ผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG) รักษา กู้ชีพ หลอดเลือดหัวใจตีบตรงจุด - Coronary Artery Bypass Grafting (CABG): Treat, Rescue CAD

ผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG) รักษา กู้ชีพ หลอดเลือดหัวใจตีบตรงจุด

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) คือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจข้ามบริเวณหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรงไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยการนำหลอดเลือดที่แข็งแรงจากส่วนอื่น

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) คือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจข้ามบริเวณหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรงไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยการนำหลอดเลือดที่แข็งแรงจากส่วนอื่นของร่างกายมาทำการเชื่อมต่อเข้าหากันระหว่างด้านบนและด้านล่าง เพื่อช่วยให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น ช่วยลดและบรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือปวดเค้นหน้าอกในผู้ที่มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหัวใจวายที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตกระทัน การผ่าตัดบายพาสหัวใจช่วยกู้ชีพ และช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง

ทำไมต้องผ่าตัดบายพาสหัวใจ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจเป็นวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรงหลายหลอดรวมกันซึ่งเกิดจากตะกรันไขมัน หินปูน หรือลิ่มเลือดสะสมที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบ อุดตัน และแข็งตัวจนทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เจ็บเค้นหน้าอก หัวใจวาย และอาจทำให้เสียชีวิต

แพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดบายพาสหัวใจให้กับผู้ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันรุนแรง โดยการนำหลอดเลือดดำจากต้นขา หรือหลอดเลือดแดงจากปลายแขนหรือใต้กระดูกหน้าอกซ้าย มาทำทางเดินหลอดเลือดหัวใจใหม่เชื่อมต่อกันระหว่างหลอดเลือดแดงเอออร์ต้า (Aorta)  ด้านบน และหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery) ด้านล่าง ข้ามบริเวณหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวกขึ้น ช่วยทุเลาอาการเจ็บแน่นหน้าอก และช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น

Coronary Artery Bypass Grafting Banner 3

ข้อบ่งชี้ว่าควรทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง เจ็บแน่นตรงลิ้นปี่ เจ็บตรงกลางหน้าอกเหมือนมีของหนักมากดทับ
  • เหนื่อยง่าย หายใจไม่ออก ใจสั่น เหงื่อออกมาก หน้ามืด วูบ หมดสติ หัวใจหยุดเต้น
  • เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงร้าวไปที่หัวไหล่ซ้าย แขน หลัง คอ ใต้คาง และกราม
  • เจ็บเค้นหน้าอกคงที่ หรือเจ็บเค้นหน้าอกเรื้อรัง
  • เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
  • เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันรุนแรง
  • หลอดเลือดของหัวใจห้องล่างซ้ายตีบรุนแรง การบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายไม่ดี
  • เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันหลายหลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง
  • มีโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ร่วม ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว
  • ผู้ที่มีอาการหัวใจวายที่แพทย์ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย เนื่องจากเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจฉีกขาด ตำแหน่งหลอดเลือดอุดตันมีความซับซ้อน หรือผนังหลอดเลือดแข็งตัวมาก

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ Bypass Cardiac Th

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ รักษาโรคอะไร

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง 
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ปรากฎอาการชัดเจน 
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 
    • หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง 
    • หลอดเลือดหัวใจตีบหลายหลอด 
  • ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว 
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 
  • โรคหัวใจวาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

การวินิจฉัยก่อนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ - Cag

การวินิจฉัยก่อนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีวิธีการอย่างไร

หากไม่ได้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องกู้ชีพทันที แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย หรือโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ โดยทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเฉพาะทางที่ลึกขึ้นโดยเน้นไปที่หัวใจ ปอด ชีพจร และซักประวัติหากมีอาการดังต่อไปนี้

การซักประวัติ

  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง เจ็บเค้นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยหอบ หายใจถี่เร็ว หน้ามืด หมดสติ
  • มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  • มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไตวายเรื้อรัง
  • เป็นผู้ที่แพทย์เคยวินิจฉัยพบความผิดปกติต่าง ๆ ของหัวใจจากการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับการเดินสายพาน การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ หรือตรวจเอคโค่หัวใจ 

ตรวจประเมินหัวใจ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีกี่วิธี

การผ่าตัดบายพาสหัวใจมี 2 วิธี โดยศัลยแพทย์หัวใจจะเป็นผู้วินิจฉัยวิธีการผ่าตัดที่ดีและเหมาะสมกับผู้เข้ารับการผ่าตัดแต่ละบุคคลมากที่สุด ดังนี้

  1. การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (On-Pump CABG) เป็นวิธีการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคหยุดการเต้นของหัวใจลงชั่วคราว และใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมในการทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตให้ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแทน จนว่าการผ่าตัดบายพาสหัวใจจะแล้วเสร็จ วิธีการรักษาแบบ On-Pump CABG เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่นิยมใช้รักษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยอมรับในวงการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกว่าให้ผลการรักษาที่ดีทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
  2. การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (Off-Pump CABG) เป็นวิธีการผ่าตัดโดยไม่ใช้เทคนิคหยุดการเต้นหัวใจและไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมในการสูบฉีดโลหิตชั่วคราว แต่ศัลยแพทย์หัวใจจะทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจขณะที่หัวใจยังคงเต้นอยู่โดยใช้เครื่องมือ Local Stabilizer ช่วยยึดเกาะหัวใจในจุดที่ทำการต่อเส้นเลือดให้หยุดนิ่ง ในขณะที่จุดอื่น ๆ ของหัวใจยังคงทำงานเป็นปกติ วิธีการรักษาแบบ Off-Pump CABG เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่เหมาะกับวิธีการผ่าตัดแบบ On-Pump CABG หรือวิธีการอื่น ๆ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีขั้นตอนอย่างไร - Vaginal Dryness

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีขั้นตอนอย่างไร

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ รพ. เมดพาร์คใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสัมฤทธิ์ผลในการรักษาเป็นสำคัญ โดยตลอดการรักษาผู้เข้ารับการผ่าตัดจะเข้าพักที่รพ. ประมาณ 1 สัปดาห์ และสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้หากผลการรักษาเป็นไปด้วยดีและไม่มีอาการแทรกซ้อน

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • ก่อนการผ่าตัด 1 สัปดาห์ แพทย์จะขอให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจงดยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยา Aspirin ยา Ibuprofen ยา Naproxen หรือ ยา Plavix
  • งดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
  • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • ศัลยแพทย์ผ่าตัดตรงกลางหน้าอกตามแนวกระดูกสันอก และค้นหาหลอดเลือดคุณภาพดีมาทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยคัดเลือกจากหลอดเลือดแดงใต้กระดูกหน้าอกซ้ายหรือจากปลายแขน หรือหลอดเลือดดำจากขา 
  • ศัลยแพทย์นำหลอดเลือดที่ได้มาปลูกถ่าย โดยเชื่อมปลายด้านบนเข้ากับหลอดเลือดแดงเอออร์ต้า (Aorta)  ตรงตำแหน่งขั้วหัวใจ และปลายด้านล่างเข้ากับหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery) เพื่อสร้างหลอดเลือดหัวใจใหม่ข้ามหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ช่วยให้เลือดสูบฉีดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น
  • ศัลยแพทย์ตรวจประเมินการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดบายพาสหัวใจ และทำการเย็บปิดแผลที่หน้าอก โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง

ขั้นตอนหลังการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • แพทย์จะย้ายผู้เข้ารับการผ่าตัดไปดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดพร้อมกับทีมสหวิชาชีพในห้อง ICU 1-2 วัน
  • หากร่างกายตอบสนองต่อการผ่าตัดบายพาสหัวใจเป็นอย่างดี แพทย์จะให้ย้ายมาพักฟื้นต่อที่ห้องพักในหอผู้ป่วยทั่วไปอีก 5-7 วัน
  • แพทย์จะให้ยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำเพื่อระงับความเจ็บปวดและยาป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน
  • แพทย์จะคอยติดตามอาการ สัญญาณชีพ อัตราการเต้นหัวใจ ความดันโลหิต รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะ
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดเข้าโปรแกรมการปรับพฤติกรรมการกิน การเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ และหันมาใส่ใจสุขภาพ ทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ การผ่อนคลาย และการการออกกำลังกายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นรอบด้าน 
  • แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อประเมินผลหลังรับการรักษา หากไม่พบความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาติให้กลับบ้านได้

Coronary Artery Bypass Grafting Banner 4

การดูแลรักษาตนเอง หลังการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • ทานยาตรงเวลาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินอาการและติดตามผลการรักษา
  • แผลผ่าตัดจะค่อย ๆ สมานติดกันภายใน 7 วัน ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถถอดผ้าพันแผลและสามารถอาบน้ำได้ 
  • กระดูกสันอกจะค่อย ๆ ประสานติดกันภายใน 4-8 สัปดาห์ ส่วนอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายดีใน 6-12 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ใจเต้นเร็ว มีรอยช้ำ ปวดบวม แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นอย่างมาก ให้มาพบแพทย์ทันที
  • งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อาหารไขมันสูง อาหารน้ำตาลสูง
  • งดการยกของหนัก งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงเป็นเวลา 2 เดือน และงดการขับรถ 6-8 สัปดาห์
  • สามารถออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงได้หลังการผ่าตัดไปแล้ว 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละบุคคล
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดบายพาสหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เลือดออก การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด ภาวะสับสนเฉียบพลัน ไตวาย อัมพาต หัวใจวายหรือหัวใจตายเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มีโอกาสเกิดต่ำมาก การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยรวมถือว่ามีความปลอดภัยและมีอัตราการประสบความสำเร็จในการผ่าตัดถึงร้อยละ 98

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีข้อดีอะไรบ้าง

  • รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหลายหลอด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบในบางตำแหน่งที่มีความซับซ้อน 
  • รักษาชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ที่แพทย์ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน และขดลวดถ่างขยายได้เนื่องจากเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจฉีกขาด
  • ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบ
  • ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
  • ลดความเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ร่นระยะเวลาในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  • ช่วยให้มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง

ผ่าตัดบายพาสหัวใจ รพ.เมดพาร์ค

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ รพ.เมดพาร์ค

ศูนย์หัวใจ รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีประสบการณ์และความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่มีความยากและซับซ้อนโดยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ผสานเทคนิคทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว และแม่นยำเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมด้วยโปรแกรมฟื้นฟูร่างกายโดยนักกายภาพและทีมสหวิชาชีพ และการให้การติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ร่นระยะเวลาในการพักฟื้น และช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงและมีชีวิตที่ยืนยาว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีโอกาสประสบความสำเร็จแค่ไหน?
    จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจทั้งวิธี On-Pump CABG และ Off-Pump CABG มีอัตราความสำเร็จหลังการผ่าตัดสูงถึงร้อยละ 98 การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก และป้องกันอาการหัวใจวายได้
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ อันตรายไหม?
    ด้วยเทคโนโลยีช่วยผ่าตัดระบบ AI ที่ทันสมัย ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ช่วยลดการกระทบกระเทือนต่อเส้นเลือดและอวัยวะข้างเคียง และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจตีบรุนแรง และโรคหัวใจขาดเลือดได้เป็นจำนวนมาก
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ พักฟื้นกี่วัน?
    โดยทั่วไป ผู้เข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจจะค่อย ๆ ฟื้นฟูร่างกายและหายดีภายใน 6-12 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละบุคคล
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ อยู่ได้กี่ปี?
    จากผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG) จำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยให้การการใส่ใจสุขภาพของตนเป็นอย่างดี ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร การใช้ชีวิต และออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวเกินกว่า 20 ปี

บทความที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 29 ก.พ. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี

    นพ. ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี

    • ศัลยศาสตร์
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    การผ่าตัดหัวใจและปอด
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ

    ผศ.นพ. บุลวัชร์ หอมวิเศษ

    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    • ศัลยศาสตร์การปลูกถ่ายอวัยวะ
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    ผ่าตัดปอดแบบแผลเล็ก, โรคมะเร็งปอด, ผ่าตัดเนื้องอกในปอด, Metastatic Lung Lesions, ภาวะปอดรั่ว, Empyema Thoracic, Pleural Effusion, Mediastinal Tumor, Chest Wall Tumor, Lung Volume Reduction Surgery, Surgery for Chronic Thromboembolism Pulmonary Hypertension (CTEPH), Minimally Invasive Cardiac Surgery, Heart and Lung Transplantation
  • Link to doctor
    นพ. สุพิชฌาย์ วงศ์มณี

    นพ. สุพิชฌาย์ วงศ์มณี

    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    • การผ่าตัดโรคหัวใจและทรวงอก
    • กุมารศัลยศาสตร์หัวใจและโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
    Cardiothoracic Surgery, Coronary Artery Bypass Grafting, การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO), การผ่าตัดหัวใจ, ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ, การผ่าตัดโรคหัวใจในเด็ก, ผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่, ผ่าตัดปอดแบบแผลเล็ก, โรคมะเร็งปอด, ผ่าตัดเนื้องอกในปอด, มะเร็งปอดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น, ภาวะปอดรั่ว, ภาวะหนองขังในปอด, Mediastinal Tumor, เนื้องอกต่อมไทมัสและเนื้องอกผนังทรวงอก, ผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องแบบใส่หลอดเลือดเทียมผ่าเส้นเลือด, ผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องอกแบบใส่หลอดเลือดเทียมผ่าเส้นเลือด, ภาวะเหงื่อออกมือ