สาเหตุปวดที่ศีรษะ  อาการและการรักษาอาการปวดศีรษะ - Causes of  Headache, Symptoms and Treatments of  Headache

ปวดหัว (Headache) มีกี่ประเภท สาเหตุ อาการ การรักษา

ปวดหัว (Headache) หรือปวดศีรษะ คือ ลักษณะอาการปวดที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบริเวณศีรษะ อาการปวดหัวมีหลายรูปแบบทั้งปวดหัวแบบถูกกดบีบ ปวดหัวแปล๊บ ๆ ปวดหัวจี๊ด ๆ ปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวตื้อ ๆ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ปวดหัว (Headache)

ปวดหัว (Headache) หรือปวดศีรษะ คือ ลักษณะอาการปวดที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบริเวณศีรษะ อาการปวดหัวมีหลายรูปแบบทั้งปวดหัวแบบถูกกดบีบ ปวดหัวแปล๊บ ๆ ปวดหัวจี๊ด ๆ ปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวตื้อ ๆ อาจปวดหัวแบบค่อย ๆ ปวดหรือปวดหัวแบบฉับพลัน มีระยะเวลาในการปวดน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงไปจนถึงปวดนานหลายวัน ปวดหัวที่ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะหรือปวดทั้งสองข้าง ปวดหัวเพียงตำแหน่งเดียว หรือปวดจากตำแหน่งหนึ่งแล้วแพร่กระจายไปทั่วศีรษะ อาการปวดหัวบางชนิดอาจมีสาเหตุจากโรคร้ายแรงในสมองที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

ปวดหัว มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุของอาการปวดหัวเกิดจากโครงสร้างที่ไวต่อความรู้สึกเจ็บปวดภายในกะโหลกศีรษะ รอบ ๆ ศีรษะ เส้นประสาท หรือหลอดเลือดถูกดึงรั้ง เกิดการอักเสบ หรือบาดเจ็บ โดยกลไกเหล่านี้จะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองโดยการกระตุ้นเส้นประสาทที่อยู่รอบโครงสร้างศีรษะให้ส่งสัญญาณของความเจ็บปวดไปยังสมองส่วนกลาง ทำให้รู้สึกมีอาการปวดหัว

Headache Banner 4

ปวดหัว มีกี่ประเภท?

อาการปวดหัวมีหลายประเภท โดยสาเหตุและตำแหน่งของอาการปวดหัวจะเป็นตัวกำหนดว่าเป็นการปวดหัวว่าประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นการปวดหัวแบบทั่วไป หรือเป็นการปวดหัวแบบที่เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยทั่วไป อาการปวดหัวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ การปวดแบบปฐมภูมิ และการปวดหัวแบบทุติยภูมิ

อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary headaches)

อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary headaches) คือกลุ่มอาการปวดหัวที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคอื่น และไม่ได้เป็นอาการปวดหัวชนิดอันตรายที่เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แต่เป็นการปวดหัวที่เกิดจากโครงสร้างที่ไวต่อความเจ็บปวดทำงานผิดปกติ ทั้งนี้ อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิบางอาการอาจได้รับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ประเภทของการปวดหัวแบบปฐมภูมิ ได้แก่

  • ปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type headaches) เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียด การทำงานหนัก และการพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยมีอาการปวดหัวทั้งสองข้างแบบรัดรอบศีรษะ หรือปวดที่ขมับร้าวไปที่ท้ายทอย โดยมีระยะเวลาในการปวดตั้งแต่ 30 นาทีจนถึงหลายวัน โดยมักมีอาการช่วงบ่ายหรือเย็น
  • ปวดหัวไมเกรน (Migraine headaches) เป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง หรือหลอดเลือดบริเวณศีรษะขยายตัวผิดปกติ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนในเพศหญิง ความเครียด การนอนไม่พอ สภาพแวดล้อมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ความร้อน แสง สี เสียง สารเคมีหรือกลิ่นบางชนิด โดยมีอาการปวดหัวข้างเดียวที่ขมับและอาจสลับข้างปวดได้ มีอาการปวดหัวแบบตุบ ๆ คล้ายจังหวะการเต้นของชีพจร โดยมีอาการปวดหัวในระดับปานกลางถึงรุนแรง มีระยะเวลาการปวดตั้งแต่ 4 ชั่วโมงไปจน 3 วัน และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว บ้านหมุน ตาสู้แสงไม่ได้ หรือชาตามร่างกายร่วมด้วย
  • ปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster headaches) เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 และเส้นเลือดโดยรอบรวมถึงปฏิกิริยาเคมีในสมอง โดยมีอาการปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรง ปวดแปล๊บ ๆ ปวดตุบ ๆ เป็นระยะจนน้ำตาไหล เหงื่อออก หนังตาตก และรูม่านตาหด มีอาการปวดหัวเป็นชุด ๆ 1-3 ครั้งต่อวันนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 3 เดือนจากนั้นอาการปวดหัวจึงหายไป 
  • ปวดหัวต่อเนื่องทุกวัน (New daily persistent headaches: NDPH) เป็นอาการปวดหัวแบบฉับพลันทั้งสองข้างหรือข้างเดียวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีภาวะตาสู้แสงไม่ได้คล้ายกับอาการปวดหัวไมเกรน อาการปวดหัวต่อเนื่องทุกวันเป็นอาการปวดหัวแบบที่พบได้น้อยมากและไม่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการอักเสบภายในโครงสร้างรอบศีรษะ การติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยการแพทย์ผู้ชำนาญการ

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ มีอะไรบ้าง?

  • การมองแสงจ้า หรือแสงกระพริบ
  • การใช้สายตา หรือการเกร็งต้นคอเป็นเวลานาน
  • การมีประจำเดือน
  • การสัมผัสกับอากาศร้อน หรืออากาศเย็น
  • ความเครียด
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • อาหารบางชนิด เช่น อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่มีไนเตรท (Nitrates)
  • การนอนไม่เป็นเวลา การอดนอน
  • การออกกำลังกายอย่างหนักจนเกินไป
  • การอดอาหาร

โดยทั่วไป อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิมักไม่เป็นอันตราย แต่อาจส่งผลรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันได้

อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary headache)

อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary headache) คือกลุ่มอาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างกะโหลกศีรษะหรือภายนอกกะโหลกศีรษะ มีอาการปวดหัวทั้งแบบที่ไม่เป็นอันตรายที่สามารถรักษาให้หายได้ และแบบที่เป็นอันตรายต่อชีวิตที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

  • อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิที่มีสาเหตุจากโครงสร้างภายนอกกะโหลกศีรษะและส่วนลำคอ เช่น ปวดหัวไซนัส ปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำ ปวดหัวจากการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดที่ศีรษะและลำคอ ปวดฟันอย่างรุนแรงร้าวไปที่ศีรษะ โรคต้อหิน หรือความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร
  • อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิที่มีสาเหตุจากโครงสร้างภายในกะโหลกศีรษะ เช่น บริเวณสมอง หลอดเลือด เส้นประสาท ได้แก่ เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองแตก ความดันในกะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดสมองโป่งพอง โพรงน้ำในสมองคั่งผิดปกติ ฝีในสมอง มะเร็งสมอง หรือหลอดเลือดดำสมองอุดตัน
  • ปวดหัวไซนัส (Sinus headaches) เป็นอาการปวดหัวทั่วทั้งใบหน้าตามบริเวณโพรงไซนัส เช่น หน้าผาก ดั้งจมูก กระบอกตา โดยมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ไข้หวัด โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ผู้ที่มีอาการปวดหัวไซนัสจะมีอาการปวดหัวชัดเจนเมื่อก้มศีรษะ หรือก้มตัว อาจมีไข้ ใบหน้าบวม มีเสมหะ และน้ำมูกไหล
  • ปวดหัวแบบสายฟ้าฟาด (Thunderclap headache) เป็นการปวดหัวแบบฉับพลัน รุนแรงที่เกิดขึ้นแบบกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือน อาจเป็นอาการนำที่นำไปสู่ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ร้ายแรง เช่น เลือดออกในสมอง หลอดเลือดสมองหดตัว หรือหลอดเลือดดำสมองอุดตัน

Headache Banner 7

อาการปวดหัวแบบไหนที่ควรพบแพทย์?

  • ปวดหัวรุนแรงแบบฉับพลัน ทันทีทันใด 
  • ปวดหัวรุนแรงที่สุดในชีวิต
  • ปวดหัวร่วมกับมีอาการอื่น เช่น มีไข้ ชักเกร็ง ซึม สับสน พฤติกรรมเปลี่ยน แขนขาอ่อนแรง มีอาการชา การพูดมีปัญหา ใบหน้าหรือปากเบี้ยว หรือการมองเห็นผิดปกติ
  • ปวดหัวเรื้อรัง ปวดหัวบ่อย ๆ จนต้องทานยาแก้ปวดเป็นประจำ
  • ปวดหัวเฉพาะเวลาไอ หรือจาม
  • อาการปวดหัวที่เริ่มเกิดขึ้นใหม่หลังอายุ 50 ปี
  • อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์

Headache Banner 6

การวินิจฉัยอาการปวดหัว มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการปวดหัวโดยการตรวจร่างกายเบื้องต้น และทำการซักประวัติโดยละเอียดซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดหัว เช่น ปวดหัวตรงไหน มีอาการปวดอย่างไร ปวดมากแค่ไหน ปวดบ่อยแค่ไหน ปวดมานานเท่าไหร่ อาการปวดคงที่หรือรุนแรงขึ้น ในขณะปวดสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้หรือไม่ มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ทำอย่างไรเพื่อให้หายปวด ยาที่ทานเป็นประจำ โรคประจำตัว ประวัติการได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันที่มีอาการปวดหัว และรวมถึงไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมด้วยวิธีการ ดังนี้

  • การทำ MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นการตรวจศีรษะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบ 3 มิติที่มีความละเอียดและความคมชัดสูง สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในศีรษะเพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหัวได้ เช่น เนื้องอก มะเร็ง เลือดออกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม และอื่น ๆ เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรืออันตรายแต่อย่างใด และมีการประมวลผลด้วยระบบ AI ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ ช่วยให้ระบุสาเหตุแห่งโรคได้อย่างชัดเจน
  • การตรวจด้วยเครื่องเพทและซีที (PET/CT scan) เป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมระหว่างเครื่องเพท (PET: Positron emission tomography) และซีที หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติประสิทธิภาพสูงเพื่อหาความผิดปกติของโครงสร้างภายในศีรษะที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว เช่น เส้นเลือด เนื้องอก มะเร็ง และความผิดปกติอื่น ๆ รวมถึงช่วยประเมินผลการรักษาและการพยากรณ์โรค และช่วยให้การรักษาอาการปวดหัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Headache Banner 5

การรักษาอาการปวดหัว มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาอาการปวดหัวตามผลการตรวจวินิจฉัยโรคที่ได้รับทั้งสาเหตุของอาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ และอาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ โดยพิจารณาจากปัจจัยเฉพาะบุคคล เช่น สิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวดหัว สุขภาพโดยรวม ประวัติทางการแพทย์ อายุ ระยะเวลาในการปวดหัว หรือระดับความรุนแรงของอาการปวดหัว 

แนวทางการรักษาอาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ 

  • การรักษาโดยการให้ยา (Medications) เช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น Ibuprofen, Naproxen หรือกลุ่มยาแก้ปวดสำหรับไมเกรน เช่น Triptans, Ergot ทั้งนี้การใช้ยาดังกล่าวควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
  • การให้ยาป้องกันอาการปวดหัว (Preventive medications) แพทย์อาจพิจารณาให้ยาป้องกันอาการปวดหัวสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวบ่อยเพื่อช่วยลดความถี่ และความรุนแรงของอาการปวดหัว
  • การฝึกการจัดการกับความเครียด (Stress management) การฝึกลมหายใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ดนตรีบำบัด
  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ความเครียด การอดนอน หรือการดื่มแอลกอฮอล์
  • การฝึกการควบคุมร่างกายเพื่อสร้างสมดุล (Biofeedback) เป็นกระบวนการบำบัดโดยแพทย์ร่วมกันกับผู้ชำนาญการสหวิชาชีพที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจการทำงานของสัญญาณชีพ ลมหายใจ ชีพจร อุณหภูมิร่างกาย ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการบริหารสมอง
  • การฉีดโบท็อกซ์ (Botox injections) (*ปวดหัวแบบไมเกรน ในการพิจารณาของแพทย์)
  • การทำกายภาพบำบัด (Physical therapy)
  • การฝังเข็ม (Acupuncture)

แนวทางการรักษาอาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ

แนวทางการรักษาอาการปวดหัวแบบทุติยภูมิที่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติภายในกะโหลกศีรษะ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก ตีบ ตัน เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งในสมอง ได้แก่

  • การรักษาโดยการให้ยา (Medication treatments) 
  • การผ่าตัด (Surgery)
  • การบำบัดด้วยรังสี (Radiotherapy)
  • การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy)
  • การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy)
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

Headache Banner 2

วิธีบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น มีวิธีการอย่างไร?

อาการปวดหัวแบบไม่รุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปจากร้านขายยาโดยเภสัชกร การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือการหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ทุเลาลงหรือมีอาการปวดหัวรุนแรงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น วิธีการบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น มีวิธีการดังนี้

  • การทานยาแก้ปวดเบื้องต้น เช่น Paracetamol, Ibuprofen
  • การพักสายตาจากหน้าจอ หรือการทำงานหนักชั่วคราว
  • การประคบร้อน หรือประคบเย็นที่ศีรษะ
  • การออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย
  • การนวดศีรษะ คอ หรือหลัง
  • การพักผ่อนในที่ที่มีแสงน้อย และเงียบสงบ 
  • การออกไปเดินเล่นเพื่อผ่อนคลาย
  • การฟังเพลงสบาย ๆ 
  • การเล่นกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหัว เป็นอย่างไร?

อาการปวดหัวโดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตามอาการปวดหัวสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการรักษา หรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุของอาการปวดหัวนั้น

  • ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ เช่น การใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด (NSAIDs) จนอาจทำให้มีอาการปวดท้อง และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาการปวดหัวจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดที่หากหยุดยาแล้วอาการปวดหัวจะกำเริบ อาการปวดหัวไมเกรนต่อเนื่องยาวนานกว่า 72 ชั่วโมงโดยอาการไม่ทุเลาลง อาการปวดหัวไมเกรนที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด (Migrainous infarction) หรืออาการชักที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัวไมเกรน (Migraine-associated seizer)
  • ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ มักเกิดจากสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหัวนั้น เช่น เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งในสมอง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาสาเหตุเหล่านี้โดยการให้ยา การผ่าตัด หรือการให้เคมีบำบัดเพื่อรักษาอาการปวดหัว

ผู้ที่มีอาการปวดหัวเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากอาการปวดหัวควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาอาการปวดหัวและภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Headache Banner 3

การป้องกันอาการปวดหัว มีวิธีการอย่างไร?

  • อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิสามารถป้องกันได้ด้วยการหาสาเหตุของอาการปวดหัว หรือปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้น เช่น การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ การทานอาหารให้ครบทุกมื้อและดื่มน้ำให้เพียงพอ การจำกัดปริมาณการดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายแต่พอดี การทำจิตใจให้ผ่อนคลายจากความเครียด การทำสมาธิ หรือแม้กระทั่งการหลีกเลี่ยงกลิ่นน้ำหอมบางกลิ่นที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำ
  • อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิเป็นอาการปวดหัวที่ไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากเป็นการปวดหัวที่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติภายในโครงสร้างกะโหลกศีรษะ ผู้ที่มีอาการปวดหัวแบบรุนแรงฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการปวดหัวร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาทเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุแห่งโรค และรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้หายจากโรคหรือเพื่อให้อาการปวดหัวทุเลาลง 

ปวดหัวบ่อย ๆ ปวดหัวไม่หาย ตรวจหาสาเหตุได้ ช่วยหายปวดหัว

ผู้ที่มีอาการปวดหัวอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ทานยาแก้ปวดทุกวันหรือเกือบทุกวันแต่ก็ยังไม่หายปวดหัว ผู้ที่มีอาการปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีท่าทีว่าอาการจะดีขึ้น ควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาทเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยรวมถึงการซักประวัติ การวินิจฉัยโรคระบบประสาท และการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหัวที่แท้จริงและช่วยให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ การตรวจอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้รักษาอาการได้ไว ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากอาการปวดหัว และช่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติสุข

แพ็กเกจที่เกี่ยงข้อง


บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 21 พ.ย. 2023

แชร์