เลือกหัวข้อที่อ่าน
ภาวะสายตายาวตามอายุ
ความสามารถในการมองเห็นของคนเรานั้นจำเป็นต้องอาศัยกระจกตาและเลนส์ตาในการหักเหแสงที่เข้ามาในดวงตา โฟกัสไปที่จอประสาทตา เลนส์ตามีความยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ โดยเมื่อมองไปที่วัตถุที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อเกาะยึดรอบเลนส์จะหดตัวโป่งออกเพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัส เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์ตาจะแข็งตัวและสูญเสียความยืดหยุ่น ไม่สามารถเปลี่ยนรูปร่างและโฟกัสในระยะใกล้ได้ โดยอาการดังกล่าวเรียกว่าภาวะสายตายาวตามอายุ
ภาวะสายตายาวตามอายุจะค่อย ๆ แสดงอาการเมื่ออายุ 40 ต้น ๆ และอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุ 65 ปี สายตายาวที่เกิดในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีเป็นอาการสายตายาวก่อนวัยอันควร (premature presbyopia)
ผู้ที่เริ่มมีปัญหาในการมองวัตถุขนาดเล็กหรือวัตถุในระยะใกล้ หรือต้องยื่นมือถือหนังสือออกไปเพื่อให้มองเห็น ควรเข้ารับการตรวจตาเพื่อตรวจดูว่ามีภาวะสายตายาวตามอายุหรือไม่ โดยภาวะสายตายาวตามอายุสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัด
อาการของสายตายาว
- ไม่สามารถอ่านตัวอักษรขนาดเล็กหรือมองวัตถุที่อยู่ใกล้ได้
- ปวดตา ปวดศีรษะ มีอาการตาล้าจากการอ่านหนังสือที่ใกล้
- ต้องหรี่ตามอง
- ต้องปรับแสงให้สว่างขึ้นเพื่อจะได้อ่านตัวอักษรหรือมองเห็นได้ชัดขึ้น
สาเหตุภาวะสายตายาวตามอายุ
เลนส์ตามีความยืดหยุ่นน้อยลงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนรูปร่างเพื่อที่โฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสายตายาวตามอายุ
- อายุที่มากขึ้น สายตายาวตามอายุมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- เพศหญิง
- การผ่าตัดตา
- รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์เป็นประจำ
- โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) ซึ่งพบได้ในนักดำน้ำที่ว่ายขึ้นมาเหนือน้ำเร็วเกินไป
โรคบางชนิดอาจทําให้เกิดภาวะสายตายาวก่อนวัยอันควร ได้แก่
- การได้รับบาดเจ็บที่ตา
- โรคเบาหวาน
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
- โรคโลหิตจาง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่อง
- สายตายาวที่เป็นแต่กำเนิด
การตรวจวินิจฉัยภาวะสายตายาวตามอายุ
การตรวจสายตา ได้แก่การขยายรูม่านตาและการวัดค่าสายตา สําหรับผู้ใหญ่ แนะนําให้ตรวจตาดังต่อไปนี้
- อายุต่ำกว่า 40 ปี : ทุก 5 - 10 ปี
- อายุ 40-54 ปี : ทุก 2 - 4 ปี
- อายุ 55-64 ปี : ทุก 1 - 3 ปี
- อายุ 65 ปีขึ้นไป : ทุก 1 - 2 ปี
หากสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตา ควรเข้ารับการตรวจตาทุกปี
การรักษาภาวะสายตายาว
- แว่นตา
- แว่นสำหรับอ่านหนังสือที่หาซื้อได้ทั่วไป มีค่ากำลังสายตาให้เลือกตั้งแต่ +1.00 D (ไดออปเตอร์) ถึง +3.00 D ผู้ที่ไม่เคยสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงมาก่อนที่จะสายตายาวตามอายุ สามารถใช้แว่นชนิดนี้ได้
- แว่นสั่งตัดตามใบสั่งแพทย์ ในกรณีที่แว่นสำหรับอ่านหนังสือที่มีขายทั่วไปไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้น
- แว่นเลนส์สองชั้น (Bifocals) จะมองเห็นเส้นตัดแนวนอนบนเลนส์ ซึ่งจะแบ่งเลนส์ 2 ชนิดออกจากกัน – เลนส์ด้านบนสำหรับการมองทั่วไปและเลนส์ด้านล่างสำหรับอ่านหนังสือ
- แว่นเลนส์สามชั้น (Trifocals) ใช้สําหรับมองไกล การมองระยะหน้าจอคอมพิวเตอร์และการทำงานระยะใกล้ โดยสามารถมองเห็นเส้นตัดแนวนอนบนเลนส์จำนวน 2 เส้น
- แว่นมัลติโฟคอลแบบโปรเกรสซีฟ (Progressive multifocals) จะมีค่ากำลังสายตาบนเลนส์ต่างกันไปในแต่ละจุด ทำให้สามารถมองได้
- แว่นโปรเกรสซีฟ แว่นเฉพาะทางสำหรับการทำงานกับคอมพิวเตอร์ มองระยะใกล้ หรืออ่านหนังสือ
- คอนแทคเลนส์
- คอนแทคเลนส์สองชั้น (Bifocal contact lenses) มีทั้งชนิดนิ่มและแข็ง มีจุดโฟกัสทั้งใกล้และไกล แต่ขณะนี้ยังไม่มีในประเทศไทย
- คอนแทคเลนส์แบบมัลติโฟคอล (Multifocal contact lenses) มีจุดโฟกัส 3 จุด ได้แก่ ระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล มีทั้งชนิดนิ่มและแข็ง
- คอนแทคเลนส์ชนิด Monovision ประกอบด้วยเลนส์สําหรับการมองระยะใกล้และเลนส์สําหรับการมองระยะไกล โดยจะสวมใส่เลนส์แต่ละชนิดในตาแต่ละข้าง โดยการใส่เลนส์ชนิดนี้สมองต้องใช้เวลาปรับตัวนาน 2 สัปดาห์
- คอนแทคเลนส์ ชนิด Modified monovision เป็นเลนส์สําหรับการมองใกล้หรือไกล 1 ข้างและเลนส์แบบมัลติโฟคอลสําหรับตาอีกข้างหนึ่ง
การใส่คอนแทคเลนส์ไม่เหมาะสําหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องท่อน้ำตา ตาแห้ง หรือมีปัญหาที่บริเวณเปลือกตาหรือผิวตา
- การเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม (Refractive lens exchange: RLE) เป็นการเปลี่ยนเลนส์ตาธรรมชาติด้วยเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อรักษาภาวะสายตายาวตามอายุ
- การผ่าตัดฝังวัสดุสังเคราะห์เข้าไปในกระจกตา (Corneal inlays) เป็นการใส่วัสดุ ซึ่งเป็นวงแหวนพลาสติกขนาดเล็กลงเข้าไปในกระจกตา เพื่อการมองแบบมองผ่านกล้องรูเข็ม ทำให้สามารถมองเห็นระยะใกล้และไกลได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีในประเทศไทย
การป้องกันภาวะสายตายาวตามอายุ
แม้ว่าภาวะสายตายาวตามอายุจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็มีบางอย่างที่เราทําได้เพื่อรักษาสุขภาพตาของเราและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตาที่เกี่ยวข้องกับอายุ
- ตรวจสายตาเป็นประจํา โดยเฉพาะเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป
- ควบคุมอาการป่วยที่เป็นอยู่ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน โรคดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาในการมองเห็น
- สวมแว่นกันแดดเพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี
- สวมแว่นตาป้องกันเมื่อต้องทาสี ตัดหญ้า ใช้ผลิตภัณฑ์เคมี หรือเล่นกีฬา
- เปิดไฟให้สว่างขึ้นเพื่อจะได้มองเห็นได้ชัด
- รับประทานผักและผลไม้ การรับประทานวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยบำรุงสายตา
- หากมีอาการตามัว เห็นภาพซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็น ควรรีบไปพบแพทย์
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
- คำถาม: ภาวะสายตายาวตามอายุ คืออะไร?
คำตอบ: คือภาวะที่เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์ตาจะแข็งตัวและสูญเสียความยืดหยุ่น ไม่สามารถเปลี่ยนรูปร่างและโฟกัสในระยะใกล้ได้ โดยอาการดังกล่าวเรียกว่าภาวะสายตายาวตามอายุซึ่งจะแสดงอาการเมื่ออายุ 40 ต้น ๆ และอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุ 65 ปี สายตายาวที่เกิดในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีเป็นอาการสายตายาวก่อนวัยอันควร - คำถาม: สายตายาวมีอาการอย่างไหร่?
คำตอบ: ไม่สามารถอ่านตัวอักษรขนาดเล็กหรือมองวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ ปวดตา ปวดศีรษะ มีอาการตาล้าจากการอ่านหนังสือที่ใกล้ ต้องหรี่ตามอง ต้องปรับแสงให้สว่างขึ้นเพื่อจะได้อ่านตัวอักษรหรือมองเห็นได้ชัดขึ้น - คำถาม: อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสายตายาวตามอายุ?
คำตอบ: อายุที่มากขึ้น สายตายาวตามอายุมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย การผ่าตัดตาก็อาจทำให้เกิดภาวะสายตายาวได้ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์เป็นประจำ หรือผู้ที่เป็นโรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) ซึ่งพบได้ในนักดำน้ำที่ว่ายขึ้นมาเหนือน้ำเร็วเกินไป - คำถาม: ควรตรวจวินิจฉัยภาวะสายตายาวเมื่อไหร่?
คำตอบ: การตรวจสายตา คือ การขยายรูม่านตา และการวัดค่าสายตา สําหรับผู้ใหญ่แนะนําอายุต่ำกว่า 40 ปี ตรวจทุก 5 – 10 ปี / อายุ 40 - 54 ปี ตรวจทุก 2 – 4 ปี / อายุ 55 - 64 ปี ตรวจทุก 1 – 3 ปี / อายุ 65 ปีขึ้นไป : ทุก 1 – 2 ปี แต่สำหรับผู้ที่สวมแว่นตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตา ควรเข้ารับการตรวจตาทุกปี