อาการ ปัจจัยเสี่ยง ขั้นตอนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน - Complex Coronary Artery Disease: Symptoms, Risk factor and Treatment

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Complex coronary artery disease)

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Complex coronary artery disease) คือ อาการที่เลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย และหรือมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน คืออะไร

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Complex coronary artery disease) โดยปกติแล้วหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจของคนเรานั้น จะประกอบไปด้วย หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านซ้าย เป็นหลอดเลือดเส้นหลัก และหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านขวา อาการจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย และหรือมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร

  • อายุที่มากขึ้น
  • พันธุกรรม
  • การสูบบุหรี่
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง

หลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน แบ่งออกได้กี่กลุ่ม

ลักษณะหลอดเลือดหัวใจตีบ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจตีบธรรมดา และหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน ซึ่งในปัจจุบันพบอุบัติการณ์คิดเป็นร้อยละประมาณ 30 ของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งหมดที่ถูกตรวจพบ ซึ่งเราสามารถแบ่งแยกอาการหลอดเลือดหัวใจตีบทั้ง 2 ชนิดได้จากเกณฑ์ความซับซ้อน 2 ประเภท คือ

  1. การซับซ้อนในลักษณะของเส้นเลือด ได้แก่
    • เส้นเลือดมีรอยตีบตันบริเวณส่วนต้นของหลอดเลือดแดงหัวใจซ้าย
    • เส้นเลือดมีอาการตีบตันแล้ว 100%
    • มีหินปูนเกาะมากตามเส้นเลือด
    • มีเส้นเลือดตีบตันบริเวณแขนง รอยแยกของเส้นเลือด
  2. การซับซ้อนจากปัจจัยของผู้ป่วย เช่น
    • ผู้ป่วยมีอายุมาก
    • ผู้ป่วยมีโรค หรืออาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น มีภาวะ Stroke หรือ ไอเรื้อรัง เป็นต้น

ซึ่งลักษณะดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น จะเพิ่มความเสี่ยงในการทำหัตถการรักษา และนับเป็นลักษณะของหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน

หลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน โรคหัวใจ มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน รวมถึงโรคหัวใจนั้น มีสัญญาณเตือนจากอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น มีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง หรือมีอาการเหนื่อยง่ายมากกว่าปกติที่เป็น ทั้ง 2 อาการนี้ถือเป็นสัญญาณผิดปกติเบื้องต้นของ โรคหัวใจขาดเลือด หากพบอาการดังกล่าว ควรไปตรวจประเมินหัวใจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล

หากมีอาการแน่นหน้าอกแบบเฉียบพลัน และมีอาการเป็นระยะเวลานาน เช่น ครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมง แล้วอาการยังไม่หาย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน ควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน โรคหัวใจ มีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

การตรวจประเมินหาสาเหตุของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น มีอยู่หลากหลายวิธี โดยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายเบื้องต้น ทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาปัจจัยความเสี่ยง เช่น ภาวะเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG การทำ Exercise Stress Test เดินสายพาน เพื่อประเมินความแข็งแรงของหัวใจ การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) และในปัจจุบันนี้ เราสามารถตรวจให้ละเอียดเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการทำ CT Scan ตรวจหลอดเลือดหัวใจ และสวนหัวใจ เพื่อทำการฉีดสีเข้าเส้นเลือด เพื่อตรวจหารอยตีบในหลอดเลือด

การฉีดสี ใส่สายสวนหัวใจ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

การตรวจหัวใจด้วยการฉีดสี นั้น เป็นหัตถการเพื่อการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าไปตามเส้นเลือดแดงจนถึงหัวใจ และทำการฉีดสีเพื่อตรวจดูว่าหลอดเลือดหัวใจนั้น มีการตีบตันหรือไม่ หัตถการนี้เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำ อีกทั้งยังสามารถทำการรักษาต่อเนื่อง ด้วยวิธีการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดได้เลย ดังนั้น การตรวจด้วยวิธีนี้ จึงมักถูกเลือกใช้เป็นวิธีหลังสุด หลังจากการทำตรวจประเมินหัวใจด้วยวิธีอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว เช่น การทำ EKG หรือการทำ CT Scan ตรวจหลอดเลือดหัวใจแล้วพบความผิดปกติ

การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ มีกี่แนวทางในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ มีแนวทางในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 3 วิธีการด้วยกัน ได้แก่

  1. การกินยารักษา
  2. การทำบอลลูน ขยายหลอดเลือด หรือ PCI
    เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยจะทำการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ถ่างขยายเปิดทางเพื่อใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือด หรือที่เรียกว่า Stent เพื่อให้หลอดเลือดที่ถูกขยายออกแล้วสามารถคงรูปอยู่ได้ ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนผ่านได้สะดวก วิธีการรักษานี้ เหมาะสมกับคนไข้ทุกเพศ ทุกวัย เพราะมีความเสี่ยงในการรักษาที่ต่ำ คนไข้บาดเจ็บน้อย สามารถฟื้นตัวได้ไว ไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปิดหน้าอก
  3. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ Bypass 
    เป็นแนวทางหลักในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอดีต เหมาะกับคนไข้ที่อายุไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป เนื่องจากหากผู้ป่วยมีอายุมาก จะมีความเสี่ยงจากการมีโรคอื่น ๆ ร่วมมาก ร่างกายฟื้นฟูได้ช้า อีกทั้งยังเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่จะตามมา ส่วนในผู้ป่วยอายุน้อยนั้น ไม่แนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจาก เส้นเลือดที่ใช้ในการผ่าตัดเบี่ยงเส้นทางไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจไว้จะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี หากผ่าตัดตอนอายุน้อย เมื่อเวลาผ่านไป เส้นเลือดที่ผ่าตัดไว้จะเสื่อมลง ต้องทำการผ่าตัดซ้ำซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ยากขึ้น และมีอันตรายสูง

ความยากในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน

เนื่องจากอาการหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนนั้น ถูกแบ่งได้จากเกณฑ์ความซับซ้อน 2 ประเภทได้แก่ การซับซ้อนจากลักษณะของเส้นเลือด และความซับซ้อนจากลักษณะของผู้ป่วย ความยากในการรักษา จึงจะขึ้นอยู่กับชนิดของความซับซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น

  • เส้นเลือดมีรอยตีบตันบริเวณส่วนแรกของหลอดเลือดแดงหัวใจซ้าย การรักษาจะมีความยาก เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง คนไข้อาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตระหว่างทำการรักษาได้ เพราะตำแหน่งที่เกิดอาการผิดปกตินั้น เป็นบริเวณที่เลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อด้านซ้ายเกือบทั้งหมดต้องไหลผ่านจุดนี้ การรักษาต้องทำด้วยความรวดเร็วและ แม่นยำ 
  • เส้นเลือดมีหินปูนเกาะมาก เนื่องจากหินปูนที่เกาะเส้นเลือดมีความแข็ง ทำให้ในบางครั้งการใช้บอลลูนอย่างเดียว ไม่สามารถเปิดทางให้เส้นเลือดขยายตัวได้ และอาจทำให้เส้นเลือดแตกระหว่างการทำหัตถการ หรือตัวบอลลูนแตกได้ จึงทำให้ต้องใช้อุปกรณ์เสริมเพิ่มพิเศษ เช่น การทำ Rotational Atherectomy หรือที่เรียกว่า Rotablator เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้าย ๆ ตัวกรอหินปูน ทำให้หินปูนที่เกาะอยู่บริเวณหลอดเลือดถูกขจัดออกไป ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นนิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน และใส่ Stent เข้าไปได้สำเร็จ
  • เส้นเลือดตีบตัน 100% ความยากของอาการผิดปกติซับซ้อนนี้ คือแพทย์ผู้ทำการรักษา จะไม่สามารถรู้ได้ว่าเส้นเลือดนั้นวิ่งไปในทิศทางใด ต้องใช้ความพยายามในการหาทางเชื่อมรอยต่อระหว่างส่วนต้นและส่วนปลายที่อุดตันให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้ทำหัตถการเป็นอย่างมาก

วิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซันซ้อน

โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนนั้น เป็นโรคร้ายที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว เราควรดูแลตัวเองดังนี้

  • ดูแลเรื่องโภชนาการ ใส่ใจกับการรับประทานอาหาร เลี่ยงการกินของทอด อาหารไขมันสูง ควรลดปริมาณแคลอรี่ที่เกิดจากการรับประทานน้ำตาลในแต่ละวัน ให้เหลือไม่เกิน 10% และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์สูง อาหารประเภทธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ แนะนำให้ออกกำลังกายประเภท Cardio เป็นเวลาประมาณ 5 วัน ต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายแบบ Weight Training แบบเบา ๆ  อีก 2 วันต่อสัปดาห์ ให้กล้ามเนื้อได้ทำงาน เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในร่างกาย
  • งดสูบบุหรี่ และจำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ ไม่ให้เกิน 100 กรัมต่อสัปดาห์
  • หมั่นตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจเช็กระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเส้นเลือด และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
  • ตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองเป็นระยะ เพื่อเช็กหาความผิดปกติจากความดันโลหิต

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนนั้น เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แต่จำเป็นจะต้องอาศัยความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษทางการแพทย์ รวมถึงความชำนาญ และประสบการณ์ของทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงทีมพยาบาล ดังนั้น หากเป็นไปได้ ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนของโรค แนะนำให้รีบมาทำการตรวจประเมินหัวใจเพิ่มเติม เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 08 พ.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ศิริพร อธิสกุล

    พญ. ศิริพร อธิสกุล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    พญ. สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน

    พญ. สุรีย์รัตน์ ปันยารชุน

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจล้มเหลว การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน, การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการดามขดลวด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, การใช้อัลตราซาวน์ในเส้นเลือดหัวใจเพื่อช่วยการวินิจฉัยและรักษา, การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการสวนหัวใจ ขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวด, การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน
  • Link to doctor
    นพ. ชาติ วานิชสวัสดิ์

    นพ. ชาติ วานิชสวัสดิ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    • เวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
  • Link to doctor
    ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

    ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
  • Link to doctor
    นพ. อนุรักษ์ เจียมอนุกูลกิจ

    นพ. อนุรักษ์ เจียมอนุกูลกิจ

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    นพ. จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์

    นพ. จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคหัวใจและหลอดเลือด, หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร

    นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    หัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • Link to doctor
    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน, การรักษาโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันโดยการใส่สายสวน, การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน
  • Link to doctor
    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    พญ. ปิยนาฏ ปรียานนท์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    โรคความดันโลหิตสูง, โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง , การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคหลอดเลือดส่วนปลายบริเวณแขนขาตีบ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ