การตรวจวัดระดับ PSA คืออะไร
การตรวจวัดระดับ PSA เป็นการตรวจเลือดที่วัดระดับสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen หรือ PSA) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก โดย PSA เป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นจากเซลล์ในต่อมลูกหมาก ไม่ว่าต่อมลูกหมากนั้นจะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ก็ตาม โดยระดับ PSA ที่สูงอาจแสดงถึงมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อาจมีสาเหตุมาจากอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุสาเหตุที่แท้จริงเมื่อระดับของ PSA ออกมาสูง
ผลการตรวจวัดระดับ PSA จะมีหน่วยเป็นนาโนกรัมต่อเลือด 1 มิลลิลิตร โดยระดับปกติของ PSA จะแตกต่างไปตามช่วงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ระดับ PSA จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น แม้จะไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากก็ตาม
ระดับปกติของ PSA ตามช่วงอายุต่าง ๆ
อายุ |
ระดับปกติ (ng/ml) | ระดับที่ผิดปกติ (ng/ml) |
40 - 50 |
0 - 2.5 |
> 2.5 |
50 - 60 |
2.5 - 3.5 |
> 3.5 |
60 - 70 |
3.5 - 4.5 |
> 4.5 |
70 - 80 |
4.5 - 5.5 |
> 5.5 |
หากตรวจแล้วพบว่าระดับ PSA อยู่ในช่วงปกติ แนะนำให้ตรวจใหม่ทุก ๆ 2 ปี แต่หากตรวจแล้วระดับ PSA สูงผิดปกติ อาจจำเป็นต้องตรวจวัดระดับ PSA และตรวจคัดกรองด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มในทุก ๆ 6 - 12 เดือน
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ระดับ PSA ที่สูงอาจแสดงถึงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถึงแม้ตัวโรคจะไม่ได้แสดงอาการตลอด แต่มะเร็งต่อมลูกหมากอาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
ข้อสังเกตอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปัสสาวะขัด
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- เจ็บที่หน้าอก สะโพก หรือหลังส่วนล่าง
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะไม่พุ่ง
ประเภทของการตรวจวัดระดับ PSA
แพทย์อาจใช้การตรวจวัดระดับ PSA บางประเภทมาพิจารณาว่าควรสั่งตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจ หรือควรแนะนำให้คนไข้ไปตรวจหรือไม่
ประเภทการตรวจวัดระดับ PSA ได้แก่
- อัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับ PSA (PSA velocity): การเพิ่มขึ้นของระดับ PSA คืออัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับ PSA ในช่วงเวลาหนึ่ง ระดับ PSA ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจบ่งชี้ถึงมะเร็ง อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาในช่วงไม่นานมานี้ที่ตั้งคำถามกับความแม่นยำในการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากจากผล PSA Velocity
- จำนวนเปอร์เซ็นต์ของ PSA อิสระ (Percentage of free PSA): โปรตีน PSA ในเลือดจะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ แบบแรกจะเกาะกับโปรตีนในเลือด ส่วนแบบที่สองจะลอยอิสระไม่ยึดติด หากผู้ป่วยมีระดับ PSA สูงและมีเปอร์เซ็นต์ของ PSA อิสระต่ำ อาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ความหนาแน่นของ PSA: ต่อมลูกหมากที่เป็นเนื้อร้ายจะมีความหนาแน่นของ PSA มากกว่าต่อมลูกหมากที่ไม่เป็นเนื้อร้าย การวัดความหนาแน่นของ PSA จะต้องทำ MRI หรือการตรวจอัลตราซาวนด์ทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound) ประกอบด้วย
ประโยชน์ในการตรวจวัดระดับ PSA
การตรวจวัดระดับ PSA อาจนำไปสู่การตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งการตรวจพบมะเร็งหรือโรคต่าง ๆ ได้เร็วจะช่วยให้รักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี มะเร็งต่อมลูกหมากจะแตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่นเพราะโรคจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ และไม่ได้ทำให้เสียชีวิตเสมอไป อย่างไรก็ดี มะเร็งต่อมลูกหมากบางชนิดก็เป็นอันตรายต่อชีวิต และเนื่องจากยังไม่มีวิธีที่บอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งต่อมลูกหมากที่เป็นจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ การตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมากเร็วย่อมดีกว่า สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจวัดระดับ PSA ใช้ประเมินว่าโรคเกิดซ้ำหรือไม่ และตรวจประสิทธิภาพในการรักษาได้
ควรตรวจวัดระดับ PSA เมื่อใด
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรเริ่มเข้ารับการตรวจวัดระดับ PSA ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น ผู้สูงวัย ควรตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 50 ปี
อย่างไรก็ดี ทุกคนสามารถตัดสินใจได้ว่าตัวเองควรเข้ารับการตรวจวัดระดับ PSA หรือไม่ โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือถามคำถามต่อไปนี้กับตัวเองเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการตรวจที่อาจได้รับ คำถามมีดังนี้
- อยากรู้ว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
- จะเข้ารับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่หากมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น
- จะรู้สึกอย่างไรหากรู้ว่าตัวเองเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
ขั้นตอนการตรวจวัดระดับ PSA
ก่อนรับการตรวจวัดระดับ PSA ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณรับประทานยารักษาต่อมลูกหมากโตอยู่ มีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือเคยมีในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เคยเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโต ในช่วง ได้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา และใส่สายสวนปัสสาวะในช่วงไม่นานมานี้ เนื่องจากการใช้ยาประเภทดังกล่าวหรือการได้เข้ารับหัตถการที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้ผลตรวจวัด PSA ไม่แม่นยำ นอกจากนี้ แนะนำให้เลี่ยงการทำกิจกรรมบางกิจกรรม เช่น ปั่นจักรยาน การช่วยตัวเอง และการมีเพศสัมพันธ์ ก่อนเข้ารับการตรวจ 48 ชั่วโมง เพราะกิจกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อระดับ PSA ชั่วคราว
ในการตรวจวัดระดับ PSA หลังเช็ดผิวบริเวณเส้นเลือดเพื่อฆ่าเชื้อแล้ว จะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ โดยหลังเจาะเลือดอาจมีรอยช้ำเกิดขึ้น ซึ่งมักจะจางไปในระยะเวลาไม่กี่วัน ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหลังเจาะเลือด ผลตรวจจะออกภายในหนึ่งสัปดาห์ ผู้ที่เข้ารับการตรวจอาจจำเป็นต้องพูดคุยปรึกษาหรือเข้าพบแพทย์เพิ่มเติม
ข้อจำกัดของแบบทดสอบ
ข้อจำกัดของการตรวจวัดระดับ PSA คือ ผลที่ได้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ผลที่ได้อาจไม่ถูกต้องตามความจริง ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ระดับ PSA ที่สูงไม่ได้แสดงถึงการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป สาเหตุที่ทำให้ระดับ PSA สูงอาจมาจากอาการอย่างต่อมลูกหมากโตและต่อมลูกหมากอักเสบ ไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้ง ระดับ PSA ที่ต่ำอาจมาจากยารักษาต่อมลูกหมากโต และยาเคมีบำบัดบางประเภท นอกจากนี้ ระดับ PSA ของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ได้
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจวัดระดับ PSA ช่วยให้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพต่อมลูกหมาก ผู้ชายสามารถตรวจวัดระดับ PSA เป็นประจำได้ตั้งแต่อายุ 50 ปี ทั้งนี้ แนะนำให้ตรวจวัดระดับ PSA ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และสิ่งสำคัญคือ ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำ