อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาอาการปวดคอ (Neck pain)

ปวดคอ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดคอได้แก่ ข้ออักเสบ เส้นประสาทที่ถูกกดทับ กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเคล็ด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด

แชร์

ปวดคอ

ประมาณ 10% ของคนในวัยผู้ใหญ่ มักเคยประสบกับอาการปวดคอ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดคอได้แก่ ข้ออักเสบ เส้นประสาทที่ถูกกดทับ กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเคล็ด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด (conservative therapy)

ประเภทของอาการปวดคอ

  • อาการปวดคอเฉียบพลัน (มีอาการต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์)
  • อาการปวดคอกึ่งเฉียบพลัน (มีอาการต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์)
  • อาการปวดคอเรื้อรัง (มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 12 สัปดาห์)


อาการปวดคอ

  • ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อคออ่อนแรง
  • หันศีรษะไม่ได้หรือรู้สึกปวดเมื่อเอียงหรือหมุนศีรษะ
  • กล้ามเนื้อคอ หลังส่วนบน แขนและไหล่แข็ง
  • ชาที่แขนหรือไหล่
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่


สาเหตุของอาการปวดคอ

การระบุสาเหตุของอาการปวดคอที่แน่ชัดนั้นอาจทำได้ยาก แม้ว่าแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัยด้วยภาพแล้ว อย่างไรก็ตามสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดคอ ได้แก่

  • กล้ามเนื้อต้นคอเคล็ด 
    ท่าทางที่ไม่เหมาะสม นิสัยการนอนที่ไม่ดี อาการกล้ามเนื้อตึงเนื่องจากความเครียดทางร่างกายและจิตใจ และการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอาจเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อต้นคอเคล็ดหรือกล้ามเนื้อต้นคอและหลังส่วนบนหดเกร็ง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด แน่น ตึงบริเวณหัวไหล่และหลังส่วนบนนานกว่า 6 สัปดาห์
  • กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม
    กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมเกิดจากความเสื่อมตามอายุ เช่นหมอนรองกระดูกตีบหรือแคบลง กระดูกงอก ซึ่งจะไปกดเนื้อเยื่อโดยรอบ และกดทับเส้นประสาท บางรายอาจมีอาการปวดคอ กล้ามเนื้อคออ่อนแรง เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อคอได้จํากัด ชาที่แขนและไหล่ ปวดศีรษะ หรือปวดหู
  • หมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อม
    ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ตึง จนเกิดอาการปวดคอเมื่อเอียงหรือหันศีรษะ หรือเมื่อทำกิจกรรมใด ๆ ที่ไม่เปลี่ยนท่าทางเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ ขับรถยนต์ หรือนั่งทํางานหน้าคอมพิวเตอร์  บางรายจะมีอาการปวดร้าวลงแขนหรือไหล่  
  • กลุ่มอาการข้อต่อฟาเซ็ต 
    อาการปวดคอเนื่องจากข้อต่อฟาเซ็ตเกิดจากการทำงานที่ต้องเอียงศีรษะไปด้านหลังหรือยืดคอบ่อย ๆ การอยู่ในท่าเดิมซ้ำนาน ๆ มีผลต่อข้อต่อฟาเซ็ตด้านข้างของกระดูกสันหลังและข้อต่อ ทำให้ปวดด้านข้างและตรงกลางลำคอ ในบางรายอาจมีอาการปวดในหู กราม แขน ไหล่ สะบัก และบริเวณท้ายทอย
  • อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นคอเนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน (Whiplash injury)
    เป็นอาการบาดเจ็บที่คอ เนื่องจากการเคลื่อนไหวคอไปมาอย่างรุนแรงและฉับพลัน เช่น การได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือการถูกกระแทกที่ลำตัวจากการเล่นกีฬา ผู้ป่วยมักมีอาการปวด กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปวดหู ปวดกราม ปวดศีรษะ และขยับคอได้จำกัด
  • อาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดเรื้อรัง (Myofascial pain)
    อาการบาดเจ็บ ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ หรือความเครียดเป็นสาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดเรื้อรัง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเจ็บเมื่อถูกกด ตึง และบวม
  • ภาวะข้อกระดูกสันหลังและเอ็นข้อต่อแข็งตัวเชื่อมติดกัน (Diffuse Idiopathic Skeletal Hyperostosis)
    เกิดขึ้นจากการที่มีการสะสมของหินปูนแคลเซียมในเส้นเอ็นและเอ็นยึดตามกระดูกสันหลังส่วนคอ  ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆกระดูกสันหลังแข็งตัว ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวด ขยับคอไม่ได้ หรือตึง ภาวะนี้อาจเกิดที่บริเวณกระดูกสันหลังกลางลำตัวและหลังล่างได้เช่นกัน
  • โรคโพรงกระดูกสันหลังคอกดทับไขสันหลัง
    เกิดจากโพรงกระดูกสันหลังส่วนกลางตีบแคบเนื่องจากความเสื่อมสภาพของข้อกระดูกและหมอนรองกระดูก ความตีบนั้นทำให้เส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอทำงานผิดปกติ เกิดอาการปวด การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ประสานกัน อ่อนล้า เดินไม่ได้ กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับรากประสาท
    ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเสื่อมสภาพเนื่องจากอายุที่มากขึ้นหรือได้รับบาดเจ็บ หมอนรองกระดูกคอที่ยื่นโป่งตัวออกมา ซีสต์ ก้อนเนื้อ หรือข้อกระดูกสันหลังอาจไปกดทับและทำให้รากประสาทระคายเคือง ทำให้มีอาการปวด ชา และอ่อนแรง


การตรวจวินิจฉัยอาการปวดคอ

เมื่อมีอาการปวดคอ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและคออย่างรุนแรง ชาที่แขนหรือขา หรือภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย รวมถึงสังเกตท่าทางและการเคลื่อนไหวของศีรษะและลำคอ คลำกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ และหลังส่วนบนเพื่อตรวจอาการตึงและปวดของกล้ามเนื้อ แพทย์อาจทำการตรวจปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ ความแข็งแรง และตรวจการรับความรู้สึก และอาจทำการเอกซเรย์  ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือตรวจวินิจฉัยคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท โดยขึ้นอยู่กับอายุ อาการ ประวัติทางการแพทย์ และผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการดูแลรักษาตนเองที่บ้าน

  • การออกกําลังกายและยืดกล้ามเนื้อสามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อ คอ ไหล่ และหลังได้ ควรปรึกษาแพทย์ว่าการออกกําลังกายประเภทใดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดคอได้
  • เปลี่ยนอิริยาบทบ่อย ๆ หากต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน
  • เวลานอนหลับควรจัดศีรษะและคอให้อยู่ในแนวเดียวกันกับร่างกาย ไม่นอนคว่ำหันศีรษะไปด้านข้าง
  • ฝึกการผ่อนคลายหรือทําสมาธิเพื่อช่วยลดความเครียด ความเครียดจะทําให้อาการปวดแย่ลง
  • ประคบอุ่นหรืออาบน้ำร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ
  • ประคบเย็นครั้งละ 15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้อต่อ วางผ้าขนหนูบาง ๆ บนบริเวณที่จะประคบเพื่อปกป้องผิวจากความเย็น
  • ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการปวดคอที่ไม่รุนแรงได้


การรักษาอาการปวดคอ ด้วยวิธีอื่น ๆ

  • การฝังเข็ม เป็นการฝังเข็มขนาดเล็กเข้าไปในกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากต้องการรักษาด้วยวิธีนี้
  • การนวดผ่อนคลายช่วยบรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามควรเข้ารับการบำบัดกับนักนวดบําบัดที่มีใบอนุญาตและมีประสบการณ์ในการรักษาอาการปวดคอ
  • การบําบัดด้วยการเคลื่อนไหวเป็นการเพิ่มความสมดุลของการทรงตัวของร่างกาย การเสริมสร้างความแข็งแรง และการยืดกล้ามเนื้อ นักกายภาพบําบัดจะสอนวิธีออกกําลังกายที่ทำที่บ้านได้ โยคะและไทเก็กนั้นช่วยได้เช่นกัน เป้าหมายของการออกกําลังกายคือการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งช่วยบรรเทาความเจ็บปวด การขยับเคลื่อนไหวร่างกายช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้
  • การฉีดยาเข้าไปยังจุดกดเจ็บ (Trigger point) เป็นการฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปในกล้ามเนื้อที่หดเกร็งหรือบวม ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างเพียงพอว่าวิธีนี้ช่วยทำให้อาการหายได้เร็วขึ้นหรือช่วยลดอาการปวด แต่แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษานี้หากการรักษาวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
  • เฝือกพยุงคอ อาจใช้ในผู้ที่อาการปวดมากจนทำให้นอนไม่หลับ อย่างไรก็ตามไม่แนะนําให้ใช้เฝือกพยุงคอ ในระยะยาว เพราะอาจทําให้กล้ามเนื้อคออ่อนแอลงและชะลอการฟื้นตัว
  • การกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (TENS) เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ไปยังผิวหนังเพื่อลดอาการปวดและเพิ่มความแข็งแรงและความคล่องตัวให้กับกล้ามเนื้อ
  • การผ่าตัด แพทย์อาจแนะนําการผ่าตัดในรายที่มีอาการจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท หรือโรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง) หากการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด (conservative therapy) ไม่ได้ผล แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

ก่อนทำการรักษาด้วยวิธีใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง หากมีอาการปวดคอเรื้อรังซึ่งไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการรักษากับแพทย์ทางกระดูกและข้อ

การป้องกันการปวดคอ

สิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทําได้เพื่อป้องกันอาการปวดคอ

  • จัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม ให้ศีรษะยืดตรง ไม่ยกไหล่
  • พยายามเปลี่ยนท่าทางบ่อยหากต้องนั่งเป็นเวลานาน ๆ
  • หลีกเลี่ยงการแบกของหนักซึ่งอาจเพิ่มแรงกดบนบ่าหรือหลัง
  • เวลานอนหลับ จัดศีรษะและคอของคุณอยู่ในระนาบเดียวกันกับร่างกาย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 ต.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    • ศัลยกรรมประสาท
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เทวเจษฎา ภาเรือง

    นพ. เทวเจษฎา ภาเรือง

    • ศัลยกรรมประสาท
    • ศัลยกรรมไขสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เตมีธ์  เสถียรราษฎร์

    นพ. เตมีธ์ เสถียรราษฎร์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, Orthopedics Surgery
  • Link to doctor
    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, Orthopedics Surgery