อาการ สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นสันหลังประสาท (Herniated disc)

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated disc)

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (Herniated disc) เกิดขึ้นได้กับกระดูกสันหลังทุกระดับ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณหลังส่วนล่างอาจมีอาการต่าง ๆ

แชร์

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (Herniated disc)

กระดูกสันหลังของมนุษย์ประกอบด้วยข้อกระดูกขนาดเล็ก ที่เรียงซ้อนกันประกอบขี้นเป็นกระดูกสันหลัง  ระหว่างชิ้นของข้อกระดูกสันหลังจะมีสารลักษณะคล้ายเจลอยู่ภายใน ถูกหุ้มโดยรอบด้วยวงแหวนที่หนา เหนียวและแข็งแรงที่ประกอบขึ้นจากแผ่นเนื้อเยื่อคอลลาเจนที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทั้งสองส่วนนี้ประกอบกันเป็นหมอนรองกระดูก ทำหน้าที่ช่วยยึดข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน และเป็นเบาะรับแรงกระแทกซับน้ำหนักระหว่างชิ้นกระดูกสันหลังที่เรียงต่อเนื่องกัน ข้อกระดูกสันหลังทั้งหมดยังถูกเสริมความแข็งแรงยึดเข้าไว้ด้วยเอ็นต่าง ๆ อีกหลายตำแหน่ง

หมอนรองกระดูกส่วนที่เป็นวงแหวน หากเกิดการเสื่อมสภาพจนถึงจุดที่โป่งตัวออกและ/หรือเกิดการปริตัวฉีกขาดจนเกิดการรั่วไหลของสารคล้ายเจลภายใน จะส่งผลให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทในที่สุด

หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท เกิดขึ้นได้กับกระดูกสันหลังทุกระดับ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณหลังส่วนล่างอาจมีอาการต่าง ๆ คือ ปวด ชา แขนหรือขาอ่อนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการเสมอไป

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหมอนรองกระดูกที่เกิดปัญหาและขึ้นอยู่ว่าเกิดการกดทับเส้นประสาทหรือไม่ ส่วนใหญ่มักจะเป็นทางด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย

  • ปวดแขนหรือขา หากเกิดขึ้นที่หลังส่วนล่าง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดที่ก้น ต้นขา น่อง หลังส่วนล่าง และเท้า
    หากเกิดขึ้นที่คอ อาการปวดเฉียบพลันจะเกิดขึ้นที่บริเวณไหล่และแขน และอาจลามไปถึงแขนหรือขาเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือขยับตัว
  • อาการชา ผู้ป่วยที่มีหมอนรองกระดูกเคลื่อนมักจะรู้สึกชาหรือรู้สึกปวดแปล๊บในส่วนของร่างกายที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ อาจอ่อนแรงจนกระทบต่อการหยิบจับสิ่งของ

ในบางครั้งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นอาจไม่แสดงอาการใดๆ พบจากเอ็กซ์เรย์กระดูกสันหลังที่ตรวจด้วยเหตุผลอื่น

เมื่อไหร่ที่ควรปรึกษาแพทย์?

คนไข้ควรไปพบแพทย์หากมีอาการปวดคอหรือหลังที่ร้าวไปที่แขนหรือขา รู้สึกชา ปวดเมื่อย หรือเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากสาเหตุอะไร?

การเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อจะเกิดขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เป็นสาเหตุการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นตามอายุที่มากขึ้น เนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกจะเปราะมีความยืดหยุ่นน้อยลง และฉีกขาดหรือเกิดการปริตัวได้ง่าย การใช้กล้ามเนื้อหลังเพื่อยกของหนักอาจทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นได้ เช่นเดียวกับอุบัติเหตุเช่นการหกล้มหรือการกระแทกที่ด้านหลัง แต่เกิดขึ้นได้น้อย

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน – การมีน้ำหนักตัวมาก มีผลให้เกิดแรงกดที่สูงขึ้นต่อเนื้อเยื่อในส่วนหลังด้านล่าง
  • งานที่ต้องใช้แรงมาก – งานที่ต้องยก ดึง ดัน เอียงตัวไปด้านข้าง มีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นได้
  • พันธุกรรม– บางครั้งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นก็สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
  • การสูบบุหรี่ – การสูบบุหรี่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเนื่อเยื่อลดลง เนื้อเยื่อมีโอกาสฉีกขาดได้เร็วขึ้น
  • การขับรถ - การนั่งเป็นเวลานานร่วมกับแรงสั่นสะเทือนจากการขับรถอาจทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกสันหลังได้
  • พฤติกรรมเนือยนิ่ง– การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันหมอนรองกระดูกทับเส้นได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นาน ๆ ครั้ง คนไข้อาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นอัมพาต คนไข้ควรไปพบแพทย์หากมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • อาการเป็นมากขึ้น ความเจ็บปวด อ่อนแรง หรือชาที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ กลุ่มอาการกดทับรากประสาทส่วน Cauda Equina ในโพรงไขสันหลังบริเวณหลังส่วนล่าง อาจทำให้ปัสสาวะและถ่ายอุจจาระลำบาก
  • อาการชารอบ ๆ รูทวารหนัก อาจสูญเสียความรู้สึกบริเวณนี้และส่วนอื่นๆ เช่น ต้นขา หลังขาชาอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อลำตัวที่มีหน้าที่ในการทรงตัวและพยุงกระดูกสันหลัง
  • การจัดท่าทางร่างกายให้เหมาะสมจะช่วยลดแรงกดบนกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกได้ นั่งหลังตรงเมื่อต้องนั่งเป็นเวลานาน ยกของหนักโดยใช้กล้ามเนื้อขาแทนการใช้กล้ามเนื้อหลัง
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน – การมีน้ำหนักเกินจะเพิ่มแรงกดต่อกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก
  • ห้ามสูบบุหรี่

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

แพทย์จะตรวจดูความยืดหยุ่นที่หลังของคนไข้ในระหว่างการตรวจร่างกาย ให้คนไข้นอนราบแล้วขยับขาในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ระบุสาเหตุของอาการปวดได้

จะมีการตรวจทางระบบประสาทอื่น ๆ เพื่อดูการตอบสนอง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัวขณะเดิน และความสามารถของผู้ป่วยในการรับรู้การสัมผัส ความสั่นสะเทือน และการตรวจด้วยปลายเข็มหมุด (pin prick)

หากสงสัยว่าอาจเป็นภาวะอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

การวินิจฉัยด้วยภาพ

  • เอกซเรย์ – การเอกซเรย์โดยทั่วไปไม่สามารถเห็นหมอนรองกระดูกทับเส้นได้โดยตรง แต่สามารถระบุสาเหตุอื่นของอาการปวดหลังว่ามาจากการติดเชื้อ เนื้องอก ปัญหาการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลัง หรือกระดูกหักหรือไม่
  • การทำ CT สแกน – เครื่อง CT scan จะอาศัยภาพเอกซ์เรย์จากระนาบต่าง ๆ สร้างภาพตัดขวางของกระดูกสันหลัง เพื่อแสดงภาพโครงสร้างใน 3 มิติได้
  • MRI – คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กสามารถสร้างภาพแยกแยะชนิดเนื้อเยื่อร่างกายได้ดีกว่า CT scan ซึ่งจะช่วยยืนยันตำแหน่งของหมอนรองกระดูกทับเส้น และมองเห็นบริเวณเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบจากหมอนรองกระดูกทับเส้น
  • การตรวจไขสันหลัง ทำโดยการฉีดสีเข้าไปในโพรงน้ำไขสันหลังในระหว่างการทำ CT สแกน เพื่อช่วยแสดงการกดทับไขสันหลัง ที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นหลายระดับพร้อม ๆ กัน

การประเมินการทำงานของเส้นประสาท

  • การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาทจะช่วยในการวัดระดับการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า และความเร็วในการเคลื่อนตัวผ่านเส้นประสาท โดยการวางอิเล็กโทรดสองอันบนผิวหนัง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ– แพทย์จะนำเข็มอิเล็กโทรดสอดผ่านผิวหนังเข้าในกล้ามเนื้อชิ้นต่างๆ ซึ่งจะช่วยวัดระดับคลื่นไฟฟ้าเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวและคลายตัว
  • การตรวจทั้งสองแบบร่วมกัน ช่วยระบุตำแหน่งที่เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และระยะการดำเนินการของโรคที่ทำลายเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

การรักษาหมอนรองกระดูกสันเส้นประสาท มีกี่วิธี?

การรักษาโดยไม่อาศัยการผ่าตัด จะใช้ยาแก้ปวดเพื่อทุเลาอาการและหลีกเลี่ยงท่าทางการเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด

ตัวอย่างยาที่ใช้

  • ยาแก้ปวดที่จำหน่ายทั่วไป – แพทย์อาจแนะนำยาแก้ปวดหากอาการไม่รุนแรงมาก
  • ยารักษาอาการปวดจากเส้นประสาทสามารถลดความเจ็บปวดได้โดยลดระดับแรงกระตุ้นไฟฟ้าต่อเส้นประสาท
  • ยาคลายกล้ามเนื้อสามารถช่วยเรื่องกล้ามเนื้อเป็นตระคริวได้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคืออาการง่วงซึมและรู้สึกวิงเวียน
  • การฉีดคอร์ติโซน – แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์รอบๆเส้นประสาทไขสันหลัง หากยาทานอื่นๆ ไม่ทำให้อาการทุเลาขึ้น

กายภาพบำบัด

แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้ทำกายภาพบำบัด  นักกายภาพบำบัดจะกำหนดท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวด

การผ่าตัด

หมอนรองกระดูกทับเส้นส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดหากยาไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นหลังผ่านไป 6 สัปดาห์ และหากมีอาการดังนี้ ชา อ่อนแรง ยืนหรือเดินลำบาก สูญเสียการทำงานของหูรูดทวารหนัก และปวดมากขึ้นจนกระทบต่อการดำรงชีวิต

ศัลยแพทย์อาจผ่าเอาหมอนรองกระดูกเพียงบางส่วนออก แต่ในบางครั้งก็จำเป็นต้องเอาหมอนรองกระดูกออกทั้งหมด ในกรณีนี้อาจต้องทำการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน การเชี่อมข้อกระดูกสันหลังในบางครั้งจำเป็นต้องใช้ชิ้นโลหะดามข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันเพื่อเสริมความมั่นคง บางครั้งศัลยแพทย์จะแนะนำให้ใส่หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและข้อแนะนำในการดูแลตนเอง เมื่อเป็นหมอนรองกระดูกทับเสนประสาท

  • การประคบร้อนหรือประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้ หลังจากผ่านไปสองสามวัน คุณสามารถใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • หลีกเลี่ยงการนอนพักเป็นเวลานาน – การนอนพักนานเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะข้อแข็งและกล้ามเนื้ออ่อนแรง พักผ่อนในท่าที่เหมาะสบายเป็นเวลา 30 นาทีแล้วลุกขึ้นเดิน พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการหรืออาการเป็นมากขึ้น
  • กลับมาทำกิจกรรมตามปกติอย่างช้าๆ – เคลื่อนไหวช้าๆ โดยเฉพาะเมื่อก้มตัวเพื่อยกของ

เตรียมตัวก่อนการพบแพทย์

แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้ไปพบแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูก ประสาทวิทยา หรือศัลยกรรมประสาท

เตรียมตอบคำถามเหล่านี้กับแพทย์

  • อาการเหล่านี้เริ่มต้นเมื่อไหร่
  • เมื่อเกิดอาการครั้งแรก คุณได้ทำการยก ดัน หรือดึงอะไรหรือไม่
  • ความเจ็บปวดรบกวนชีวิตประจำวันของคุณหรือไม่
  • มีอะไรที่ทำให้อาการดีขึ้น
  • มีอะไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการหรือไม่
  • คุณทานยาหรืออาหารเสริมหรือไม่และมีอะไรบ้าง
  • อาการปวดร้าวไปที่แขนหรือขาหรือไม่
  • คุณรู้สึกอ่อนแรงหรือชาที่แขนหรือขาหรือไม่
  • คุณพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะหรือไม่
  • เมื่อคุณไอหรือจาม อาการแย่ลงหรือไม่
  • อาการดังกล่าวรบกวนการนอนหลับหรือการทำงานหรือไม่
  • งานที่ทำอยู่ เกี่ยวกับต้องยกของหนักหรือไม่
  • คุณสูบบุหรี่หรือไม่
  • ช่วงนี้คุณน้ำหนักขึ้นบ้างหรือไม่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 09 พ.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
  • Link to doctor
    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เทวเจษฎา ภาเรือง

    นพ. เทวเจษฎา ภาเรือง

    • ศัลยกรรมประสาท
    • ศัลยกรรมไขสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เอกพล ลาภอำนวยผล

    นพ. เอกพล ลาภอำนวยผล

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    • ศัลยกรรมประสาท
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เตมีธ์  เสถียรราษฎร์

    นพ. เตมีธ์ เสถียรราษฎร์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง