เลือกหัวข้อที่อ่าน
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan)
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan เป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายรังสี ซึ่งจะสร้างภาพหลายมิติของอวัยวะภายใน รวมทั้งเส้นเลือด เนื้อเยื่อ และกระดูก ภาพจากการ CT scan จะมีความละเอียดสูงกว่าเอกซเรย์ทั่วไป การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan) ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องผ่าตัด ทั้งยังช่วยตรวจหาเนื้องอกก่อนเป็นมะเร็งในระยะลุกลามทำให้รักษาหายได้อย่างทันท่วงที
ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก(Chest CT Scan) มักใช้เพื่อ
- ตรวจวินิจฉัยโรคปอด
- ช่วยในการวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอก ไอ หายใจหอบ มีไข้ หรืออาการทรวงอกอื่น ๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ด้วยวิธีเบื้องต้น
- ช่วยในการตรวจอาการบาดเจ็บที่ทรวงอก
- ตรวจหาความผิดปกติและเนื้องอกในทรวงอกว่าลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่
- ติดตามดูว่าเนื้องอกตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่
- วางแผนการรักษาด้วยรังสีรักษา
ขั้นตอนของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan)
ก่อนเข้ารับการตรวจ Chest CT Scan
ผู้เข้ารับการตรวจควรแจ้งแพทย์ ในกรณีดังต่อไปนี้
- กำลังตั้งครรภ์
- มีอาการแพ้หรือมีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคเบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์ ซึ่งโรคเหล่านี้จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องฉีดสารทึบรังสี
- แพ้สารทึบรังสี โดยแพทย์อาจให้ยาป้องกันการเกิดอาการแพ้ก่อนทำการตรวจ
แพทย์อาจให้งดน้ำและอาหาร 2-4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ ไม่ควรสวมใส่วัตถุที่เป็นโลหะ เช่น กิ๊บติดผม ฟันปลอมที่ถอดได้ แว่นตา เครื่องช่วยฟัง เครื่องประดับ หรือชุดชั้นในแบบมีโครง เพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายได้
ระหว่างเข้ารับการตรวจ Chest CT Scan
ขั้นตอนการตรวจใช้เวลาประมาณ 30 นาที เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงประเภท Multidetector ช่วยย่นระยะเวลาการตรวจ ขณะได้รับการตรวจแม้จะอยู่เพียงลำพังแต่สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ผ่านอินเตอร์คอม ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจเป็นเด็กแพทย์อาจอนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าไปพร้อมกันได้ โดยจำเป็นต้องใส่เสื้อป้องกันรังสี
- เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายบนเตียง
- หากจำเป็นต้องใช้สารทึบแสง เจ้าหน้าที่จะฉีดสารเข้าทางเส้นเลือดก่อนเริ่มตรวจ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอุ่น ๆ ตามแนวเส้นเลือดที่รับการฉีด รู้สึกมีรสโลหะในปาก หรือเกิดอาการปวดปัสสาวะ อาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดสารทึบแสง
- เตียงจะขยับเพื่อปรับตำแหน่งให้เหมาะสม ผู้เข้ารับการตรวจอาจมองเห็นแสงไฟเป็นเส้นบนลำตัว เมื่อเตียงเคลื่อนเข้าไปในเครื่องสแกนเพื่อทำการถ่ายภาพอาจได้ยินเสียงจากตัวเครื่องเนื่องจาก มีชิ้นส่วนด้านในตัวเครื่องหมุน
- เจ้าหน้าที่จะบอกให้ผู้เข้ารับการตรวจกลั้นหายใจและอยู่นิ่ง ๆ ขณะทำการสแกน ผู้เข้ารับการตรวจไม่ควรขยับตัวเพราะอาจทำให้ภาพถ่ายที่ได้ไม่ชัด
- เจ้าหน้าที่อาจให้ยาระงับความรู้สึกในเด็กหรือผู้ที่รู้สึกอึดอัด เป็นกังวลกับการต้องนอนนิ่ง ๆ ในที่แคบ
- สุดท้ายเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจคุณภาพของภาพถ่ายเพื่อดูว่าภาพถ่ายที่ได้นั้นชัดเพื่อการอ่านและแปลผลอย่างถูกต้องแม่นยำ
หลังเข้ารับการตรวจ Chest CT Scan
- รังสีแพทย์จะทำการแปลและวิเคราะห์ผล
- แพทย์จะอธิบายผลให้ผู้เข้ารับการตรวจฟังและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
- จากนั้นแพทย์อาจจะขอให้เข้ามาตรวจซ้ำในภายหลังเพื่อดูประสิทธิภาพของการรักษา
ข้อดีของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan)
- รวดเร็ว ไม่เจ็บปวด ไม่ต้องผ่าตัด และแม่นยำ
- ถ่ายภาพเส้นเลือด เนื้อเยื่อ และกระดูกได้ละเอียด
- เป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายแบบ real time ซึ่งเหมาะกับการตรวจภาวะเลือดออกภายในหรือการได้รับบาดเจ็บในกรณีฉุกเฉิน
- ไม่ต้องอยู่นิ่งและนานเท่าการตรวจ MRI
- ลดปัญหาเรื่องการต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย
- ผู้ที่ฝังเครื่องมือทางการแพทย์ในร่างกาย เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหัวใจสามารถเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan) ได้ปลอดภัย ต่างจากการตรวจ MRI
- ไม่มีรังสีตกค้างในร่างกาย
- สามารถตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกแบบใช้รังสีต่ำได้ (Low-dose chest CT scan)
ความเสี่ยงของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT Scan)
- ความเสี่ยงต่อบุตรในครรภ์
- อาการข้างเคียงจากการฉีดสารทึบรังสี แต่มักพบได้น้อย
- มีความเสี่ยงเล็กน้อยว่าอาจเกิดการกระตุ้นเซลล์มะเร็งในกรณีที่ได้รับรังสีปริมาณมาก ซึ่งอาจเลี่ยงได้โดยให้การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose CT scan)
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose chest CT scan)
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำเป็นเทคนิคการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจน้อยถึง 65 % ปริมาณรังสีที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับการตรวจแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับขนาดร่างกาย อาการของโรคที่มี และข้อมูลที่แพทย์ต้องการจากการตรวจ โดยทั่วไปนิยมใช้ในผู้ป่วยแผนกเด็กและแผนกโรคปอดในการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้น
บทความโดย
นพ.วรการ วิไลชนม์
อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคปอด
ประวัติแพทย์