ภาวะขาดอากาศหายใจ (Asphyxiation)
ภาวะขาดอากาศหายใจ เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาการภูมิแพ้รุนแรงหรือการที่มีวัตถุอุดกั้นทางเดินหายใจ จนหายใจไม่สะดวก พูดไม่ได้ และหมดสติในที่สุด
ภาวะขาดอากาศหายใจประเภทต่าง ๆ
- Mechanical asphyxia เกิดจากกรณีที่มีวัตถุหรือแรง รวมถึงท่าทางที่ทำให้เกิดการขัดขวางการหายใจ
- Traumatic asphyxia เกิดจากการได้รับการบาดเจ็บและมีแรงจากภายนอกกดลงบนช่องอก จนทำให้เลือดจากหัวใจไหลกลับไปที่คอและสมอง
- Compressive asphyxia เกิดจากที่แรงกดลงบนช่องอกหรือท้อง ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีคนนั่งทับหน้าอก หรืออยู่ในที่ที่คนแออัด เช่น คอนเสิร์ต
- Perinatal asphyxia เป็นภาวะที่ทารกไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอก่อน ระหว่าง หรือหลังคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปริมาณออกซิเจนในเลือดของแม่ต่ำ แม่หายใจน้อยลงระหว่างที่ได้รับยาระงับความรู้สึก ความดันโลหิตของแม่ต่ำ สายสะดือถูกกดทับ รกทำงานผิดปกติ รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือมดลูกแตก ซึ่งหากเกิดก่อนคลอดจะทำให้ทารกมีการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือมีปริมาณกรดในเลือดสูง หากเกิดขึ้นระหว่างคลอด ทารกจะมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำ ผิวซีด หายใจแผ่ว ไม่ส่งเสียงร้องไห้ พยายามหายใจเข้าทางปาก ซึ่งภาวะขาดอากาศหายใจตั้งแต่กำเนิดจะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง หัวใจ หลอดเลือด ไต และระบบทางเดินอาหาร
ขาดอากาศหายใจ มีอาการอย่างไร
- ไอ
- พูดไม่ออก
- เสียงแหบ
- หน้าและปากซีด
- กลืนไม่ได้
- เวียนศีรษะ
- หายใจลำบาก
- หายใจเร็ว
- หมดสติ
- สูญเสียความทรงจำ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออุจจาระไม่ได้
สาเหตุที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ มีอะไรบ้าง
- ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันจากการแพ้อาหาร
- โรคหอบหืด
- การขาดอากาศหายใจจากท่าทาง มักพบในทารกแรกเกิดที่ไม่สามารถขยับเปลี่ยนท่าทางได้เอง
- การขาดอากาศหายใจจากการสูดดมสารเคมี เช่น ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดครัวเรือน
- การใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด
- การจมน้ำ
- การที่มีวัตถุอุดกั้นทางเดินหายใจจากการสำลักอาหาร
- การถูกบีบรัดคอ
ภาวะขาดอากาศหายใจ มีวิธีตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- ภาวะขาดอากาศหายใจ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการสังเกตอาการ
- หากผู้ป่วยยังสามารถพูดคุยโต้ตอบได้ ให้สอบถามว่าสำลักอาหารหรือไม่
- หากผู้ป่วยไม่สามารถโต้ตอบได้ ให้สังเกตว่าผู้ป่วยจับลำคอตนเองหรือไม่ (ท่าทางที่แสดงว่าหายใจไม่ออก) ไอแผ่ว หายใจมีเสียงหวีด พูดไม่ได้ หมดสติหรือไม่
- ในเด็กที่ไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้ ให้สังเกตว่าเด็กใช้แรงในการหายใจมากขึ้น ไอแผ่ว ๆ หรือร้องไห้เสียงเบาหรือไม่
วิธีการปฐมพยาบาลและวิธีรักษาภาวะขาดอากาศหายใจ
- การปฐมพยาบาลเพื่อฟื้นคืนชีพ (CPR) เมื่อผู้ป่วยหมดสติหรือไม่รู้สึกตัว
- หัตถการ Heimlich maneuver เป็นการกระแทกลงบนท้องเพื่อขับสิ่งอุดกั้นออกมา
- การช่วยหายใจโดยการเป่าปาก สำหรับผู้ที่จมน้ำหรือใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด
- การให้ยา เช่น ยาสูดพ่นสำหรับโรคหอบหืด ยา epinephrine สำหรับอาการภูมิแพ้รุนแรง หรือยา naloxone สำหรับผู้ที่ใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด
- การบำบัดด้วยออกซิเจน ผ่านท่อช่วยหายใจ หน้ากากออกซิเจน หรือเครื่องช่วยหายใจ
ภาวะขาดอากาศหายใจ มีวิธีการป้องกันอย่างไร
- เคี้ยวอาหารช้า ๆ และละเอียดก่อนกลืน สอนให้เด็กรับประทานอาหารคำเล็ก ๆ และไม่พูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร
- ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารรุนแรง ควรพกปากกา EpiPen ติดตัวตลอดเวลา
- ผู้ที่มีอาการหอบหืด ควรพกยาสูดพ่นติดตัว
- หมั่นระบายอากาศภายในบ้านเพื่อป้องการสะสมของคาร์บอนมอนอกไซด์ภายในบ้าน
- ไม่ควรว่ายน้ำคนเดียวหากว่ายน้ำไม่เป็น และควรสวมเสื้อชูชีพเสมอ
คำถามที่ควรถามแพทย์
- หากพบผู้ที่ไม่หายใจ ควรทำอย่างไร
- ภาวะขาดอากาศหายใจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่
- จะป้องกันภาวะขาดอากาศหายใจได้อย่างไร
คำถามที่ถามบ่อย
- ผู้ที่หายใจไม่ออกควรดื่มน้ำหรือไม่?
ไม่ควร เนื่องจากการดื่มน้ำอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม น้ำอาจไหลลงหลอดลม ทำให้เกิดอาการสำลักหรืออุดกั้นทางเดินหายใจ