สาเหตุ วิธีการรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด - Leakage, Causes and Treatment for Urinary incontinence

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence)

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือการมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ สามารถแบ่งภาวะนี้ได้เป็นหลายประเภท วิธีรักษาภาวะนี้จะพิจารณาตามความรุนแรง ประเภท และสาเหตุ นอกจากนี้ อาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันรักษา

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) คือการมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ สามารถแบ่งภาวะนี้ได้เป็นหลายประเภท วิธีรักษาภาวะนี้จะพิจารณาตามความรุนแรง ประเภท และสาเหตุ นอกจากนี้ อาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันรักษา

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่คืออะไร?

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่คือการมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ สามารถแบ่งภาวะนี้ได้เป็นหลายประเภท เมื่อมีภาวะนี้ ผู้ป่วยจะปัสสาวะออกมาโดยควบคุมไม่ได้ ส่วนมาก ผู้ที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวันหรือมากกว่านั้น รวมถึงปัสสาวะในเวลากลางคืนหลายครั้ง

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้

  • อาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (Stress Incontinence) เป็นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดจากการมีแรงดันเพิ่มขึ้นที่กระเพาะปัสสาวะ ไม่ว่าจะจากการไอ หัวเราะ หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • อาการปัสสาวะราดทันที (Urge Incontinence หรือ Urgency Incontinence) เป็นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะฉับพลันและไปไม่ถึงห้องน้ำก่อนที่ปัสสาวะราดออกมา
  • ปัสสาวะเล็ดและราดร่วมกัน (Mixed Incontinence) เป็นภาวะที่มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงร่วมกับอาการปัสสาวะราดทันที โดยกว่าร้อยละ 30-50 ของผู้หญิงที่มีอาการปัสสาวะราดทันที จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงร่วมด้วย
  • ปัสสาวะล้น (Overflow Incontinence) เกิดจากการที่ไม่สามารถปัสสาวะจนหมดกระเพาะได้ ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีปริมาณปัสสาวะล้น จนปัสสาวะเล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่กิจกรรมที่ทำในทุกวันไปจนถึงอาการป่วยที่มีหรือปัญหาทางกายอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แบบชั่วคราว

สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชั่วคราว ส่วนมากมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยา อาการท้องผูก และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

  • อาหาร เครื่องดื่ม และยาที่อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • แอลกอฮอล์
    • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
    • คาเฟอีน
    • น้ำอัดลมและโซดา
    • ช็อกโกแลต
    • พริก
    • วิตามินซี (ปริมาณมาก)
    • ยาบางชนิดในกลุ่มยารักษาโรคหัวใจและความดันโลหิต ยาคลายกล้ามเนื้อ และยากล่อมประสาท
  • อาการทางกายบางอาการอาจก่อให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ: การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้รู้สึกปวดปัสสาวะฉับพลัน หรือกระทั่งการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • ท้องผูก: เนื่องจากไส้ตรงกับกระเพาะปัสสาวะมีระบบประสาทร่วมกัน อาการท้องผูกอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกินปกติ

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นประจำ 

ส่วนมาก สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นประจำคืออาการทางสุขภาพและปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

  • การตั้งครรภ์: อาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยมีสาเหตุจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและน้ำหนักของลูกในครรภ์ที่เพิ่มขึ้น
  • การคลอดบุตร: การคลอดธรรมชาติทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง ส่งผลให้ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้แย่ลง จนกระทั่งอุ้งเชิงกรานหย่อนตัว เมื่ออุ้งเชิงกรานหย่อนตัว กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก และมดลูกอาจยื่นไปในช่องคลอด ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • อายุ: เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะจุได้จะลดลง กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวโดยไม่ตั้งใจมากขึ้น
  • วัยหมดประจำเดือน: หลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะแข็งแรงน้อยลง ทำให้เยื่อบุเสื่อมสภาพ ซึ่งการเสื่อมสภาพนี้เองทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปัญหาที่ต่อมลูกหมาก: โรคต่อมลูกหมากโตอาจเป็นสาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายสูงวัย นอกจากนี้ การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากยังสัมพันธ์กับอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงและอาการปัสสาวะราดทันทีด้วย 
  • การอุดตัน: เมื่อมีสิ่งมาอุดตันทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะปัสสาวล้น นอกจากนี้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะนิ่วจะระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคทางระบบประสาท: โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง รวมถึงเนื้องอกในสมออาจปิดกั้นการส่งสัญญาณที่มีส่วนในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัจจัยอื่นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

  • โรคเบาหวาน
  • การตัดมดลูกหรือการผ่าตัดเชิงกราน
  • การสูบบุหรี่
  • การฉายรังสีรักษาโรคที่เชิงกราน

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องใส่แพมเพิท - symptoms of urinary incontinence

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอาการอย่างไร?

อาการหลักของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือ การมีปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะราด จากกระเพาะปัสสาวะโดยควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าปริมาณที่ออกมาจะน้อยหรือมากจนไม่เหลือปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ โดยปัสสาวะอาจเล็ดเมื่อหัวเราะ ไอ จาม หรือออกกำลังกาย

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย (เกิน 8 ครั้งต่อวัน)
  • ตื่นตอนกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อมาปัสสาวะ (ภาวะลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืน หรือ Nocturia)
  • ปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาการแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง?

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดขึ้นเรื้อรังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน ดังนี้

  • ผื่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง และอาการปวดที่เกิดขึ้นเพราะผิวหนังเปียกตลอดเวลา
  • เสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำ ๆ ในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

แพทย์อาจตรวจส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อุ้งเชิงกรานหรือต่อมลูกหมาก เพื่อให้วินิจฉัยได้แม่นยำ วิธีการตรวจที่ใช้วินิจฉัยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางยูโรพลศาสตร์ เช่น การตรวจปริมาณปัสสาวะเหลือค้างหลังปัสสาวะ

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีการรักษาอย่างไร?

แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาจากความรุนแรงของอาการ ประเภทของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนี้ การรักษาอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยถ้ามีอาการหรือโรคอื่นที่ส่งผลให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แพทย์จะทำการรักษาอาการหรือโรคนั้นก่อน

แพทย์อาจเริ่มด้วยวิธีการรักษาที่ไม่มีการล่วงล้ำร่างกาย (Noninvasive) หรือล่วงล้ำน้อยก่อน หากวิธีเหล่านั้นรักษาไม่ได้ผล อาจรักษาด้วยการผ่าตัดหรือวิธีอื่น ๆ

วิธีรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ - How is urinary incontinence treated?

วิธีรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอะไรบ้าง?

การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เชิงพฤติกรรม

  • การฝึกควบคุมการถ่ายปัสสาวะ: การฝึกนี้ช่วยเรื่องการกลั้นปัสสาวะหลังจากรู้สึกปวดปัสสาวะ โดยจะเริ่มจากการพยายามกลั้นปัสสาวะเป็นเวลา 10 นาที เป้าหมายของการฝึกคือการลดจำนวนครั้งในการปัสสาวะต่อวันเหลือเพียงทุก ๆ 2 ถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง
  • การถ่ายปัสสาวะซ้ำ: วิธีนี้เป็นการฝึกให้ปัสสาวะสองครั้งเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดปัสสาวะล้น
  • การกำหนดเวลาเข้าห้องน้ำ: วิธีนี้เป็นการฝึกปัสสาวะตามช่วงเวลาที่กำหนดในทุก ๆ 2-4 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้มีปริมาณปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะมากเกินไป
  • การควบคุมอาหารและเครื่องดื่ม: วิธีนี้ช่วยในเรื่องการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ให้ลดการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรืออาการที่มีความเป็นกรดสูง ทั้งนี้ การลดน้ำหนักและออกกำลังกายยังช่วยบรรเทาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เช่นกัน

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่ดูแลในเรื่องการปัสสาวะ การบริหารนี้รู้จักในชื่อการออกกำลังกายคีเกล (Kegel) โดยช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงและปัสสาวะราดทันทีได้

ขั้นตอนในการออกกำลังคีเกล มีดังนี้

  • ขมิบหรือเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสมือนว่ากำลังกลั้นปัสสาวะอยู่ ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้น คลายกล้ามเนื้อเป็นเวลา 5 วินาที (หากรู้สึกว่ายากไป อาจเริ่มด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อ 2 วินาที และคลายกล้ามเนื้อ 3 วินาที)
  • ทำขั้นตอนแรกซ้ำจนสามารถเกร็งได้ถึง 10 วินาที
  • ทุก ๆ 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบ ในแต่ละวันให้ทำให้ครบ 3 รอบ

การตรวจวัดการตอบสนองของร่างกาย (Biofeedback) ช่วยให้ทราบได้ว่าเกร็งกล้ามเนื้อได้ดีระดับใด หรือเกร็งกล้ามเนื้อถูกมัดหรือไม่

การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยยา

ยาที่นิยมใช้รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่

  • ยากลุ่ม Alpha-blocker: ยากลุ่มนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อคอกระเพาะปัสสาวะของผู้ชายที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะล้น ช่วยให้ปัสสาวะจนหมดกระเพาะได้ง่ายขึ้น 
  • ยากลุ่ม Anticholinergic: ยากลุ่มนี้ใช้รักษาการทำงานไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะและรักษาอาการปัสสาวะราดทันที
  • ยามิราเบกรอน (Mirabegron): ยาชนิดนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ช่วยให้ผู้ที่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ปัสสาวะได้ในปริมาณที่มากขึ้น อีกทั้งยังรักษาอาการปัสสาวะราดทันทีได้ 
  • ยาเอสโตรเจนชนิดทาเฉพาะที่: ยาเอสโตรเจนช่วยฟื้นฟูสภาพเนื้อเยื่อในทางเดินปัสสาวะและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด โดยมีทั้งแบบครีม แผ่นแปะ และแบบห่วง

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้หญิง

  • ห่วงช่วยพยุงในช่องคลอด: ห่วงพยุงช่องคลอดเป็นอุปกรณ์ที่สอดเข้าไปที่มดลูกเพื่อช่วยพยุงทางเดินปัสสาวะ

รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ด้วยการผ่าตัด

หากการรักษาประเภทอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การผ่าตัดชนิดต่าง ๆ ที่ใช้รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีดังนี้

  • การผ่าตัดใส่หูรูดท่อปัสสาวะเทียม (Artificial Urinary Sphincter): วิธีนี้จะฝังอุปกรณ์ไว้ที่คอกระเพาะปัสสาวะเพื่อทำหน้าที่ปิดหูรูดกระเพาะปัสสาวะจนกว่าจะรู้สึกปวดปัสสาวะ และเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ให้กดวาล์วที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังเพื่อทำให้อุปกรณ์แฟบลง เปิดทางให้ปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไหลออกมาได้
  • การผ่าตัดยกเนื้อเยื่อรอบคอกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Neck Suspension): เป็นวิธีที่พยุงทางเดินปัสสาวะและคอกระเพาะปัสสาวะ
  • การผ่าตัดรักษาด้วยสายคล้อง (Sling Procedure): วิธีนี้จะใช้วัสดุสังเคราะห์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายมาทำเป็นสายคล้องเพื่อปิดทางเดินปัสสาวะเมื่อมีการไอหรือจาม เป็นวิธีที่ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้
  • การผ่าตัดแก้ไขการหย่อนตัว (Prolapse surgery): แพทย์อาจใช้การผ่าตัดรักษาด้วยสายคล้องร่วมกับการผ่าตัดแก้ไขการหย่อนตัวเพื่อรักษาอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนและอาการปัสสาวะเล็ดราด

แผ่นรองซับและสายสวนปัสสาวะ

หากวิธีรักษาทางการแพทย์ไม่สามารถรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ อาจลองใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น สายสวนปัสสาวะหรือแผ่นรองซับ ซึ่งช่วยขจัดความไม่สบายตัวหรือเพิ่มความสะดวกสบายให้เมื่อปัสสาวะเล็ดหรือราด

ควรพบแพทย์หากมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ - urinary incontinence when to see a doctor?

เมื่อมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดบ่อยครั้งหรือกระทบชีวิตประจำวัน แนะนำเป็นอย่างยิ่งให้พบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษา เพราะภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจสร้างข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหรือเข้าสังคม กระทบต่อชีวิต และเพิ่มความเสี่ยงที่จะหกล้มในผู้ใหญ่เมื่อรีบไปเข้าห้องน้ำ

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีป้องกันอย่างไร?

  • เลี่ยงเครื่องดื่มที่อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือทำงานไวเกินไป เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
  • บริหารอุ้งเชิงกรานเป็นประจำ
  • ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก
  • เลิกสูบบุหรี่
  • พยายามไม่ให้ท้องผูก
  • ปัสสาวะบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ปัสสาวะล้นกระเพาะ

เมื่อปัสสาวะเล็ด อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลผิว ดังนี้

  • ทำความสะอาดด้วยผ้าสะอาด
  • เลี่ยงการสวนล้างอวัยวะเพศบ่อย ๆ
  • ทาปิโตรเลียมเจลลี่ที่ผิวเพื่อกันปัสสาวะ

ปรับทางเดินไปห้องน้ำให้สะดวกขึ้นด้วยวิธีต่อไปนี้ ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

  • ติดไฟตามทางเดินไปห้องน้ำ
  • ย้ายของที่อาจทำให้สะดุดระหว่างเดินไปห้องน้ำ เช่น พรมหรือเฟอร์นิเจอร์

การเตรียมตัวพบแพทย์

ปฏิบัติตามขั้นตอนด้านล่างก่อนพบแพทย์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง

  • ระวังเรื่องข้อห้ามที่ควรปฏิบัติตามก่อนพบแพทย์
  • จดจำนวนครั้งที่ปัสสาวะในหนึ่งวัน จดอาการที่มี รวมถึงโรคหรือภาวะอื่นที่เกิดร่วมกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • จดรายชื่อยา อาหารเสริม และวิตามินที่รับประทานอยู่

แพทย์มักถามคำถามต่อไปนี้

  • เริ่มมีอาการเมื่อใด
  • อาการเกิดขึ้นแล้วหายไปอย่างรวดเร็ว หรือเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำ
  • มีอะไรที่อาจทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลงหรือเปล่า
  • รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยแค่ไหน
  • มีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่สุดหรือไม่
  • ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนบ่อยแค่ไหน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

  • ไม่รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ไหม?
    ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจมีอาการแย่ลงกว่าเดิมหากไม่ได้รับการรักษาหรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอาจรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นเมื่อมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบเดิม

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ความเสี่ยงที่จะมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้นเพิ่มขึ้นตามอายุ หากคุณมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ วิธีรักษาที่เหมาะสมจะช่วยรักษาอาการ ช่วยให้คุณควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้อีกครั้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 29 ก.พ. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ศุภชัย สถิตมั่งคั่ง

    นพ. ศุภชัย สถิตมั่งคั่ง

    • ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    นพ. สนธิเดช ศิวิไลกุล

    นพ. สนธิเดช ศิวิไลกุล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ, ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน
  • Link to doctor
    นพ. วสันต์ เศรษฐวงศ์

    นพ. วสันต์ เศรษฐวงศ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    นพ.  วิชัย เจริญวงศ์

    นพ. วิชัย เจริญวงศ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    รศ.นพ. สิทธิพร ศรีนวลนัด

    รศ.นพ. สิทธิพร ศรีนวลนัด

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    นพ. ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล

    นพ. ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ, ระบบสืบพันธ์ุ
  • Link to doctor
    นพ. อาคเนย์ วงษ์สวัสดิ์

    นพ. อาคเนย์ วงษ์สวัสดิ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    การเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตและการเปลี่ยนไตจากผู้เสียชีวิต, การผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะแบบแผลเล็ก, การผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะแบบแผลเล็ก, การผ่าตัดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ, การรักษาภาวะหย่อยสมรรถภาพทางเพศ, ชายวัยทอง
  • Link to doctor
    นพ. วิรุณ  โทณะวณิก,พบ

    นพ. วิรุณ โทณะวณิก,พบ

    • ศัลยศาสตร์
    • รังสีรักษามะเร็งวิทยา
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    มะเร็งต่อมลูกหมาก, ฝังแร่รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
  • Link to doctor
    นพ. ธเนศ ไทยดำรงค์

    นพ. ธเนศ ไทยดำรงค์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    นพ. วิชัย หงส์ไพฑูรย์

    นพ. วิชัย หงส์ไพฑูรย์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    ศ.นพ. กิตติณัฐ กิจวิกัย

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศรายุทธ วิริยะศิริพงศ์

    ผศ.นพ. ศรายุทธ วิริยะศิริพงศ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    นพ. อภิรักษ์ สันติงามกุล

    นพ. อภิรักษ์ สันติงามกุล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ
    การบีบขับปัสสาวะผิดปกติ, Laparoscopic Urologic Surgery