ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรคอารมณ์สองขั้ว สาเหตุ อาการ การรักษา

ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคอารมณ์สองขั้ว สาเหตุ อาการ การรักษา

ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว คือความผิดปกติทางจิตเวชที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ โดยการแสดงออกซึ่งอารมณ์ขั้วตรงข้ามสองแบบสลับไปมา อย่างไม่สามารถควบคุมได้

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน

ไบโพลาร์

ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) เป็นโรคที่แสดงออกซึ่งความผิดปกติทางอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงสองด้าน ทั้งทางด้านขั้วอารมณ์ดีหรือด้านอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง และด้านขั้วอารมณ์ซึมเศร้า โดยอารมณ์จะขึ้นสุด-ลงสุด และคงอยู่เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง หลายวัน หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ส่งผลกระทบทั้งต่ออารมณ์ จิตใจ ร่างกาย ระดับพลังงาน รูปแบบความคิด และพฤติกรรม ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมอย่างรอบด้าน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าประชากรโลกประมาณ 5% ป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ โดยเริ่มมีอาการ ที่อายุเฉลี่ย 25 ปี และมักเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โรคไบโพลาร์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาการทำร้ายตัวเอง และการฆ่าตัวตาย การบำบัดรักษาอาการไบโพลาร์อย่างเป็นระบบโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ร่วมกับการให้ยา และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจะช่วยให้สามารถเอาชนะโรคไบโพลาร์ได้

ไบโพลาร์ คืออะไร?

ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว คือ ความผิดปกติทางจิตเวชที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ โดยการแสดงออกซึ่งอารมณ์ขั้วตรงข้ามสองแบบ สลับกันไปมาอย่างไม่สามารถควบคุมได้ระหว่างขั้วอารมณ์ดีสุดโต่งหรือก้าวร้าวผิดปกติ (Mania, or Hypomania) ที่แบ่งเป็นระดับสูงและระดับต่ำ และขั้วอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (Depressed) โรคไบโพลาร์ส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย และเนื่องจากผู้ป่วยจะคงค้างอยู่ในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งขั้วอารมณ์บวกหรือลบอย่างต่อเนื่อง ยาวนานร่วมสัปดาห์โดยไม่สามารถดึงอารมณ์ให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้ จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในประจำวัน หน้าที่การงาน ครอบครัว และความสัมพันธ์กับเชิงสังคมกับบุคคลรอบข้าง การบำบัดรักษาโรคไบโพลาร์ร่วมกันแบบบูรณาการร่วมกับกำลังใจจากบุคคลรอบข้าง จะช่วยให้อาการของโรคไบโพลาร์ดีขึ้น และกลับมามีสภาพอารมณ์เป็นปกติได้อีกครั้ง

ไบโพลาร์มีกี่ประเภท?

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจำแนกไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้วออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. Bipolar I disorder
    มีลักษณะอารมณ์ดี (Mania) หรือก้าวร้าวรุนแรงแบบสุดโต่ง สลับกับอาการซึมเศร้ารุนแรง (Depressed) และอาจจำเป็นต้องแยกโรคจากโรคจิตเภทบางชนิดที่ยากจะรู้ว่าเชื่อมโยงกับโรคไบโพลาร์หรือไม่
  2. Bipolar II disorder
    มีลักษณะของกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depressed) ร่วมกับกลุ่มอาการก้าวร้าวหรืออารมณ์ดีแบบไม่รุนแรง (Hypomania) ซึ่งไม่มีอาการของกลุ่มอารมณ์ที่สุดโต่ง (Mania) แต่อย่างใด โดยช่วงเวลาที่มีอาการซึมเศร้า และช่วงอารมณ์ทางบวก จะคงอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน แล้วอารมณ์จึงกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
  3. Cyclothymic disorder:
    โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วไซโคลไทมิก หรือ Cyclothymia มีลักษณะอาการของกลุ่มอาการอารมณ์ทางบวกแบบไม่สุดโต่งสลับกับซึมเศร้าแบบอ่อน ๆ โดยอาการของอารมณ์ที่ไม่คงที่ดังกล่าวเป็นแบบเรื้อรังต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยเมื่อมีอาการแล้ว อาการจะคงอยู่ไม่นานเป็นช่วงเวลาสั้น
  4. โรคไบโพลาร์แบบที่ระบุได้และแบบที่ระบุไม่ได้อื่น ๆ (Other specified and unspecified bipolar)
    ผู้ป่วยมีลักษณะอาการแสดงของโรคไบโพลาร์แต่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัย Bipolar I, II disorder หรือ Cyclothymic disorder โดยแสดงออกซึ่งอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ สลับไปมาที่อาจเข้าข่ายเป็นโรคไบโพลาร์ประเภทอื่นๆ ที่สามารถระบุสาเหตุได้ เช่น การถูกกระตุ้นด้วยสารเสพติด โรคทางสมอง หรือโรคทางอายุรกรรม หรือแบบที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้

อาการของโรคไบโพร์ลา

สาเหตุของไบโพลาร์ เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดไบโพลาร์ สามารถแบ่งออกได้จากหลากหลายสาเหตุ และปัจจัย ซึ่งในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่อาจระบุสาเหตุที่แน่ชัดถึงสาเหตุการเกิดไบโพลาร์ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด สาเหตุหนึ่ง หรือจากหลากหลายสาเหตุรวมกัน

  • ความผิดปกติในการหลั่งสารสื่อประสาทของสมองส่วนหน้า (Neurotransmitters) เช่น สารเซโรโทนิน (Serotonin) สารโดพามีน (Dopamine) สารเมลาโทนิน (Melatonin) หรือ สารนอร์อดรีนาลิน (Noradrenaline) ที่ไม่สมดุล ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของเซลล์สมองในส่วนที่ควบคุมระดับอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความเครียด ความสุข ความเคลิบเคลิ้ม หรือสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • พันธุกรรม โดยเป็นผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคไบโพลาร์ หรือเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ มาก่อน เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคสมาธิสั้นที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน
  • การได้รับการทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การเผชิญกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเลิกรากับคนรัก ความผิดหวังเสียใจอย่างรุนแรง ความบอบช้ำทางจิตใจ การถูกกระทำในวัยเด็ก การถูกทำร้าย และความเจ็บป่วยแบบเรื้อรังทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • โรคบางชนิด เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อาจทำให้มีอาการของไบโพลาร์ได้
  • ความเครียดสะสม
  • การอดนอน

อาการของไบโพลาร์ เป็นอย่างไร?

อาการของโรคไบโพลาร์ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มอาการเด่น คือ กลุ่มขั้วบวก ได้แก่ อารมณ์ดีหรืออารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง (Mania, or Hypomania) ทั้งระดับสูงและระดับต่ำ และกลุ่มขั้วลบได้แก่ อาการซึมเศร้า (Depressed) โดยผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะแสดงออกซึ่งอารมณ์แปรปรวน ขึ้น-ลง สลับกันของทั้งสองขั้วอาการโดยไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ไม่เจาะจงเวลาหรือสถานการณ์ และไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว อาการไบโพลาร์อาจอยู่ไม่นานแล้วจางหายไป หรืออาจกินระยะเวลายาวนานร่วมสัปดาห์ เดือน หรือปี

  1. กลุ่มอาการขั้วบวกอารมณ์ดี หรืออารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง (Mania, or Hypomania) โดยทั้ง 2 กลุ่มอาการนี้มีอาการแสดงที่คล้ายคลึงกัน โดยภาวะแมเนีย (mania) จะมีความโดดเด่นมากกว่าในด้านความชัดเจนและความรุนแรงของอารมณ์ โดยสามารถสังเกตเห็นพฤติกรรมได้อย่างชัดเจนทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีอาการแสดงดังนี้
    • แสดงออกอย่างเต็มที่ มีพลังงานสูงล้น อารมณ์ดีร่าเริงผิดปกติ คึกคัก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น
    • พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่หยุด พูดคุยเสียงดัง เปลี่ยนเรื่องพูดเร็ว มีความคิดพรั่งพรูออกมาเป็นคำพูดมากมาย
    • มีความมั่นใจสูง สำคัญตนเองมาก รู้สึกเหนือกว่าคนอื่น ไม่คำนึงถึงคนรอบข้าง
    • ชอบทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และทำงานในปริมาณที่มากเกินพอดี ขยันผิดปกติ
    • ตอบสนองต่อสิ่งเร้ารวดเร็ว ไม่มีเหตุผล ขาดความยั้งคิด
    • ประมาทเลินเล่อ หุนหันพลันแล่น การตัดสินผิดพลาด ชอบทำพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย
    • ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ขาดความยั้งคิด
    • นอนน้อยกว่าปกติมาก ไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ตื่นตัวตลอดเวลา
    • เห็นภาพหลอน หรือภาพลวงตา
    • มีอารมณ์ทางเพศสูง มีความต้องการทางเพศสูง มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
    • อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง กระวีกระวาด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย โมโหง่าย
  2. กลุ่มอาการขั้วลบหรือซึมเศร้า (Depressed)
    • อยู่ในอารมณ์ซึมเศร้า หม่นหมอง อมทุกข์ ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง ว่างเปล่า
    • ร้องไห้อย่างควบคุมไม่ได้
    • สมาธิสั้น ไม่สามารถทำงานให้เสร็จได้ ขาดแรงจูงใจ
    • อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา เหม่อลอย หมดความสนใจในทุกสิ่ง
    • วิตกกังวลอย่างรุนแรง หวาดระแวง มีปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
    • น้ำหนักลดลงอย่างมากทั้งที่ไม่ได้อดอาหาร
    • กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
    • เครียด กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ
    • เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า มีพฤติกรรมเชื่องช้า สูญเสียพลังงาน ไม่อยากทำอะไร
    • รู้สึกไร้ค่า ความนับถือตนเองต่ำ รู้สึกผิดกับการกระทำบางอย่างอย่างมาก
    • สมาธิสั้น คิดช้า ตัดสินใจไม่ได้
    • อาจมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
    • อาจมีประวัติติดสารเสพติด
    • มีความคิด การวางแผน หรือพยายามฆ่าตัวตาย

        ในผู้ป่วยไบโพลาร์บางราย อาจพบอาการของทั้ง 2 กลุ่มอาการเด่นร่วมกัน ดังนี้

        • มีความคิดเชิงลบร่วมกับอาการซึมเศร้าสลับกับอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย และพลังงานสูง


        การวินิจฉัยโรคไบโพลาร์ มีวิธีการอย่างไร
        ?

        การวินิจฉัยโรคไบโพลาร์สามารถกระทำได้โดยการใช้เกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ โดยสิ่งสำคัญคือการหมั่นสังเกตและรวบรวมอาการ รวมถึงความกล้าหาญที่จะยอมรับอาการและขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ และรับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องเป็นระบบ ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคไบโพลาร์มีขั้นตอนดังนี้

        1. แพทย์ทำการซักประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา ประวัติการใช้สารเสพติด พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลจากบุคคลในครอบครัว ผู้ใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้ทราบถึงอารมณ์และพฤติกรรมว่าเข้าข่ายเป็นผู้ที่มีอาการของโรคไบโพลลาร์หรือไม่
        2. แพทย์ทำการตรวจประเมินร่างกายเบี้องต้น รวมถึงตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อทำการวินิจฉัย อาการเจ็บป่วยทางกายที่อาจส่งผลต่ออารมณ์
        3. จิตแพทย์ทำการประเมินทางจิตเวชเพื่อตรวจประเมินสภาพจิต รวมถึงการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา
        4. จิตแพทย์อาจทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อระบุปัญหาด้านร่างกายที่อาจทำให้เกิดอาการของโรคไบโพลาร์
        5. จิตแพทย์อาจขอให้บันทึกการขึ้น-ลงของอารมณ์ในแต่ละวัน บันทึกรูปแบบการนอน และพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค และช่วยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

        หมอรักษาโรคไบโพร์ลา

        การรักษาโรคไบโพลาร์ มีวิธีการอย่างไร?

        การรักษาโรคไบโพลาร์เป็นการรักษาโรคร่วมกันระหว่างจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ตลอดจนสหสาขาวิชาชีพและครอบครัว โดยโรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเป็นหลัก ผู้ที่เป็นไบโพลาร์จึงจำเป็นต้องพบแพทย์ทุกครั้งและทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การรักษาโรคไบโพลาร์มีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

        • การรักษาด้วยยา (Medications)
          ไบโพลาร์เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการหลั่งของสารสื่อประสาท การรักษาจึงมุ่งเน้นการให้ยาเป็นหลักเพื่อช่วยปรับสมดุลการหลั่งของสารสื่อประสาทในสมองให้เป็นปกติ โดยแพทย์อาจพิจารณายาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ กลุ่มยาต้านอาการทางจิต หรือกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า ทั้งนี้ผู้รับการรักษาควรทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล และไม่ควรหยุดยากระทันหันเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมามีอาการของโรคซ้ำ หรือมีอาการของโรครุนแรงกว่าเดิม
        • การทำจิตบำบัด (Psychotherapy)
          เป็นการทำจิตบำบัดด้วยการพูดคุยกับผู้ที่มีอาการของโรคไบโพลาร์โดยตรงกับจิตแพทย์ และ/หรือนักจิตวิทยาเพื่อวิเคราะห์สภาพจิตใจ สาเหตุของปัญหา และหาทางออกให้กับปัญหาอันเป็นที่มาของความทุกข์ในใจ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในการเผชิญกับปัญหา เพื่อให้สามารถเอาชนะปัญหา และอุปสรรคในชีวิตได้
        • การทำจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย (Interpersonal and social rhythm therapy: IPSRT)
          เป็นการทำจิตบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยแพทย์จัดโปรแกรมกิจกรรมบำบัดระหว่างวัน เช่น การบำบัดด้วยการพูดคุย ร่วมรับฟังปัญหาและรับคำปรึกษา และการให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคไบโพลาร์อย่างเข้มแข็ง
        • การบำบัดด้วยโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation)
          เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ อาการแสดง และการรักษาโดยแพทย์ จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์พร้อมทั้งสามารถจัดการกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
        • การทำจิตบำบัดรายบุคคลที่ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม (Family-focused therapy: FFT)
          เป็นการทำจิตบำบัดที่เน้นให้สมาชิกในครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการบำบัดในฐานะผู้ใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อลดความตึงเครียดภายในครอบครัว และนำไปสู่การเรียนรู้ การรับมือกับโรคไบโพลาร์ และการปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกัน โดยสมาชิกในครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
        • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT)
          เป็นการทำจิตบำบัดโดยจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาที่มุ้งเน้นไปที่การปรับความคิดอัติโนมัติ และพฤติกรรมเชิงลบอันนำไปสู่โรคไบโพลาร์ พร้อมทั้งปรับนิสัยในการคิดเชิงบวกเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต และเพื่อช่วยให้ควบคุมและต่อสู้กับอาการของโรคไบโพลาร์ได้
        • การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ETC)
          เป็นการรักษาทางจิตเวชโดยการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นสมองเพื่อรักษาโรคไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือต้องการการรักษาแบบเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตราย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรืออาจทำอันตรายต่อผู้อื่น
        • การรักษาโรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid medications)
          ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคไบโพลาร์ หากแพทย์วินิจฉัยพบ แพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยาเพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน โดยจากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในเชิงบวกในการช่วยลดอาการไบโพลาร์ได้เป็นอย่างดี
        • การรักษาด้วยคีตามีน (Ketamine treatment)
          เป็นการรักษาโรคไบโพลาร์โดยการให้ยาคีตามีนปริมาณต่ำผ่านทางหลอดเลือดดำ (Intravenous: IV) ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าให้ฤทธิ์ในการต่อต้านอาการไบโพลาร์ชนิดซึมเศร้ารุนแรงและเฉียบพลัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยที่คิดสั้นฆ่าตัวตาย
        • การบำบัดผู้ติดสารเสพติด (Rehabilitation)
          หากผู้เข้ารับการรักษาโรคไบโพลาร์เป็นผู้ติดสารเสพติด เช่นแอลกอฮอล์ หรือเป็นผู้มีประวัติการใช้สารเสพติดมาก่อน แพทย์อาจพิจารณาโปรแกรมการบำบัดสารเสพติดหรือเลิกแอลกอฮอล์ มิเช่นนั้น การรักษาโรคไบโพลาร์จะกระทำได้ยากมาก
        • การรักษาโรคไบโพลาร์ที่โรงพยาบาล (Hospitalization)
          ในกรณีที่ผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเอง มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย หรืออาจคิดสั้นฆ่าตัวตาย แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคไบโพลาร์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์และบุคคลาการการแพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด และช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการสงบ ปลอดภัย และช่วยทำให้อารมณ์คงที่


        ภาวะแทรกซ้อนของโรคไบโพลาร์ เป็นอย่างไร
        ?

        ไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากความไม่สมดุลของการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย โดยภาวะแทรกซ้อนของโรคไบโพลาร์อาจนำมาซึ่งโรคและอาการดังต่อไปนี้


        การป้องกันโรคไบโพลาร์ มีวิธีการอย่างไร
        ?

        ในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่พบวิธีการที่ป้องกันโรคไบโพลาร์ได้แน่นอน 100% การหมั่นสังเกตอารมณ์และรวบรวมพฤติกรรมของตนเอง ตลอดดจนการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลรอบข้างเป็นระยะ จะเป็นประโยชน์ในการประเมินตัวเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ตัวเรามีความเข้าใจในตนเองมากยิ่งขึ้น โดยหากสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายเป็นไบโพลาร์ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาอาการแต่เนิ่น ๆ โดยการป้องกันโรคไบโพลาร์มีวิธีการดังนี้

        • การหมั่นสังเกตสัญญาณและอาการเตือนของโรคไบโพลาร์
          การให้ความสนใจกับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองเป็นระยะ เช่น หากตกอยู่ในอารมณ์ซึมเศร้าสลับอารมณ์ดีสุดโต่งบ่อย ๆ หรือมีพฤติกรรมโมโหร้ายสลับกับการหัวเราะมากผิดปกติ หรือชอบทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายโดยขาดความยั้งคิด ควรรีบปรึกษาแพทย์
        • หลีกเลี่ยงสารเสพเสพติดและแอลกอฮอล์
          สารเสพติดและการดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคไบโพลาร์แล้ว ยังทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีก
        • การทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
          การไม่ทานยาตามแพทย์สั่ง การหยุดยา หรือการลดขนาดยาเอง ล้วนทำให้การรักษาล้มเหลว นอกจากจะไม่สามารถรักษาโรคไบโพลาร์ให้หายได้แล้ว ยังทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำได้
        • การออกกำลังกายเป็นประจำ
          วิธีการการป้องกันโรคไบโพลาร์ดีที่สุดที่แพทย์แนะนำ คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุข เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน และช่วยให้นอนหลับสนิท


        ไบโพลาร์ รักษาหายไหม
        ?

        ไบโพลาร์อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในปัจจุบันมียารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและให้ผลในการรักษาที่ดีมาก โดยยาจะออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลการหลั่งของสารสื่อสารประสาทในสมองให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้อีกครั้ง โดยการรักษาจะใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี โดยแพทย์อาจทำการรักษาควบคู่กับการทำจิตบำบัด การไม่ได้รับการรักษาอาการไบโพลาร์แต่เนิ่น ๆ อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

        ไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว รักษาได้

        โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้วเป็นภาวะทางสุขภาพจิตและอารมณ์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง โดยอารมณ์แปรปรวนของโรคไบโพลาร์อาจลงต่ำหรือซึมเศร้า สูงหรืออารมณ์ดีสุดโต่งสลับกันไป เป็นระยะเวลายาวนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือเป็นปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างในทุกมิติ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีอาการไบโพลาร์ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคและเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์ผู้ชำนาญการ และนักจิตวิทยา เพื่อให้การรักษาร่วมกันแบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ที่มีอาการไบโพลาร์เข้าใจโรค เข้าใจภาวะตนเอง และเข้าใจกระบวนการรักษา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยให้หายจากโรค สามารถบริหารจัดการกับอารมณ์ และกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขได้

        คำที่พบบ่อย (FAQ)

        1. คำถาม: ไบโพลาร์ คืออะไร?
          คำตอบ:
          ไบโพลาร์ เป็นความผิดปกติทางจิตที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ มีอารมณ์ขั้วตรงข้ามสองแบบสลับกันไปมาอย่างไม่สามารถควบคุมได้

        2. คำถาม: โรคไบโพลาร์ เกิดจากอะไร?
          คำตอบ:
          สาเหตุของการเกิดไบโพลาร์ ยังไม่อาจระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ เป็นไปได้ที่เกิดความผิดปกติในการหลั่งสารสื่อประสาทของสมองส่วนหน้าที่ไม่สมดุล ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของเซลล์สมองในส่วนที่ควบคุมระดับอารมณ์

        3. คำถาม: อาการของไบโพลาร์ เป็นอย่างไร?
          คำตอบ:
          อาการของโรคไบโพลาร์ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มขั้วบวก ได้แก่ อารมณ์ดีหรืออารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงทั้งระดับสูงและระดับต่ำ และกลุ่มขั้วลบ ได้แก่ อาการซึมเศร้า (Depressed) โดยผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะแสดงออกซึ่งอารมณ์แปรปรวน ขึ้นลง สลับกันของทั้งสองขั้วอาการโดยไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

        4. คำถาม: จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไบโพลาร์?
          คำตอบ:
          การที่จะรู้ว่าตนเองหรือคนรอบข้างเป็นไบโพลาร์หรือไม่ ต้องหมั่นสังเกตและจดบันทึกอาการ เช่น บันทึกการขึ้น-ลงของอารมณ์ในแต่ละวัน บันทึกรูปแบบการนอน และพฤติกรรมอื่น ๆ สิ่งสำคัญคือความกล้าหาญที่จะยอมรับอาการและขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษา

        5. คำถาม: โรคไบโพลาร์ รักษาได้ไหม?
          คำตอบ:
          โรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ โดยรักษาร่วมกันระหว่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ตลอดจนสหสาขาวิชาชีพและครอบครัว ผู้ที่เป็นไบโพลาร์จึงจำเป็นต้องพบแพทย์ทุกครั้งและทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

        คุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?
        ลองทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าเบี้องต้นกันเลย

        บทความโดย

        เผยแพร่เมื่อ: 29 มี.ค. 2023

        แชร์

        แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

      • Link to doctor
        นพ.   ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

        นพ. ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

        • จิตเวชศาสตร์
        จิตเวชศาสตร์
      • Link to doctor
        ศ.นพ. รณชัย   คงสกนธ์

        ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์

        • จิตเวชศาสตร์
        • จิตเวชศาสตร์สิ่งเสพติด
        จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์สิ่งเสพติด
      • Link to doctor
        รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

        รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

        • จิตเวชศาสตร์
        • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
        จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
      • Link to doctor
        พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

        พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

        • จิตเวชศาสตร์
        • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
        จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ