โพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา Probiotics - Microorganisms that are beneficial to our body

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์นักรบช่วยปกป้องร่างกาย

ในร่างกายของคนเรานั้นมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ อันได้แก่ เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย และโพรโตซัวอาศัยอยู่ โดยจะมีชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics)

แชร์

โพรไบโอติกส์

ในร่างกายของคนเรานั้นมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ อันได้แก่ เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย และโพรโตซัวอาศัยอยู่ โดยจะมีชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งมีลักษณะโดดเด่น ดังนี้

  • รอดชีวิตจากการถูกย่อยด้วยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและเดินทางไปถึงลำไส้ได้
  • มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • รับประทานได้ปลอดภัย

โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่มีประโยชน์ ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่ไม่ดีที่มีมากเกินไป สร้างความสมดุลให้กับร่างกาย

ชนิดของโพรไบโอติกส์

ในร่างกายของเรามีโพรไบโอติกส์อยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยได้แก่ Lactobacillus และBifidobacterium ซึ่งรวมไปถึง Saccharomyces boulardii ซึ่งเป็นโพรไบโอติกส์เชื้อราเซลล์เดี่ยว
โดยปกติแล้วโพรไบโอติกส์ที่เป็นประโยชน์นั้นสามารถพบได้ในลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ ปาก ผิวหนัง ปอด ช่องคลอด และระบบทางเดินปัสสาวะ

ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

  • ต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้ายที่รุกรานเข้ามา 
  • เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อลดการอักเสบ 
  • ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  • สร้างวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่ไม่ดีต่อร่างกายเติบโตมากจนเกินไป
  • เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์บุผนังที่ช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเข้าสู่กระแสเลือด
  • ช่วยร่างกายในการเผาผลาญและดูดซึมอาหารและยา

จากงานวิจัย โพรไบโอติกส์มีส่วนช่วยในบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น ท้องผูก ท้องเสียจากยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรีย Clostridioides difficile โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ตกขาวจากเชื้อรา ติดเชื้อในกระเสเลือดในเด็กทารก หูชั้นกลางอักเสบ หวัดตามฤดูกาล และไซนัสอักเสบ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์อาจแตกต่างไปในแต่ละบุคคล

Probiotics อาหารที่มีโพรไบโอติกส์

อาหารที่มีโพรไบโอติกส์

การรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์นั้นไม่จำเป็น เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ มีกากใยสูงก็เพียงพอต่อการสร้างความสมดุลของจำนวนแบคทีเรียในร่างกาย หากต้องการเพิ่มจำนวนโพรไบโอติกส์ในร่างกาย เราสามารถรับประทานอาหาร เช่น โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ ขนมปังซาวโดว์ คอทเทจชีส ชาหมัก (kombucha) นมหมัก (kefir) เทมเป้ (tempeh) ผักดอง กิมจิ และซุปมิโซะ อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

ในบางราย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของเครื่องดื่ม ยาเม็ด หรือผง ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์อาจจะมีพรีไบโอติกส์ เช่น อินนูลิน เพกติน แป้งทนการย่อย ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ดีที่อยู่ในลำไส้อยู่ด้วย การรวมโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์เข้าไว้ด้วยกันมีชื่อเรียกว่า ซินไบโอติกส์ เนื่องจากโพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์นั้นไวต่อแสง ความร้อน ออกซิเจน และความชื้น จึงจำเป็นต้องเก็บรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์ที่หมดอายุ

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือเด็ก

ผลข้างเคียงของโพรไบโอติก หากกินมากเกินไป

ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาไม่นานมานี้ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรง การรับประทานโพรไบโอติกส์อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ การดื้อยาปฏิชีวนะ และการที่จุลินทรีย์โพรไบติกส์เองสร้างสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

คำถามที่ถามบ่อย

  • เด็ก ๆ สามารถรับประทานโพรไบโอติกส์ได้หรือไม่?
    โพรไบโอติกส์ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ เด็ก ๆ สามารถรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง เช่น โยเกิร์ต คอทเทจชีสได้
  • ควรรับประทานโพรไบโอติกส์ร่วมกับยาปฏิชีวนะหรือไม่?
    แพทย์มักจ่ายยาปฏิชีวนะให้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ยาจะฆ่าทั้งแบคทีเรียที่ดีและไม่ดีไปพร้อมกัน การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์จะช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีเพื่อมาต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้าย ช่วยบรรเทาอาการของโรคที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะได้

เผยแพร่เมื่อ: 20 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ณิชา สมหล่อ

    พญ. ณิชา สมหล่อ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โภชนศาสตร์คลินิก
    Adult Gastroenterology (Nutrition), โภชนาการคลินิก, อายุรกรรมทั่วไป, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน