รักษาและป้องกันอาการนอนกรน - Snoring: Causes, Treatment and Prevention

นอนกรน (Snoring)

อาการนอนกรน (Snoring) เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่นอนกรนร่วมกับอาการนอนไม่อิ่ม หายใจลำบากตอนนอน เจ็บหน้าอกตอนกลางคืน ง่วงนอนตอนกลางวันมาก ปวดหัวตอนเช้า เจ็บคอเมื่อตื่นนอน เด็กที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ มักไม่ค่อยมีสมาธิ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


อาการนอนกรน (Snoring) เกิดจากอะไร ต้องแก้อย่างไร?

นอนกรน คือการส่งเสียงดังขณะนอนหลับ การนอนกรนที่เสียงดังและรบกวนการนอนอาจเป็นข้อบ่งชี้ของภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคซึมเศร้า

นอนกรน สามารถเกิดกับใคร และมีอาการอย่างไร?

อาการนอนกรน (Snoring) เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่นอนกรนร่วมกับอาการนอนไม่อิ่ม หายใจลำบากตอนนอน เจ็บหน้าอกตอนกลางคืน ง่วงนอนตอนกลางวันมาก ปวดหัวตอนเช้า เจ็บคอเมื่อตื่นนอน ไม่มีสมาธิ ความดันโลหิตสูง อาจมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ เด็กที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ มักไม่ค่อยมีสมาธิ ผลการเรียนตก หรือมีปัญหาด้านพฤติกรรม

โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือ การนอนกรนร่วมกับการหายใจแผ่ว หยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้ออกซิเจนต่ำ กระตุ้นให้สมองสั่งการเปิดทางเดินหายใจ (หายใจเฮือก) เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคซึมเศร้า

โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

อาการนอนกรนเกิดจากสาเหตุจากอะไร?

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้นอนกรน ได้แก่ กายวิภาคของช่องปากและโพรงจมูก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภูมิแพ้ ไข้หวัด และน้ำหนักตัว เมื่อคนเราเริ่มเข้าสู่การนอนหลับลึก กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนของช่องปาก ลิ้น และคอจะเริ่มผ่อนคลาย ทำให้เกิดการอุดกั้นที่ทางเดินหายใจบางส่วนและการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อคอมากขึ้นและเสียงดังขึ้น ยิ่งทางเดินหายใจแคบลงเท่าไร ลมที่เป่าออกจะยิ่งแรงขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อยิ่งสั่นและยิ่งกรนดังขึ้น

กายวิภาคของช่องปาก

คางเล็ก คอสั้น เพดานปากที่ต่ำ หนา และอ่อนนุ่ม หรือเนื้อเยื่อคอที่หนามากในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ลิ้นไก่ที่ยาวอาจขัดขวางอากาศที่ร่างกายหายใจเข้าออกและทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและเสียงดังยิ่งขึ้น

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปก่อนเข้านอนจะทำให้กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนตัว ทำให้นอนกรน

ปัญหาโพรงจมูก

อาการคัดจมูกเรื้อรังจากภูมิแพ้หรือผนังกั้นจมูกคดอาจทำให้นอนกรน เนื่องจากขัดขวางอากาศที่หายใจเข้าออก

การอดนอน

การนอนหลับไม่เพียงพอทำให้กล้ามเนื้อคอผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้นอนกรนมากขึ้น

ท่าทางการนอนหลับ

อาการนอนกรนมักพบบ่อยเมื่อนอนหงาย เนื่องจากเป็นท่าที่กล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องคอหย่อนตัวลงมาปิดช่องทางเดินหายใจได้มากที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอาการนอนกรนคืออะไร? Snoring

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอาการนอนกรนคืออะไร?

  • เพศ: เพศชายมีแนวโน้มที่จะนอนกรนและเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับมากกว่าเพศหญิง
  • น้ำหนักตัว: ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มที่จะนอนกรนและเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ
  • โครงสร้างทางกายภาพของทางเดินหายใจ: ทางเดินหายใจแคบ ต่อมทอลซินหรือต่อมอดีนอยด์โตอาจขัดขวางทางเดินหายใจ ทำให้นอนกรน ผนังกั้นจมูกคดหรืออาการคัดจมูกเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงในการนอนกรนเช่นกัน 
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อช่องคอผ่อนคลาย เพิ่มโอกาสในการนอนกรน
  • ประวัติสุขภาพของครอบครัว: ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวนอนกรนหรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นมีความเสี่ยงมากขึ้น

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการนอนกรน?

หากนอนกรนเสียงดังหรือการกรนนั้นรบกวนการนอนหลับ มีอาการที่สงสัยว่าทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

การตรวจวินิจฉัยการนอนกรน มีกี่วิธี และมีวิธีตรวจอาการนอนกรนอย่างไร?

การซักประวัติและตรวจร่างกาย

แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติสุขภาพ จากนั้นจะทำการตรวจร่างกาย แพทย์อาจขอให้ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยอธิบายลักษณะการนอนกรนเพื่อพิจารณาความรุนแรงของอาการ

การตรวจการนอนหลับ

การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) สามารถทำได้ที่บ้านหรือที่ศูนย์เวชศาสตร์โรคจากการหลับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ การตรวจการนอนหลับ polysomnography จะบันทึกคลื่นสมอง ระดับออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ ระยะการนอน การเคลื่อนไหวของดวงตาและขา

การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย

การเอกซเรย์ การตรวจ CT scan หรือ MRI จะช่วยในการตรวจวินิจฉัยทางเดินหายใจว่าเกิดจากปัญหาทางด้านกายภาพ เช่น ผนังจมูกคดหรือไม่

รักษานอนกรนอย่างไร? Snoring

นอนกรน มีวิธีการรักษาอย่างไร?

  • การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เช่น การลดน้ำหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ เปลี่ยนท่าทางการนอน งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน และการเข้ารับการรักษาอาการคัดจมูกเรื้อรังจากภูมิแพ้ ช่วยบรรเทาอาการนอนกรนได้

ผู้ที่นอนกรนและมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

  • การสวมเครื่องครอบฟัน เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจ แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดหน้า ปวดกราม ร่างกายผลิตน้ำลายออกมามากเกินไป หรือปากแห้ง
  • เครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) หรือเครื่องอัดแรงดันอากาศผ่านทางจมูกหรือปากขณะหายใจเข้า ช่วยรักษาอาการนอนกรนเนื่องจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น ผู้ป่วยต้องสวมใส่หน้ากากที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อดันอากาศเข้าไปในทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างขณะนอนหลับ
  • การใช้เลเซอร์ (เออร์เบียมเลเซอร์) รักษาอาการนอนกรนขณะหยุดหายใจขณะหลับ คือการใช้เลเซอร์ยิงบริเวณเพดานอ่อน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ เกิดการกระชับ ตึงตัวของเนื้อเยื่อที่เคยหย่อนคล้อยลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ หลังเลเซอร์มีผลให้ทางเดินหายใจช่วงบน เปิดกว้างขึ้น ลดการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ โดยสามารถทำการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ ไม่มีบาดแผลผ่าตัด
  • การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน เช่น การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและคอหอย (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) เป็นการผ่าตัดเอาลิ้นไก่และเนื้อเยื่อส่วนเกินหรือที่หย่อนตัวออก หรือการผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า การใช้คลื่นวิทยุทำลายเนื้อเยื่อเพื่อลดขนาดเนื้อเยื่อเพดานปาก ลิ้น หรือจมูก และการผ่าตัดกระตุ้นเส้นประสาทเส้นที่ 12 เพื่อแก้ไขไม่ให้ลิ้นอุดกั้นทางเดินหายใจ

ป้องกันอาการนอนกรน และวิธีการดูแลตนเองที่บ้านอย่างไร?

  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีเนื้อเยื่อมากขึ้นในช่องคอ ทำให้นอนกรน การลดน้ำหนักตัวจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการนอนกรน
  • นอนตะแคง การนอนหงายทำให้ลิ้นหล่นลงไปด้านหลัง อุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน หากขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อยเวลานอนหลับ อาจทดลองเย็บลูกเทนนิสติดที่ด้านหลังเสื้อชุดนอนเพื่อช่วยให้ร่างกายกลับไปนอนตะแคง
  • การยกศีรษะให้สูงขึ้น ประมาณ 4 นิ้วจะช่วยให้อากาศในทางเดินหายใจไหลผ่านได้ดีขึ้น การใช้หมอนช่วยลดการนอนกรนสามารถช่วยจัดท่าศีรษะเวลานอนให้เหมาะสม
  • งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และแจ้งแพทย์ให้ทราบหากมีอาการนอนกรนก่อนใช้ยากล่อมประสาท เพราะยากล่อมประสาทและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัว
  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ ช่วยบรรเทาอาการนอนกรน
  • แผ่นแปะจมูกแก้นอนกรน (nasal strip) ช่วยขยายโพรงจมูก ทำให้หายใจได้ดีขึ้น และแผ่นแปะขยายโพรงจมูก (external nasal dilator) ช่วยลดแรงต้านทานในทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น แต่ทั้งแผ่นแปะจมูกแก้นอนกรนและแผ่นแปะขยายโพรงจมูกอาจไม่ได้ผลในผู้ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
  • เข้ารับการรักษาอาการคัดจมูก เนื่องจากอาการภูมิแพ้หรือผนังจมูกคด

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการนอนกรน

  • จดบันทึกอาการที่มี โดยผู้ป่วยอาจถามบุคคลใกล้ชิดให้อธิบายอาการนอนกรนขณะนอนหลับ
  • จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
    • อะไรคือสาเหตุของอาการนอนกรน
    • จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
    • การตรวจการนอนหลับคืออะไร
    • มีการรักษาด้วยวิธีใดบ้าง มีผลข้างเคียงหรือไม่
  • เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถามไว้ล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น
    • ทราบเมื่อไรว่านอนกรน
    • นอนกรนทุกคืนหรือเพียงบางคืน
    • อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
    • ปกตินอนหงายหรือนอนตะแคง
    • อาการนอนกรนดังจนรบกวนบุคคลใกล้ชิดหรือไม่
    • ตอนนอนหายใจแรงหรือหายใจลำบากหรือไม่
    • มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวันบ้างหรือไม่

คำถามที่พบบ่อยเมื่อมีอาการนอนกรน

  • จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นตัวเองนอนกรนหรือไม่?
    ถามสามีหรือภรรยา เพื่อนร่วมห้อง หรือสมาชิกในครอบครัวให้ลองสังเกต หากอยู่คนเดียว อาจลองใช้เครื่องอัดเสียง
  • การนอนกรนเป็นตัวบ่งชี้ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นหรือไม่?
    ถึงแม้ว่าการนอนกรนจะเป็นอาการหนึ่งของภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น แต่การนอนกรนอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วยเช่นกัน หากสงสัย ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ชำนาญการ
  • เด็กทารก หรือเด็กแบเบาะนอนกรน เป็นเรื่องปกติหรือไม่?
    เด็ก ๆ วัยแบเบาะอาจมีอาการนอนกรนจากการคัดจมูก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ หากคุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจ อาจปรึกษากุมารแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

การนอนกรนเสียงดังที่เกิดขึ้นเป็นประจำจนรบกวนการนอนหลับอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียในช่วงกลางวัน ขี้หงุดหงิด ปวดศีรษะ และหายใจลำบากเวลานอนหลับ การเข้ารับการตรวจการนอนหลับตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ตรวจพบสาเหตุของการนอนกรนและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง เพื่อคุณภาพการนอนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 16 ม.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    • ประสาทวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • Link to doctor
    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    • ประสาทวิทยา
    • โรคลมชัก
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    โรคลมชักและการผ่าตัดโรคลมชัก, โรคความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
  • Link to doctor
    รศ.นพ.   จิระพงษ์ อังคะรา

    รศ.นพ. จิระพงษ์ อังคะรา

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, Otolaryngology
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

    ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ, เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. เกษม สิริธนกุล

    นพ. เกษม สิริธนกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, หายใจลำบาก, ไอเรื้อรัง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็งปอด, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคปอดบวม, คลินิกหยุดบุหรี่
  • Link to doctor
    นพ. วรการ วิไลชนม์

    นพ. วรการ วิไลชนม์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, เครื่องช่วยหายใจ, วัณโรค
  • Link to doctor
    นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. อมรพันธุ์ วงศ์กาญจนา

    นพ. อมรพันธุ์ วงศ์กาญจนา

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ