ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ให้คีโมฯ รักษามะเร็ง ความกังวลที่คนไข้ต้องเผชิญ
โรคมะเร็ง หนึ่งในโรคเรื้อรังที่คร่าชีวิตผู้คนติดอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยกระบวนการรักษาที่มีความซับซ้อน และก่อผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนมักเกิดความวิตกกังวลทันทีที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง กลัวการรักษา กลัวการฉายแสง และสิ่งที่หลายคนหวาดหวั่นที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการให้คีโมฯ หรือ ยาเคมีบำบัด จนมีคำกล่าวที่ว่า เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง คนไข้กลัวการรักษา มากกว่ากลัวมะเร็งเสียอีก
บทความนี้ จะมาพูดคุยกับ นายแพทย์สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา หรือ หมอด้าย เพื่อมาอัปเดตความก้าวหน้าของยาเคมีบำบัดและการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ว่าแท้จริงแล้วก่อผลข้างเคียงอันตรายอย่างที่หลายคนกลัวหรือไม่
คีโมฯ หรือยาเคมีบำบัด กับบทบาทการรักษามะเร็ง
หมอด้ายเล่าว่า ในปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็ง ไม่ได้มีแค่ยาเคมีบำบัดอย่างเดียวแล้ว เพราะมียาใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ร่วมกันในการรักษา เช่น ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ถึงอย่างไร แพทย์ก็ยังไม่ตัดเคมีบำบัดออกไป เพราะยาใหม่ ๆ หลายชนิด ต้องใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ถึงจะออกฤทธิ์ได้ดี
“ยาเคมีบำบัดยังเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งอยู่ แต่ว่าเนื่องจากยาเคมีบำบัดมีมานานแล้ว และคนไทยหรือคนไข้ส่วนใหญ่อาจจะมีประสบการณ์ จากการเคยเห็นผู้ป่วยที่เคยได้รับเคมีบำบัดมาก่อน หรือดูหนัง ดูละคร ที่ทำให้เกิดภาพจำว่าต้องผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน คนไข้จึงรู้สึกกลัว ถ้าถามว่าอาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดจริงไหม คำตอบคือบางส่วนจริง แต่บางส่วนก็ไม่จริงครับ”
โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ยาเคมีบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มะเร็งดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือยาไม่ออกฤทธิ์ แพทย์จึงไม่ใช้ เพราะมะเร็งแต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดมากน้อยแตกต่างกันตามชนิดมะเร็ง
“กลุ่มมะเร็งโรคเลือด จะตอบสนองต่อเคมีบำบัดได้ดีมากกว่ามะเร็งที่เป็นก้อนหรือเนื้องอก พวกมะเร็งที่เป็นก้อนต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไตก็จะมีการตอบสนองต่อเคมีบำบัดที่แตกต่างกันไปอีก อย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด สามารถตอบสนองเคมีบำบัดได้ดีกว่ามะเร็งไต”
“ดังนั้นในการใช้คำว่า ให้เคมีบำบัดจึงเป็นคำกว้าง ๆ เพราะชนิดของยาเคมีบำบัดนั้นมีหลายร้อยชนิด ต้องเลือกตามผลการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร แล้วจึงเลือกสูตรยา ซึ่งเราจะมีข้อมูลอยู่แล้วว่า มะเร็งชนิดนี้ใช้ยาเคมีบำบัดชนิดนี้ มะเร็งชนิดนี้ใช้ชนิดยาหนึ่งตัว สองตัว หรือสามตัว ประมาณนี้ครับ”
ผลข้างเคียง ที่สามารถป้องกันได้
ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด จะขึ้นอยู่กับชนิดยาที่ได้ เพราะถ้ามองภาพรวมกว้าง ๆ คนไข้มักเข้าใจว่าจะผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาเคมีบำบัดบางกลุ่มไม่ได้ทำให้ผมร่วง เช่น สูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้กับการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่กลับกัน ในสูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม จะทำให้ผมร่วง จึงเป็นเหตุให้กลุ่มคนไข้มะเร็งต่างชนิดกัน อาจได้รับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดไม่เหมือนกัน โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด มีดังนี้
- ชนิดยา
- การให้ยาเสริม ยาแก้อาเจียน ยาแก้แพ้
- การคำนวณสูตรยาของแพทย์
“อาการคลื่นไส้อาเจียนในปัจจุบัน อาจจะไม่ค่อยมีแล้ว เนื่องจากเคมีบำบัดเป็นยาที่อยู่มานาน เราเรียนรู้ว่ามันทำให้เกิดอาการนี้เยอะ จึงมีการวิจัยเพื่อหายาแก้คลื่นไส้อาเจียนกลุ่มใหม่ ๆ โดยยาแก้คลื่นไส้อาเจียนกลุ่มใหม่ ๆ มีประสิทธิภาพดีมากขึ้น เมื่อกินแล้วช่วยให้ไม่อาเจียนเลย สามารถไปกลับทำงานได้ตามปกติ แต่ราคาก็จะสูงขึ้นด้วย
“และเนื่องจากอาการคลื่นไส้อาเจียน สัมพันธ์กับการเบื่ออาหาร พอคนไข้ไม่คลื่นไส้อาเจียน ก็จะสามารถกินอาหารได้ น้ำหนักก็จะไม่ลด ไม่ซูบผอมเหมือนที่เห็นในละครครับ”
เพราะแพทย์รู้อยู่แล้วว่าจะเกิด สามารถป้องกันไว้ก่อน
หรือช่วยลดความรุนแรงของผลข้างเคียงไว้ก่อนได้
ในปัจจุบัน วงการแพทย์มีประสบการณ์กับยาเคมีบำบัดมากขึ้น จึงรู้ว่ายาเคมีบำบัดออกฤทธิ์อย่างไร ต้องให้ยาเสริมแบบไหน ถึงจะป้องกันผลข้างเคียงได้ เช่น หากใช้ยาชนิดที่ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ต้องให้กินยาแก้อาเจียนชนิดที่เหมาะสม หากใช้ยาชนิดที่ทำให้ผื่นขึ้น ต้องเตรียมยาแก้แพ้แก้คันไว้ด้วย หากใช้ยาที่ทำให้ท้องเสีย ก็จะมียาหยุดถ่าย แบบฉีดหรือกินป้องกันไว้ก่อน ทำให้อาการข้างเคียงหลังให้เคมีบำบัด จึงไม่น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิดนั่นเอง
ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มให้ยาเคมีบำบัด มีอะไรบ้าง
ยาเคมีบำบัด เป็นยาที่ต้องใช้เฉพาะโรค ส่วนใหญ่ใช้รักษาโรคมะเร็ง จะมีบางโรคที่ใช้ยาเคมีบำบัดเช่นกัน โดยใช้เป็นยากดภูมิ เช่น โรคระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ โรคเอสแอลอี ซึ่งความเสี่ยงจะเริ่มตั้งแต่ขณะกำลังให้ยา ไปจนถึงหลังจากรับยาเคมีบำบัด
-
ขณะให้ยา
เนื่องจากยากลุ่มนี้แพ้ได้ง่าย เมื่อแพ้จะเกิดอาการฉับพลัน เพราะฉะนั้นในขณะให้ยา จึงควรมีพยาบาลที่จบด้านการให้เคมีบำบัดโดยเฉพาะคอยเฝ้าสังเกตอาการ ว่าจะเกิดการแพ้ในคนไข้หรือไม่
ถัดมาคือตำแหน่งที่ให้ยา เนื่องจากเป็นยาอันตราย การให้ยาผ่านเส้นเลือด อาจเกิดกรณีเส้นเลือดแตก ยาไม่เข้าไปในกระแสเลือด แต่ไปอยู่ตรงผิวหนัง ซึ่งเป็นอันตราย เพราะยาบางตัวมีฤทธิ์เป็นกรดเป็นเบสที่เข้มข้นสูง จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ที่ยาออกนอกเส้นเลือดมาสัมผัสถูกทำลาย (extravasation)
เป็นหน้าที่ของพยาบาลเฉพาะทางที่ชำนาญในการสังเกตอาการ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รีบช่วยเหลือได้ทันที
-
หลังให้ยา
หลังให้ยาช่วง 2 วันแรก จะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หากแพทย์ฉีดยาแก้คลื่นไส้อาเจียนไว้ก่อนที่จะให้เคมีบำบัด จะช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นได้ และยังสามารถจ่ายยารับประทานแก้คลื่นไส้ไว้ให้คนไข้กลับไปกินที่บ้านหากยังมีอาการอยู่
หลังจากนั้นอาจมีอาการท้องเสีย ผมร่วง เพราะยาเคมีบำบัดจะออกฤทธิ์กับเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ๆ ซึ่งในร่างกายมนุษย์จะมีเซลล์ผม เซลล์เล็บ ที่งอกเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมไปถึงเซลล์เยื่อบุช่องปาก เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ก็จะรับผลกระทบไปด้วย ทำให้คนไข้อาจผมร่วง เล็บเป็นสีเข้ม มีแผลในปาก และท้องเสีย
ในกรณีผมร่วง เชื่อกันว่าขณะให้ยาเคมีบำบัด ถ้าเราป้องกันไม่ให้ยาไปโดนเซลล์ผม โดยขณะให้ยา ใช้ Cooling Scalp หรือ Cooling Cap เป็นหมวกที่ครอบศีรษะด้วยความเย็น เวลาร่างกายโดนความเย็น เส้นเลือดจะหดตัว ทำให้ยาอาจไปไม่ถึงบริเวณหนังศีรษะนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แค่อาจช่วยให้ผมร่วงน้อยลง
สำหรับแผลในปาก ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงแผลในปากมากขึ้น แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ปริมาณน้อยสำหรับอมกลั้วปาก จะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ส่วนอาการท้องร่วง แพทย์จะจ่ายยาหยุดถ่ายให้ตามที่กล่าวไปแล้ว
“ความเสี่ยงที่เรากลัวที่สุดคือ เม็ดเลือดขาวต่ำครับ อาการนี้อาจเกิดขึ้น 7-10 วันหลังจากให้ยา เมื่อเม็ดเลือดขาวต่ำ คนไข้จะไวต่อเชื้อโรคมาก แค่ติดหวัด อาจถึงขั้นนอนโรงพยาบาล และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาคนปกติไปกินอาหารที่มีเชื้อโรค จะมีอาการท้องเสียทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัดกิน ก็อาจจะติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้เลย”
ปัญหาเม็ดเลือดขาวต่ำนี้ยิ่งเห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ๆ เราจะพบว่าผู้ป่วยมะเร็งจะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด-19ได้มากกว่าคนทั่วไป ที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานปกติ
ในปัจจุบันมียากระตุ้นเม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้น โดยหลังจากให้เคมีบำบัด 24-48 ชั่วโมง จะนัดคนไข้มาฉีดยากระตุ้นภูมิ ป้องกันไม่ให้คนไข้ภูมิต้านทานต่ำเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยป้องกันผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดได้
การให้ยาเคมีบำบัดในปัจจุบัน ไม่ได้น่ากลัว
ในปัจจุบัน ยาเคมีบำบัดมักนำมาใช้ร่วมกันกับยามุ่งเป้าและยาภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งมีข้อดีคือ ตัวยาจะเสริมฤทธิ์กัน โดยแพทย์ต้องเลือกจับคู่ หรือใช้ชนิดที่เสริมฤทธิ์กันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ก้อนมะเร็งยุบได้มากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่คนไข้ต้องทนยาได้ ผลข้างเคียงต้องไม่รุนแรงเกินไป
“การที่เราเพิ่มยาหลายชนิดเข้ามารวมกัน ความเสี่ยงเจอผลข้างเคียงก็มากขึ้นไปด้วย แต่โชคดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ยาแต่ละกลุ่มส่งผลข้างเคียงคนละแบบพอดี จะไม่เสริมผลข้างเคียงให้รุนแรง อย่างเช่น ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ไม่ชอบที่สุดคือทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ แต่ยาภูมิคุ้มกันบำบัด หรือยามุ่งเป้า จะไม่ค่อยพบผลข้างเคียงเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ให้แล้วไม่ได้ทำให้เม็ดเลือดต่ำ”
“กลับกัน ถ้านำเคมีบำบัดสองชนิดมารวมกัน จะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำมากกว่าคนที่ได้เคมีบำบัดชนิดเดียว แม้ประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งมันอาจจะเยอะขึ้นก็ตาม”
“อีกข้อดีของการใช้ยารวมกัน คือ การเติมเต็มข้อด้อยของยาบางชนิด อย่างยาภูมิคุ้มกันบำบัดจะออกฤทธิ์ช้า เพราะต้องเข้าไปในร่างกายแล้วกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้เรียนรู้ หลังจากนั้นถึงจะเริ่มออกฤทธิ์ แล้วทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาเป็นเดือน ตามทฤษฎี ทำให้มีช่วงเวลาที่ยายังไม่ออกฤทธิ์ หรือรอยาออกฤทธิ์ คนไข้จะแย่ตอนนั้น ก้อนมะเร็งก็จะยังโตขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงใช้ยามุ่งเป้าหรือยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์ทันทีเข้าช่วย เพื่ออุดช่องว่างตรงนี้ แล้วพอก้อนมันเล็กลง ก็จะเป็นหน้าที่ของภูมิคุ้มกันครับ”
ด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนเพื่อลดผลข้างเคียงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เราจะพบว่า คนไข้ให้เคมีบำบัดหลายคน ลางานแค่ 1-2 วัน เพื่อมารับเคมีบำบัดแล้วก็กลับไปทำงานตามปกติ ไม่ได้มีอาการหนักรุนแรงกันเสียหมด
“ยาชนิดต่าง ๆ มีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนจนช่วยลดหรือป้องกันผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดจนคนไข้สามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติได้เลย แต่ที่ไม่เปลี่ยนก็น่าจะเป็นเนื้อหาในละครนี่ล่ะครับ” หมอด้ายยิ้ม
วางแผนให้เคมีบำบัด เพื่อผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
หมอด้ายอธิบายว่า การจะให้เคมีบำบัดคนไข้สักหนึ่งคน ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของบุคลากรทางการแพทย์หลายแผนก แพทย์จะเลือกชนิดยา คำนวณปริมาณยา แล้วต่อมาจะเป็นความรับผิดชอบของเภสัชกรเฉพาะทางในการผสมยา โดยใช้ตู้ผสมที่ได้มาตรฐาน เพราะยาเคมีบำบัดเป็นยาอันตราย ต้องป้องกันการรั่วไหลออกมาจากภาชนะ พยาบาลก็ต้องทำหน้าที่เช็กกับเภสัชกร ว่ายานี้ต้องให้ใคร ปริมาณเท่าไร ลำดับในการให้เป็นอย่างไร เวลาในการให้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งพยาบาลที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องเป็นพยาบาลเฉพาะทางการบริหารยาเคมีบำบัด
ที่เมดพาร์ค มีห้องให้ยาที่พยาบาลมองเห็นคนไข้ตลอดเวลาจากเคาน์เตอร์ ถ้ามีเหตุไม่คาดคิด คนไข้มีอาการแพ้ พยาบาลจะสังเกตได้และช่วยเหลือได้ทันที
ในกรณีที่คนไข้ไม่ชอบการแทงเส้น ไม่อยากถูกเข็มจิ้มซ้ำ ๆ ไม่อยากเจ็บ ก็จะแนะนำให้ฝังพอร์ต (Port A Cath) เพื่อเอาไว้นำยาเข้าเส้นเลือดในทุก ๆ ครั้งที่มารับบริการ ไม่ต้องหาเส้นเจาะใหม่ซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในคนไข้มะเร็งที่ต้องมารับยาเคมีบำบัดต่อเนื่อง หลังจากเจาะเส้นเลือดบ่อยเข้า ทำให้เส้นเลือดเสียหาย เมื่อผ่านการให้เคมีบำบัดมาหลายครั้งเข้า เส้นเลือดของคนไข้จะเปราะและแข็ง ต้องใช้เวลาร่วมเดือนกว่าจะฟื้นฟูกลับมา วิธีฝังพอร์ตจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้คนไข้ไม่ต้องเจาะเส้นเลือดซ้ำ ๆ ไม่ต้องเจ็บหลาย ๆ ครั้ง สามารถให้ยาผ่านพอร์ตได้เลย
ทั้งยังมีนักจิตวิทยาคลินิก เข้ามาช่วยดูแลสภาพจิตใจของคนไข้ ที่ต้องเผชิญกับโรคมะเร็งที่สร้างความกังวล และบั่นทอนคุณภาพชีวิต พูดคุยให้คำปรึกษาเพื่อให้คนไข้สบายใจขึ้น และให้ความร่วมมือกับการรักษา
นอกจากนี้ ที่ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค ยังมีช่องทางที่คนไข้สามารถติดต่อได้โดยตรง เช่น ติดต่อผ่าน Application Line ของศูนย์ ในกรณีที่มีปัญหา ข้อสงสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เข้าใจ รวมไปถึงการเช็กนัดหมาย เลื่อนนัด สามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องไปติดต่อหลาย ๆ แผนกอีกด้วย หมอด้ายมองว่า การติดตามผลและดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้คนไข้เชื่อมั่นและให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น
เพราะโรคมะเร็งมีหลากหลาย ยาเคมีบำบัดก็มีหลากหลาย การไปเสิร์ชหาข้อมูลเยอะ ๆ อาจทำให้วิตกกังวลไปก่อน ยังไม่ควรเชื่อทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต ทางที่ดีที่สุดคือการมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
“เนื่องจากมะเร็งในแต่ละจุด มีชนิดแยกย่อยออกไปหลายชนิด อีกทั้งร่างกายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่รูปแบบการรักษาอาจแตกต่างกัน ดังนั้น อย่าไปยึดการรักษาของคนใดคนหนึ่งมาเป็นข้อมูลในการรักษาของตัวเองครับ”