อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษามะเร็งเต้านม (Breast Cancer Treatment)

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม (Breast Cancer Treatment)

การรักษาโดยการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมโรคและสามารถนำชิ้นเนื้อที่ได้จาการผ่าตัดไปตรวจทางพยาธิวิทยา ทำให้ทราบระยะที่แท้จริงของโรค

แชร์

การรักษามะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัด

การรักษามะเร็งเต้านม โดยการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมโรคและสามารถนำชิ้นเนื้อที่ได้จาการผ่าตัดไปตรวจทางพยาธิวิทยา ทำให้ทราบระยะของมะเร็งเต้านมที่แท้จริง ช่วยวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและสามารถพยากรณ์โรคได้แม่นยำมากขึ้น ขั้นตอนการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม แบ่งอกเป็น 2 ส่วน คือ การผ่าตัดที่เต้านมและการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ นอกจากนี้ยังมีส่วนเพิ่มเติมซึ่งไม่ใช่การรักษาโดยตรง เช่น การเสริมสร้างเต้านมใหม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วย

การผ่าตัดบริเวณเต้านม

การผ่าตัดบริเวณเต้านม แบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่

  • การตัดเต้านมออกทั้งเต้า (Total or Simple mastectomy) คือ การผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด (รวมผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็งและหัวนมด้วย) เดิมการผ่าตัดวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย แต่ปัจจุบันแพทย์เลือกใช้กับผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ มีก้อนมะเร็งหลายก้อน เต้านมขนาดเล็ก มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง หรือผู้ป่วยที่ไม่สะดวกหรือมีข้อห้ามในการฉายรังสีที่เต้านมหลังผ่าตัด
  • การตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน (Partial mastectomy or Breast-conserving surgery) คือ การตัดก้อนมะเร็งและเนื้อของเต้านมปรกติที่อยู่รอบ โดยตัดห่างจากขอบของก้อนมะเร็งประมาณ 1 - 2 ซม.โดยมากจะยังคงเหลือหัวนมฐานหัวนมและส่วนใหญ่ของเนื้อเต้านม ส่วนมากมักเลือกใช้ในรายที่มะเร็งมีขนาดเล็ก มีมะเร็งเพียงตำแหน่งเดียว และ/หรือเต้านมมีขนาดใหญ่พอสมควร ภายหลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยยังสามารถรักษารูปร่างของเต้านมได้ดี ผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับการฉายรังสีที่เต้านมร่วมด้วยเสมอ การตัดเต้านมออกเพียงบางส่วนจะได้ผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการตัดเต้านมออกทั้งเต้า และรูปร่างของเต้านมยังคงสภาพสวยงามใกล้เคียงเดิม

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary dissection)
    เป็นมาตรฐานของการผ่าตัดมะเร็งเต้านมเพื่อกำจัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ที่อาจมีการแพร่กระจายของมะเร็ง ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งในการควบคุมโรค ทราบระยะที่แท้จริงของโรค และนำมาใช้ในการวางแผนการรักษาซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลดีต่อการรักษาโรค ในทางตรงข้ามการผ่าตัดดังกล่าว อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้เช่น มีอาการชาบริเวณต้นแขนด้านใน มีการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนทำงานได้ลดลง หรือในระยะยาวอาจมีภาวะแขนบวมข้อไหล่ติดได้ โดยโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจะเพิ่มขึ้นถ้าจำเป็นต้องได้รับการฉายแสง (รังสีรักษา) ร่วมด้วย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องดูแลแขนข้างที่ผ่าตัดเป็นพิเศษ เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนักการใช้งานซ้ำๆ การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อของแขนข้างเดียวกันเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแขนบวม
    ในปัจจุบันการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกหมดจะทำในผู้ป่วยที่คลำพบต่อมน้ำเหลืองผิดปกติที่รักแร้ตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษา เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีมะเร็งแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 70% และในผู้ป่วยที่ตรวจพบการแพร่กระจายของมะเร็งมายังต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel Lymphnode Biopsy)
    เป็นวิธีการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ที่ได้รับการยอมรับมากในปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโอกาสน้อยที่มะเร็งจะแพร่กระจายของไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เช่นผู้ป่วยที่คลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกและก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองน้อยกว่า 30% การผ่าตัดนี้เป็นการหาต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่มะเร็งจะแพร่กระจายไป และนำต่อมน้ำเหลืองดังกล่าวไปตรวจเพื่อยืนยันว่ามีมะเร็งกระจายมาหรือไม่ หากไม่พบมะเร็งแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองดังกล่าว ก็ไม่ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ ออกซึ่งทำให้ลดโอกาสเกิดแขนบวม (Lymphedema)แต่หากตรวจพบการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแล้วผู้ป่วยจะได้รับการรักษาต่อด้วยการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมด (Axillary dissection)
    ในปัจจุบันการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลถือเป็นการรักษาตามมาตรฐาน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกหมด (Axillary dissection) โดยไม่มีผลเสียใดๆ ต่อการรักษามะเร็งเต้านม

การพิจารณาว่าจะผ่าตัดด้วยวิธีใดขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งขนาดของก้อนมะเร็ง สภาพร่างกายของผู้ป่วย ความชำนาญของศัลยแพทย์บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการผ่าตัดได้มากกว่าหนึ่งวิธี ดังนั้นศัลยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำถึงการผ่าตัดแต่ละวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการผ่าตัดที่หมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง

ในปัจจุบันเนื่องจากการรักษามะเร็งเต้านมให้ผลดีกว่าในอดีตอย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น มีโอกาสในการกลับเป็นซ้ำลดลงโดยเฉพาะในรายที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก ดังนั้นนอกเหนือจากการรักษาชีวิตรักษาโรคให้หายแล้ว การเก็บรักษาเต้านมหรือการรักษารูปร่างเต้านมไว้จึงมี

ความสำคัญมากขึ้น เพราะช่วยการสร้างความมั่นใจ ลดความรู้สึกสูญเสียอันจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยหลังผ่าตัด เป็นผลให้เกิดวิธีการผ่าตัดใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างเต้านมใหม่หรือทดแทนส่วนที่ขาดหายไป (Breast reconstruction) โดยไม่มีผลเสียต่อการรักษามะเร็งเต้านมโดยรวม

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction)

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม คือ การผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อที่บริเวณอื่นของร่างกายหรือใช้วัสดุที่ทำเลียนแบบเต้านม มาเพื่อเสริมหรือสร้างเต้านมใหม่ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ ในการกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมสามารถทำได้พร้อมกับการผ่าตัดรักษามะเร็ง (Immediate reconstruction) หรือ ทำภายหลังการผ่าตัดรักษามะเร็ง (Delayed reconstruction)

  • การผ่าตัดใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง (Transverse rectus abdominis myocutaneous flap or TRAM flap) มาทดแทนเต้านมทั้งหมดที่ถูกตัดออกไป แพทย์จะนำผิวหนังเนื้อเยื่อไขมันและกล้ามเนื้อหน้าท้องมาทดแทนเต้านมเดิมที่ถูกตัดออก การผ่าตัดวิธีนี้ใช้ระยะเวลาผ่าตัดนานกว่าการตัดเต้านมเพียงอย่างเดียว โดยจะใช้เวลาผ่าตัดนานประมาณ 3 - 5 ชั่วโมงผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลนานประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องซึ่งสามารถซ่อนอยู่ในแนวขอบกางเกงในได้(bikini line) หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีความแข็งแรงของผนังหน้าท้องลดลง แต่ไม่มีผลมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันข้อดีประการหนึ่งของการผ่าตัดวิธีนี้คือการนำเนื้อเยื่อจากหน้าท้องมาเสริมแทนเต้านมเดิม ทำให้ช่วยลดเนื้อเยื่อไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้องทำให้หน้าท้องแบนราบลง และผลการผ่าตัดสามารถอยู่ได้นานถาวร
  • การผ่าตัดใช้เนื้อเยื่อบริเวณสะบักหลัง (Latissimus dorsi myocutaneous flap or LD flap) ซึ่งส่วนใหญ่มักทำร่วมกับการผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน โดยเฉพาะในรายที่มีการสูญเสียเนื้อเต้านมมากเกินกว่าที่จะคงความสวยงามไว้ได้หากไม่มีเนื้อเยื่ออื่นมาทดแทน แพทย์จะใช้เนื้อเยื่อบริเวณสะบักหลังในการผ่าตัดสร้างเต้านมบางส่วนหรือทั้งหมดได้หรืออาจใช้เต้านมเทียม (prosthesis) เพื่อเสริมเพิ่มขนาดของเต้านม การผ่าตัดนี้ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณแผ่นหลังซึ่งสามารถซ่อนอยู่ในแนวขอบเสื้อในได้ (bra line) การผ่าตัดบางรายอาจมีผลบ้างต่อกล้ามเนื้อที่ช่วยในการขยับหัวไหล่
  • การผ่าตัดเสริมด้วยเต้านมเทียม (Prosthesis) เพื่อทดแทนการตัดเต้านมออกบางส่วนหรือทั้งหมด เต้านมเทียมมีหลายรูปทรง หลายขนาดและหลากหลายวัสดุที่ใช้ มีข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัดใดๆ เพิ่มเติมจากปกติ แต่อาจมีข้อจำกัดในผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของเต้านม ไม่เหมาะที่จะใช้เต้านมเทียม นอกจากนี้หากผู้ป่วยจำเป็น ต้องได้รับการฉายแสง (รังสีรักษา) ร่วมด้วยจะมีโอกาสเกิด ภาวะแทรกซ้อนเช่น การหดรั้งของเนื้อเยื่อรอบๆ เต้านมเทียม ซึ่งอาจจะทำให้เต้านมเสียรูปไป ทั้งนี้การผ่าตัดเสริมด้วยเต้านมเทียมอาจต้องมีการผ่าตัดตกแต่งเสริมความสวยงามในภายหลัง เช่นการเปลี่ยนเต้านมเทียมหรือการตัดแต่งพังผืดดึงรั้ง
  • การเสริมเต้านมด้วยเนื้อไขมัน (Fat grafting Lipofilling) มักจะใช้เพื่อแก้ไขเต้านมผิดรูปที่เกิดจากการผ่าตัดเต้านมบางส่วน โดยนำเนื้อเยื่อไขมันจากการดูดหรือการตัดส่วนอื่นของร่างกายเช่น บริเวณหน้าท้องหรือต้นขานำมาเตรียมฉีดหรือใส่ไปยังบริเวณที่ต้องการ
  • การผ่าตัดสร้างหัวนมและปานหัวนม (Nipple areolar reconstruction) ในรายที่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมดการผ่าตัดสร้างหัวนมและปานหัวนมได้ใหม่โดยใช้ผิวหนังบริเวณข้างเคียงร่วมกับการสักสีทางการแพทย์ ซึ่งมักจะทำภายหลังการผ่าตัดเสริมเต้านม

โดยทั่วไปการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นจะไม่เกิดผลเสียใดๆ ต่อการรักษามะเร็งเต้านม แต่จำเป็นต้องคัดเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสม โดยขึ้นกับระยะของโรค ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง สภาพทั่วไปรวมถึงความพร้อมในการผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ศัลยแพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลความเป็นไปได้ของวิธีต่างๆ แก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมทั่วไปมักทำภายใต้การดมยาสลบปรกติใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมง ยกเว้นในรายที่มีการผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction) จะใช้ระยะเวลาผ่าตัดนานขึ้น

โดยขึ้นกับวิธีการผ่าตัด หลังจากเสร็จการผ่าตัดศัลยแพทย์จะเย็บผิวหนังเข้าหากันให้สนิทเหมือนเดิม โดยใช้ไหมละลายและเย็บแบบซ่อนปมใต้แผลเพื่อความสวยงาม ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการตัดไหมในภายหลังนอกจากนี้หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องใส่เสื้อกระชับทรงที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับการผ่าตัดเต้านมและปิดแผลให้แน่น เพื่อให้ผิวหนังติดแน่นกับหน้าอกเพื่อไม่ให้เลือดและน้ำเหลืองออกมากหลังผ่าตัด และลดอาการปวดแผลที่เกิดจากการหายใจและขยับตัว

นอกจากนี้จะใส่ท่อพลาสติกเล็ก ๆ 1 - 2 เส้นเพื่อเป็นทางระบายเลือดและน้ำเหลืองจากแผล ท่อพลาสติกนี้จะถูกดึงออกประมาณวันที่ 2 หลังผ่าตัด หรือเมื่อเลือดและน้ำเหลืองไหลออกน้อยโดยปรกติผู้ป่วยจะนอนพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 2 - 3 วันและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ประมาณหนึ่งสัปดาห์แพทย์จะนัดกลับมาพบ เพื่อเปิดผ้าปิดแผลทั้งหมดออก หากว่าแผลหายสนิทดี แพทย์ผู้รักษาจะแนะนำผู้ป่วยอาบน้ำได้ตามปกติ บางรายอาจมีน้ำเหลืองคั่งค้างอยู่ใต้แผลผ่าตัดซึ่งแพทย์จะใช้เข็มเจาะดูดออกเป็นครั้ง ๆ ไปและไม่ถือว่ามีอันตรายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด คือ การใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยาดังกล่าวสามารถออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย ต่างจากการผ่าตัดที่ได้ผลเฉพาะบริเวณที่ผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นถ้าท่านได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ท่านก็จะมีโอกาสหายขาดมากขึ้นและมีชีวิตยืนยาวออกไป ยาเคมีบำบัดนี้นอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังอาจมีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเช่น ไขกระดูก (ซึ่งจะเป็นตัวสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด) เยื่อบุทางเดินอาหาร ผมและขน และระบบสืบพันธุ์ (รังไข่)เซลล์ดังกล่าวบางส่วนจะถูกทำลายไปด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียง แต่เนื่องจากเซลล์ปกติมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ดังนั้นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็มักจะเกิดเพียงชั่วคราว เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ทุกอย่างก็จะกลับมาใกล้เคียงปกติ

ในปัจจุบันนิยมที่จะให้ยาเคมีบำบัดหลายๆ ชนิดร่วมกัน ทั้งนี้เพราะให้ผลการรักษาดีกว่าการให้ยาเพียงชนิดเดียว นอกจากนี้ผู้ป่วยยังจะได้รับยาที่จะช่วยลดผลข้างเคียงเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว แพทย์มักจะนัดผู้ป่วยมาให้ยาเคมีบำบัดแบบไม่ต้องนอนค้างในโรงพยาบาล กล่าวคือสามารถมาตรวจในช่วงเช้าและกลับบ้านในตอนเย็น นอกจากนี้การให้ยามักจะเว้นระยะห่างตั้งแต่ประมาณหนึ่งถึงสามหรือสี่สัปดาห์ตามแต่สูตรของยาที่แพทย์เลือกใช้ เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับการพักและพร้อมที่จะรับยาในครั้งต่อไป ระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัดทั่วไปใช้เวลาประมาณ 3 - 6 เดือนบางรายอาจนานกว่านั้นเช่นหนึ่งปี ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดสามารถที่จะทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไปทำงาน อยู่กับครอบครัวและเข้าสังคมได้

ยาเคมีบำบัดทุกชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเหล่านี้ บางรายอาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้ บางรายก็อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยและบางรายอาจมีอาการค่อนข้างรุนแรง ซึ่งจะแตกต่างกันไป ตามแต่การตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยขนาดและชนิดของยาที่ใช้ แต่ข้อสำคัญที่ควรระลึกไว้คือผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักจะเป็นเฉพาะในวันที่ได้รับยาหรือหลังจากนั้นอีกเพียง 2 - 3 วัน จากนั้นอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไป แม้ไม่ได้รับการรักษาใดๆ

ยาบางชนิดที่ผู้ป่วยทานอยู่เดิมอาจจะมีผลต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องบอกแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับยาเดิมของท่าน

ยาเคมีบำบัดส่วนมากมักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยควรทานยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อลดอาการ และควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่รับประทานบ่อยครั้งขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

ยาเคมีบำบัดบางชนิด อาจทำให้เกิดปากและคอแห้งหรือเป็นแผลในปาก มีอาการเจ็บได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันอาการแต่หากว่าเกิดเป็นแผลแล้ว ควรจะรับประทานอาหารที่มีลักษณะเหลว เช่น  โจ๊ก ข้าวต้ม ผลไม้บางชนิด และไอศกรีม เพื่อให้กลืนได้ง่ายขึ้น

ยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาว, เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย ดังนั้นถ้าจำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยลงผู้ป่วยก็จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

ยาเคมีบำบัดอาจจะทำให้ผมและขนร่วง แต่อาการดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อการรักษาสิ้นสุดลง ผมและขนก็จะงอกขึ้นมาเหมือนเดิมดังนั้นท่านจึงไม่ควรกังวลในเรื่องเหล่านี้มากจนเกินไป

ในผู้ป่วยที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ยาเคมีบำบัดอาจจะทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือในบางรายอาจจะไม่มีประจำเดือนอีกเลยก็ได้ นอกจากนั้นยังอาจจะมีอาการคล้ายๆ คนใกล้หมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบตามตัวแต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้แม้โอกาสน้อยมากและยาเคมีบำบัดก็อาจจะมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นในช่วงเวลาที่ได้รับยาเคมีบำบัด ควรจะต้องมีการคุมกำเนิด ซึ่งท่านอาจจะปรึกษาแพทย์ว่าจะควบคุมโดยวิธีใด ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ควรจะคุมกำเนิดโดยการกินยาคุมหรือฉีดยาคุม เนื่องจากยาเหล่านั้นมีฮอร์โมนเพศเป็นส่วนประกอบ ทำให้เสี่ยงต่อการกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโตขึ้นมาใหม่ได้

ในผู้ป่วยที่อายุไม่มาก ประจำเดือนมักจะกลับมาเป็นปกติหลังจากที่การรักษาสิ้นสุดลงราวๆ หกเดือนหรือนานกว่านั้น ผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ใหม่ได้ และบุตรที่เกิดมาก็มักจะไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรที่จะคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าโรคมะเร็งมีโอกาสน้อยที่จะกลับเป็นซ้ำอีก สำหรับผู้ป่วยที่ถึงวัยใกล้จะหมดประจำเดือนแล้ว บางรายเมื่อหยุดให้ยาแล้วประจำเดือนก็อาจจะไม่มาอีก เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปเลย นอกจากนี้ยาเคมีบำบัดไม่มีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยเลย ผู้ป่วยหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนปกติ

การรักษาโดยการฉายแสง (รังสีรักษา)

การรักษาโดยการฉายแสง คือ การใช้เครื่องมือพิเศษที่สามารถปล่อยอนุภาครังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง รังสีนี้จะไปทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วมาก ดังนั้นจึงจะถูกทำลายมากกว่าและนอกจากนั้นเซลล์ปกติยังมีคุณสมบัติที่จะสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่ถูกทำลายไปแล้วได้ จึงทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ยังคงรูปร่างและทำงานได้ตามปกติ

ในการรักษามะเร็งเต้านม เรามักจะใช้การฉายแสงร่วมกับการผ่าตัดในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน (Breast conserving surgery) นอกจากนั้นอาจใช้เป็นวิธีการรักษาร่วมในผู้ป่วยบางรายที่ถึงแม้จะตัดเต้านมออกหมด (Total mastectomy) แต่ก็ต้องได้รับการฉายแสงร่วมด้วยเช่นในผู้ป่วยที่ขนาดของก้อนมะเร็งมากกว่า 5 ซม. มะเร็งลุกลามมาที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อหน้าอกซึ่งอยู่ในชั้นลึกหรือมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้จำนวนมาก เป็นต้น

โดยทั่ วๆ ไปแล้ว การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ หยุดเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้ร่างกายและผิวหนังได้มีเวลาพักผ่อนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่ถูกทำลายไป เมื่อเริ่มรักษาแล้วก็ควรจะมารับการรักษาโดยต่อเนื่องจนครบกำหนดมิฉะนั้นจะได้จำนวนรังสีน้อยกว่าที่ควร ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การฉายแสงในแต่ละวันจะกินเวลาเพียงไม่กี่นาที และในระหว่างฉายแสงท่านก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด

สำหรับการฉายแสงรักษามะเร็งเต้านมนั้น ก็มักจะเป็นการฉายเพียงตื้นๆ รังสีไม่ลงไปถึงอวัยวะสำคัญๆ ที่อยู่ลึกลงไป ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่รุนแรง

ระหว่างการฉายแสงผู้ป่วยบางรายอาจจะรู้สึกเหนื่อยและเพลีย ดังนั้นท่านควรพักผ่อนให้มากที่สุดและวางแผนการออกกำลังกายแต่พอสมควรบางครั้งผิวหนังบริเวณที่ถูกรังสีอาจจะมีการปลี่ยนแปลง เช่น มีสีแดง คล้ำ คัน หรือมีความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ดังนั้นในระหว่างท่านกำลังฉายแสงอยู่ท่านควรจะดูแลปฏิบัติต่อผิวหนังบริเวณนั้นอย่างระมัดระวัง ถ้าท่านไม่แน่ใจก็อย่าให้ถูกน้ำ แต่ถ้าถูกน้ำก็ควรจะใช้ผ้าเช็ดตัวนุ่มๆ ซับอย่างเบาๆ อย่าเช็ดแรง เพราะว่าการเช็ดแรงๆ จะทำให้ผิวหนังลอกออกแล้วจะกลายเป็นแผลได้พยายามอย่าให้มีอะไรไปรบกวนถูกบริเวณผิวหนัง, อย่าใช้สบู่ เครื่องสำอางน้ำหอม ยาทาทั้งหลายและความร้อนทุกชนิด อย่าให้ถูกแสงแดดหรืออากาศที่เย็นมากๆ ถ้าจำเป็นจะต้องโกนขนบริเวณนั้น ก็ต้องโกนด้วยความระวังเป็นพิเศษ วิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ การใช้เครื่องโกนไฟฟ้า ถ้ามีอาการคันพยายามอย่าเกาเพราะว่าการเกาอาจจะทำให้เกิดผิวหนังถลอกและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย และควรจะระวังรักษาให้ผิวหนังแห้งอยู่เสมอ

การฉายแสงที่รักแร้อาจจะทำให้เกิดข้อไหล่ติดและแขนบวม ดังนั้นในระหว่างการฉายแสง ท่านควรจะต้องออกกายบริหารอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้แขนบวม เนื่องจากในปัจจุบันวัฒนาการในด้านการฉายแสงได้ก้าวหน้าไปมาก ทั้งในด้านเครื่องมือและความชำนาญของรังสีแพทย์ ผลของการรักษาด้วยการฉายแสงจึงดีกว่าสมัยก่อนมาก ผู้ป่วยจึงควรเปลี่ยนทัศนคติต่อการรักษาด้วยการฉายแสงเสียใหม่ว่า สามารถรักษาได้ผลดี และอาการแทรกซ้อนจากการรักษาก็น้อย อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถปฏิบัติภารกิจเหมือนคนปกติทุกประการ

ดังนั้น ถ้าแพทย์ผู้รักษาได้แนะนำให้ท่านรักษาโดยวิธีการฉายแสงท่านก็ควรจะปฏิบัติตาม เพื่อที่จะให้ได้ผลของการรักษาที่ดีที่สุด

การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)

เราทราบกันมานานแล้วว่าการเจริญเติบโตของเต้านมรวมทั้งการทำงานของเต้านมจะขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศ และก็พบต่อมาว่าการเติบโตของมะเร็งเต้านมบางรายก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการตรวจพิเศษโดยพยาธิแพทย์ว่ามะเร็งของท่านเป็นชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมน (hormone receptor) หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นผลบวกก็เป็นตัวช่วยชี้เป็นแนวทางว่าสมควรที่จะรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน จากสถิติของประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมประมาณสองในสามราย จะมีการตอบสนองต่อการใช้ยาต้านฮอร์โมน ทำให้สามารถใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษาได้ เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าท่านสมควรจะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์ก็จะต้องดูว่าท่านอายุมากน้อยเพียงใดยังมีประจำเดือนอยู่หรือไม่ หมดประจำเดือนไปนานเท่าไหร่แล้ว หรือไม่มีประจำเดือนจากการผ่าตัดมดลูกหรือเปล่า เนื่องจากยาที่ใช้รักษาอาจมีความแตกต่างกันออกไป

ยาต้านฮอร์โมนแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มของยาที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน และยากลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างฮอร์โมน

  • ยาที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน ที่เรารู้จักในชื่อ tamoxifen สามารถใช้ได้ทั้งในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่หรือหมดประจำเดือนแล้ว อาจมีผลทำให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอดแพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้ในรายที่มีประวัติเคยเป็นลิ่มเลือดอุดตันที่ขา หรือที่สมอง เนื่องจากพบความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าว
  • ยาที่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างฮอร์โมน ยาในกลุ่มนี้สามารถใช้ได้เฉพาะในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว อาจมีผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ ดังนั้นก่อนการรักษาแพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจมวลกระดูกเพื่อประเมินเรื่องภาวะกระดูกพรุนและอาจให้ยาเพื่อเสริมให้กระดูกแข็งแรงขึ้นตามความเหมาะสม

การบริหารยาต้านฮอร์โมนค่อนข้างสะดวกเพราะว่าให้โดยการรับประทาน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับยาติดต่อกัน 5-10 ปี อาการแทรกซ้อนข้างเคียงก็พบได้น้อยมาก และส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง หากว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติภายหลังได้รับยากลุ่มดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

การรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ (Targeted Therapy)

ยาในกลุ่มนี้จัดเป็นยากลุ่มใหม่ เช่น ยาต้านเฮอร์ทู ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างจากยากลุ่มเดิมๆ กล่าวคือ เซลล์มะเร็งเต้านมในผู้ป่วยบางรายจะมีตัวรับสัญญาณเฮอร์ทูอยู่ที่ผิวเซลล์ ทำให้สามารถใช้ยาดังกล่าวเพื่อจับกับตัวรับสัญญาณเหล่านี้และให้ยาออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้ ดังนั้นเซลล์อื่นๆ ที่ไม่มีตัวรับสัญญาณก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากยากลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาในกลุ่มนี้จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี รักษาได้ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ก็มีข้อจำกัดที่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น นอกจากนี้ยายังมีราคาแพงมาก ทำให้การใช้ยานี้ยังไม่แพร่หลายมากและควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับการใช้ยาดังกล่าว

บทความโดย

  • ศาสตราจารย์ ดร.นพ. พรชัย โอเจริญรัตน์
    ศาสตราจารย์ ดร.นพ. พรชัย โอเจริญรัตน์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศีรษะ ลำคอ และเต้านม

เผยแพร่เมื่อ: 26 ส.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. กิตต์วดี ศักดิ์ศรชัย

    พญ. กิตต์วดี ศักดิ์ศรชัย

    • รังสีรักษามะเร็งวิทยา
    Advanced Radiotherapy, Breast Clinical Oncologist, Radiation Oncology
  • Link to doctor
    นพ. มาวิน วงศ์สายสุวรรณ

    นพ. มาวิน วงศ์สายสุวรรณ

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast Surgery
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. ดนิตา กานต์นฤนิมิต

    ผศ.พญ. ดนิตา กานต์นฤนิมิต

    • รังสีรักษามะเร็งวิทยา
    Intensity-Modulated Radiotherapy (IMRT), Image-Guided Radiotherapy (IGRT), Stereotactic Radiosurgery (SRS), Stereotactic Radiotherapy (SRT), Clinical Interest in Breast Cancer, Clinical Interest in Head and Neck Cancer, Clinical Interest in Lung Cancer, Radiation Oncology
  • Link to doctor
    รศ.นพ. กฤษณ์ จาฏามระ

    รศ.นพ. กฤษณ์ จาฏามระ

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast Surgery, Surgical Oncology
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. นวลพรรณ พลชัย

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    General Surgery
  • Link to doctor
    รศ.พญ. วิไลรัตน์ ประเสริฐ

    รศ.พญ. วิไลรัตน์ ประเสริฐ

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast Surgery
  • Link to doctor
    พญ. กรวรรณ จันทรจำนง

    พญ. กรวรรณ จันทรจำนง

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
  • Link to doctor
    นพ. ยงยุทธ คงธนารัตน์

    นพ. ยงยุทธ คงธนารัตน์

    • รังสีรักษามะเร็งวิทยา
    Radiation Oncology, Breast Cancer, มะเร็งต่อมลูกหมาก, Intensity-Modulated Radiotherapy (IMRT), Image-Guided Radiotherapy (IGRT), Stereotactic Radiotherapy (SRT), Stereotactic Radiosurgery (SRS)
  • Link to doctor
    นพ. ชินวัตร วิสุทธิแพทย์

    นพ. ชินวัตร วิสุทธิแพทย์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    General Surgery, Breast Surgery, Laparoscopic Abdominal Surgery, Endoscopic Thyroid Surgery, Surgical Treatment of Gastrointestinal Malignancies, Breast Cancer Surgery
  • Link to doctor
    นพ. อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ

    นพ. อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Breast Surgery, Vascular Surgery, General Surgery
  • Link to doctor
    พญ. ณภัทร สายโกสุม

    พญ. ณภัทร สายโกสุม

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast Surgery
  • Link to doctor
    ศ.นพ. ชวลิต เลิศบุษยานุกูล

    ศ.นพ. ชวลิต เลิศบุษยานุกูล

    • รังสีรักษามะเร็งวิทยา
    Intensity-Modulated Radiotherapy (IMRT), Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT), Stereotactic Radiotherapy (SRT), Head Cancer, Neck Cancer, Breast Cancer, โรคมะเร็งปอด, Esophageal Cancer, Gastroesophageal Cancer, Pancreaticobiliary Cancer, Soft Tissue Sarcoma, Radiation Oncology
  • Link to doctor
    นพ. พุทธิพร เย็นบุตร

    นพ. พุทธิพร เย็นบุตร

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast and Thyroid Surgery, Breast Conserving Surgery, Breast Reconstruction with Autologous Flap and Prosthesis, Transaxillary Endoscopic Thyroidectomy
  • Link to doctor
    นพ. ศรันย์ ทองวิทูโกมาลย์

    นพ. ศรันย์ ทองวิทูโกมาลย์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast Surgery
  • Link to doctor
    นพ. วรเทพ กิจทวี

    นพ. วรเทพ กิจทวี

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
  • Link to doctor
    นพ. สมชาย ธนะสิทธิชัย

    นพ. สมชาย ธนะสิทธิชัย

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. สิกฤษฏิ์ เด่นอริยะกูล

    นพ. สิกฤษฏิ์ เด่นอริยะกูล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Breast Surgery, General Surgery
  • Link to doctor
    พญ. จียิน  วรวิทธิ์เวท

    พญ. จียิน วรวิทธิ์เวท

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    • ศัลยศาสตร์ตกแต่งเพื่อความงาม
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    • ศัลยศาสตร์เพื่อเสริมสร้าง
    Reconstructive Microsurgery, Breast Cosmetic and Reconstruction, Lymphatic Surgery, Facial Paralysis Reconstruction, Facial Reanimation, Endoscopic Carpal Tunnel Release
  • Link to doctor
    พญ. รับพร สุขพานิช

    พญ. รับพร สุขพานิช

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    Thyroid Surgery, Parathyroid Surgery