สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษาโลหิตจาง - Anemia: Causes, Symptoms, Diagnosis, Treatments

โลหิตจาง (Anemia)

โลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะซีด คือ ภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินในเลือดน้อยกว่าปกติ ฮีโมโกลบินเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โลหิตจาง (Anemia)

โลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะซีด คือ ภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินในเลือดน้อยกว่าปกติ ฮีโมโกลบินเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ภาวะโลหิตจางทำให้เซลล์และอวัยวะได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หายใจลำบาก มีภาวะซีด ตัวเหลือง และส่งผลต่อการทำงานของสมอง โลหิตจางรุนแรงอาจทำให้หัวใจล้มเหลว หมดสติ และเสียชีวิต ผู้ที่สงสัยว่าอาจมีภาวะโลหิตจางควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเป็นระบบ

โลหิตจาง มีสาเหตุจากอะไร?

โลหิตจางมีสาเหตุเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. การสร้างเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบิลในร่างกายลดลง โดยมีสาเหตุจาก
    • การขาดสารอาหาร (Lack of nutrients) ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก (โฟเลต) ซึ่งพบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ 
    • การตั้งครรภ์ (Pregnancy) ผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีปริมาตรน้ำเหลืองในเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีภาวะโลหิตจาง
    • โรคเรื้อรัง (Chronic diseases) ที่ส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น มะเร็ง โรคตับ ไตวายเรื้อรัง โรคระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อ HIV โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่ส่งผลต่อการทำงานของไขกระดูก และทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง
    • โรคในไขกระดูก (Bone marrow diseases) เช่น มะเร็งในระบบเลือดที่กดการทำงานและการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ มะเร็งไขกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โรคไขกระดูกเสื่อม หรือการติดเชื้อในไขกระดูก
  2. เม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายเร็วกว่าปกติ โดยมีสาเหตุจากโรคเลือดทางพันธุกรรม หรือการติดเชื้อ เช่น
    • ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) โรคเลือดจางทางพันธุกรรมที่เกิดจากความบกพร่องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้น้อย เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นและแตกง่าย
    • โรคพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (Glucose 6 phosphate dehydrogenase: G6PD) เกิดจากการขาดเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นเอมไซม์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจากฤทธิ์ของยา หรืออาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า ถั่วฝักยาว หรือถั่วเขียว การขาดเอมไซม์ G6PD ทำให้เป็นมีภาวะโลหิตจางอย่างรวดเร็ว มีภาวะซีดจาง ปัสสาวะเป็นสีชา ตัวเหลืองตาเหลือง หรือดีซ่าน
    • โลหิตจางจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง (Autoimmune hemolytic anemia) หรือโรคโลหิตจางจากกลไกของภูมิคุ้มกัน คือภาวะที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง เกิดจากการที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อต้านเม็ดเลือดแดงตนเอง ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
    • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia: SCD) เกิดจากความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไม่เป็นทรงกลมและมีรอยบุ๋มตรงกลางตามปกติ แต่ที่มีรูปร่างคล้ายเคียว หรือพระจันทร์เสี้ยวที่ทำให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง 
    • การติดเชื้อ (Infections)  เช่น เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม (Clostridium) เชื้อแบคทีเรียไมโคพลาสมา (Mycoplasma) เชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้มาลาเรียที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และมีภาวะซีด
  3. การสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด ซึ่งเป็นได้ทั้งการเสียเลือดแบบเฉียบพลัน ได้แก่ การตกเลือด การเกิดอุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตร หรือการเสียเลือดแบบเรื้อรังที่ทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็กในเวลาต่อมา ได้แก่ ประจำเดือนมามาก โรคหลอดเลือดโป่งพอง แผลในกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ใหญ่

Anemia Banner 1
ซ้าย-มือของผู้ที่มีสุขภาพดี ขวา-มือของผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง

โลหิตจาง มีอาการอย่างไร?

อาการของภาวะโลหิตจางขึ้นอยู่กับสาเหตุและการดำเนินโรค ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางในระยะแรกเริ่มอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการเล็กน้อย แล้วจึงค่อย ๆ มีอาการมากขึ้นไปจนถึงขั้นมีอาการรุนแรง ทั้งนี้ ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคบางโรคอาจแสดงออกซึ่งอาการของโรคชนิดนั้นแทน ทำให้ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางไม่ทราบว่าตนมีภาวะนี้ โดยแพทย์มักยืนยันผลการตรวจภาวะโลหิตจางได้เมื่อเข้ารับการตรวจความสมบูรณ์ของเลือดแล้วเท่านั้น โดยภาวะโลหิตจางมีสัญญาณ และอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea, shortness of breath) หายใจลำบาก  ไม่สามารถสูดอาการหายใจเข้าไปลึก ๆ ได้
  • วิงเวียนศีรษะ (Dizziness, lightheadedness) มึนงง รู้สึกได้ถึงการยืน หรือการเดินที่ไม่มั่นคง
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (Tiredness, weakness) รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนล้า อ่อนแรง ไม่มีเรี่ยวแรงแม้ออกแรงไม่มาก
  • ปวดหัว (Headache) โลหิตจางที่มีสาเหตุจากการขาดธาตุเหล็ก หรือฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงต่ำอาจทำให้ปวดหัว
  • มือเท้าเย็น (Cold hands and feet) มีอาการมือเท้าเย็น ซึ่งเกิดจากการไหลเวียนโลหิตบริเวณมือและเท้าลดลง
  • เป็นลมหมดสติ (Fainting, syncope) เนื่องจากการขาดเม็ดเลือดแดงที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia, irregular heartbeat) ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นคร่อมจังหวะ
  • เสียงอื้อในหู (Pulsatile tinnitus) ได้ยินเสียงอื้อในหู หรือเสียงวี๊ดคล้ายเสียงจักจั่นร้องดังรบกวนในหูข้างใดข้างหนึ่งสลับไปมา 
  • ภาวะซีด ตัวเหลือง (Pale or yellowish skin) มีภาวะซีด ตัวเหลืองตาเหลือง หรือดีซ่าน ซึ่งเป็นอาการเด่นของภาวะโลหิตจาง
  • เจ็บหน้าอก (Chest pain) รู้สึกเหมือนโดนกดทับที่หน้าอกหรือโดนบีบที่หน้าอก ทำให้รู้สึกแน่นหน้าอก

โลหิตจาง มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?

โลหิตจาง มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะโลหิตจางโดยการซักประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด รวมถึงประวัติครอบครัว โรคประจำตัว และทำการตรวจร่างกายโดยเฉพาะการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีค่าฮีโมโกลบิลมาตรฐานในเม็ดเลือดต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย และต่ำกว่า 12 กรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (A complete blood count: CBC) เป็นการตรวจวัดปริมาณ ขนาด และรูปร่างเม็ดเลือดแดง รวมถึงการตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน และค่าความหนาแน่นของฮีมาโตคริต (Hematocrit: Hct%) ในเม็ดเลือดแดง ตรวจเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด รวมถึงวิตามินบี 12 และวิตามินบี 9 (โฟเลต) 
  • การตรวจสเมียร์เลือด (Peripheral blood smear) เป็นการตรวจวินิจฉัยทางโลหิตวิทยาในห้องปฏิบัติการ โดยการนำตัวอย่างเลือดหยดลงบนสไลด์ให้กระจายตัวไปมา แล้วจึงนำสไลด์ไปย้อมสีเพื่อตรวจคุณลักษณะของเม็ดเลือด และประเมินปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด
  • การเจาะตรวจไขกระดูก (Bone marrow aspiration or biopsy) เป็นการเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติเพื่อตรวจพยาธิสภาพของไขกระดูกโดยการเจาะเก็บตัวอย่างไขกระดูก ตรวจดูเซลล์และองค์ประกอบของเซลล์เพื่อวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยาที่วินิจฉัยได้ยาก เช่น ภาวะโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ

Anemia Banner 4

โลหิตจาง มีวิธีการรักษาอย่างไร?

แพทย์ด้านโลหิตวิทยาจะทำการรักษาภาวะโลหิตจางจากสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการของแต่ละบุคคล ตั้งแต่การให้ธาตุเหล็กบำรุงเลือด การให้เลือด การฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด การรักษาโรคเลือดหรือโรคในระบบเลือด โรคในไขกระดูก รวมถึงโรคเรื้อรัง หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่แพทย์ตรวจพบ การรักษาภาวะโลหิตจางมีวิธีการดังนี้

  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์จะพิจารณาให้ธาตุเหล็กบำรุงโลหิตเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือด สำหรับผู้มีภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดจำนวนมาก เช่น การตกเลือด อุบัติเหตุ หรือเลือดออกภายใน แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดโดยเร็วที่สุด
  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามิน (Vitamin deficiency anemia) ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก แพทย์จะพิจารณาให้ทานวิตามินดังกล่าวเสริม
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disease) แพทย์จะเน้นทำการรักษาโดยไปที่โรคชนิดนั้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนสังเคราะห์อีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดแดง
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคในไขกระดูก (Anemia caused with bone marrow disease) แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาโดยขึ้นอยู่กับชนิดของโรค รวมถึงระดับความรุนแรง เช่น การให้ยา การให้เคมีบำบัด รังสีรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
  • ภาวะโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) แพทย์จะพิจารณาการให้เลือด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่แข็งแรงเข้าสู่ร่างกาย
  • ภาวะโลหิตจางจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง (Hemolytic anemia) แพทย์อาจพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยป้องกันเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย พร้อมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  • ภาวะโลหิตจางจากโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia) แพทย์จะพิจารณาการรักษา เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยาบรรเทาปวด การให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อลดอาการปวดและป้องกันภาวะแทรกซ้อน จากการให้เลือด การให้กรดโฟลิกทานเสริม รวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะ
  • ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา สำหรับผู้ที่เป็นธาลัสซีเมีย แพทย์จะพิจารณาแนวทางในการรักษาหลากหลายโดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการ เช่น การรับเลือด การให้กรดโฟลิกทานเสริม การให้ยาขับธาตุเหล็ก การผ่าตัดม้าม และการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาธาลัสซีเมียที่ช่วยให้หายขาดจากโรคได้ 

ภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจาง เป็นอย่างไร?

ภาวะโลหิตจางที่ไม่ได้รับการรักษาในระยะแรกเริ่มอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนตามระยะเวลาการดำเนินโรค ภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจาง ได้แก่

  • อาการเหนื่อยล้ารุนแรง (Severe tiredness)
  • การคลอดก่อนกำหนด (Premature birth)
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
  • ภาวะหัวใจโต (Enlarged heart)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure)
  • เสียชีวิต (Death)

การป้องกันภาวะโลหิตจาง มีวิธีการอย่างไร?

  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากโรคเลือดทางพันธุกรรม โรคระบบภูมิคุ้มกัน หรือโรคในไขกระดูกควรพบแพทย์เพื่อรับรักษาแต่เนิ่น ๆ
  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดสารอาหารควรทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12 และวิตามินซี
  • ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากทุกสาเหตุ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้จนทำให้มีเลือดออกภายในอวัยวะได้
  • ผู้ที่อุจจาระมีสีดำ อุจจาระมีเลือดปน มีจุดเลือดออกเป็นจ้ำ ๆ ตามตัว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ
  • ผู้ที่หมดประจำเดือนไปแล้วแต่มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ

โรคโลหิตจาง ควรกินอะไร?

โรคโลหิตจาง ควรกินอะไร?

ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดสารอาหาร ควรเน้นการทานอาหารเสริมจากแหล่งอาหารสำคัญเพื่อช่วยบำรุงเลือด ได้แก่

  • ธาตุเหล็ก (Iron) ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ตับ เลือด เครื่องใน ไข่แดง หอย ผักโขม คะน้า ตำลึง งา ถั่วดำ ธัญพืช 
  • โฟเลต (Folate) หรือวิตามินบี 9 ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม บร็อคโคลี่ ผักปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง
  • วิตามินบี 12 (Vitamin B 12) ได้แก่ เนื้อแดง ปลา ไข่ ตับ นม สัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ ซีเรียล ธัญพืช
  • วิตามินซี (Vitamin C) ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ บร็อคโคลี่ มะเขือเทศ พริกไทย เมล่อน

โลหิตจางมีทางรักษา อย่าชะล่าใจ ปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตราย

ภาวะโลหิตจางในวัยเด็กอาจไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและจะมีอาการมากขึ้นตามวัยและปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆเด็กที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรงอาจส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้า ภาวะโลหิตจางในผู้สูงอายุอาจส่งผลให้มีอาการของกลุ่มโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้หากได้รับการตรวจพบและรับการรักษาโดยเร็วจะช่วยให้เด็กหรือผู้ที่มีภาวะโลหิตจางมีโอกาสหายจากโรคได้

ผู้ที่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายคล้ายจะเป็นลมแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดสารอาหาร แพทย์จะพิจารณาให้อาหารเสริมธาตุเหล็กหรือวิตามินเพื่อเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินในร่างกาย สำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากสาเหตุของโรคในระบบเลือด โรคในไขกระดูก หรือมะเร็งในระบบเลือด แพทย์จะพิจารณารักษาโรคชนิดนั้นอย่างครอบคลุมเพื่อยับยั้งภาวะโลหิตจางและช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกาย ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 15 ธ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ภาวินี น้อยนารถ

    พญ. ภาวินี น้อยนารถ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    อายุรศาสตร์โรคเลือด, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ. รัตตพร   วิชิตรัชนีกร

    พญ. รัตตพร วิชิตรัชนีกร

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    อายุรศาสตร์โรคเลือด
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. ชญาภา ทูคำมี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    อายุรศาสตร์โรคเลือด
  • Link to doctor
    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
    มะเร็งทางโลหิตวิทยา, การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์