โดยอาจเป็นเฉพาะตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
โรคจุดรับภาพชัดจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก (Wet age-Related Macular Degeneration)
เกิดจากการมีเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติ (neovascularization) ในบริเวณจุดรับภาพชัด (macula) ของจอตา เส้นเลือดดังกล่าวแตกและเปราะง่าย จึงมักมีเลือดออกหรือมีการรั่วของสารน้ำออกมาภายนอกเส้นเลือด ส่งผลให้จุดรับภาพชัดบวมและทำให้สูญเสียเซลล์รับภาพของจอตา โดยหากทิ้งไว้อาจทำให้จุดรับภาพชัดเสื่อมถาวรและกลายเป็นแผลเป็น เนื่องจากโรคนี้สามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว การตรวจพบและรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นจึงมีความสำคัญ
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุ พบโรคนี้ได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยพบอุบัติการณ์มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- พันธุกรรมและประวัติการเป็นโรคของคนในครอบครัว
- การสูบบุหรี่การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงโรค 2-3 เท่าเทียบกับคนที่ไม่สูบ
- ความดันโลหิตสูง และ ไขมันในเลือดสูง
การวินิจฉัยจอประสาทตาเสื่อม
หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ต่างๆได้แก่ การมองเห็นลดลงผิดปกติ เห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด จุดตรงกลางภาพมัว ควรเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์ เพื่อวัดระดับสายตา ใช้ยาหยอดขยายม่านตาเพื่อดูความผิดปกติของจอประสาทตา หากมีรอยโรคที่สงสัยจอประสาทตาเสื่อม จักษุแพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การถ่ายภาพจอประสาทตา (fundus photography) การสแกนเนื้อเยื่อจอประสาทตาด้วยแสงความยาวคลื่นสูง (optical coherence tomography) หรือการฉีดสีเพื่อดูการไหลเวียนและรอยรั่วของเส้นเลือดผิดปกติในจอตา (Fundus Fluorescein Angiography) เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของโรค
วิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
กรณีที่ผู้ป่วยวินิจฉัยเป็นจอประสาทตาชนิดแห้ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะและได้ผลดี แต่แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจติดตามจอประสาทตาเป็นระยะ เนื่องจากมีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นจอประสาทตาเสี่อมชนิดเปียกต่อไปได้ โดย ผู้ป่วยจะได้รับ แผ่นตารางชนิดพิเศษ (Amsler Grid) ตารางแอมสเลอร์ ซึ่งตารางนี้มีทั้งเส้นแนวตั้งแนวนอน โดยมีจุดอยู่ตรงกลาง ถ้าผู้ป่วยมองเห็น เส้นตารางคด หรือเบี้ยว หรือเห็นจุดดำในเส้นตาราง อาจต้องกลับมาพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโรคหรือไม่
หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก การรักษามาตรฐาน ในปัจจุบัน คือ การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อลดการรั่วของเส้นเลือดงอกใหม่ (Injection of anti-VEGF) หรือเลเซอร์จอประสาทตา (laser photocoagulation) ในบางรายที่มีเลือดออกในตาเป็นจำนวนมากจากการแตกของเส้นเลือด อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดวุ้นตา (vitrectomy) ทั้งนี้ รูปแบบและความถี่ของการรักษาขึ้นกับความรุนแรงและตำแหน่งของรอยโรคของผู้ป่วยแต่ละคน หากผู้ป่วยได้รับการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาจนจอประสาทตาแห้งดีแล้ว ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีโอกาสที่โรคจะกลับเป็นซ้ำได้สูง
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
- คำถาม: จอประสาทตาเสื่อม คืออะไร?
คำตอบ: จอประสาทตาเสื่อมเกิดจากการเสื่อมตามอายุ เสื่อมแบบแห้ง คือ จอประสาทตาเสื่อมและบางตัวลงของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา เนื่องจากของเสียที่เกิดจากการสลายของเซลล์จอตา เสื่อมแบบเปียก คือ จอประสาทตามีเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติในบริเวณจุดรับภาพชัดของจอตา เมื่อเส้นเลือดเปราะแตก ส่งผลให้จุดรับภาพชัดบวมและทำให้สูญเสียเซลล์รับภาพของจอตา - คำถาม: จอประสาทตาเสื่อม เป็นตอนอายุเท่าไหร่?
คำตอบ: มักพบโรคจอประสาทตาเสื่อมได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น - คำถาม: จอประสาทตาเสื่อม มีอาการอย่างไร?
คำตอบ: จอประสาทตาเสื่อม มี 2 แบบ อาการจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง จะมีอาการการมองเห็นภาพเบลอทำให้มองเห็นหน้าคนไม่ชัดเจน ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้น อาการจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก มักมีเลือดออกหรือมีการรั่วของสารน้ำออกมาภายนอกเส้นเลือด ทำให้จุดรับภาพชัดเสื่อมถาวรและกลายเป็นแผลเป็น ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว