ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID)
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID) คือภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน
สาเหตุที่ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อคลาไมเดีย และเชื้อหนองในซึ่งขึ้นไปจากช่องคลอด ผ่านปากมดลูกขึ้นไปในมดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ ก่อนที่จะกระจายไปติดเชื้ออวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน
การติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ในบางกรณี อาจพบหลังการ แท้งบุตร หรือการคลอดบุตร หรือที่พบได้ไม่บ่อย คือ หลังการใส่ห่วงอนามัยหรือใส่เครื่องมือแพทย์บางอย่าง
อาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจไม่มีอาการ ทำให้กลายเป็นแบบรื้อรังโดยไม่รู้ตัวได้ อย่างไรก็ตาม อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง
- มีตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
- เลือดออกกะปริบกะปรอยโดยไม่เป็นรอบ หรือมีปวดหน่วงท้องน้อยตลอดเดือน
- ปวดแสบตอนปัสสาวะ
- มีไข้ หนาวสั่น
ปัจจัยเสี่ยง
- มีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนมีคู่นอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- ทำการสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเชื้อแบคทีเรียชนิดที่เป็นประโยชน์และชนิดเป็นอันตรายในบริเวณช่องคลอด
- มีประวัติการเป็นภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
อุ้งเชิงกรานอักเสบ ต้องป้องกันอย่างไร?
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถป้องกันได้โดย
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน คัดเลือกและสอบถามประวัติการมีเพศสัมพันธ์ของคู่นอน ทำการตรวจอย่างเหมาะสมถ้ามีประวัติเสี่ยง
- สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ ไม่สามารถป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ไม่สวนล้างช่องคลอด
พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาหากมีตกขาวผิดปกติหรืออาการที่อาจสงสัยการมีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การรักษาโรคทางเพศสัมพันธ์จะช่วยป้องการเป็นภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อน
ปัญหาหรืออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือเกิดในภายหลัง ได้แก่
- อาจมีฝีหนองคั่งเป็นก้อนบริเวณปีกมดลูกและอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือรักษาอย่างไม่เพียงพอ ก้อนหนองอาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแตก
- เกิดมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- มีบุตรยากหรือเป็นหมัน
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก
ตรวจวินิจฉัยภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มีกี่วิธี อะไรบ้าง?
แพทย์จะใช้หลายวิธีประกอบกันเพื่อทำการวินิจฉัย ได้แก่
- ซักประวัติของผู้ป่วย
- ประวัติสุขภาพ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาคุมกำเนิด ประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- อาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ความรุนแรง
- ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้ง ตรวจภายใน
- ประเมินภาวะไข้และอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
- ตรวจหาสารคัดหลั่งผิดปกติจากช่องคลอดและปากมดลูก
- ตรวจคลำอาการกดเจ็บ หรือก้อนในอุ้งเชิงกรานว่าบวมอักเสบหรือไม่
- ตรวจทางห้องปฏิบัติ การว่ามีการติดเชื้อหรือมีเชื้อหนองในหรือคลามีเดียหรือไม่ ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในเลือดและสัญญาณที่บ่งบอกการติดเชื้อ โรคเอชไอวี ฯลฯ
- ตรวจอัลตราซาวน์ เพื่อประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
- หากจำเป็น แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- การผ่าตัดส่องกล้อง โดยการใส่เครื่องมือเข้าไปทางหน้าท้องผ่านแผลขนาดเล็กเพื่อตรวจดูอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน และอาจป้ายเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อตรวจทางเชื้อที่เป็นสาเหตุ
- การสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูกผ่านทางปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อและการอักเสบ
การรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ถ้าท่านมีอาการตกขาวมีกลิ่น มีเลือดออกช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ปัสสาวะเจ็บแสบ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เนื่องจากการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างทันเวลาจะป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได
- ควรพบแพทย์โดยทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้องน้อยรุนแรง
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- มีไข้สูงตั้งแต่ 38.3 องศาขึ้นไป
- คลื่นไส้ อาเจียน
- แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะบางชนิดให้โดยทันที และอาจมีการปรับยาให้เหมาะสมเมื่อทราบผลการตรวจแล้ว ควรต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำหากอาการไม่ตอบสนองกับยาชนิดรับประทาน อาการรุนแรง มีฝีหนอง หรือตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยอาจจะต้องได้รับการผ่าตัด หากก้อนฝีหนองใหญ่ ไม่ตอบสนองกับยาปฏิชีวนะ แตก หรือมีปัญหาในการวินิจฉัย
ท่านควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะแล้วเสร็จและอาการหายดี ขอให้คู่นอนไปพบแพทย์ เพราะพบได้บ่อยที่การติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ การตรวจวินิจฉัยและรักษาคู่นอนอย่างเหมาะสมด้วยจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคหรือการกลับเป็นซ้ำของโรค
การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์
สิ่งที่คุณอาจเตรียม
- เมื่อทำการนัดแพทย์ ควรสอบถามว่ามีข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติใด ๆ ที่ควรทำก่อนไปพบแพทย์
- จดบันทึกอาการต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- จดชื่อยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่
ตัวอย่างคำถามที่แพทย์อาจจะถาม
- มีอาการอะไรบ้าง เริ่มมีอาการเมื่อไร อาการรุนแรงหรือไม่?
- มีคู่นอนหลายคนหรือไม่ เพิ่งเปลี่ยนคู่นอนหรือไม่?
- ใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่?
ตัวอย่างคำถามสำหรับการสอบถามแพทย์
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่?
- ท่านและคู่นอนจำเป็นต้องได้รับการตรวจใด ๆ หรือไม่?
- รับการรักษาที่บ้านได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล?
- ข้อควรระวังคืออะไร ยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่รับการรักษาได้หรือไม่?
- ควรปฏิบัติตัวเช่นไรเพื่อป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ?
- รักษาแล้วหายขาดหรือไม่ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่?
- จำเป็นต้องนัดพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาหรือไม่?
- ผลกระทบระยะยาวคืออะไร ยังสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?