นางแพทย์สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู - Dr Sarithpong Sae Lee, A specialist in physical medicine and rehabilitation

เวชศาสตร์ฟื้นฟู เรามุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไข้

คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน มาจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม ในการกำหนดเป้าหมาย และแผนการรักษาร่วมกัน การรักษาจึงเป็นลักษณะเฉพาะบุคคล

แชร์

เวชศาสตร์ฟื้นฟู เรามุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไข้

“คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน มาจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม ในการกำหนดเป้าหมาย
และแผนการรักษาร่วมกัน การรักษาจึงเป็นลักษณะเฉพาะบุคคล”

Dr Saridpong Lee เวชศาสตร์ฟื้นฟู เรามุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไข้

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู อีกหนึ่งสาขาที่สำคัญมากโดยเฉพาะกับคนไข้โรคทางสมอง โรคทางระบบประสาท ปวดกล้ามเนื้อ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ ตลอดจนผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น แขนเทียม ขาเทียม ซึ่งบทบาทของแพทย์คือ ทำให้คนไข้ให้กลับมามีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เคลื่อนไหว และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

แล้วปัจจัยที่จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง? วันนี้ MedPark Stories ขอพามาที่ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด พบกับ นพ.สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี - แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค และเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู มาติดตามกัน

Accurate Disease Diagnosis Is of Utmost Importance in Patient Recovery.

การวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูคนไข้

นพ. สฤษดิ์พงศ์ ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการป่วย ที่หลายคนเคยรักษาไปแล้ว แต่ยังกลับมาเป็นซ้ำ “การรักษาอาการปวด ชา หรือ อ่อนแรง ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นสำคัญก็คือ การวินิจฉัยโรค หากวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำก็จะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องในลำดับถัดไปครับ”

“คนไข้ที่มาด้วยอาการปวดคอ บ่า หรือ ไหล่ เป็นอาการที่พบบ่อยในวัยทำงาน หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า ออฟฟิศซินโดรม อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรค หรือสาเหตุหลายประการครับ ตัวอย่างเช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือ เส้นเอ็นรอบข้อไหล่อักเสบ เป็นต้น หากมีการวินิจฉัยโรคที่ผิด ก็อาจนำไปสู่การรักษาที่ไม่หายได้”

Understanding the Patient Is Paramount in the Treatment Process.

เหนือกว่าเครื่องมือหรือเทคนิคในการรักษา คือการเข้าใจคนไข้

เมื่อคนไข้ถูกส่งเข้ามารับการรักษาที่ศูนย์ฯ แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียด และทุกเรื่องราวที่คนไข้บอกเล่า แพทย์จะฟังอย่างตั้งใจ และพยายามเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ให้มากที่สุด เพื่อจะได้ระบุสาเหตุของโรคได้อย่างถูกต้อง

“จากประสบการณ์ของผม หลังจากที่คนไข้ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือการหาสาเหตุของโรค ซึ่งจะได้มาจากการเอาใจใส่ การเรียนรู้พูดคุยกับคนไข้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ กิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนไข้คนนั้น”

“หากคนไข้มาด้วยอาการปวดบ่า จากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ผมจะถามต่อเสมอว่า สภาพแวดล้อม เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ในที่ทำงานเป็นอย่างไร นั่งนานแค่ไหน ระหว่างวันมีกิจกรรมหรือการออกกำลังกายใดบ้าง การนอนหลับเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่า หากผมโฟกัสแค่การนั่งทำงานนานเพียงอย่างเดียว อาจไม่เจอสาเหตุอื่นที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้”

การรักษาที่ออกแบบมาเฉพาะรายบุคคล ไม่มีสูตรตายตัว

เมื่อค้นพบสาเหตุของโรคแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการกำหนดและตกลงเป้าหมายร่วมกันกับคนไข้ เพื่อนำไปสู่การรักษาเฉพาะราย (Individualized treatment) เนื่องจากปลายทางของการฟื้นฟูคือเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไข้ ดังนั้น ไม่ใช่แค่รักษาหายในครั้งนี้ แต่ต้องทำให้คนไข้ไม่กลับมาเป็นซ้ำด้วย

“โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า แนวทางการรักษาสำหรับคนไข้ในแต่ละรายจะไม่เหมือนกันเลย ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่ใช่เป็นการรักษารูปแบบที่หมอสั่งให้แล้วทำตาม ดังนั้น การทำความเข้าใจคนไข้เป็นสิ่งสำคัญมากครับ ไม่จะเป็นคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ นักกีฬา คนไข้หลังการผ่าตัด ทุกคนล้วนผ่านประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันมา การกำหนดการรักษาโดยมุ่งเป้าไปที่คนไข้แต่ละราย จะต้องอาศัยการผสมผสานกันทั้งความรู้ทางการแพทย์และความเข้าใจในสถานการณ์ของคนไข้”

แพทย์จะให้ความรู้แก่คนไข้ว่ากำลังป่วยเป็นอะไร จากนั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษา คุยแผนการรักษาว่าจะทำอะไรตามลำดับก่อนหลัง และตกลงเป้าหมายร่วมกัน

“ถ้าคนไข้มาด้วยอาการปวดบ่า ทางทีมจะกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับคนไข้ ว่าจะทำให้เขาหายปวดอย่างยั่งยืน ไม่กลับไปปวดซ้ำอีก และนำไปสู่คุณภาพชีวิตดีขึ้น เราต้องรักษา ควบคู่ไปกับการแก้สาเหตุทุกประการที่จะส่งผลกับอาการปวด เช่น การออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้อง สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม การมีไลฟ์สไตล์ที่นั่งทำงานหรือใช้โทรศัพท์มือถือทั้งวัน การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ การรับมือกับความเครียดที่ไม่เหมาะสม เหล่านี้เป็นต้น”

Faith in Teamwork

ศรัทธาในการทำงานเป็นทีม 

นพ.สฤษดิ์พงศ์ พูดถึงปัจจัยที่จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วนั่นก็คือ ตัวโรค โรคที่ค่อนข้างรุนแรง การฟื้นตัวย่อมช้ากว่าโรคที่มีความรุนแรงน้อย และปัจจัยต่อมาก็คือ ความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ บุคลากร เครื่องมือ เทคโนโลยี

“นอกเหนือสิ่งอำนวยความสะดวก เทคนิคการรักษา เครื่องมือ และเต็มไปด้วยนวัตกรรมแล้ว เมดพาร์คมีความโดดเด่นเรื่องบริการด้วยครับ เนื่องจากเรามุ่งเป้าหมายไปที่การรักษาเฉพาะราย เราจะวางแผนการรักษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน แพทย์และคนไข้เห็นตรงกันว่าสามารถปฏิบัติได้จริง ภายใต้กรอบเวลาที่เป็นไปได้ นำไปสู่ความคาดหวังที่ตรงกันทุกฝ่าย เห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของการรักษา และได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีเทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดิน เครื่องมือช่วยฝึกมือ สระธาราบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องมือกายภาพลดปวด ที่ไม่ค่อยพบในโรงพยาบาลทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้ นพ.สฤษดิ์พงศ์ ภูมิใจมากที่สุดก็คือแนวคิดการทำงาน

“สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด คือ หลักคิดของผมกับทางโรงพยาบาล สอดคล้องไปในทางเดียวกัน เราเชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือนักกิจกรรมบำบัด คล้ายกับทีมฟุตบอล คือเราทุกคนต่างเป็นผู้เล่นในทีมเดียวกัน การจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าการทำงานของทีมเป็นอย่างไร”

นพ.สฤษดิ์พงศ์ พูดทิ้งท้าย ถึงองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จในการรักษา

“อย่างแรกคือ ทางโรงพยาบาลเมดพาร์คใส่ใจกับการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามาสู่ทีมฟื้นฟูฯ เป็นอย่างมาก บุคลากรที่เข้าสู่ทีมได้รับการการันตีระดับหนึ่ง ว่ามีฝีมือในการทำงาน ต่อมาคือ เมื่อเราเข้ามาเป็นผู้เล่นในทีมเดียวกันแล้ว เราทุกคนจะเข้าใจตรงกันว่าคุณภาพในการรักษาคนไข้ คือสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญที่สุด เราจะไม่ประนีประนอมกับการรักษาที่ไม่มีคุณภาพ สุดท้ายคือ เราทุกคนต่างสื่อสารถึงกันและกันตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาเฉพาะราย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจให้เกิดขึ้นเสมอครับ”

เผยแพร่เมื่อ: 24 ม.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี

    นพ. สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู