โรคงูสวัด (Herpes Zoster / Shingles) สาเหตุ อาการ การรักษา และวัคซีนป้องกัน

งูสวัด (Herpes zoster) เกิดจากอะไร อาการเริ่มแรก กี่วันหาย

งูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส ไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


งูสวัด (Herpes Zoster/Shingles)

งูสวัด (Herpes zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส ไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก ตราบเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ไวรัส VZV ที่ก่อโรคจะกำเริบโดยแสดงออกซึ่งอาการของโรคงูสวัดที่ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน มีผื่นแดงขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท มีตุ่มน้ำใสขึ้น และอาจมีไข้ร่วม งูสวัดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น งูสวัดขึ้นตา อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ที่มีอาการต้องสงสัยด้วยโรคงูสวัดควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและรับยาต้านไวรัสโดยเร็ว

โรคงูสวัด เกิดจากอะไร?

งูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) ที่เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส แต่เมื่อหายดีแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ได้นานหลายปีจนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่จะค่อย ๆ กำเริบโดยการแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และแพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึกและรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปวดตามแนวเส้นประสาท เกิดรอยโรคลักษณะผื่นแดงที่ผิวหนัง ตามด้วยตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่ม พาดยาวตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน เจ็บแปลบตามร่างกาย ปวดหัว และอาจมีไข้ร่วม ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัดด้วยกันทั้งสิ้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัด คือใคร?

•    ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
•    ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ 
•    ผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน
•    ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) 
•    ผู้ที่เป็นมะเร็ง
•    ผู้ป่วยติดเตียง 
•    ผู้ที่มีความเครียด
•    ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
•    ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
•    ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
•    ผู้ที่รับยาเคมีบำบัด
•    ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน
•    ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต

อาการงูสวัด เป็นอย่างไร?

อาการงูสวัดแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. งูสวัดระยะเริ่มมีอาการ (Preeruptive phase)
    เป็นระยะที่เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่ แพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึก (Sensory ganglion) และรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชา เจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนข้างใดข้างหนึ่ง (unilateral) ของผิวหนังตามแนวเส้นประสาท ร่วมกับมีอาการคัน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ท้องเสียหรือมีภาวะตาสู้แสงไม่ได้ งูสวัดระยะเริ่มมีอาการมีระยะเวลาประมาณ 1-3 วัน แต่จะยังไม่มีรอยโรคขึ้นที่ผิวหนัง
  2. งูสวัดระยะออกผื่น (Acute eruption phase)
    เป็นระยะที่มีรอยโรคขึ้นเป็นผื่นแดงที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ตามด้วยตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นพาดเรียงกันเป็นกลุ่มยาวตามแนวปมประสาทที่บริเวณด้านซ้ายหรือด้านขวาของสีข้างลำตัว แผ่นหลัง หรือขา ด้านในด้านหนึ่งของใบหน้า ดวงตา หรือลำคอ โดยผื่นงูสวัดจะไม่กระจายตัวทั่วไปเหมือนผื่นโรคอีสุกอีใสและจะขึ้นเต็มที่ภายใน 3-5 วัน ผู้ที่เป็นงูสวัดระยะออกผื่นจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บแปลบที่ผิวหนังแม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า ต่อมาผื่นจะแตกออกกลายเป็นแผล ค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังภายใน 10-15 วัน ทั้งนี้ ผื่นงูสวัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นปกติ มักขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคเอดส์ หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัด ผื่นงูสวัดอาจมีความรุนแรงกว่าและอาจขึ้นแบบพันรอบตัว
  3. งูสวัดระยะฟื้นหายจากโรค (Chronic phase)
    เป็นระยะหลังจากที่โรคงูสวัดสงบลง ผื่นงูสวัดจะค่อย ๆ ยุบตัวลง รอยโรคที่ผิวหนังตามแนวปมประสาทจะค่อย ๆ จางหาย แต่จะยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น อาการปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนมีเข็มทิ่มตำ หรือเจ็บแปล๊บ ๆ ตามแนวเส้นประสาทตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจมีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ บางรายอาจปวดไปอีกนานหลายปี

งูสวัดหลบใน (Zoster Sine Herpete: ZSH)
ผู้ที่เป็นงูสวัดบางรายอาจมีอาการงูสวัดหลบใน โดยจะมีอาการชา คัน ปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทรับความรู้สึกแต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการงูสวัดหลบใน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคงูสวัดโดยการซักประวัติหากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน และทำการตรวจร่างกายดูรอยโรคที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคงูสวัด โดยการตรวจลักษณะผื่นหรือตุ่มน้ำตามร่างกายว่ามีการกระจายตัว หรือขึ้นกระจุกตัวเรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวยาวที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายร่วมกับมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน หรือมีไข้หรือไม่ ในกรณีที่ตรวจไม่พบรอยโรค หรือสงสัยว่าอาจเป็นงูสวัดหลบใน แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้

  • การตรวจ Tzanck smear เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคงูสวัดโดยการเจาะตุ่มน้ำและขูดตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ฐานของตุ่มน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยทำการป้ายลงบนแผ่นสไลด์ ทิ้งไว้ให้แห้ง และนำมาย้อมด้วยสีไรท์-กีมซ่า (Wright-Giemsa) เพื่อดูลักษณะเซลล์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจที่มีความสะดวก รวดเร็ว แต่อาจไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างโรคงูสวัดกับโรคเริมได้
  • การเพาะเชื้อไวรัส (Viral culture) เป็นการนำตัวอย่างเซลล์ตุ่มน้ำมาทำการเพาะเลี้ยงในน้ำเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษเพื่อหาเชื้อไวรัส VZV โดยให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำราว 60-90%
  • การตรวจชีวโมเลกุล หรือการตรวจ PCR (Polymerase chain reaction) เป็นการตรวจทางอิมมูโนวิทยาเพื่อหาแอนติบอดีจำเพาะที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัสหลังมีอาการต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคงูสวัด การตรวจ PCR เป็นการตรวจที่มีความไวและมีความจำเพาะต่อเชื้อสูงและให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำมากกว่าการเพาะเชื้อ 2-3 เท่า

การรักษางูสวัด มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการรักษาโรคงูสวัดด้วยหลักการเร่งบรรเทาความรุนแรงของโรค ลดอาการเจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ร่างกายหายจากโรคโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษางูสวัดตามระยะอาการของโรคที่ตรวจพบควบคู่กับการให้ยา ทั้งนี้การรักษาโรคงูสวัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการเริ่มรักษาทันทีที่ผื่นงูสวัดขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมง การรรักษางูสวัดมีวิธีการดังนี้

  • การให้ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs) แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Famciclovir หรือ Valaciclovir เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอาการอักเสบและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง ลดอาการปวดแสบปวดร้อน ช่วยให้ตุ่มน้ำยุบตัวลงเร็วขึ้น ช่วยลดการเกิดผื่นซ้ำ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคโดยเร็ว และช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด
  • การให้ยาต้านแบคทีเรีย (Antibacterial drugs)แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านแบคทีเรีย เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาในผู้ที่เป็นงูสวัดแล้วเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด และเร่งให้ผื่นงูสวัดยุบตัวลงโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่งูสวัดขึ้นตา หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า
  • การให้ยาแก้ปวด (Pain reliever) ในกรณีที่อาการงูสวัดมีความเจ็บปวดรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยากลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อทุเลาอาการปวด

ภาวะแทรกซ้อนโรคงูสวัด เป็นอย่างไร?

  • อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia: PHN) โดยพบว่าราว 5-30% ของผู้ป่วยโรคงูสวัดที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะยังคงมีอาการปวดเส้นประสาทต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน แม้ว่าผื่นงูสวัดจะหายแล้ว ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการมักสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วย โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าคนอายุน้อย ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดอาจต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต ส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก อวัยวะส่วนที่ปวดไม่มีแรง หรือขยับอวัยวะส่วนที่ปวดได้น้อย
  • “งูสวัดขึ้นตา” (Herpes zoster ophthalmicus/Ocular shingles) เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดที่ทำให้เกิดผื่นงูสวัดขึ้นรอบดวงตา จนทำให้เกิดการระคายเคืองตาและมีอาการเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือจอประสาทตาอักเสบ ส่งผลทำให้เกิดตาพร่ามัว ตาสู้แสงไม่ได้ มีปัญหาในการมองเห็น เป็นต้อ หรือในกรณีร้ายแรงอาจทำให้ตาบอด เป็นโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ผู้ที่มีอาการงูสวัดขึ้นตาควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological problems) งูสวัดอาจทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและสมอง ทำให้ใบหน้าเป็นอัมพาต และอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือการทรงตัว
  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง (Bacterial skin infections) หากไม่ได้รักษาความสะอาดให้ดี งูสวัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่ทำให้ผื่นยุบตัวช้าลง เป็นรอยแดง และเกิดรอยแผลเป็น
  • อาการปวดรุนแรง (Severe pain) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่รับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง เมื่อเป็นโรคงูสวัดจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าผู้อื่น และยังสามารถแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เส้นเลือดสมองอุดตัน เส้นเลือดสมองแตก (ในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังรุนแรง)
  • โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนโรคงูสวัดที่พบได้น้อยมาก

งูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย จริงหรือไม่?

งูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย เป็นความเชื่อที่ไม่จริง ในผู้ป่วยงูสวัดบางราย ผื่นงูสวัดอาจขึ้นพร้อมกันได้ทั้ง 2 ด้าน ทั้งซ้ายและขวา จนทำให้ดูเหมือนว่างูสวัดกำลังพันรอบตัว แต่โดยมากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคงูสวัด จะเสียชีวิตจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วยโรคงูสวัด ซึ่งการติดเชื้อไวรัส VZV จะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสียชีวิตลงในวลาต่อมา ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบมากในผู้ป่วยงูสวัดที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?

  • รีบพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสทันทีภายใน 48-72 ชั่วโมงที่มีอาการเจ็บแปลบ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ร่วมกับมีไข้
  • ทานยา และทายาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดรอยโรค และลดภาวะแทรกซ้อน
  • ประคบเย็นด้วยเจลประคบเย็น และปิดผื่นไว้แบบหลวม ๆ
  • ไม่ใช้ยาสมุนไพร ยาพ่น หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาตามแพทย์สั่งทาผื่นงูสวัดหรือบริเวณผื่นคัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ซึ่งทำให้แผลหายช้า หรืออาจทำให้เป็นแผลเป็น
  • ไม่เกาที่ผื่นงูสวัดหรือบริเวณผื่นคัน หากเล็บยาว ให้ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • หากมีแผลเปิด ให้ปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • หมั่นล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
  • ใส่เสื้อผ้าหลวม ไม่รัดแน่น เพื่อป้องกันผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้า

การป้องกันงูสวัด มีวิธีการอย่างไร?

  1. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด: ผู้ที่เคยหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนในวันเด็ก ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทุกคน สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดที่อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา 
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง: ผู้ที่เป็นงูสวัดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายลุกลามสู่ผู้อื่นซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เด็กเล็ก หรือสตรีมีครรภ์ และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ที่นอน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของผู้ที่เป็นโรคงูสวัดออกจากผู้อื่น
  3. หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง: การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กับการออกกำลังกาย การทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด และการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคงูสวัดได้

วัคซีน งูสวัด

ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ในปัจจุบัน วัคซีนงูสวัดได้รับการพัฒนาออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดได้ดียิ่งขึ้น วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในไทยมี 2 ชนิด ได้แก่

  1. Zoster vaccine live (ZVL): เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) จำนวน 1 เข็ม โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 50-59 ปีได้ 69.8%
  2. Shingrix vaccine (Recombinant subunit zoster vaccine: RZV): เป็นวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่จำนวน 2 เข็ม เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (non-live vaccine) ที่ผลิตจากไกลโคโปรตีนอี (Glycoprotein E) ที่เป็นโปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัส VZV ที่ได้รับพัฒนาให้สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

คำแนะนำการในการรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่ Shingrix vaccine

  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป: ให้ฉีดจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 2-6 เดือน 
  • ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำเนื่องจากโรคหรือการรับการรักษา: ให้ฉีดจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 1-2 เดือน

วัคซีน Shingrix เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปได้ถึง 97% มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้ 68-91% มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) ได้ถึง 91.2% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดตลอด 10 ปีหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ถึง 89% 


งูสวัดกี่วันหาย?

โดยทั่วไป งูสวัดสามารถหายได้ภายใน 3-5 สัปดาห์ นับตั้งแต่ระยะเริ่มมีอาการจนถึงระยะฟื้นหายจากโรค อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงนับจากที่เริ่มมีอาการ อาจหายจากโรคงูสวัดได้ภายใน 2 สัปดาห์

งูสวัด ไวรัสที่ป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีน

ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคน ล้วนมีความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ โรคงูสวัดทำให้มีอาการเจ็บปวดทรมาน เกิดภาวะแทรกซ้อน และกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้หายจากโรคโดยเร็ว
งูสวัด สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ การทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและคงไว้ซึ่งภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัดทุกคน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้จากโรงพยาบาลชั้นนำที่มีวัคซีนไว้คอยบริการ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันโรคงูสวัดและภาวะแทรกซ้อน ทั้งยังช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงในระยะยาวได้

คำถามที่พบบ่อย

  1. โรคงูสวัด อาการเริ่มแรก เป็นอย่างไร?
    งูสวัดเริ่มแรก มีอาการคัน เจ็บแปลบ รู้สึกปวดคล้ายมีเข็มทิ่มตำ และปวดแสบปวดร้อนภายใน 1-3 วัน ก่อนจะมีผื่นแดงขึ้นเป็นกระจุกเรียงกันเป็นแถวยาวทอดตัวตามแนวเส้นประสาท และกลายเป็นตุ่มน้ำใสที่ค่อย ๆ แตกออกและยุบตัวลงไปภายใน 10-15 วัน บางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว และอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทตามมาในภายหลัง
  2. งูสวัด เริม ต่างกันอย่างไร?
    งูสวัด เริม มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human herpesvirus (HHV) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกัน คือ Herpesvirus family แต่ต่างกันที่ชนิดของเชื้อไวรัสและลักษณะรอยโรคที่ปรากฏบนผิวหนัง โดยงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส VZV ที่ทำให้มีตุ่มน้ำใสขึ้นพาดยาวตามแนวปมประสาท เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 ที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสขึ้นที่ปาก หรืออวัยวะเพศ
  3. งูสวัด ติดต่อไหม?
    งูสวัดสามารถติดต่อแพร่กระจายสู่ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อไวรัสเข้าไป การไอจามหกรด หรือการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำใสหรือน้ำเหลืองของแผลในผู้ที่เป็นงูสวัดที่มีเชื้อไวรัส VZV ที่ผิวหนังจนทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยงูสวัดออกจากกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือสตรีมีครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคงูสวัดที่อาจเกิดขึ้น
  4. งูสวัด ห้ามกินอะไร?
    • ผู้ที่เป็นโรคงูสวัด ควรงดทานอาหารดังต่อไปนี้
    • งดอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (High glycemic carbohydrate) เช่น แป้งขัดขาว เบเกอรี่ เค้ก ขนมหวาน ลูกอม น้ำหวาน
    • งดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง (Foods high in saturated fat) เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีไขมันทรานส์
    • งดอาหารที่มีสารอาร์จีนินสูง (High arginine) เช่น เนื้อแดง เนื้อสัตว์ปีก ถั่วเมล็ดแห้ง ช็อกโกแลต
    • งดอาหารที่ผ่านการแปรรูปอย่างหนัก (Highly processed foods) เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เนย มาการีน ไอศกรีม
    • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
  5. งูสวัดหายเองได้ไหม?
    ในผู้ร่างกายแข็งแรง งูสวัดอาจหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยโรคงูสวัด เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (PHN) หรือ ความผิดปกติทางระบบประสาท เป็นต้น
  6. งูสวัด กับ อีสุกอีใส ต่างกันอย่างไร?
    งูสวัด กับ อีสุกอีใส ต่างกันที่ลักษณะของผื่น โดยผื่นงูสวัดมักขึ้นพาดเป็นแนวยาว ไม่กระจายตัวทั่วร่างกายเหมือนผื่นอีสุกอีใส ผื่นงูสวัดมักขึ้นเฉพาะตามแนวปมประสาทรับความรู้สึกที่ไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ซ่อนตัวอยู่ โดยเริ่มจากการมีผื่นแดงขึ้นนำมาก่อน แล้วจึงกลายเป็นตุ่มน้ำใส บวม แล้วจึงจะแตกและตกสะเก็ดไปในที่สุด โดยบริเวณที่มักพบผื่นงูสวัด ได้แก่ รอบเอว หรือแนวชายโครง แผ่นหลัง ขา ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า ดวงตา หรือลำคอ โดยอาการของโรคงูสวัดมักรุนแรงกว่าอาการของโรคอีสุกอีใสและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์หากไม่รีบรักษา

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง


Herpes Zoster

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 11 เม.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน
  • Link to doctor
    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การจัดการโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีและการปฏิบัติตัว, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

    พญ. ศิรญา ไชยะกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต, โรคติดเชื้อหลังปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามหรือไวรัส