เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ประเภทของภาวะปัสสาวะเป็นเลือด
- อาการปัสสาวะเป็นเลือด
- สาเหตุที่ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัจจัยเสี่ยง
- การตรวจวินิจฉัย
- การรักษาภาวะปัสสาวะเป็นเลือด
ปัสสาวะเป็นเลือด (ปัสสาวะปนเลือด)
ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ปัสสาวะปนเลือด มีผลมาจากการติดเชื้อ การออกกำลังหนักมาก ๆ และโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ หากสังเกตเห็นว่ามีเลือดในปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วปัสสาวะเป็นเลือดจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงได้
ประเภทของภาวะปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะปนเลือดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะมองเห็นได้ว่าสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู แดง หรือสีชา
- ปัสสาวะที่มีเม็ดเลือดแดงปนตรวจพบได้จากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะมองเห็นว่าสีของปัสสาวะนั้นปกติ แต่เมื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมากในปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเป็นเลือด
บางรายอาจมีเลือดในปัสสาวะเท่านั้นและไม่มีอาการอื่น ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะแสบขัด
- ปัสสาวะบ่อย
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดท้องน้อย ปวดหลัง
ควรพบแพทย์เมื่อไร
หากสังเกตเห็นว่าสีของปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอันตราย
สาเหตุที่ปัสสาวะเป็นเลือด
การรับประทานอาหาร เช่น บีตรูตหรือรูบาร์บ หรือยาฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) หรือการมีประจำเดือนอาจทำให้ปัสสาวะมีสีแดงได้ รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- กรวยไตอักเสบ
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อไต
- ต่อมลูกหมากโต
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณทางเดินปัสสาวะ
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- โรคไต
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
- การวิ่งมาราธอน หรือเล่นกีฬาที่มีการปะทะ ซึ่งอาจทำให้ไตและ/หรือกระเพาะปัสสาวะได้รับความเสียหาย
- โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งไต โรคมะเร็งท่อไต โรคมะเร็งท่อปัสสาวะ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด
- อายุ: คนทุกเพศทุกวัย รวมถึง เด็กและวัยรุ่นอาจมีเซลล์เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะได้ แต่ความเสี่ยงจะสูงขึ้นในชายวัยกลางคนขึ้นไป เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อโรคต่อมลูกหมากโต รวมถึงมีความเสี่ยงที่เป็นโรคมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะได้ทั้งเพศหญิงและชาย
- การติดเชื้อทางระบบปัสสาวะ เป็นสาเหตุของปัสสาวะเป็นเลือดในเด็กที่พบได้บ่อย
- ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต
- ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- กีฬาที่มีการปะทะกันหรือการวิ่งมาราธอน
การตรวจวินิจฉัยอาการปัสสาวะเป็นเลือด
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือสัญญาณของโรคไตหรือโรคอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัสสาวะเป็นเลือด
- การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย เช่น อัลตราซาวด์หรือ CT สแกน เพื่อตรวจระบบทางเดินปัสสาวะและตรวจหานิ่วในไตหรือความผิดปกติอื่น ๆ
- การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถตรวจแบบ Day surgery หรือแบบวันเดียวกลับได้
- การตรวจชิ้นเนื้อไต เพื่อหาสัญญาณของโรคไต
การรักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือด
แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะหากสาเหตุของปัสสาวะเป็นเลือดนั้นเกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือรับประทานยาอื่น ๆ หากสาเหตุเกิดจากต่อมลูกหมากโต หากพบว่ามีนิ่วในไต แพทย์อาจให้สลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL)
การป้องกันภาวะปัสสาวะเป็นเลือด
การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างสามารถช่วยลดความเสี่ยงหรือป้องกันปัสสาวะเป็นเลือดได้ ดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะการขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้
- เลิกสูบบุหรี่
- ไม่รับประทานยาแก้ปวดมากจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์รุนแรง
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น การสัมผัสกับสารเคมี โลหะ สีย้อมผ้า ยาง หรือรังสี
- หลีกเลี่ยงการวิ่งทางไกล การออกกำลังกายหนักโดยปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ หรือการออกกำลังกายที่มีการปะทะกัน