สาเหตุ อาการ การติดเชื้อ การรักษาซิฟิลิส - Causes นด Syphilis, Symptoms, Infections and Treatments

ซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) สาเหตุที่ทำให้เป็นแผลซิฟิลิส หรือแผลริมแข็ง (Chancre)

แชร์

ซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) สาเหตุที่ทำให้เป็นแผลซิฟิลิส หรือแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นเป็นตุ่มนูนแตกออกเป็นแผลกว้างที่ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก โรคซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายตั้งแต่ระยะเป็นแผลจะพัฒนาเข้าสู่ระยะออกดอก และระยะติดเชื้อที่ทำลายระบบประสาท ระบบหลอดเลือดและหัวใจ และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ซิฟิลิส มีสาเหตุจากอะไร?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นกามโรคชนิดหนึ่งที่ติดต่อจากคนสู่คนโดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย การทำรักด้วยปากหรือการทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) การจูบที่สัมผัสกับน้ำลาย การสัมผัสกับบาดแผลหรือเยื่อเมือกของผู้ที่ติดเชื้อ หรือการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตร

Syphilis Banner 6

ซิฟิลิส มีอาการกี่ระยะ?

ในทางการแพทย์ ซิฟิลิสสามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะตามลักษณะและความรุนแรงของโรคที่ปรากฏแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล โดยการดำเนินโรคอาจเป็นแบบเรียงตามระยะ หรือไม่เรียงตามระยะ และอาจมีความคาบเกี่ยวกันระหว่างอาการของระยะหนึ่งกับอีกระยะหนึ่ง ในบางราย เชื้อซิฟิลิสอาจแฝงเร้นในร่างกายโดยไม่แสดงอาการเป็นเวลานานหลายปี

  • ซิฟิลิสระยะที่ 1 ระยะปฐมภูมิ หรือระยะเป็นแผล (Primary syphilis)

อาการของซิฟิลิสในระยะที่ 1 หรือระยะเป็นแผลจะปรากฎเป็นตุ่มแผลเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนแข็งหรือที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอดภายใน 3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ แผลริมแข็งในระยะติดเชื้อจะมีลักษณะกดไม่เจ็บ อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผล และสามารถหายได้เองภายใน 3-8 สัปดาห์แต่เชื้อซิฟิลิสจะยังคงแฝงในร่างกายและสามารถพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 ได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

  • ซิฟิลิสระยะที่ 2 ระยะทุติยภูมิ หรือระยะออกดอก (Secondary syphilis)

อาการของซิฟิลิสในระยะที่ 2 หรือระยะออกดอกจะปรากฏอาการ 3-12 สัปดาห์หลังติดเชื้อ เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายหลายระบบทำให้เกิดรอยโรคที่มีลักษณะเป็นผื่นราบ ผื่นนูนหนามีสะเก็ด ผื่นชนิดเป็นแผล หรือแผลหลุมกดไม่เจ็บและไม่คัน กระจายตัวทั่วร่างกาย อวัยวะเพศ ฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นที่มาของคำเรียก “ระยะออกดอก” ร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ เจ็บคอ เหนื่อยล้า น้ำหนักลด ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เชื้อราในปาก ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ ในระยะนี้ หากตรวจเลือด มักมีผลเลือดเป็นบวก จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปหรือเป็น ๆ หาย ๆ โดยเชื้อจะยังคงแฝงเร้นในร่างกายและจะพัฒนาเข้าสู่ระยะแฝง

  • ซิฟิลิสระยะที่ 3 ระยะแฝง (Latent syphilis)

ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาโรคซิฟิลิสใน 2 ระยะแรกจะพัฒนาเข้าสู่ซิฟิลิสในระยะที่ 3 หรือระยะแฝง เป็น “ระยะสงบทางคลินิก” ที่แทบจะไม่แสดงอาการอะไร เป็นระยะที่มีการดำเนินโรคยาวนานที่สุด โดยเชื้อสามารถแฝงเร้นในร่างกายได้นานกว่า 20 ปีก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือซิฟิลิสระยะสุดท้าย ผู้ที่เข้าสู่ซิฟิลิสระยะนี้อาจมีผื่น หรือแผลออกดอกทั่วร่างกายแบบเป็น ๆ หาย ๆ และสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือเยื่อเมือก หรือการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารกระหว่างตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตร

  • ซิฟิลิสระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย (Tertiary syphilis)

ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสราว 15-30% ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะมีการดำเนินโรคเข้าสู่ซิฟิลิสระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย โดยจะพบรอยโรคเป็นแผล ฝี หรือผื่นแดงนูนหนากดไม่เจ็บที่ผิวหนังหรือเยื่อบุอวัยวะ เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดทำลายอวัยวะภายในให้ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ตับ ดวงตา กระดูกและข้อต่อที่ทำให้เกิดโรคและความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติในการเคลื่อนไหว (Movement disorder) ลิ้นหัวใจรั่ว (Aortic regurgitation) หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (Aortitis) ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ตาบอด หูหนวก อัมพาต ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

การวินิจฉัยซิฟิลิส - Syphilis Banner 2

การวินิจฉัยซิฟิลิส มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิสอย่างละเอียดโดยการซักประวัติหากมีความเสี่ยง ร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและทำการการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. การส่องกล้อง Dark-field (Dark-field microscopic test: DF) เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิสโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์บนผื่นผิวหนัง หรือหนองบริเวณบาดแผลในระยะที่ 1 หรือระยะเป็นแผลไปทำการส่องกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษเพื่อค้นหาเชื้อซิฟิลิส
  2. การตรวจเลือด (Blood test) เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันต่อโรคซิฟิลิสในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม สาเหตุของโรคซิฟิลิส เป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำ และสามารถทราบผลการตรวจภายใน 1-3 วัน โดยการตรวจเลือดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
    • การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ VDRL (Venereal disease research laboratory test) หรือการตรวจ RPR (Rapid plasma reagin)
    • การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ FTA-ABS (Fluorescent treponemal antibody absorption) การตรวจ TPHA (Treponemal pallidum hemagglutination test) การตรวจ TP-PA (Treponema pallidum particle agglutination) หรือการตรวจ ICT (Immunochromatography test)
  3. การตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายซิฟิลิสในระยะที่ 3 ที่มีอาการทางระบบประสาทและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาการตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) เพื่อยืนยันโรค

Syphilis Banner 7

การรักษาซิฟิลิส มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการรักษาโรคซิฟิลิสด้วยวิธีการฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ขนาดสูงเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการติดเชื้อ ในผู้ที่มีการดำเนินโรคอยู่ในระยะที่ 1 แพทย์จะทำการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อโดยตรงเพียงครั้งเดียวแม้ไม่มีอาการ หรือมีผลการตรวจเลือดเป็นลบโดยเฉพาะกับคู่รักหรือคู่เพศสัมพันธ์

ผู้ที่เป็นซิฟิลิสที่มีการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่ 2-3 แพทย์จะพิจารณาฉีดยาปฏิชีวนะเข้ากล้ามเนื้อทุกสัปดาห์รวม 3 เข็ม และจะพิจารณาให้ยาทางหลอดเลือดดำหากมีการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกายหรือในกรณีที่มีอาการรุนแรง โดยแพทย์จะนัดตรวจเลือดหลังรับการรักษา 3 เดือน และ 6 เดือน และนัดตรวจเลือดซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามอาการและเพื่อป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้ายที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

ทั้งนี้แพทย์แนะนำให้ผู้รับการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าผลการตรวจเลือดจะเป็นลบ หรือสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งหากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ และควรแจ้งให้คู่เพศสัมพันธ์รับทราบเพื่อให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนซิฟิลิส เป็นอย่างไร?

ซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะดำเนินโรคเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในร่างกายและอาจสร้างความเสียหายแก่อวัยวะต่าง ๆ หลายระบบ ดังนี้

  • โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) การสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) ปัญหาทางสายตา ตาบอด โรคสมองเสื่อม (Dementia) สูญเสียความรู้สึกและการรับรู้อุณหภูมิ โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (Sexual dysfunction) ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Bladder incontinence)
  • โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเส้นแดงโป่งพอง (Arterial aneurysm) โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Aortic regurgitation)  หรือ หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (Aortitis)
  • ตุ่ม หรือเนื้องอกกัมม่า (Gummas) โดยในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อซิฟิลิส (Late stage of infection) อาจเกิดตุ่ม หรือเนื้องอกกัมม่าซึ่งเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่บนผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน เช่น กระดูก ตับ อย่างไรก็ตาม ก้อนกัมม่าสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
  • การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซิฟิลิสทำให้เป็นแผลเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศและปาก ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าในการติดเชื้อ HIV ขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเป็นโรคเอดส์
  • การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ หรือระหว่างการคลอดบุตรโดยคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิส โดยการติดเชื้อทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอด รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ หรือเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

ซิฟิลิสแต่กำเนิด คืออะไร?

ซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital syphilis) คือ ซิฟิลิสที่เกิดจากการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์และขณะคลอดบุตรเมื่อทารกสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือเยื่อเมือกของมารดาระหว่างการคลอด ซิฟิลิสแต่กำเนิดเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด การเสียชีวิตของทารกในครรภ์มารดาหรือเสียชีวิตหลังคลอด อาการของโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการใด ๆ ไปจนถึงมีอาการเมื่อโตขึ้น เช่น ผื่นแดงที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หูหนวก โครงสร้างฟันผิดปกติ โครงสร้างจมูกผิดปกติหรือเรียกว่า จมูกซิฟิลิส (Syphilitic nose)  และปัญหาสุขภาพรุนแรงอื่น ๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ และเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ซิฟิลิส มีวิธีการป้องกันอย่างไร? - Syphilis Banner 3

ซิฟิลิส มีวิธีการป้องกันอย่างไร?

ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย การพบแพทย์ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย หรือหลังจากสังเกตเห็นแผลที่ปากหรืออวัยวะเพศ เป็นวิธีการป้องกันโรคซิฟิลิสได้ดีที่สุด วิธีการป้องกันซิฟิลิสอื่น ๆ มีดังต่อไปนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ (ที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่ใช่คู่ของตน)
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย งดพฤติกรรมโลดโผนทางเพศ
  • งดการจูบปาก หรือการทำออรัลเซ็กส์ให้กับคู่เพศสัมพันธ์ชั่วคราว หรือคู่รักข้ามคืน
  • งดการใช้เซ็กส์ทอย (Sex toy) ร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่สัมผัสบาดแผลของผู้อื่น
  • แจ้งให้คู่รักทราบ หากติดเชื้อซิฟิลิส
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเข้าโปรแกรมฝากครรภ์เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
  • การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
  • การตรวจสุขภาพประจำปี
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย
  • หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

ซิฟิลิส อาการผู้หญิง เป็นอย่างไร?

โดยทั่วไป อาการของซิฟิลิสทั้งหญิงและชายจะคล้ายกัน โดยจะมีแผล หรือแผลริมแข็ง กดไม่เจ็บ หรือมีตุ่มแผลขึ้นที่อวัยวะเพศและปาก มีฝ้าขาวขึ้นที่ลิ้น ริมฝีปาก หรือในช่องปากร่วมกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดศีรษะ น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อ ผมร่วง และรู้สึกเหนื่อยง่าย อาการซิฟิลิสในผู้หญิง ได้แก่ แผลที่อวัยวะเพศ ริมฝีปาก ปากมดลูก หรือผนังช่องคลอด

ซิฟิลิส อาการผู้ชาย เป็นอย่างไร?

อาการทั่วไปของซิฟิลิสในเพศชายคล้ายคลึงกับอาการซิฟิลิสในเพศหญิง โดยจะมีแผล หรือแผลริมแข็งคล้ายแผลเริม หรือหูดหงอนไก่ขึ้นที่อวัยวะเพศหรือริมฝีปาก อาการของซิฟิลิสในเพศชาย ได้แก่ รอยโรคที่ส่วนหัวองคชาติ ส่วนลำองคชาติ ใต้หนังหุ้มปลายองคชาติ บริเวณรอบถุงอัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ รวมถึงภายในท่อปัสสาวะ

ซิฟิลิส รักษาหายไหม?

ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายต้องสงสัย หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจและรับการรักษาโดยเร็วเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อซิฟิลิสพัฒนาไปสู่ระยะต่าง ๆ ได้

ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่รักษาให้หายได้

ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การจูบ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ติดเชื้อ หรือจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอดที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์

ซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ สามารถป้องกันได้โดยการสวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการจูบกับคู่เพศสัมพันธ์ชั่วคราว หรือสัมผัสกับบาดแผลของผู้ติดเชื้อ ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการเข้ารับการตรวจหาเชื้อและรับการรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อพัฒนาลุกลามไปสู่ระยะต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาในอนาคต การมีสัมพันธ์เฉพาะกับคู่รักของตนเพียงคนเดียวจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซิฟิลิสลงได้

Syphilis Infographic - Thai version

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 26 ก.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. รพีพรรณ  รัตนวงศ์นรา มอร์ด

    พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, การติดเชื้อทางเดินอาหาร, โรคติดเชื้อทั่วไป และการให้วัคซีน, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การติดเชื้อในระบบประสาท , โรคหนอนพยาธิ, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง , โรคติดเชื้อที่เนื้อเยื่อ, โรคติดเชื้อที่กระดูก, โรคติดเชื้อที่ข้อ, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน, การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน