สาเหตุ และการรักษาภาวะเท้าแบน Flat Feet (Flatfoot) - Types, Causes and Treatment

ภาวะเท้าแบน (Flat Feet)

เท้าแบน (Flat Feet) หรือ ภาวะเท้าแบน (Flatfoot) เป็นภาวะที่เท้าไม่มีส่วนโค้งที่บริเวณอุ้งเท้า เมื่อยืน อุ้งเท้าจะแบน สัมผัสกับพื้น โดยเด็กแรกเกิดนั้นจะมีเท้าที่แบน จนอายุ 6 ปี จึงเริ่มมีอุ้งเท้า

แชร์

ภาวะเท้าแบน

เท้าแบน (Flat feet) หรือที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า ภาวะเท้าแบน (Flatfoot) เป็นภาวะที่เท้าไม่มีส่วนโค้งที่บริเวณอุ้งเท้า เมื่อยืน อุ้งเท้าจะแบน สัมผัสกับพื้น โดยเด็กแรกเกิดนั้นจะมีเท้าที่แบน จนอายุ 6 ปี จึงเริ่มมีอุ้งเท้า โดยทุก ๆ 10 คนจะมี 2 คนที่เท้าแบนจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ผู้ใหญ่บางรายอาจเริ่มมีอาการเอ็นที่เท้าเสื่อมจนอุ้งเท้าเริ่มแบน

อาการเอ็นที่เท้าเสื่อมจนอุ้งเท้าเริ่มแบน (fallen arches) โดยปกติแล้วภาวะเท้าแบนมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่ภาวะเท้าแบนอาจกลายเป็นปัญหาได้หากเป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็กหรือเพิ่งมาเริ่มเป็นในวัยผู้ใหญ่

Flat Feet (flatfoot)

ชนิดของภาวะเท้าแบน

  • เท้าแบนแบบยืดหยุ่น เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ขณะที่ไม่ได้ยืนจะมองเห็นส่วนโค้งของเท้าได้ แต่เมื่อยืนหรือลงน้ำหนักลงที่เท้า ส่วนโค้งจะหายไป ภาวะนี้อาจสืบเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่น อาการมักแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากเส้นเอ็นกล้ามเนื้อและเอ็นยึดเริ่มยืดออก ฉีกขาด หรือบวม 
  • เท้าแบนแบบติดแข็ง อาการมักเริ่มในช่วงวัยรุ่น เมื่อนั่งหรือยืนจะมองไม่เห็นส่วนโค้งของเท้า การงอเท้าหรือขยับเท้าไปด้านข้างทำได้ยากและปวด
  • เท้าแบนในผู้ใหญ่ เนื่องจากเอ็นในขาที่พยุงส่วนโค้งของเท้าฉีกขาด ส่วนโค้งของเท้าจึงยุบตัวลงฉับพลัน เกิดอาการปวดมาก 
  • กระดูกข้อเท้าตั้งตรงแต่กำเนิด (Vertical talus) หรือขาเก้าอี้โยก (Rocker-bottom foot) เป็นความผิดปกติโดยกำเนิด เนื่องจากกระดูก talus ในข้อเท้าอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง

อาการเท้าแบน เป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ในขณะที่บางรายอาจมีอาการที่พบบ่อย คือ ปวดเท้าด้านในจากเส้นเอ็นอักเสบ ขาเป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อขา ปวดอุ้งเท้า ปวดส้นเท้า หรือปวดบริเวณเท้าด้านนอกจากกระดูกเท้าแบนและล้มไปเสียดสีกัน ปวดเวลาเดินหรือเปลี่ยนท่าเดิน

Flat Feet (flatfoot) Banner 4

อะไรคือสาเหตุที่ของภาวะเท้าแบน?

ภาวะเท้าแบนอาจเป็นกรรมพันธุ์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงให้เท้าแบนได้ เช่น ดาวน์ซินโดรม สมองพิการ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ตั้งครรภ์ หรือกระดูกเท้าหัก

การตรวจวินิจฉัยภาวะเท้าแบน มีกี่วิธี อะไรบ้าง?

  • การตรวจร่างกาย

    แพทย์จะตรวจเท้าและสังเกตรอยที่รองเท้าเพื่อดูกลไกการทำงานของเท้าและท่าทางการเดิน หากผู้ป่วยมีอาการปวด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยแพทย์อาจให้พบกับนักบาทานามัยหรือศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อเพิ่มเติม
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย

    • การเอกซเรย์ เป็นการถ่ายภาพกระดูกและข้อต่อที่เท้า ประเมินแนวของเท้า และช่วยตรวจพบภาวะข้ออักเสบได้ 
    • การทำซีทีสแกน (CT scan) จะแสดงภาพที่ละเอียดกว่าการเอกซ์เรย์ มักทำในกรณีเท้าแบนแบบติดแข็ง เพื่อดูตำแหน่งของกระดูกที่เชื่อมกัน หรือในกรณีที่มีเท้าแบนร่วมกับข้อเสื่อม
    • อัลตราซาวด์ แสดงภาพเนื้อเยื่ออ่อนที่เท้าเพื่อดูว่าเส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บหรือไม่
    • การทำ MRI ช่วยให้เห็นภาพของกระดูก เนื้อเยื่ออ่อน และเส้นเอ็นข้อเท้าฉีก

Flat Feet (flatfoot) ภาวะเท้าแบน ใช้แผ่นรองอุ้งเท้า สามารถออกแบบให้เหมาะกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล

รักษาอาการเท้าแบนได้อย่างไร?

โดยปกติแล้วการรักษาภาวะเท้าแบนนั้นไม่จำเป็นหากภาวะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ หรือไม่ทำให้รู้สึกปวด ในผู้ป่วยที่มีอาการปวด แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการบำบัด

  • การบำบัด ช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ไม่สามารถทำให้เท้ากลับมาตรงได้
    • แผ่นรองอุ้งเท้า สามารถออกแบบให้เหมาะกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล แต่ไม่สามารถช่วยรักษาภาวะเท้าแบนได้
    • การยืดเหยียด จะช่วยยืดเอ็นร้อยหวายที่สั้นลงได้
    • การทำกายภาพบำบัดช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่เท้าและปรับปรุงท่าทางการเดินให้ดีขึ้น
  • การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเมื่อการรักษาด้วยการบำบัดนั้นไม่สามารถบรรเทาอาการหรือความเจ็บปวดได้ หรือผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรังขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีทั้งการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (MIS) และการผ่าตัดแบบปกติ

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน

เพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูง เช่น การวิ่งหรือกระโดด ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง ควรว่ายน้ำ เดิน หรือขี่จักรยานแทน
  • สวมใส่แผ่นรองอุ้งเท้า
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน หรือนาพรอกเซน โซเดียม
  • ลดน้ำหนักตัว เพื่อลดแรงกดบนฝ่าเท้า

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

สวมใส่รองเท้าที่ใช้เป็นประจำไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินลักษณะการใส่รองเท้าและพิจารณาว่ารองเท้านั้นเหมาะกับผู้ป่วยหรือไม่

เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจจะถาม ยกตัวอย่าง เช่น

  • เริ่มมีอาการเมื่อไร ?
  • รู้สึกปวดตื้อ ปวดจี๊ด หรือปวดแสบปวดร้อนหรือไม่ อาการปวดส่งผลต่อชีวิตประจำวันหรือไม่?
  • อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง?
  • ปกติแล้วใส่รองเท้าแบบใด?
  • มีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นด้วยหรือไม่?
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่เท้าหรือข้อเท้าหรือไม่?
  • มีใครในครอบครัวมีภาวะเท้าแบนบ้างหรือไม่?

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  • คำถาม: ภาวะเท้าแบนทำให้เกิดอาการปวดหรือไม่?
    คำตอบ: ความชุกของโรคในผู้ใหญ่นั้นอยู่ที่ราว 30% แต่ภาวะเท้าแบนนั้นมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการปวดใด ๆ และไม่ต้องเข้ารับการรักษา
  • คำถาม: แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยภาวะเท้าแบนได้อย่างไร?
    คำตอบ: แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะเท้าแบนได้จากการตรวจร่างกาย โดยฝ่าเท้าจะมีส่วนโค้งน้อยหรือสัมผัสกับพื้นราบไปทั้งหมด
  • คำถาม: เป็นเรื่องปกติที่เด็ก ๆ จะมีภาวะเท้าแบนใช่หรือไม่?
    คำตอบ: เด็กแรกเกิดจะมีฝ่าเท้าที่แบนและยืดหยุ่น เมื่ออายุ 3 ปีเท้าจะเริ่มมีส่วนโค้ง จนอายุ 7 ปีเท้าจะมีส่วนโค้งเต็มเหมือนผู้ใหญ่
  • คำถาม: อายุที่เหมาะแก่การเข้ารับการผ่าตัดคือเท่าไร?
    คำตอบ: การเข้ารับการผ่าตัดเมื่ออายุยังน้อยนั้นจะได้ผลดีเนื่องจากกระดูกยังมีความยืดหยุ่นสูง ผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปอาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมเนื่องจากกระดูกยืดหยุ่นน้อยลง
  • คำถาม: การผ่าตัดรักษาภาวะเท้าแบนจะทำให้สูงขึ้นหรือไม่?
    คำตอบ: การผ่าตัดแก้ภาวะเท้าแบนนั้นอาจทำให้ยืนตัวตรงมากขึ้น จึงดูสูงขึ้น แต่จริง ๆ แล้วความสูงอาจเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

บันทึกคุณหมอ

ภาวะเท้าแบน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด เมื่ออายุ 6 ปี เท้าของเด็ก ๆ จะเริ่มมีส่วนโค้งตรงบริเวณอุ้งเท้า ดังนั้นหากอายุมากกว่า 6 ปีและยังไม่มีอุ้งเท้าจะให้การวินิจฉัยว่ามีเท้าแบน ในบางกรณีภาวะเท้าแบนจะเกิดขึ้นในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่เนื่องจากเอ็นข้อเท้าอ่อนแรง หากมีอาการ ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ การสวมใส่แผ่นรองอุ้งเท้าสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบได้ ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด แต่มักพบได้น้อย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 03 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ภัทร จุลศิริ

    นพ. ภัทร จุลศิริ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    Minimally Invasive Technique of Foot and Ankle Surgery, ผ่าตัดส่องกล้องข้อเท้า, Limb Length Discrepancy Correction
  • Link to doctor
    นพ. อัครเดช พิทักษ์วีระกุล

    นพ. อัครเดช พิทักษ์วีระกุล

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
  • Link to doctor
    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า