อาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีการรักษาโรคไขมันพอกตับ - Fatty Liver Nonalcoholic Fatty Liver

โรคไขมันพอกตับ

คือภาวะความผิดปกติของตับ อันเกิดจากการสะสมของไขมันในเซลล์ตับที่มีปริมาณมาก โดยการเกิดภาวะไขมันพอกตับนั้นมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกิน และไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง

แชร์

โรคไขมันพอกตับ

โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) คือภาวะความผิดปกติของตับ อันเกิดจากการสะสมของไขมันในเซลล์ตับที่มีปริมาณมาก โดยการเกิดภาวะไขมันพอกตับนั้นมีความสัมพันธ์กับ ภาวะน้ำหนักเกิน และไขมันในเลือดสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ภาวะไขมันพอกตับนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตับโดยตรง อย่างไรก็ดีผู้ป่วยราวหนึ่งในสามอาจมีการอักเสบของตับได้ (Nonalcoholic steatohepatitis หรือ NASH) ซึ่งหากการอักเสบภายในตับนี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานจะนำไปสู่การสะสมของพังผืด (fibrosis) ที่เกิดจากการซ่อมแซมความเสียหายภายในตับ และเมื่อพังผืดเหล่านี้สะสมในปริมาณมากก็จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง (cirrhosis) ในอนาคต รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะมะเร็งตับ (Liver Cancer) อีกด้วย

อย่างไรก็ดีแม้จะมีผู้ป่วยไขมันพอกตับเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีภาวะตับอักเสบ แต่การมีภาวะไขมันพอกตับนี้จัดเป็นความเสี่ยงหนึ่งของภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีภาวะน้ำหนักเกิน รวมถึงมีโรคที่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการเกิดไขมันพอกตับมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวที่สูงขึ้น ปัจจุบันลักษณะการใช้ชีวิตและอาหารการกินแบบตะวันตกทำให้ประชาชนมีอัตราการเกิดกลุ่มอาการอ้วนลงพุง หรือ metabolic syndrome (ซึ่งประกอบไปด้วยรอบเอวที่เกิน 90 ซม ในผู้หญิง และ 100 ซม ในผู้ชาย, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และน้ำตาลในเลือดสูง) มากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดภาวะไขมันพอกตับมากขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตอีกด้วย

นอกจากสาเหตุหลักดังกล่าวแล้ว ความผิดปกติของฮอร์โมน หรือการใช้ยาบางชนิดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันพอกตับเช่นเดียวกัน ได้แก่ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS), โรคไทรอยด์, ภาวะพร่องหรือขาดฮอร์โมน (Hypopituitarism or underactive pituitary gland) และการใช้ยา เช่น tamoxifen

อาการของโรคไขมันพอกตับ

ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับ หรือมีตับอักเสบจากไขมันพอกตับส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และอาการแสดงชัดเจน มักตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายประจำปี โดยอาจมีการตรวจพบว่ามีค่าเอ็นไซม์ตับผิดปกติ หรือ อาจตรวจพบจากการทำอัลตร้าซาวน์ช่องท้องแล้วพบว่าตับมีการสะสมของไขมัน

เมื่อไหร่จึงต้องพบแพทย์

ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับมีความจำเป็นต้องได้รับการประเมินระดับความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตรวจวัดปริมาณพังผืดในตับว่ามีมากน้อยเพียงใด แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการก็ตาม รวมทั้งการตรวจหาโรคร่วมต่าง ๆ อันได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจเพิ่มเติมต่อไป

 การตรวจและรักษาโรคไขมันพอกตับ (NAFLD)

การตรวจวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ

ส่วนใหญ่วินิจฉัยเบื้องต้นจากภาพถ่ายทางรังสี โดยอัลตร้าซาวน์ช่องท้องเป็นหลักเพื่อดูลักษณะของตับที่มีการสะสมของไขมัน ร่วมกับการตรวจค่าเอ็นไซม์ตับว่ามีตับอักเสบหรือไม่ และอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่เป็นสาเหตุของตับอักเสบ หรือไขมันสะสมในตับออกไป โดยการตรวจเพิ่มเติมแพทย์จะทำการพิจารณาตรวจในผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

การตรวจเลือด

  • การตรวจการทำงานของตับ
  • การตรวจคัดกรองไวรัสโรคตับอักเสบ B และ C
  • การตรวจเพื่อหาโรคร่วมต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำตาลและน้ำตาลสะสมในเลือด, ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น

การตรวจวัดผังผืดตับ

ปัจจุบันวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจประเมินพังผืดตับเรียกว่าการตรวจ fibroscan หรือ transient elastography วิธีการตรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับ และนำไปแปลผลเป็นค่าปริมาณพังผืดในตับต่อไป ซึ่งปริมาณพังผืดตับนี้นับเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป รวมทั้งเครื่องตรวจ fibroscan รุ่นใหม่ยังสามารถวัดปริมาณไขมันในตับได้อีกด้วย โดยวิธีการตรวจสามารถทำได้ง่ายโดยการใช้หัวตรวจแตะที่บริเวณผิวหนังของผู้ป่วย และส่งคลื่นเสียงสะท้อนไปยังบริเวณตับ สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และไม่มีความเจ็บปวด

วิธีอื่นที่เป็นทางเลือกในการตรวจวัดพังผืดตับ ได้แก่ การสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)โดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับอุปกรณ์พิเศษสำหรับการตรวจวัดความยืดหยุ่นของเนื้อตับเพื่อในไปแปลผลเป็นค่าผังผืดตับ

การเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver tissue examination)

ปัจจุบันมีที่ใช้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถทดแทนได้โดยไม่ต้องทำการเจาะให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด แต่ในผู้ป่วยบางรายที่การตรวจหาสาเหตุของภาวะตับอักเสบไม่แน่ชัด อาจพิจารณาการเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อนำไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์เป็นราย ๆ

วิธีรักษาโรคไขมันพอกตับ

การลดน้ำหนักเป็นวิธีการรักษาที่ดี และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาภาวะไขมันพอกตับ เนื่องจากสามารถลดได้ทั้งปริมาณไขมัน, การอักเสบ และปริมาณพังผืดในตับ นอกจากนี้การลดน้ำหนักยังส่งผลดีต่อโรคร่วมต่าง ๆ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ ไขมันในเลือดสูงอีกด้วย โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักประมาณร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัวเดิม

 

เผยแพร่เมื่อ: 03 ก.ย. 2020

แชร์