ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
การตรวจการนอนหลับ (Sleep test) คือ การตรวจวิเคราะห์ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายขณะหลับเพื่อหาสาเหตุแห่งโรคและความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เช่น การนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคภาวะขากระตุกขณะหลับ และนำผลที่ได้มาประเมินระดับความรุนแรงของอาการ เพื่อแยกโรคและวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและตรงจุด
ตรวจการนอนหลับ ตรวจอะไรบ้าง?
ในการตรวจการนอนหลับ (Sleep test, or sleep study) หรือ polysomnogram แพทย์จะทำการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบันทึกการทำงานของระบบต่าง ๆ ของอวัยวะในร่างกายตั้งแต่ ระบบหัวใจ ระบบสมอง ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อว่าทำงานอย่างไรในขณะหลับ โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง ระดับออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการหายใจระหว่างการนอนหลับเพื่อทดสอบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอกจากนี้ยังวัดการเคลื่อนไหวของลูกตา (อัตราความเร็วในการกลอกตาขณะนอนหลับ) และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแขนขาและกราม รวมถึงหาสาเหตุการนอนกรน การนอนกัดฟัน การนอนละเมอ และพฤติกรรมที่ผิดปกติอื่น ๆ ขณะนอนหลับ ซึ่งเมื่อได้ผลตรวจ sleep test หรือ polysomnogram แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลเพื่อวินิจฉัยโรคและประเมินระดับความรุนแรงของอาการ พร้อมทั้งวางแผนการรักษาเฉพาะทางตามโรคนั้น ๆ
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจการนอนหลับคือใคร?
- ผู้ที่นอนกรนเสียงดังมากผิดปกติ
- ผู้ที่ง่วงหงาวนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยล้า แม้ว่าจะนอนหลับในเวลากลางคืนอย่างเพียงพอแล้วแต่ก็ยังรู้สึกนอนไม่อิ่ม รู้สึกไม่สดชื่น
- รู้สึกปากแห้ง หรือคอแห้งผิดปกติ
- ผู้ที่มักสะดุ้งตื่นกลางดึก สะดุ้งเฮือกระหว่างการนอน เมื่อตื่นจะรีบสูดลมหายใจเข้า-ออกอย่างเร็วและแรงจนเต็มปอด
- ผู้ที่รู้สึกหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือสงสัยว่าอาจหยุดหายใจขณะหลับ
- ผู้ที่นอนหลับไม่สนิท หลับไม่ลึก
- ผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น นอนกัดฟัน นอนละเมอ เดินละเมอ แขนหรือขากระตุกระหว่างการนอนหลับ ปัสสาวะรดที่นอน นอนฝันร้าย ผวาตื่นกลางดึกเป็นประจำ
- ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลานานโดยไม่สามารถอธิบายได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงในการขาดออกซิเจนขณะหลับ
- ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะหลับ โดยแพทย์อาจทำการขอซักประวัติผู้ที่นอนด้วยเพื่อขอทราบรายละเอียดขณะนอนหลับ รวมถึงซักถามปัญหาหรือความผิดปกติขณะนอนหลับ
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้สมาธิในการทำงานสูง ผู้ที่มีอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น นักบิน กัปตันเดินเรือ พนักงานขับรถไฟ พนักงานขับรถไฟฟ้า คนขับรถบรรทุก เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ
ผู้ที่มีโรคประจำตัว บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจการนอนหลับคือใคร?
- ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- โรคลมหลับ
- โรคภาวะขากระตุกขณะหลับ
- โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู
- โรคหัวใจ
- โรคไตวาย
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน น้ำหนักตัวเกิน
- ความดันโลหิตสูง
- ฝันร้าย นอนละเมอ เดินละเมอ
- โรคกลัวกลางคืน โรคกลัวการนอนหลับ โรคกลัวที่มืด โรคกลัวการอยู่คนเดียว
- ภาวะที่ไม่สามารถสามารถขยับตัวได้ขณะกำลังตื่น หรือขณะกำลังหลับ (ผีอำ)
- ผู้ที่มีความผิดปกติอื่น ๆ ขณะนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้
การตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาลเมดพาร์คมีขั้นตอนอย่างไร?
- การตรวจการนอนหลับโรงพยาบาลเมดพาร์คใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการตรวจการนอนหลับ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ปัญหาในการนอนหลับและมอบเอกสารยินยอมเข้ารับการตรวจ โดยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการคุ้มครองขั้นสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA (Personal Data Act)
- กระบวนการตรวจการนอนหลับโดยทั่วไป จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 20:00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ปราศจากแสงตามธรรมชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของผู้เข้ารับการตรวจ
- แพทย์และเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับ (Sleep technician) จะอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจ การปฏิบัติตนระหว่างการตรวจ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจทดลองสวมใส่หน้ากากเครื่องเป่าความดันลมบวก (CPAP mask) ก่อนทำการตรวจจริงเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ในกรณีที่มีภาวะหยุดหายใจระดับรุนแรง
- ผู้เข้ารับการตรวจชำระร่างกายให้สะอาด พร้อมสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายตามการจัดเตรียมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
- เจ้าหน้าทำการติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าสมองที่บริเวณศีรษะ บริเวณจมูกพร้อมเครื่องวัดระดับเสียงกรน บริเวณช่องปากเพื่อตรวจโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea: OSA) บริเวณกล้ามเนื้อลูกตา บริเวณหน้าท้อง กล้ามเนื้อใต้คาง กล้ามเนื้อแขนและขาทั้ง 2 ข้าง บริเวณหน้าอกพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สายวัดของเครื่องวัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว รวมถึงอุปกรณ์การตรวจการนอนหลับชนิดพิเศษอื่น ๆ และการบันทึกภาพพฤติกรรมขณะนอนหลับเพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค โดยตลอดการตรวจจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลผู้รับการตรวจอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการตรวจการนอนหลับ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจการนอนหลับ มีขั้นตอนอย่างไร?
- ในวันตรวจการนอนหลับ แพทย์จะขอให้ผู้เข้ารับการตรวจงดการนอนกลางวันเพื่อให้การตรวจการนอนหลับในเวลากลางคืนมีประสิทธิภาพสูงสุด
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยง 12:00 น. เป็นต้นไป
- ก่อนเข้ารับการตรวจ 5 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการตรวจ ทานอาหารเย็นและน้ำให้เรียบร้อย หลังจากนั้นให้ทานน้ำให้น้อยลง
- ผู้เข้ารับการตรวจทำจิตใจให้สบาย ไร้กังวล เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด
- ผู้เข้ารับการตรวจอาบน้ำ สระผม ชำระร่างกายให้สะอาดก่อนมาตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจชายที่มีหนวด หรือขนหน้าอกมาก แพทย์อาจขอให้มีการโกนหนวดหรือขนหน้าอกออกเพื่อให้สามารถติดอุปกรณ์บันทึกการหายใจ และอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างสนิทแนบแน่น
- ผู้เข้ารับการตรวจงดการทาครีมบำรุงผิว เจล น้ำมัน โลชั่นบริเวณผิวหน้า ผิวกาย และเส้นผมรวมถึงยาทาเล็บชั่วคราว เพื่อให้อุปกรณ์ตรวจสามารถติดกับร่างกายได้อย่างแนบสนิท
- ผู้ที่ทานยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ยาควบคุมความดันโลหิต หรือยาอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดการทานยาระบายก่อนการตรวจ เพราะยาระบายมีผลทำให้ลำไส้เคลื่อนตัว และทำให้หลับไม่สนิท
- ผู้ที่ทานยานอนหลับเป็นประจำสามารถทานยาได้ตามปกติ
- ผู้เข้ารับการตรวจที่มีเครื่องนอนส่วนตัว เช่น หมอนข้างส่วนตัว หรือตุ๊กตาสามารถนำมาในวันเข้ารับการตรวจได้
- ผู้ที่มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ เป็นหวัด หรือได้รับอุบัติเหตุ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ผู้เข้ารับการตรวจสามารถนำญาติหรือผู้ติดตามมาเฝ้าได้ 1 คน โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งระเบียบปฏิบัติให้ผู้ติดตามได้รับทราบ
- หากรู้สึกไม่สบายหรือมีเหตุขัดข้องระหว่างการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถแจ้งเจ้าหน้าได้ตลอดเวลา
- ผู้เข้ารับการตรวจการนอนหลับสามารถตื่นนอนตอนเช้าที่รพ.ได้ตามเวลาปกติ
การตรวจการนอนหลับ เจ็บไหม มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?
การตรวจการนอนหลับเป็นการตรวจที่ไม่มีความเจ็บปวดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการตรวจการทำงานตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การหายใจเข้า-ออก การทำงานของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวบริเวณหน้าอก หน้าท้อง การกลอกตาขณะนอนหลับ เสียงกรน หรือการนอนละเมอ
การติดอุปกรณ์เป็นเพียงการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเลกโทรดกับผิวหนังเพื่อรับสัญญาณการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย โดยปราศจากการเจาะหรือฝังอุปกรณ์ใด ๆ กับร่างกาย และไม่มีการส่งสัญญาณไฟฟ้า หรือคลื่นรังสีใด ๆ เข้าสู่ร่างกายทั้งสิ้น การตรวจการนอนหลับจึงเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยกับผู้รับการตรวจ
ข้อดีของการตรวจการนอนหลับ คืออะไร?
การตรวจการนอนหลับสามารถวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรคได้ โดยแพทย์จะนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับโรคหรือเงื่อนไขเฉพาะบุคคล เช่น การรักษาด้วยเครื่องเป่าความดันลมบวกเพื่อขยายช่องทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure: CPAP) การปรับระดับของเครื่องมือในช่องปาก (Oral appliances) การตั้งค่าความดันลม (Pressure titration) หรือการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน (Upper airway surgery) โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการการนอนหลับที่ควรได้รับการรักษาอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะนอนหลับมีดังต่อไปนี้
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea: OSA)
- โรคลมหลับ (Narcolepsy)
- โรคภาวะขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder: PLMD)
- ภาวะชักขณะหลับ (Nocturnal seizure)
- โรคง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia)
- โรคนอนไม่หลับ นอนหลับยาก (Insomnia)
- นอนละเมอ (Parasomnia)
- ความผิดปกติของการหลับ-ตื่น (Circadian rhythm sleep-wake disorder)
ตรวจการนอนหลับ รู้ทันโรค รักษาได้ตรงจุด
ความผิดปกติในการนอนหลับเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจนำไปสู่อาการนอนไม่หลับ นอนหลับไม่เพียงพอ หรือรู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ทั้งนี้ ความผิดปกติในการนอนหลับอาจมีสาเหตุจากโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง โรคหลอดเลือดสมอง หรือการมีอารมณ์แปรปรวน การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การทำงาน และภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น การตรวจการนอนหลับจึงช่วยระบุความผิดปกติในการนอนหลับได้ ช่วยให้ข้อมูลที่นำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับบุคคล เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจมีสุขภาพชีวิตที่ดีโดยรวม ช่วยให้ทุกเช้าวันใหม่เป็นวันที่สดใส เปี่ยมไปด้วยพลัง และเต็มไปด้วยประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการทำงาน