เครื่องมือบำบัดอาการนอนกรนในช่องปาก Anti-snoring appliances

อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน ขั้นตอนการรักษา ข้อดี

เครื่องมือบำบัดอาการนอนกรนในช่องปาก (Anti-snoring appliances) คือ อุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษเฉพาะบุคคลเพื่อรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ผ่านการออกแบบโดยทันตแพทย์

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน (Anti-snoring appliances)

อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน (Anti-snoring appliances) คือ อุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษเฉพาะบุคคลเพื่อรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ผ่านการออกแบบโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษา โดยอุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความปลอดภัยโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในวงการทันตกรรม และเป็นหนึ่งในวิธีรักษาอาการนอนกรนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คืออะไร?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea: OSA) คือ ความความผิดปกติในการหายใจขณะหลับที่เกิดจากการอุดกั้นของลิ้นที่หย่อนลงไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น หรือเกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอที่มีลักษณะตีบแคบ ทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายขณะนอนหลับได้เต็มที่ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญ ส่งผลให้ร่างกายมีระดับออกซิเจนต่ำ มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง และเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นสาเหตุของการง่วงนอนระหว่างวันและโรคทางระบบอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

sleep apnea

อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นอย่างไร?

อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่ชัดเจนที่สุด คือ การนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่นทั้งที่มีเวลานอนเพียงพอ รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม มักมีอาการง่วงหงาวหาวนอนในตอนกลางวัน ในขณะที่เรียนหรือทำงาน และเสี่ยงต่อภาวะหลับในขณะขับรถ โดยทั่วไป ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักทราบจากคู่นอน เนื่องจากสังเกตได้ถึงเสียงนอนกรนการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ หายใจทางปากหรือมีการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ที่ส่งต่อคุณภาพการนอนและคุณภาพชีวิต โดยสัญญาณและอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มีดังนี้

  • นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ
  • หายใจลำบาก
  • สะดุ้งตื่นจากการสำลัก หายใจไม่ออก/หายใจเฮือกขณะนอนหลับ
  • กระสับกระส่ายขณะนอนหลับ พลิกตัวบ่อย
  • เหงื่อออกมากขณะนอนหลับ
  • ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ทั้ง ๆ ที่นอนเพียงพอ
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ปากแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
  • ปวดหัวบ่อย ๆ โดยเฉพาะในตอนเช้า
  • ง่วงนอนในตอนกลางวัน
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อ จำสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก หลงลืมง่าย
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • น้ำหนักขึ้น
  • อาจมีภาวะซึมเศร้า และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia)

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

  • ผู้ที่มีโครงสร้างทางกายวิภาคของกล้ามเนื้อช่องคอแคบตีบ หรือโครงสร้างของใบหน้าผิดปกติ
  • ผู้ที่มีรอบคอกว้าง คอใหญ่ คอหนา คางเล็ก
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนบน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีค่า BMI เกิน 35 kg/m2
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • เพศชาย (ในอัตราส่วนที่มากกว่า เพศหญิง และเด็ก)

ขั้นตอนการรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ด้วยอุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน รพ.เมดพาร์ค มีขั้นตอนอย่างไร?

  1. ผู้รับการรักษาพบแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านการนอนหลับ รพ.เมดพาร์ค เพื่อทำการซักประวัติผู้รับการรักษา และบุคคลใกล้ชิด
  2. ผู้เข้ารับการรักษาทำ Sleep test ร่วมกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อวินิจฉัยอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น
  3. แพทย์นัดวันอ่านผลการตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ พร้อมทั้งวางแผนการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล
  4. ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการนัดพิมพ์ปากหรือสแกนฟัน และบันทึกการสบฟัน ณ ศูนย์ทันตกรรม รพ.เมดพาร์ค
  5. ทันตแพทย์นัดรับอุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน พร้อมทำการสวมใส่ และปรับอุปกรณ์ให้พอดีกับผู้รับการรักษา
  6. ทันตแพทย์นัดติดตามผลการรักษา พร้อมทั้งประเมินผลการรักษา และปรับอุปกรณ์ตามความเหมาะสม
  7. เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา ผู้รับการรักษาควรสวมใส่อุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ


อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน(Anti-snoring appliances) ทำงานอย่างไร?

อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน (Anti-snoring appliances) ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ 2 ชิ้น ที่ถูกออกแบบสำหรับใส่ครอบลงบนฟันบนและฟันล่าง โดยกลไกการทำงานของเครื่องมือบำบัดอาการนอนกรน คือการปรับเลื่อนขากรรไกรล่างให้เคลื่อนไปทางด้านหน้าเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ทำให้หายใจได้โล่งสะดวกขึ้น ช่วยลดอาการนอนกรน รวมทั้งลดความเสี่ยงและอันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้

อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่มีอาการนอนกรน (Snoring) กรนเสียงดัง กรนเรื้อรัง กรนต่อเนื่อง
  • ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับน้อยถึงปานกลาง (ทันตแพทย์จะพิจารณาผู้ที่มีระดับอาการรุนแรงเป็นกรณีไป)
  • ผู้ที่มีความผิดปกติทางกายวิภาคของโครงสร้างทางใบหน้า
  • ผู้ที่ไม่ต้องการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
  • ผู้ที่ไม่ต้องการรักษาด้วยวิธีการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)

anti-snoring-appliances

ข้อดีของการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ด้วยอุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน

  • ออกแบบมาเป็นพิเศษเฉพาะบุคคล
  • ช่วยลดปัญหาการนอนกรน
  • ช่วยบรรเทาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
  • ช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ
  • มีขนาดเล็ก ไม่ใช้ไฟฟ้า พกพาสะดวก
  • ดูแลรักษาง่าย
  • สวมใส่สบาย
  • ไม่รู้สึกอับอายขณะสวมใส่
  • ไม่ส่งเสียงรบกวนบุคคลรอบข้าง
  • ป้องกันฟันสึก (กรณีเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟัน)

การใช้อุปกรณ์บำบัดอาการนอนกรน มีผลข้างเคียงหรือไม่?

ในช่วงแรกของการสวมใส่ ผู้สวมใส่อาจมีอาการปวดเมื่อยข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อระบบบดเคี้ยว แต่อาการปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อทันตแพทย์ทำการนัดเพื่อประเมินติดตามอาการและปรับเครื่องมือเป็นระยะ ๆ และเมื่อผู้สวมใส่เริ่มคุ้นชินกับเครื่องมือ

อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น อันตรายใกล้ตัว ที่รักษาได้

อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย และทุกช่วงอายุ เป็นภาวะอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดรอบด้าน เป็นสาเหตุของความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะความดันโลหิตสูง และอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้ที่มีอาการและภาวะดังกล่าว จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างเป็นระบบโดยแพทย์และทันตแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการและมีประสบการณ์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมา เพราะคุณภาพในการนอนที่ดีช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ และช่วยให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ


คุณมีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือเปล่า?
ลองทำแบบทดสอบเลย!

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 มิ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ดร.ทพญ. ณัฐกานต์   ฮ้อศิริลักษณ์

    ดร.ทพญ. ณัฐกานต์ ฮ้อศิริลักษณ์

    • ทันตกรรม
    • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร
    ทันตกรรมความผิดปกติข้อต่อขากรรไกร
  • Link to doctor
    ผศ.ทพญ. ภาณุเพ็ญ สิทธิสมวงศ์

    ผศ.ทพญ. ภาณุเพ็ญ สิทธิสมวงศ์

    • ทันตกรรม
    • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร