อาการ สาเหตุ การรักษา ไซนัสอักเสบเรื้อรัง - Chronic Sinusitis: Symptoms, Causes, Treatment

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis) อาการ สาเหตุ การรักษา

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือภาวะที่เนื้อเยื่อโพรงจมูกเกิดอาการอักเสบ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ขึ้นไป

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อโพรงจมูกเกิดอาการอักเสบ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ขึ้นไป บริเวณโพรงจมูก หรือไซนัส เป็นตำแหน่งข้างๆโพรงจมูกทำหน้าที่ในการขับน้ำมูก เมื่อเกิดอักเสบ จึงก่อให้เกิดอาการปวด บวมในบริเวณจมูก หน้าผาก ไปจนถึงรอบดวงตา และเกิดการกีดขวางการขับออกของน้ำมูก ทำให้หายใจลำบาก และคัดจมูก ทั้งนี้ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีอาการอย่างไร

การติดเชื้อส่งผลให้เกิดน้ำมูกเหนียวข้น ซึ่งอาจออกจากจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงบริเวณลำคอ และเกิดอาการคัดแน่นจมูกซึ่งพบเป็นปกติในคนไข้ที่มีภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง คนไข้มักมีอาการเจ็บ ปวด และบวมในบริเวณจมูก หน้าผาก แก้มและตา ซึ่งอาจเจ็บลามมาจนถึงบริเวณหู กรามและฟันได้ อาการระคายคอ รวมถึงมักพบอาการไอ กระแอม และคันคอร่วมด้วย คนไข้ที่มีภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีกลิ่นลมหายใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมของของเหลวเหนียวข้นในบริเวณโพรงจมูกที่ไม่สามารถระบายออกได้ นอกจากนี้ยังพบว่าคนไข้มักมีอาการอ่อนเพลียอีกด้วย

โดยทั่วไปมักเกิดความสับสนระหว่างความแตกต่างของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinustisis) และภาวะไซนัสอักเสบฉับพลัน (Acute Sinustisis) ภาวะไซนัสอักเสบฉับพลันนั้นมีความสัมพันธ์กับอาการหวัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกไซนัสชั่วคราว โดยอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะไซนัสอักเสบฉับพลัน ในขณะที่ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้นจะต้องมีอาการอักเสบที่โพรงจมูกไซนัส และแสดงอาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ดี ภาวะไซนัสอักเสบฉับพลัน สามารถพัฒนาเป็นภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

แนะนำให้พบแพทย์หากมีภาวะไซนัสอักเสบเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง และไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาการของภาวะไซนัสอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 วันมีแนวโน้วว่าจะกลายเป็นภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ นอกจากนี้ควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการปวมแดงบริเวณรอบดวงตาและหน้าผาก ร่วมกับมีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง หรืออาการที่คนไข้ไม่สามารถก้มศีรษะได้ แต่อาจยังแหงน หรือเอียงคอไปทางซ้ายและขวาได้บ้าง หากเกิดอาการมึนงงหรือคุณภาพการมองเห็นที่ลดลง เป็นสัญญาณเตือนว่า ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังรุนแรงได้เกิดขึ้นแล้ว และควรต้องพบแพทย์โดยทันที

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร

มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง รวมไปถึงการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ หรือริดสีดวงจมูก (nasal polyps)  ที่กีดขวางบริเวณโพรงจมูกหรือไซนัส ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบในคนไข้บางราย กระดูกหรือกระดูกอ่อนที่กั้นกลางระหว่างช่องจมูกสองข้างมีลักษณะคด หรืองอ ทำให้ช่องจมูกข้างหนึ่งเล็กกว่าอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดการกีดขวางบริเวณโพรงจมูกและมีอาการไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้

นอกจากภาวะข้างต้นแล้ว ภาวะและโรคอื่น ๆ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เอชไอวี (HIV), โรคหลอดลมพอง (Cystic fibrosis), โรคหืด, โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ ยกตัวอย่างเช่น โรคหวัด ซึ่งเป็นตัวนำทำให้เยื่อบุโพรงจมูกก่อตัวหนาขึ้น จนเกิดอาการอักเสบ และติดเชื้อจนกีดขวางและรบกวนการระบายน้ำมูกที่อยู่ภายในโพรงจมูก การติดเชื้อดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา

การใช้ยาบางชนิด ก็ส่งผลให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างภาวะไซนัสอักเสบ กับความไวต่อแอสไพริน (Aspirin Sensitivity) อีกทั้งยังพบว่าปัญหามลภาวะ รวมไปถึงควันบุหรี่ก็เป็นตัวปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง

โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร

ในขั้นแรกของการวินิจฉัย แพทย์จะทำการประเมินอาการของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังเบื้องต้น โดยการสัมผสดูอาการกดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณจมูกและใบหน้า ก่อนที่จะตรวจดูภายในโพรงจมูก โดยอาจใช้วิธีอื่นร่วมในการวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

  • การตรวจสอบรูปถ่ายทางการแพทย์ (Imaging Test)
รายละเอียดของโพรงจมูกไซนัส และบริเวณภายในจมูกถูกบันทึกด้วยวิธี CT scan หรือ MRI เพื่อตรวจหาสิ่งกีดขวางทางกายภาพ หรืออาการอักเสบที่รุนแรงที่ไม่สามารถพบได้โดยเครื่องส่องตรวจ (Endoscope)
  • การตรวจโพรงจมูกไซนัส

แพทย์ทำการตรวจภายในโพรงจมูกไซนัส โดยวิธีการสอดท่อยืดหยุ่นขนาดเล็กที่มีเส้นใยแก้วนำแสง (fiber-optic light) ติดอยู่ ผ่านเข้าไปในโพรงจมูก

  • การทดสอบภูมิแพ้ (Allergy Test)

เนื่องจากอาการแพ้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง การทดสอบภูมิแพ้จึงมีความจำเป็นเพื่อทดสอบหาอาการแพ้ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะไซนัสอักเสบ โดยแพทย์มักจะแนะนำวิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เพราะมีความปลอดภัยสูง และได้ผลที่รวดเร็ว

  • การตรวจเพาะเชื้อจากตัวอย่างสารคัดหลังในโพรงจมูก

ในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจนำตัวอย่างสารคัดหลั่งในโพรงจมูกไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังต่อไป

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีวิธีการรักษาอย่างไร

การรักษาภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง  รวมไปถึงการใช้ยา การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) และการผ่าตัด

การใช้ยารักษาไซนัสอักเสบเรื้อรัง

  1. ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Nasal corticosteroids)

วัตถุประสงค์ของยาเพื่อป้องกันและรักษาอาการอักเสบในโพรงจมูก ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกที่นิยมใช้ ยกตัวอย่างเช่น fluticasone, triamcinolone, beclomethasone, budesonide และ  mometasone

  1. การล้างจมูก (Nasal Irrigation)

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทางการแพทย์ เป็นวิธีที่ใช้เพื่อระบายและทำความสะอาดโพรงจมูก จากอาการแพ้และระคายเคือง แพทย์อาจแนะนำให้ผสมน้ำเกลือกับยาบางชนิด เช่น ยา Budesonide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอาการแพ้และระคายเคือง

  1. ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือฉีด (Oral or injested corticosteroids)
ยาจำพวกนี้ใช้เพื่อรักษาภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีสาเหตุมาจากติ่งเนื้อในโพรงจมูก หรือริดสีดวงจมูก (nasal polyps) อย่างไรก็ดีการใช้ยายาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือฉีดต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นได้
  1. การขจัดภูมิไวต่อแอสไพริน (Aspirin Desensitization)

ในคนไข้ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง ที่เป็นผลมาจากความไวต่อแอสไพริน (Aspirin Sensitivity) การขจัดภูมิไวต่อแอสไพริน (Aspirin Desensitization)โดยการให้ยาแอสไพรินในจำนวนมาก เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัจจัยกระตุ้นที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้

  1. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

หากภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อใช้ในการรักษา โดยอาจจ่ายร่วมกับยาชนิดอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และแก้ไขต้นเหตุของการเกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง อย่างตรงต้นเหตุ

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นวิธีการรักษา ที่มุ่นเน้นเพื่อลดปฏิกริยาของร่างกาย ต่อตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่นำไปสู่ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery)

การผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับรักษาภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง โดยมักใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น การผ่าตัดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังในคนไข้แต่ละราย โดยอาจผ่าตัดเพื่อขยายโพรงจมูกไซนัสที่แคบให้สามารถถ่ายเทอากาศได้ดีขึ้น หรืออาจผ่าตัดเพื่อตัดเนื้อเยื่อหรือติ่งเนื้อที่กีดขวางช่องจมูก โดยทั่วไปการผ่าตัดไซนัสมักใช้วิธีการผ่าตัดด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery)

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาการ การรักษา Chronic Sinusitis

เผยแพร่เมื่อ: 14 ก.ย. 2020

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.ดร.นพ. ขจร เสรีศิริขจร

    ผศ.ดร.นพ. ขจร เสรีศิริขจร

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    โสต ศอ นาสิกวิทยา, Rhinology and Allergy
  • Link to doctor
    นพ. วิรัช   จิตสุทธิภากร

    นพ. วิรัช จิตสุทธิภากร

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    โสต ศอ นาสิกวิทยา, Rhinology
  • Link to doctor
    รศ.ดร.นพ.หม่อมหลวง กรเกียรติ์ สนิทวงศ์

    รศ.ดร.นพ.หม่อมหลวง กรเกียรติ์ สนิทวงศ์

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    โสต ศอ นาสิกวิทยา, Rhinology, Skull Base Surgery, Nose and Sinus Problems
  • Link to doctor
    รศ.นพ. เจษฎา   กาญจนอัมพร

    รศ.นพ. เจษฎา กาญจนอัมพร

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    โสต ศอ นาสิกวิทยา, Skull Base Surgery, Rhinology
  • Link to doctor
    นพ. กิตติชัย มงคลกุล

    นพ. กิตติชัย มงคลกุล

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    โสต ศอ นาสิกวิทยา, Rhinology
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร

    รศ.นพ. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    โสต ศอ นาสิกวิทยา, Rhinology and Allergy