โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Valve Stenosis): อาการ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การวินิจฉัย และการรักษา

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

เป็นโรคที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติจากภาวะลิ้นหัวใจระหว่างห้องหัวใจซ้ายล่างและหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้ามีพื้นที่ตัดขวางของลิ้นแคบลง ไม่สามารถเปิดปิดได้อย่างสมบูรณ์

แชร์

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เป็นโรคที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติจากภาวะลิ้นหัวใจระหว่างห้องหัวใจซ้ายล่างและหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้ามีพื้นที่ตัดขวางของลิ้นแคบลง ไม่สามารถเปิดปิดได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้การไหลเวียนของเลือดจากหัวใจไปยังส่วนที่ต่าง ๆ ของร่างกายลดลง

ในผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแบบไม่รุนแรง การหมั่นคอยพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้เหมาะสมอาจเพียงพอ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมหรือซ่อมลิ้นหัวใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้  

อาการของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เป็นเวลาหลายปีจนกว่าโรคจะถึงขั้นรุนแรงมาก
อาการของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ได้แก่

  • ใจสั่น
  • เจ็บแน่นหน้าอกเมื่อออกกำลังกาย
  • เวียนศีรษะ เป็นลมเมื่อออกกำลังกาย
  • เหนื่อยง่ายขณะออกแรงหรือออกกำลังกาย
  • อ่อนล้าเมื่อออกกําลังมากกว่าปกติ

ควรพบแพทย์เมื่อไร

หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบและปรึกษาแพทย์

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

หัวใจของคนเรานั้นมีวาล์วหรือลิ้นหัวใจอยู่ 4 ลิ้น ประกอบไปด้วย

  • ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา
  • ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve) เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับหัวใจห้องล่างซ้าย
  • ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวากับหัวใจห้องล่างขวา
  • ลิ้นหัวใจพัลโมนารี (Pulmonary valve) เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างขวากับหลอดเลือดแดงปอด

ลิ้นหัวใจแต่ละลิ้นจะเปิดและปิดระหว่างที่หัวใจเต้นในแต่ละครั้ง  หากลิ้นหัวใจเปิดไม่ได้เต็มที่ หรือปิดไม่สนิท จะทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง  

ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกนอกจากจะเปิดไม่เต็มที่และปิดไม่สนิทแล้ว ยังมีพื้นที่ตัดขวางที่แคบขึ้น ทำให้เกิดแรงต้านการไหลเวียนของเลือดจากหัวใจไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้ามากขึ้น หัวใจจึงต้องออกแรงสูบฉีดเลือดแรงขึ้นเพื่อส่งเลือดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ การที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นอาจทำให้ห้องหัวใจล่างซ้ายหนาหรือโตขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ และอาจทำให้เป็นโรคหัวใจล้มเหลวในที่สุด

สาเหตุทั่วไปของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ได้แก่

  • โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กําเนิด
    โดยปกติคนเราจะเกิดมาพร้อมกับลิ้นหัวใจเอออร์ติกที่มีใบลิ้น 3 อัน แต่บางคนอาจมีใบลิ้นเพียง 2 อัน (congenital bicuspid aortic valve) (หรืออาจจะมี 1 อันหรือ 4 อัน แต่มักพบได้น้อย) การตรวจสุขภาพเป็นประจําเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กําเนิด เช่น โรคลิ้นเอออร์ติกมีสองใบลิ้นแต่กำเนิด หากลิ้นหัวใจเริ่มตีบตันหรือรั่ว ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
  • หินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก
    ในเลือดของคนเรานั้นจะมีสารละลายแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจตกผลึกเป็นหินปูนเกาะสะสมบนลิ้นหัวใจได้ โดยปกติโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้นหรือการสะสมของหินปูนมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะอายุ 70-80 ปี แต่ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กําเนิดการสะสมของหินปูนอาจทําให้ลิ้นหัวใจของแข็งตัวจนเกิดอาการของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • โรคไข้รูมาติก
    ผู้ที่ป่วยเป็นโรคคออักเสบหรือโรคไข้อีดำอีแดงอาจป่วยเป็นโรคไข้รูมาติกได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โรคไข้รูมาติกทำให้เนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจเอออร์ติกเป็นแผล เกิดผิวขรุขระซึ่งทำให้หินปูนมาเกาะสะสมหรือทำให้ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบตัน โรคไข้รูมาติกอาจส่งผลต่อลิ้นหัวใจมากกว่า 1 ลิ้น

ปัจจัยเสี่ยงของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

  • วัยชรา
  • โรคหัวใจพิการแต่กําเนิด เช่น โรคลิ้นเอออร์ติกมีสองใบลิ้นแต่กำเนิด (congenital bicuspid aortic valve)
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคเบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติการติดเชื้อในหัวใจ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบหรือไข้รูมาติก
  • มีประวัติได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณทรวงอก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

  • หัวใจวาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การติดเชื้อของหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบ

การตรวจวินิจฉัย

  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย: แพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการและประวัติทางการแพทย์ แพทย์จะใช้หูฟังตรวจว่ามีเสียงฟู่ของหัวใจหรือไม่
  • เอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจดูว่ามีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก หลอดเลือดแดงเอออร์ต้ามีขนาดใหญ่ขึ้น หรือหัวใจโตจากโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การติดแผ่นขั้วไฟฟ้าไปที่หน้าอก แขน หรือขาเพื่อตรวจการเต้นของหัวใจและดูว่ามีสัญญาณความผิดปกติของโรคหัวใจหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงสร้างรูปของหัวใจ แสดงการไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจ ตรวจกล้ามเนื้อหัวใจ และประเมินความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ แพทย์อาจสั่งให้ทำการตรวจผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiogram) เพื่อตรวจอย่างละเอียด โดยจะมีการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในหลอดอาหารเพื่อส่งและรับสัญญาณภาพโครงสร้างหัวใจได้ชัดขึ้น  
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ (CT scan) วิธีนี้สามารถทำให้แพทย์เห็นภาพโครงสร้างหัวใจ รายละเอียดของลิ้นหัวใจ และวัดขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่
  • การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยสร้างภาพของหัวใจเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบและวัดขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่

การรักษา

รูปแบบการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจํา ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รวมถึงตรวจติดตามความรุนแรงของโรคด้วยการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงทุก 6 – 12 เดือน

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจํา ซึ่งเป็นเรื่องจําเป็นสําหรับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ และเพื่อรักษาสุขภาพและป้องกันโรคหัวใจ ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจให้มากขึ้น รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชในแต่ละมื้อให้มากขึ้น รับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่ไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน รับประทานปลาและสัตว์ปีกแทนเนื้อแดง ลดการบริโภคเกลือ น้ำตาล ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม หากน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักไม่กี่กิโลกรัมจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ พูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงเป้าหมายค่าดัชนีมวลกายและน้ำหนักที่เหมาะสม
  • ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกําลังกายวันละ 30 นาทีและพยายามเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
  • จัดการกับความเครียด การออกกําลังกาย การนั่งสมาธิ หรือการใช้เวลากับคนที่คุณรักสามารถช่วยลดความเครียดได้
  • เลิกสูบบุหรี่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 09 ม.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

    ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นพ. อนุรักษ์ เจียมอนุกูลกิจ

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคความดันโลหิตสูง, โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง , การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคหลอดเลือดส่วนปลายบริเวณแขนขาตีบ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นพ. จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคหัวใจและหลอดเลือด, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน, การรักษาโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันโดยการใส่สายสวน, การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน
  • Link to doctor
    พญ. สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน

    พญ. สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจล้มเหลว การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน, การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, การใช้อัลตราซาวน์ในเส้นเลือดหัวใจเพื่อช่วยการวินิจฉัยและรักษา, การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการสวนหัวใจ ขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวด, การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน
  • Link to doctor
    นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร

    นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    นพ. ชาติ วานิชสวัสดิ์

    นพ. ชาติ วานิชสวัสดิ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    • เวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
  • Link to doctor
    พญ. ศิริพร อธิสกุล

    พญ. ศิริพร อธิสกุล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด