เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ทําไมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงมีความสําคัญ
- ขณะที่กำลังตั้งครรภ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจอะไรบ้าง
- วิธีการคลอดบุตรประเภทใดที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ทารกของแม่ที่เป็นโรคเบาหวานต้องการการดูแลเป็นพิเศษหรือไม่
- การดูแลคุณแม่หลังคลอดที่เป็นโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง
- ทำแบบประเมินความเสี่ยง
การดูแลครรภ์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 อาจสงสัยว่าจะสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถทำได้หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ โดยก่อนการตั้งครรภ์ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เปลี่ยนตัวยาที่รับประทานเนื่องจากยาบางชนิดห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และรักษาโรคประจําตัวที่มีอยู่ เช่น โรคอ้วน โรคทางสายตา ความดันโลหิตสูง หรือโรคไต เป็นต้น
ทําไมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงมีความสําคัญ
ความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอาจทําให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้มากมายหลายอย่างระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการตั้งครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น
- ช่วงแรกของการตั้งครรภ์
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอาจทำให้แท้งบุตรและทารกมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ โดยความเสี่ยงจะสูงที่สุดเมื่อระดับน้ำตาลสะสมสูงกว่า 7 % หรือระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยมากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร - ระหว่างการตั้งครรภ์
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงในระยะนี้จะทำให้ทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ คลอดลําบาก ทารกที่ตัวใหญ่คือทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัมและร่างกายของแม่อาจได้รับบาดเจ็บเมื่อคลอดตามธรรมชาติ แม่ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และภาวะครรภ์แฝดน้ำเพิ่มมากขึ้น - ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอาจทําให้คลอดก่อนกําหนด (ทารกถือกำเนิดออกมาก่อนที่จะมีอายุครบ 37 สัปดาห์) ภาวะตายคลอด และทำให้ทารกมีปัญหาสุขภาพ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ชักหลังคลอด หายใจเร็ว
ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นสิ่งสําคัญของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2
เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่พึงประสงค์ หญิงตั้งครรภ์จึงควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- วางแผนการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับนักโภชนาการเพื่อควบคุมปริมาณแคลอรี่
- ออกกําลังกายเป็นประจําเพื่อรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมและระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังอาหาร
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจสุขภาพของแม่และทารกอย่างสม่ำเสมอและเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) อย่างน้อย 1 ครั้งทุกไตรมาส โดยมีเป้าหมายคือการรักษาระดับน้ำตาลสะสมไว้ที่ระดับ 6 เปอร์เซ็นต์หรือใกล้เคียง ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยอยู่ที่ 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ปรึกษาแพทย์ว่าจําเป็นต้องเปลี่ยนการใช้ยารับประทานเป็นการใช้อินซูลินระหว่างการตั้งครรภ์หรือไม่ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานจําเป็นต้องฉีดอินซูลิน 2-5 ครั้ง และฉีดมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่สาม บริเวณที่เหมาะแก่การฉีดอินซูลินได้แก่ บริเวณท้องและต้นขา เนื่องจากตัวยาจะถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่กำลังตั้งครรภ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจอะไรบ้าง
ก่อนวางแผนการตั้งครรภ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและวิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน การดูแลการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องใช้ความพยายามของทีมสูติแพทย์และทีมแพทย์ต่อมไร้ท่อในการควบคุมจัดการโรคเบาหวานและการใช้อินซูลินขณะตั้งครรภ์ โดยขณะที่กําลังตั้งครรภ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจร่างกายดังต่อไปนี้
- การตรวจตา เพื่อตรวจโรคเบาหวานขึ้นตาซึ่งอาการอาจแย่ลงระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีระดับน้ำตาลสะสมเริ่มต้นสูงและในรายที่ระดับน้ำตาลสะสมลดลงอย่างรวดเร็ว หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานขึ้นตาอย่างรุนแรงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน การตรวจตาทุกไตรมาสจะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นได้ ในรายที่มีอาการโรคเบาหวานขึ้นตาไม่รุนแรง อาการจะกลับไปเป็นเหมือนก่อนตั้งครรภ์หลังคลอดบุตรได้ 2- 3 เดือน
- การตรวจวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ตามนัดถือเป็นเรื่องสําคัญเนื่องจากความดันโลหิตอาจสูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ โรคความดันโลหิตสูงสามารถนําไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษและความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และอาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และไตได้รับความเสียหายได้หากอาการรุนแรง
- การตรวจสอบการทํางานของไต สามารถทําได้ด้วยการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจสอบปริมาณโปรตีนและการตรวจเลือดเพื่อประเมินค่า creatinine โรคไตจากโรคเบาหวานที่เป็นอยู่ก่อนแล้วอาจมีอาการแย่ลงขณะตั้งครรภ์และจะไปเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกําหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะทารกในครรภ์โตช้า โรคเบาหวานขึ้นตาและโรคไตยังไปเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกตัวเล็กเนื่องจากเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงรกนั้นมีปริมาณลดลง
- การตรวจอัลตราซาวด์สามารถช่วยคัดกรองความผิดปกติตั้งแต่กําเนิดในทารกได้ ตรวจระดับน้ำคร่ำ ซึ่งอาจนําไปสู่การคลอดก่อนกําหนด และประเมินการเจริญเติบโตและวันครบกําหนดคลอดของทารก ทารกที่มีแม่เป็นโรคเบาหวานจำนวน 15-45 % อาจมีภาวะทารกตัวโตเนื่องจากระดับอินซูลินที่สูงนั้นไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ภาวะทารกโตช้าในครรภ์นั้นจะพบได้น้อยกว่า แต่แม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดขนาดเล็กมีความเสี่ยงต่อภาวะทารกโตช้าในครรภ์
วิธีการคลอดบุตรประเภทใดที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน
การรอให้เจ็บท้องคลอดเพื่อคลอดเองตามธรรมชาตินั้นทำได้หากระดับน้ำตาลในเลือดปกติและทั้งแม่และทารกสุขภาพดี แต่ไม่ควรให้การตั้งครรภ์นานเกิน 40 สัปดาห์
หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไต โรคเบาหวานขึ้นตาจอประสาทตากําเริบ ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ภาวะทารกตัวโต หรือระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น แพทย์อาจแนะนําให้กําหนดวันคลอดโดยจะทำการกระตุ้นให้เจ็บครรภ์คลอดหรือทำการผ่าตัดคลอด การผ่าตัดคลอดนั้นเหมาะกับทารกตัวใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการคลอดไหล่ยากหรือภาวะติดไหล่ หากแม่เป็นเบาหวานที่ควบคุมได้ความเสี่ยงของการตายคลอดนั้นต่ำ อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตของทารกที่แม่เป็นเบาหวานนั้นจะสูงกว่าทารกที่แม่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานเนื่องจากทารกอาจมีภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่รุนแรง
ทารกของแม่ที่เป็นโรคเบาหวานต้องการการดูแลเป็นพิเศษหรือไม่
ทารกแรกเกิดของแม่ที่เป็นโรคเบาหวานและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดีซ่าน หายใจลําบาก ภาวะเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ โรคหัวใจ ระดับแคลเซียมต่ำ และระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกแรกเกิดจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในแผนกทารกแรกเกิด ปอดของทารกที่มีแม่เป็นโรคเบาหวานแม่อาจมีพัฒนาที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป ระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ที่สูงขึ้นตอนใกล้คลอดอาจทำให้ทารกที่เกิดก่อนอายุครบ 39 สัปดาห์มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
เด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดเดียวกันสูง เนื่องจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรม พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม
การดูแลคุณแม่หลังคลอดที่เป็นโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง
ในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอดและหลังเริ่มให้นมบุตร ควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากความต้องการอินซูลินของร่างกายอาจลดลง