ครอบฟัน (Crown) วัสดุครอบฟัน ขั้นตอนการทำ และอายุการใช้งาน

ครอบฟัน (Dental Crown)

ครอบฟัน (Dental Crown) คือการสร้างวัสดุเสมือนฟันเพื่อครอบลงบนฟัน หรือคลุมรอบซี่ฟันที่ได้รับความเสียหายหรือฟันที่มีรูปทรงที่ไม่สวยงามให้กลับมามีคุณสมบัติของฟันแท้ตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ครอบฟัน

หากฟันได้รับความเสียหายจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือส่งผลเสียต่อบุคคลิกภาพ การทำครอบฟัน สามารถช่วยบูรณะซ่อมแซม แและเสริมความแข็งแกร่งให้กับฟันที่เสียหายได้ การครอบฟัน ถือเป็นการรักษาทางทันตกรรมที่ได้รับการยอมรับ และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทันตแพทย์นิยมใช้การครอบฟันเพื่อรักษาผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือผู้ที่ต้องการมีรอยยิ้มใหม่ที่สวยงาม เพื่อช่วยปรับปรุงบุคลิกภาพ และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

Dental Crown Banner 8

ครอบฟัน คืออะไร?

ครอบฟัน (Dental Crown) คือการสร้างวัสดุเสมือนฟันเพื่อครอบลงบนฟัน หรือคลุมรอบซี่ฟันที่ได้รับความเสียหาย เช่น ฟันแตก ฟันบิ่น ฟันสึก ฟันหัก ฟันสั้น ฟันไม่ขาว ฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน ฟันที่มีรูปร่างไม่สมส่วน หรือฟันที่มีรูปทรงที่ไม่สวยงาม ให้กลับมามีคุณสมบัติของฟันแท้ตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน มีความแข็งแรง ทนทาน มีรูปทรง หรือรูปร่าง และสีที่สวยงามตามแบบฟันในอุดมคติ

Dental Crown Banner 7

เมื่อไหร่ ที่ควรทำครอบฟัน?

ทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำครอบฟัน เมื่อเห็นว่าฟันซี่นั้นมีความเสี่ยงแตกร้าว ฟันไม่แข็งแรง ฟันมีรอยแตกขนาดใหญ่ ฟันที่มีรอยผุขนาดใหญ่ หรือฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว นอกจากนี้ ทันตแพทย์ยังแนะนำการครอบฟันให้กับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนรูปร่างของฟัน เปลี่ยนตำแหน่งฟัน เปลี่ยนการสบฟันในกรณีที่การจัดฟันไม่สามารถทำได้ หรือต้องการทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการจัดฟัน ลักษณะของปัญหาฟันที่ควรทำครอบฟัน ได้แก่

  1. ฟันแตกหัก ฟันบิ่น ฟันร้าว
  2. ฟันผุ ฟันมีรูขนาดใหญ่
  3. ฟันซี่ที่ผ่านการรักษารากฟัน
  4. ฟันที่มีปัญหาเรื่องการสบฟันที่ผิดปกติ
  5. ฟันที่มีรูปร่างผิดรูป

ครอบฟัน (Crown) วัสดุครอบฟัน ขั้นตอนการทำ และอายุการใช้งาน

ครอบฟันมีกี่ชนิด ใช้วัสดุอะไรในการทำ

ครอบฟัน มีหลายประเภท แตกต่างกันไปตามวัสดุ ขั้นตอน ความเหมาะสมในการรักษา และความต้องการของคนไข้ โดยทันตแพทย์จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่คนไข้ เพื่อที่จะสามารถทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงจุด

1. ครอบฟันแบบเซรามิกล้วน (All Porcelain Crowns)

ครอบฟันแบบเซรามิกล้วน เป็นการใช้วัสดุเซรามิกล้วนในการผลิตชิ้นงาน ถือเป็นครอบฟันแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในวงการทันตกรรมสมัยใหม่ เหมาะสำหรับการทำครอบฟันหน้า หรือทดแทนฟันหน้า เนื่องจากให้ความเป็นธรรมชาติสูง ให้รูปลักษณ์ที่สวยงาม ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีเสมือนฟันจริง แต่ในปัจจุบันวัสดุเซรามิกถูกออกแบบมาให้มีความแข็งแรงทนทานสูง จึงสามารถนำมาใช้กับการครอบฟันกรามได้เช่นกัน ตัวอย่างของครอบฟันแบบเซรามิกล้วน เช่น

    • ครอบฟันเซอร์โคเนีย (Zirconia Crowns)
      ครอบฟันเซอร์โคเนีย เป็นครอบฟันที่ใช้วัสดุที่มีการออกแบบที่ทันสมัย เป็นการใช้วัสดุเซรามิกคุณภาพสูงที่ให้คุณสมบัติใกล้กับฟันแท้ตามธรรมชาติที่มีความโปร่งแสง สามารถใช้งานได้หลากหลาย มีความแข็งแรงสูง รับแรงบดเคี้ยวได้ดี ไม่บิ่นหรือแตกง่าย ครอบฟันเซอร์โคเนียถือเป็นครอบฟันที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน
    • ครอบฟันเซรามิกล้วนแบบแก้วเซรามิก (Glass Ceramic)
      ครอบฟันเซรามิกแบบแก้วเซรามิก มีหลายชนิด เช่น Emax, Empress, LiSi, Suprinity เป็นครอบฟันที่ให้ความสวยงาม มีคุณสมบัติโปร่งแสงเสมือนฟันธรรมชาติ มีความแข็งแรงระดับปานกลาง เหมาะสำหรับการทำครอบฟันทั้งฟันหน้า และฟันหลัง เป็นวัสดุครอบฟันที่นิยมใช้ในงาน CAD CAM, One-day Crown restoration หรือการทำครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ
      อย่างไรก็ตามครอบฟันเซรามิกล้วนแบบแก้วเซรามิก อาจมีข้อจำกัดในผู้ที่มีเนื้อที่ฟันน้อย เช่น ฟันสั้น หรือฟันสึกมาก และไม่เหมาะกับผู้ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟัน เพราะอาจทำให้วัสดุแตกได้ง่าย
    • ครอบฟันไฮบริดเซรามิก (Hybrid Ceramic)
      ครอบฟันไฮบริดเซรามิก เช่น Enamic, Cerasment เป็นวัสดุครอบฟันสมัยใหม่ที่เป็นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุ Ceramic และวัสดุ Composite ที่มีคุณสมบัติให้ความยืดหยุ่นสูง ให้ความสวยงาม มีความแข็งแรงระดับปานกลาง เหมาะสำหรับการทำครอบฟันทั้งฟันหน้า และฟันหลัง สามารถใช้ได้กับงาน CAD CAM, One-day crown restoration หรือการทำครอบฟันวันเดียวเสร็จ และเหมาะกับผู้ที่มีเนื้อฟันน้อย จึงสามารถนำมาใช้ในงานครอบฟันแบบ Minimally invasive restoration

2. ครอบฟันแบบเรซิน (Resin Crown)

 ครอบฟันเรซิน คือ ครอบฟันพลาสติกที่ใช้ทำครอบฟันชั่วคราว เพื่อให้คนไข้ได้ทดลองใส่ เพื่อประเมินอาการ และระหว่างที่รอครอบฟันถาวรจากแลบทันตกรรมมาแทนที่

3. ครอบฟันเซรามิกผสมโลหะ (PFM Crown, or Porcelain Fused to Metal)

ครอบฟันเซรามิกผสมโลหะ เป็นครอบฟันที่มีโครงสร้างฐานด้านล่างเป็นโลหะ ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากแลดูไม่เป็นธรรมชาติ และทำให้ขอบเหงือกดำคล้ำ ในปัจุบันครอบฟัน Zirconia สามารถทดแทนข้อด้อยของครอบฟัน PFM ทั้งในแง่ของความแข็งแรง และความสวยงามที่เหนือกว่าได้ในแทบทุกกรณี

4. ครอบฟันโลหะล้วน (Full Metal Crown)

ครอบฟันโลหะล้วน เช่น ครอบฟันทอง (Golden Crown) หรือ ครอบฟัน Palladium เป็นครอบฟันโลหะทั้งชิ้น ไม่มีการส่วนผสมของเซรามิกชั้นบน มีความทนทานสูง สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้ดี และไม่แตกหักได้ง่าย ครอบฟันโลหะ เป็นครอบฟันประเภททางเลือกที่ให้คุณสมบัติครบทั้งด้านการใช้งาน และความสวยงาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบ และความต้องการเฉพาะบุคคล

5. ครอบฟันเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel Crowns: SSC)

ครอบฟันเหล็กไร้สนิม เป็นครอบฟันสำเร็จรูปสำหรับเด็ก ที่ผลิตจากวัสดุสแตนแลส ทันตแพทย์นิยมทำครอบฟันชนิดนี้ให้เด็กที่ยังมีฟันน้ำนม ซึ่งครอบฟันชนิดนี้สามารถหลุดออกได้เอง เมื่อฟันแท้งอกขึ้นตามธรรมชาติ

ครอบฟัน (Crown) ข้อดีของการครอบฟัน

ข้อดีของการทำครอบฟัน

ครอบฟัน เป็นทันตกรรมเพื่อการบูรณะและซ่อมแซมฟันที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล การทำครอบฟันสามารถแก้ปัญหาฟันต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น

  • ใช้ครอบฟันลงบนฟันที่แตก บิ่น มีรอยร้าว
  • ใช้ครอบฟันลงบนฟันที่เคยผุเป็นรูใหญ่
  • ใช้ครอบฟันลงบนฟันที่อ่อนแอ ฟันที่เปราะบาง แตกหักง่าย ในผู้ที่ขาดแคลเซียม
  • ใช้เป็นส่วนบนของรากฟันเทียม หรือในส่วนที่มองเห็นทั้งหมด
  • ใช้ครอบฟันในการยึดสะพานฟันให้เข้าที่
  • ใช้ครอบฟันลงบนฟันซี่ที่เคยผ่านการรักษารากฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณฟันหลัง หรือฟันกราม
  • ใช้ครอบฟัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาผู้ที่มีภาวะฟันไม่สบกัน หรือการสบฟันผิดปกติ
  • ใช้ครอบฟันเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความงาม เช่น ผู้ที่ต้องการฟอกสีฟันให้ฟันขาวสว่างขึ้น ผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปร่าง ขนาด และสีของฟันใหม่ตามต้องการ เพื่อช่วยส่งเสริมบุคคลิกภาพ และความมั่นใจให้รอยยิ้ม

Dental Crown Banner 5

ขั้นตอนในการทำครอบฟัน

ขั้นตอนในการทำครอบฟันด้วยระบบดิจิทัล สามารถทำสำเร็จได้ภายใน 3 นัดหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพฟันของคนไข้ วัตถุประสงค์ และประเภทในการทำครอบฟันของแต่ละบุคคล

นัดที่ 1 วางแผนการรักษา โดยทันตแพทย์ผู้ชำนาญการ

  • ปรึกษากับทันตแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของคนไข้ ในการทำครอบฟัน
  • ทันตแพทย์ ทำการตรวจเอกเรย์ สภาพเหงือกและฟันของคนไข้ เพื่อให้แน่ใจว่า คนไข้ไม่มีปัญหาสุขภาพฟัน หากพบว่าคนไข้มีฟันผุ หรือมีรากฟันอักเสบ คนไข้จะต้องทำการรักษาให้หายก่อน จึงจะสามารถทำครอบฟันได้
  • ทันตแพทย์วางแผนการรักษา แจ้งทางเลือกในการรักษา อธิบายกระบวนการการรักษาตามขั้นตอน โดยคนไข้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสามารถเลือกรูปร่าง ขนาด และสีของครอบฟันร่วมกับทันตแพทย์ได้
  • เมื่อคนไข้ตกลงจำทำครอบฟันตามแผน ทันตแพทย์ทำการกรอฟัน เพื่อรองรับครอบฟันที่สร้างขึ้นใหม่
  • ทันตแพทย์ทำการพิมพ์ปาก หรือ scan ฟันโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล CAD/CAM ร่วมในการสร้างครอบฟันชั่วคราวให้คนไข้ได้ทดลองใส่ระหว่างรอครอบฟันจริง
  • ทันตแพทย์ส่งข้อมูลทันตกรรมของคนไข้ให้กับเจ้าหน้าที่แล็บทันตกรรม เพื่อผลิตชิ้นงาน

นัดที่ 2 การใส่ครอบฟันจริง (5-7 วันหลังจากนัดแรก)

  • ทันตแพทย์ประเมินผลการใส่ครอบฟัน ว่ามีความพอดี ครอบฟันมีสี ขนาด รูปร่างตรงตามความต้องการของคนไข้หรือไม่ หากครอบฟันไม่พอดี โดยทันตแพทย์อาจมีการปรับแต่งฟันเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
  • ทันตแพทย์ทำการเช็คการสบฟัน เช็คความเรียบร้อยบริเวณรอยต่อของครอบฟัน เคลือบผิวฟัน และอื่น ๆ
  • เมื่อผลลัพธ์ของครอบฟันตรงกับความต้องการของคนไข้แล้ว ทันตแพทย์จะทำการยึดครอบฟันซี่นั้นให้เข้ากับฟันที่กรอไว้ การรักษาเป็นอันเสร็จสมบูรณ์

นัดที่ 3 ติดตามอาการ และประเมินผลการรักษา

  • ทันตแพทย์ทำการนัดหมายคนไข้เพื่อติดตามอาการที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น การสบฟันที่ยังไม่ดีพอ อาการเสียวฟัน การยึดครอบฟัน และอื่น ๆ รวมทั้งประเมินผลความพึงพอใจหลังการรักษา

Dental Crown Banner 6

ครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ (One-day Crown)

ครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ เป็นนวัตกรรมทันตกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล CAD/CAM เข้าช่วยในการออกแบบ และผลิตชิ้นงาน ร่วมกับเจ้าหน้าแล็บทันตกรรม โดยใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงโดยประมาณจึงแล้วเสร็จ เป็นงานครอบฟัน 1-2 ซี่ ต่อการรักษาหนึ่งครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา ผู้ที่ไม่อยากมาพบทันตแพทย์หลาย ๆ ครั้ง หรือนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จมีขั้นตอนดังนี้

  • ทันตแพทย์ รับทราบปัญหาและความต้องการของคนไข้ ในการทำครอบฟัน
  • ทันตแพทย์ทำการเอกเรย์ฟัน และวางแผนการรักษา
  • คนไข้สามารถเลือกรูปร่าง ขนาด และสีของฟัน ร่วมกับทันตแพทย์ได้ตามต้องการ
  • ทันตแพทย์ทำการกรอฟันเพื่อรองรับชิ้นงาน
  • ทันตแพทย์ทำการ scan ฟันด้วยกล้อง scan ในช่องปาก
  • ทันตแพทย์ทำการสร้างครอบฟันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล CAD/CAM โดยมีช่างแลปทันตกรรมช่วยตกแต่งรายละเอียดเพิ่มเติม
  • ทันตแพทย์ทำการสวมครอบฟัน และยึดครอบฟัน รวมทั้งประเมินผลความพึงพอใจหลังการรักษา

Dental Crown Banner 4

ควรเลือกทำ ครอบฟัน ที่ไหน

  • แล็บทันตกรรมดิจิทัล มาตรฐาน ระดับสากล
    แล็บทันตกรรมดิจิทัล (Digital Dental Lab) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง พร้อมด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยด้วยระบบสแกนดิจิทัล CAD/CAM เพื่อช่วยในการออกแบบ และผลิตชิ้นงานครอบฟัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการของคนไข้ให้ได้มากที่สุด โดยคนไข้สามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบรูปร่าง ขนาด และสีของฟันที่ต้องการร่วมกับทันตแพทย์ ได้ตามความพึงพอใจ
    การเลือกทำทันตกรรมครอบฟันกับโรงพยาบาลที่มีการติดตั้งแล็บทันตกรรมดิจิทัล มีความได้เปรียบในเรื่องของความรวดเร็ว แม่นยำในการผลิตชิ้นงาน มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และมีแพทย์เฉพาะทางคอยดูแล ในกรณีที่คนไข้มีอาการข้างเคียงจากการทำหัตถการ
  • ทันตแพทย์ ที่มีประสบการณ์ในการรักษา
    การเลือกทำครอบฟันกับทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค รวมถึงมีความสามารถในการออกแบบ สร้างสรรค์ชิ้นงานครอบฟัน จะช่วยทำให้คนไข้ได้รับความพึงพอใจในการรักษาสูงสุด ทันตแพทย์เฉพาะทาง ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนการทำครอบฟัน
  • การเลือกวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FDA ในการผลิตชิ้นงานครอบฟัน
    เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ควรเลือกโรงพยาบาล หรือสถานประกอบการที่มีการคัดเลือกวัสดุในการทำครอบฟันที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานปลอดภัย FDA (Food and drug administration) หรือ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย และลดโอกาสการเกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อบริเวณแผล ที่อาจตามมาภายหลังได้ เช่นหงือกอักเสบ รากฟันอักเสบ ปวดฟัน หรือเสียวฟัน เป็นต้น

การดูแลรักษาในระหว่าง และหลังการทำครอบฟัน

ผู้ที่ทำครอบฟัน ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ และปฎิบัติตนตามคำแนะนำ ดังนี้

การดูแลรักษาในระหว่างการรอครอบฟันจริง

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีเนื้อแข็ง ในด้านที่ใส่ครอบฟันชั่วคราว
  • งดการขบเคี้ยวหมากฝรั่ง
  • ในบางกรณี ทันตแพทย์อาจให้เลี่ยงการใช้ไหมขัดฟันชั่วคราว

การดูแลรักษาหลังการทำครอบฟัน

  • ค่อย ๆ แปรงฟันให้สะอาด อย่างน้อยวันละ 2 รอบ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ฟันกัดของแข็ง อาหารที่แข็ง น้ำแข็ง เพื่อไม่ให้ครอบฟันชำรุด
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง เคี้ยวของแข็ง หรืออาหารที่เหนียว
  • แนะนำให้เคี้ยวอาหารด้วยฟันด้านที่ไม่ได้ทำครอบฟัน
  • ควรใช้ความระมัดระวังในการใช้ไหมขัดฟัน ไม่ให้ไปโดนขอบของครอบฟันบริเวณที่ติดกับเหงือก
  • หากมีอาการปวดบวม ให้รับประทานยาตามทันตแพทย์สั่ง
  • หากมีอาการปวดมาก หรือเกิดการติดเชื้อ ให้รีบพบทันตแพทย์
  • ควรไปพบทันตแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ได้ติดตาม ประเมินผลงาน และอาการ รวมถึงอาการที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังการทำครอบฟัน เช่น ปวดฟัน เสียวฟัน เลือดออกตามไรฟัน

ครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ (One-day Crown)

ครอบฟัน มีอายุนานแค่ไหน

ครอบฟันมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 ปี การทำครอบฟันเป็นทันตกรรมเพื่อการบูรณะฟันที่เสียหายที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของความแข็งแรง ทนทานและความสวยงาม หรือแม้กระทั่งช่วยให้การออกเสียงในผู้ที่สูญเสียฟันชัดขึ้น การทำครอบฟันบริเวณฟันกราม หรือฟันหลัง ช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวบริเวณฟันหลังอย่างทั่วถึง

ในผู้ที่มีการดูแล รักษา สุขภาพช่องปากและฟันที่ดี ครอบฟันสามารถอยู่ได้นานหลายสิบปี

ครอบฟัน เจ็บไหม

ในการทำครอบฟัน ทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาชาเฉพาะที่ (Local Anastasia) ก่อนทำการรักษา เพื่อช่วยให้ลดอาการเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังการกรอฟัน

การครอบฟันเป็นวิธีที่ดี ในการช่วยห่อหุ้มฟัน ช่วยรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน และช่วยคืนความแข็งแรงให้กับฟันที่อ่อนแอ รวมทั้งช่วยฟื้นฟู ซ่อมแซม และเสริมสร้างรอยยิ้มใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม

การครอบฟัน ช่วยรักษาสุขภาพได้อย่างไร

ครอบฟัน ช่วยปกป้องฟันที่อ่อนแอ ป้องกันฟันผุ บูรณะฟันที่แตกหัก ซ่อมแซมฟันที่แตก ฟันสึก ฟันบิ่น ป้องกันฟันหักจากการใช้แรงบดเคี้ยว ช่วยอุดรูฟันผุขนาดใหญ่ ช่วยครอบฟันในผู้ที่ผ่านการรักษารากฟัน ช่วยยึดสะพานฟัน ช่วยครอบฟันที่ผิดรูป ปกปิดสีฟันที่หม่นหมอง ใช้เป็นส่วนบนของรากฟันเทียม ช่วยทำให้การพูดหรือการออกเสียงชัดขึ้น ช่วยถนอมฟันธรรมชาติ และช่วยสร้างความมั่นใจให้รอยยิ้มได้เป็นอย่างดี

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  1. คำถาม: ครอบฟัน คืออะไร?
    คำตอบ:
    คือการใช้วัสดุทำขึ้นมาให้เหมือนฟันเพื่อใช้ครอบลงบนฟัน หรือคลุมรอบซี่ฟันที่ได้รับความเสียหาย ฟันที่ไม่ขาว ฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน หรือฟันที่มีรูปทรงที่ไม่สวยงาม ให้กลับมามีคุณสมบัติของฟันแท้ตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานแข็งแรง ทนทาน
  2. คำถาม: ครอบฟันใช้วัสดุอะไรในการทำ?
    คำตอบ:
    ครอบฟันจะมีวัสดุที่แตกต่างกันออกไปจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสม รวมถึงความต้องการของผู้ที่ใส่ โดยจะมีแบบเซรามิกล้วน แบบเรซิน แบบเซรามิกผสมโลหะ แบบโลหะล้วน และแบบเหล็กไร้สนิม
  3. คำถาม: ครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ คืออะไร?
    คำตอบ:
    One-day Crown หรือครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ คือ นวัตกรรมทันตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล CAD/CAM ช่วยในการออกแบบและผลิตครอบฟันในแล็บทันตกรรม (Digital Dental Lab) ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 - 3 ชั่วโมง One-day Crown เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา หรือนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย
  4. คำถาม: ครอบฟันที่ไหนดี?
    คำตอบ: ในการทำครอบฟัน ให้ได้คุณภาพ แข็งแรง และใช้งานได้นานนั้น ควรเลือกทำทันตกรรมครอบฟันกับโรงพยาบาลที่มีการติดตั้งแล็บทันตกรรมดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะรวดเร็วแล้วยังได้รับ ยังได้มาตรฐาน และแม่นยำให้การผลิตครอบฟัน อย่างที่สองคือ เลือกทำครอบฟันกับทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค รวมถึงมีความสามารถในการออกแบบ สร้างสรรค์ชิ้นงานครอบฟัน อย่างสุดท้าย การเลือกวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐานองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) เพื่อความปลอดภัย และลดโอกาสการเกิดปัญหาแทรกซ้อน

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 22 ก.พ. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ทพ. ธิตินนท์ จงตั้งปิติ

    ทพ. ธิตินนท์ จงตั้งปิติ

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมประดิษฐ์
  • Link to doctor
    ทพ. สนธิ ศิริมัย

    ทพ. สนธิ ศิริมัย

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมประดิษฐ์
    การปรับรอยยิ้มและรูปหน้าด้วยเดนทัลวีเนียร์, การรักษาทันตกรรมเพื่อความสวยงามที่ซับซ้อนด้วยรากเทียมและวีเนียร์, การใส่ฟันทันทีบนรากเทียมแบบ All-on-4, ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม
  • Link to doctor
    ทพญ. นลินา ณรงค์ชัยกุล

    ทพญ. นลินา ณรงค์ชัยกุล

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมประดิษฐ์
    ทันตกรรมดิจิตัล, การทำครอบฟัน
  • Link to doctor
    ทพญ. สุนิสา รัตนวรพันธุ์

    ทพญ. สุนิสา รัตนวรพันธุ์

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมประดิษฐ์
    ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมประดิษฐ์
  • Link to doctor
    ทพ. พลาวัสถ์ เลาหรุ่งพิสิฐ

    ทพ. พลาวัสถ์ เลาหรุ่งพิสิฐ

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมประดิษฐ์