สาเหตุ อาการ การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ - Muscle Pain - Causes, Symptoms and Treatment

ปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain)

อาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain or Myalgia) อาจมีสาเหตุมาจากอาการบาดเจ็บ การติดเชื้อโรคต่าง ๆ หรือปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งอาการปวดกล้ามเนื้ออาจเป็นอาการชั่วคราว อาการเรื้อรัง ปวดเฉพาะที่หรือทั่วร่างกาย

แชร์

ปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain or Myalgia) อาจมีสาเหตุมาจากอาการบาดเจ็บ การติดเชื้อโรคต่าง ๆ หรือปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งอาการปวดกล้ามเนื้ออาจเป็นอาการชั่วคราว อาการเรื้อรัง ปวดเฉพาะที่หรือทั่วร่างกาย โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการปวดกล้ามเนื้อนั้นเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ผู้ที่เริ่มออกกำลังกายรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยออกมาก่อนอาจเกิดอาการปวดระบมกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย (Delayed-onset muscle soreness: DOMS) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการภายหลังจากออกกำลังกาย ปวดนาน 6 - 12 ชั่วโมง และอาจนานถึง 48 ชั่วโมง การที่รู้สึกปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากกล้ามเนื้อกำลังซ่อมแซมตัวเอง

อาการปวดกล้ามเนื้อ

  • ปวดระบมกล้ามเนื้อ
  • เป็นตะคริว
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • ปวดข้อ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

ควรไปพบแพทย์หากเริ่มมีไข้ เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม

สาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ

  1. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคลูปัส กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งรวมถึงอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ชนิด Inclusion body myositis และ Polymyositis
  2. การติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย โรคทริคิโนซิส โรคลายม์ โรคไข้รากสาดใหญ่ การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียทั่วไป ทำให้รู้สึกปวดเมื่อย พร้อมกับมีไข้ คลื่นไส้ หรือต่อมน้ำเหลืองโตได้
  3. อาการบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อช่องท้องหรือหลังเคล็ดเกร็ง  โรคปวดพังผืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบ อาการเอ็นเสื่อม
  4. ยาและการบำบัด เช่น ยาลดระดับคอเลสเตอรอลกลุ่มยาสแตติน (Statins) ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE Inhibitors เคมีบำบัด รังสีบำบัด อาจทำให้ปวดกล้ามเนื้อชั่วคราวหรือในระยะยาว โดยยาอาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ (myositis) และกระตุ้นใยประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด
  5. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Neuromuscular Disorders) เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากไขสันหลังเสื่อม (Spinal Muscular Atrophy) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชนน์ (Duchenne Muscular Dystrophy) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis)
  6. ปัจจัยด้านสุขภาพ เช่น ความเครียด ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์พร่อง โรคปวดเรื้อรังทั่วตัวไฟโบรมัยอัลเจีย ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง มะเร็งซาร์โคมา มะเร็งเม็ดเลือดขาว

Muscle Pain Banner 2

การตรวจวินิจฉัยอาการปวดกล้ามเนื้อ

หากไม่ทราบสาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจเลือด ช่วยประเมินระดับเอนไซม์ ฮอร์โมน และเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงการตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อ
  • การทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อหาบริเวณที่กล้ามเนื้อที่ถูกทำลาย
  • การตรวจ Electromyography (EMG) เพื่อวัดสัญญาณไฟฟ้าในเส้นประสาทและกล้ามเนื้อและประเมินการทำงานของทั้งเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

การตรวจวินิจฉัยเหล่านี้จะช่วยแพทย์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อแบบไม่เรื้อรังนั้นสามารถบรรเทาได้โดยการพักผ่อน ยืดเหยียด และรับประทานยาแก้ปวด

  • พักผ่อนและยกบริเวณที่ปวดให้สูงขึ้น เพื่อลดภาวะบวมตัวของกล้ามเนื้อ
  • ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและประคบร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่ปวด
  • อาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน ยาพาราเซตามอล ยาโอบูโปรเฟน และยานาพรอกเซนเพื่อลดปวดและการอักเสบ
  • การใช้การแพทย์ทางเลือก เช่น การนวด การฝังเข็ม และนั่งสมาธิ เพื่อบรรเทาอาการและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

วิธีการรักษาเหล่านี้สามารถช่วยจัดการอาการปวดกล้ามเนื้อและช่วยเร่งให้อาการปวดหายได้เร็วขึ้น หากอาการปวดไม่หายหรือรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม 

Muscle Pain  Infographic Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 31 ก.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. เพชรพลอย ภูวคีรีวิวัฒน์

    พญ. เพชรพลอย ภูวคีรีวิวัฒน์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    ฝังเข็ม, โรคหลอดเลือดสมอง, ฉีดยาและฝังเข็มลดอาการปวดกล้ามเนื้อ